วิรัตน์ แสงทองคำ : ระบบเศรษฐกิจหยั่งลึก เคลื่อนไหวเร็ว

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ว่าด้วยความสัมพันธ์ใหม่ ซึ่งเข้าถึงสังคมและเศรษฐกิจไทยอย่างกว้างขวาง และลงลึกมากกว่าที่คิด

ปรากฏการณ์ซึ่งให้ภาพภาพหนึ่งซึ่งคลี่คลาย ด้วยเหตุการณ์และความเป็นไปอย่างไม่ขาดสาย ในบางกรณี เป็น “จิ๊กซอว์” สำคัญ ให้ภาพใหม่ๆ อย่างกระจ่างชัดมากขึ้นๆ เป็นลำดับ

อย่างกรณีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) จากการติดตามรายงานข่าว โดยเฉพาะจาก China Xinhua News มาเป็นระยะๆ ว่าด้วยยอดผู้ติดเชื้อ ซึ่งขยายวงจากแผ่นดินจีน สู่ต่างประเทศ ปรากฏภาพหนึ่งซึ่งควรสังเกต ไทยเป็นประเทศหนึ่งซึ่งมีผู้ติดเชื้อในจำนวนซึ่งมีนัยยะ โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในประเทศเป็นชาวจีนอีกด้วย

ย่อมเป็นภาพซึ่งสัมพันธ์กันกับข้อมูลที่มีการนำเสนอในช่วงคาบเกี่ยวกันนั้นว่า ชาวเมืองอู่ฮั่นเดินทางท่องเที่ยวมายังสนามบินหลัก (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต) ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากที่สุด

 

อู่ฮั่น (Wuhan) เป็นเมืองเอกของมณฑลหูเป่ย (Hubei) และเป็นเมืองใหญ่สุดในมณฑล ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีประชากรในเขตเมืองราว 5 ล้านคน

ขณะมณฑลหูเป่ยได้ชื่อเป็นดินแดน “ข้าวในนา ปลาในน้ำ” (Land of Fish and Rice) อันที่จริงนอกจากข้าว ยังมีฝ้าย ข้าวสาลี และชา ขณะที่มีอุตสาหกรรมสำคัญที่นั่นด้วย โดยเฉพาะยานยนต์ แร่ธาตุ และพลังงานไฟฟ้าซึ่งการเกิดขึ้นมาจากเขื่อนสามผา (Three Gorges Dam) ด้านติดตะวันตกของหูเป่ย

จากข้อมูลเดียวกัน (Wikipedia) ระบุว่า หูเป่ยมีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของจีน รายได้ประชากร (GDP per capita) ราวๆ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2561) เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2553 ถึง 3 เท่า

ดูข้อมูลทางการจากธนาคารโลก ปรากฏว่ามากกว่าประชากรจีนทั้งประเทศเล็กน้อย ที่สำคัญมากกว่าประชากรไทยราว 30%

ว่าด้วยสัมพันธ์ในภาพใหญ่ๆ บางภาพ ซึ่งผมเคยนำเสนอไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว (ในมติชนสุดสัปดาห์) ตั้งแต่เมื่อปี 2560 (ซีรี่ส์ 4 ตอน เรื่อง “จีน” กับสังคมธุรกิจไทย) จากนั้นเสนออีกเป็นครั้งคราวอย่างต่อเนื่อง (เรื่อง ” ทุเรียนเอฟเฟ็กต์” ปี 2561 และล่าสุด ว่าด้วยเรื่องอิทธิพลค้าปลีกออนไลน์จีนในประเทศไทย-มติชนสุดสัปดาห์ กันยายน 2562)

สู่ความสัมพันธ์ขยายวง พัฒนาอย่างต่อเนื่องและคลี่คลาย กระทั่งกรณีล่าสุด ได้ให้ภาพที่ใหญ่ยิ่งขึ้น กลายเป็นภาพใหม่ๆ บางภาพที่ควรสนใจ

 

จากธุรกิจพื้นฐาน
: ธนาคาร-ยานยนต์-สื่อสาร

มองความสำคัญและความสัมพันธ์นั้น ผ่านกรณีเข้ามาสู่ธุรกิจหลักๆ ในสังคมไทย เปิดฉากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญแค่เพียงทศวรรษเดียว

ปี 2553 Industrial and Commercial Bank of China Ltd (ICBC) กิจการธนาคารขนาดใหญ่ของจีนได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธนาคารสินเอเซีย และได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจากธนาคารสินเอเซีย เป็นธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)

ICBC ก่อตั้งขึ้นในปี 2527 ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจเมื่อตุลาคม 2548 และในทันทีได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และฮ่องกงพร้อมกัน ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นการเสนอขายหุ้นครั้งแรกต่อประชาชนที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลก

“ICBC มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศจีน รวมทั้งมีเครือข่ายในต่างประเทศที่ครอบคลุมทั่วโลก โดย ณ กลางปี 2561 กลุ่ม ICBC มีสาขาและจุดให้บริการในประเทศจีนทั้งสิ้น 16,024 แห่ง และมีสำนักงานสาขาในต่างประเทศจำนวน 420 แห่ง ครอบคลุม 45 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ICBC ยังมีธนาคารตัวแทนต่างประเทศ (Correspondent Banks) จำนวน 1,543 แห่ง ใน 146 ประเทศทั่วโลกอีกด้วย” (http://www.icbcthai.com/)

ราวๆ ปี 2557 เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ร่วมมือกับหนึ่งในสี่ยักษ์ใหญ่ยานยนต์จีน ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ MG ในประเทศไทย ในนาม SAIC Motor-CP Co., Ltd.

Shanghai Automotive Industry Corp (SAIC) เกิดขึ้นในปี 2538 ต่อเนื่องจากตำนานอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีนตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง SAIC เป็นยักษ์ใหญ่ธุรกิจรถยนต์ในประเทศจีน ผลิตรถยนต์หลายแบรนด์ในประเทศจีน

รวมทั้งร่วมทุนกับ Volkswagen แห่งเยอรมนี และ GM แห่งสหรัฐ ต่อมาปี 2555 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น SAIC Motor Corporation Limited

รถยนต์ MG มีประวัติศาสตร์และรากเหง้ามาจากสหราชอาณาจักร ก่อตั้งเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ปี 2550 กิจการและแบรนด์ MG ได้ขายและกลายเป็นสินค้าจีน โดย Nanjing Automobile Group (ต่อมาปี 2551 ปรับโครงสร้างและได้ควบรวมกิจการเข้ามาอยู่ใน SAIC)

ในปีเดียวกันนั้น (2557) China Mobile ยักษ์ใหญ่สื่อสารของจีนเข้ามาเมืองไทย เป็นดีลซึ่งสั่นสะเทือนธุรกิจสื่อสารและสังคมธุรกิจไทยพอสมควร แม้ดูครึกโครมน้อยกว่ากรณี Temasek สิงคโปร์ กับชินคอร์ปเมื่อเกือบๆ ทศวรรษที่แล้ว ทั้งนี้ อาจเป็นเข้ามาถือหุ้นข้างน้อยในบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น เครือข่ายธุรกิจสื่อสารภายใต้อาณาจักรซีพี

China Mobile ผู้นำให้บริการด้านสื่อสารในจีนแผ่นดินใหญ่ทั้ง 31 มณฑล ถือเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของโลก ได้เข้าถือหุ้นทรูในสัดส่วน 18% ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่จนถึงปัจจุบัน

ทว่าภาพนั้นดูเป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ ในภาพใหญ่ ธุรกิจจีนดูมีบทบาทไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบเครือข่ายธุรกิจระดับโลกอื่นๆ ซึ่งเข้ามาปักหลักธุรกิจพื้นฐานในประเทศไทยอย่างมั่นคง ทั้งโลกตะวันตก ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

 

สู่ระบบเศรษฐกิจใหม่

อีกภาพหนึ่งมาจากเครือข่ายธุรกิจจีนใหม่ เป็นบทบาทซึ่งขับเคลื่อนอย่างมีพลัง โดยผู้นำค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ 3 ราย ผู้ควบคุมการค้าปลีกออนไลน์ในสังคมไทยไว้ในกำมืออย่างสิ้นเชิง ได้แก่ Lazada Shopee และ JD Central

เรื่องราวข้างต้น มีภาพสะท้อนเชิงสังคม ว่าด้วยวิวัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างสังคมไทยกับอิทธิพลระดับโลก เป็นฉากตอนของมหากาพย์ใหม่ ต่อจากประวัติศาสตร์ช่องก่อนๆ จากยุคสงครามเวียดนาม อิทธิพลตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา พ่วงด้วยอิทธิพลตะวันออกบางส่วนจากญี่ปุ่น ผ่านสินค้าและบริการ ภายใต้กระแสวิถีชีวิตสมัยใหม่ ขยายวงกว้างมากขึ้นจากเมืองหลวง สู่หัวเมือง

อิทธิพลซึ่งก้าวไปอีกขั้นในช่วงหลังวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจราว 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเครือข่าย ระบบอันแยบยล โดยเฉพาะ Social media ตะวันตกเข้ามาเชื่อมโยง เข้าถึงพฤติกรรมการบริโภคของปัจเจกชนไทยอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ทว่าอิทธิพลล่าสุด ผ่านระบบค้าปลีกออนไลน์จีนได้ไปไกลและลงลึกกว่านั้น สามารถหยั่งรากสู่กิจกรรมสำคัญ ผ่านการจับจ่ายใช้สอย เข้าถึงพฤติกรรมการบริโภคไทยโดยตรง

 

ระบบเศรษฐกิจหยั่งลึก เคลื่อนไหวเร็ว

กรณี “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” ซึ่งเกริ่นไว้ข้างต้น พิจารณาอย่างกว้างๆ มีความเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์นักท่องเที่ยวจีน

จากตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวเพียงชาติเดียวที่มีจำนวนมากมาย มากที่สุดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จับภาพสำคัญตั้งแต่ปี 2558 มีจำนวนราวๆ 8 ล้านคน หรือมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมากกว่า 25% ของบรรดานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดที่มาเยือนประเทศไทย ถือเป็นสถิติใหม่ เป็นฐานตั้งต้นตั้งแต่นั้นมา พร้อมๆ กับปรากฏการณ์ข้างเคียงหลายมิติ

ในทางตรง เป็นแรงปะทะครั้งใหญ่ต่อโครงสร้างและธุรกิจไทย ที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน สะท้อนแนวโน้มใหม่ๆ อย่างกรณีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาเยือนประเทศไทยไม่เพียงมีจำนวนมากอย่างมีนัยยะ

หากมีบุคลิกที่แตกต่างจากโมเดลการท่องเที่ยวในอดีต เป็นกระแสที่มาแรงและรวดเร็ว นั่นคือปรากฏการณ์กลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระที่มากันเอง ไม่ผ่านธุรกิจทัวร์ในแบบเดิม หรือที่เรียกว่า FIT (Free and Independent Traveler)

รวมทั้งการปรากฏขึ้นของชุมชนชาวจีนชั่วคราวในสังคมไทย ซึ่งมิใช่ขบวนอพยพเช่นในประวัติศาสตร์ อย่างกรณี “ไชน่าทาวน์” ที่เยาวราช ถือว่ากำเนิดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นย่านชุมชนชาวจีนที่ใหญ่สุดในเมืองไทย เป็นย่านธุรกิจการค้าที่สำคัญแห่งแรก มีความเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ไทย-จีน ครั้งแรกมาจากแรงขับเคลื่อนเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นชุมชนอันยั่งยืนมาช้านาน

ชุมชนชั่วคราวใหม่อันมีพลวัต ไม่เพียงขยายตัวไปอย่างกว้างขวางพอสมควร ซึ่งมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ อย่างหลากหลาย และลงลึกมากขึ้นๆ ขณะเดียวกันมีความผันแปร เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีแรงกระทบต่อ “ไชน่าทาวน์” ดั้งเดิมที่เยาวราช ซึ่งเคยมั่นคง ให้สั่นไหวด้วย

มองในภาพกว้าง ชาวจีนในประเทศไทยเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีสัดส่วนในฐานะคนต่างถิ่นจำนวนมากที่สุดอยู่ตลอดเวลา

ทว่าในความจริงในแง่กลุ่มคน ความเป็นปัจเจก มีความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้านหนึ่งเป็นเชิงบวก สังคมไทยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผู้บริโภคมากขึ้น ตอบสนองความคาดหวังการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันเป็นภาระทางสังคมซึ่งอาจไม่ได้เตรียมรับมือไว้อย่างเป็นจริงเป็นจัง

เป็นปรากฏการณ์หนึ่งในโลกาภิวัตน์ ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เป็นไปอย่างผันแปร อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนผ่านตลาดการเงิน ผ่านช่องทางสื่อสารในโลกอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าข้อมูลอันหลากหลายที่สำคัญซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล ผ่าน Social media และ Applications ต่างๆ

ทั้งนี้ มีขบวนการผู้คนซึ่งเป็นปัจเจกกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เคลื่อนไหวอย่างเป็นจริง เป็นกระแสธารไม่ขาดสาย ข้ามพรมแดนไปมาเป็นปกติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วย