“ไทบ้านเดอะซีรี่ส์” ปรากฏการณ์ “ป่าล้อมเมือง” ในวงการบันเทิง

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

และแล้วก็เกิดปรากฏการณ์ “ป่าล้อมเมือง” ในวงการบันเทิงขึ้นอีกครั้ง

ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในอดีตจะเป็นเรื่องเพลง

อย่างเพลง “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” ก็ใช่

ดังจากภาคอีสานมาก่อนแล้วค่อยมาดังในเมืองกรุง

แต่วันนี้ “ไทบ้านเดอะซีรี่ส์” กำลังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้วงการหนังไทย

เป็นหนังไทยที่เริ่มต้นฉายในภาคอีสานก่อน

แล้วเกิดกระแสระดับ “โรงแตก” จนค่ายเมเจอร์กับเอสเอฟต้องนำมาฉายใน กทม. ในสัปดาห์ต่อมา

และขยายวงไปภาคตะวันออกและภาคเหนือ

คาดว่าอีกสักพักคงไปภาคใต้

“ไทบ้านเดอะซีรี่ส์” เป็นหนังที่ใช้เงินลงทุนต่ำ

ขอโทษ…ต่ำมาก

ตามปกติหนังทั่วไปจะใช้งบฯ ลงทุนไม่ต่ำกว่า 12 ล้านบาท

แต่เรื่องนี้ใช้เงินแค่ 2 ล้านกว่าบาทเท่านั้นเองครับ

“ไทบ้านเดอะซีรี่ส์” เป็นหนังวัยรุ่นที่พูดภาษาอีสานทั้งเรื่องครับ

มีซับไตเติลเป็นภาษากลาง

ฉาย 4 วันในภาคอีสานได้เงิน 8 ล้านกว่าบาท

เข้า กทม. วันแรกได้เงิน 4 แสนบาท

วันที่สอง 9 แสนบาท

จากเดิมที่โรงยักษ์ใหญ่จะเปิดให้ฉายแค่ 4 วัน

ตอนนี้ขยับเป็น 3 สัปดาห์แล้ว

และขยายโรงเพิ่มเป็นเท่าตัว

นี่คือ “ความแรง” ของหนังจากแดนที่ราบสูง

เขาเจาะกลุ่มเป้าหมายชัดเจน

คือ คนอีสาน

ประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ

“ไทบ้านเดอะซีรี่ส์” เกิดขึ้นจาก “ความบ้า” ของคน 2 คน

คนหนึ่ง คือ “โต้ง” สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ

“โต้ง” เป็นอดีต ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคชาติไทย เป็นนักธุรกิจใหญ่ของศรีสะเกษและอุบลราชธานี

“โต้ง” มีความใฝ่ฝันอยากทำหนังมานาน

อีกคนหนึ่ง คือ “ศักดิ์” สุรศักดิ์ ป้องศร ผู้กำกับหนังเรื่องนี้

“ศักดิ์” มีเพื่อนอีก 3 คน คือ “โอม” อวิรุทธ์ อรรคบุตร “กัส” ศุภณัฐ นามวงศ์ และ “จ๊อบ” บุญโชค ศรีคำ

ทั้งสี่คนเป็นเพื่อนที่เรียนหนังสือด้วยกันที่โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย

“โต้ง” รู้จักกับแก๊งสี่คนนี้ตอนที่ “ศักดิ์” และเพื่อนไปออกค่ายดูดาวที่ “โต้ง” จัดขึ้น

เด็กกลุ่มนี้ถ่ายรูปฝนดาวตกไม่ติด

“โต้ง” เข้าไปช่วย

ภาพดาวตกภาพนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “ศักดิ์” และเพื่อนชอบการถ่ายรูป

และพัฒนามาเป็นภาพเคลื่อนไหว

ตอน ม.4 “ศักดิ์” เคยเป็นตัวแทนเยาวชนไทยถ่ายสารคดีที่อินเดีย

ม.6 ชนะเลิศระดับเอเชียในเทศกาลประกวดหนังสั้นความยาว 3 นาที ที่ญี่ปุ่น

เห็นประวัติแล้วก็รู้เลยว่าฝีมือเด็กคนนี้ไม่ธรรมดา

“ศักดิ์” ได้ทุนไปเรียนต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

แต่ด้วยความเป็นคนชอบทำงาน เขาเรียนแบบไปเรื่อยๆ

จนถึงวันนี้ผ่านไป 8 ปี “ศักดิ์” ก็ยังเรียนไม่จบ

หนังเรื่องนี้น่าจะเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่มี “ผู้กำกับการแสดง” เป็น “นักศึกษา”

แรงบันดาลใจของหนังเรื่องนี้เกิดจากเขาเห็นเกาหลีใต้มีละครซีรี่ส์ คนกรุงมีละคร “ฮอร์โมน”

คนอีสานก็น่าจะมี “ซีรี่ส์” ของตัวเองบ้าง

เขาทดลองเขียนเป็นบทละครได้ 12 ตอน

ใช้เวลาเกือบ 2 ปี

แต่เสนอใครก็ไม่มีใครสนใจ

ตัดสินใจระดมเงินกับเพื่อนๆ ได้ประมาณ 1-2 แสนบาท ถ่ายทำประมาณ 20 ฉากเพื่อทำเป็นตัวอย่างหนังเรื่องนี้

เอาตัวอย่างหนังลงในเฟซบุ๊ก

ปรากฏว่าเสียงตอบรับดีมาก

มีคนเข้าไปดูเป็นล้านวิว

แฟนเพจก็เรียกร้องอยากดู และเสนอว่าอย่าทำเป็นซีรี่ส์เลย

ทำเป็นหนังดีกว่า

“ศักดิ์-โอม-กัส-จ๊อบ” เดินสายหาทุนอีกครั้ง

และก็เหมือนเดิม

ไม่มีคนสนใจ

มีอยู่เพียงกลุ่มเดียวที่สนใจ แต่เขาไม่เชื่อมือ “ศักดิ์”

จะให้ผู้กำกับฯ อีกคนหนึ่งมาคุม

และเปลี่ยนคอนเซ็ปต์หนังเรื่องนี้ใหม่

“ศักดิ์” และเพื่อนไม่ยอม

เขาตัดสินใจเดินมาหา “โต้ง”

และกลายเป็นจุดเริ่มต้น “ไทบ้านเดอะซีรี่ส์”

“ถ้าผมมีเงิน 3 ล้านบาท ผมทำได้”

“2 ล้านไหวไหม”

“ได้ครับ”

เพียงแค่การคุยกันไม่กี่ประโยคของ “คนบ้า” 2 คน

หนังไทยสำเนียงอีสานทั้งเรื่องจึงเริ่มต้นขึ้น

“โต้ง” บอกว่าเขาอยากช่วยเด็กศรีสะเกษ และเห็นฝีมือน้องๆ กลุ่มนี้มานาน

เงื่อนไขของ “โต้ง” มีเพียงอย่างเดียว คือ ในหนังต้องมีสถานที่สำคัญของศรีสะเกษ

“ผมนึกถึงหนังกวนมึนโฮ ที่ทำให้คนไทยอยากไปเที่ยวเกาหลี ผมก็หวังฟลุกว่าถ้าหนังเรื่องนี้ดัง คนจะได้มาเที่ยวศรีสะเกษมากขึ้น”

และถ้าหนังขาดทุน เขาก็คิดง่ายๆ ว่าจะเอามาฉายให้ดูฟรีทางยูทูบ และเฟซบุ๊ก

“มีคนเข้าดู 1 ล้านคน ต้นทุน 2 ล้านบาท ก็ตกคนละ 2 บาท ถือเป็นค่าโฆษณาจังหวัด”

“ไทบ้านเดอะซีรี่ส์” เป็นหนังต้นทุนต่ำ

และตามหลักของ “ความคิดสร้างสรรค์”

ยิ่งเงินน้อย ยิ่งต้องคิดเยอะ

“ศักดิ์” บอกว่าเขาเป็นกองถ่ายสายกองโจร คือ ใช้อุปกรณ์การถ่ายทำเท่าที่จำเป็น

“ต่อให้เครื่องมือครบกว่านี้ ดีกว่านี้ ผมก็ใช้เท่าเดิม”

ดาราที่เล่นส่วนใหญ่มาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ตัวประกอบก็เป็นเพื่อนๆ และคนในครอบครัว

ผมยังไม่ได้ดูหนัง แต่ดูหนังตัวอย่างแล้ว

ชอบครับ

เป็นหนังวัยรุ่นอีสาน มีสไตล์ที่แตกต่างจากหนังไทยทั่วไป

ฮามาก…

“โต้ง” เลือกใช้กลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง” ด้วยการฉายในภาคอีสานก่อน

เพราะเขารู้ว่าหนังของเขา “โนเนม” มาก ถ้าฉายในเมืองกรุงเลยจะไม่มีใครดู

เขาเลือกสร้างกระแสจากภาคอีสานก่อน

แล้วให้กระแสโซเชียลทำงานระยะหนึ่ง

จากนั้นจึงเข้ากรุง

แผนนี้สำเร็จครับ

ถาม “ศักดิ์” ผู้กำกับการแสดงว่ารู้สึกอย่างไรที่หนังดังมากในภาคอีสาน

เขาหัวเราะ

“ผมยังงงๆ อยู่เลยว่าทำไมมาดูเยอะจัง เห็นคนดูหัวเราะก็ยังตกใจว่ามันสนุกขนาดนั้นเชียวเหรอ”

และเมื่อย้อนกลับไปในวันแรกตอนที่เริ่มต้นเขียนบทหนังเรื่องนี้

“ศักดิ์” บอกว่ามีหลายครั้งที่เขาท้อ

แต่เขาเลือกที่จะสู้ เพราะเชื่อว่าความสำเร็จรออยู่ข้างหน้า

“ผมดีใจที่ผมไม่ยอมแพ้”

นี่คือ ชัยชนะของ “คนตัวเล็ก” คนหนึ่งที่ไม่ยอมแพ้