ในประเทศ : ระทึก พ.ร.บ.งบประมาณ จากปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาล สู่อาการปะทุ วิกฤตรัฐธรรมนูญ

เล่นเอาเครียดไม่น้อยสำหรับฝ่ายรัฐบาล กรณีเสียบบัตรแทนกัน เพราะคนจุดประเด็นเรื่องนี้ก็เป็นพรรคฝั่งร่วมรัฐบาล ส่วนจำเลยก็อยู่ฝ่ายเดียวกัน

ที่จริงไม่ควรจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมันไม่ควรจะต้องเกิดขึ้นอีกแล้ว ความผิดนี้เคยถูกตัดสินมาเรียบร้อย ในครั้งร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ที่ถูกล้ม มีบรรทัดฐานให้เห็นแล้ว ไม่น่าจะเกิดขึ้นซ้ำ

เรื่องราวนี้เป็นเพราะนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ พี่ใหญ่จากพรรคประชาธิปัตย์ นักกฎหมายมือเก๋า แม้พ่ายศึกเลือกตั้งในพื้นที่ แต่ก็กัดไม่ปล่อยในเรื่องอื่นๆ ออกมายอมรับว่าเหตุของการโวยวายร้องเรียนจนเป็นเรื่องราวใหญ่โต พ.ร.บ.งบประมาณเสี่ยงโมฆะในครั้งนี้ เกิดจากการพบหลักฐานง่ายๆ คือการโพสต์โชว์ในเฟซบุ๊ก

“เรื่องนี้ไม่ได้เริ่มด้วยการตั้งใจร้อง เพียงแต่เทศบาลที่ท่าน ส.ส.ไปเปิดงานนำรูปมาลง ตอนแรกผมคิดว่าท่านลาการประชุม แต่ต่อมาปรากฏว่าบัตรของท่านยังทำงานอยู่ที่สภา” นี่คือเหตุผลที่นิพิฏฐ์ชี้แจงในการจับโป๊ะ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย

ส่วนการตั้งคำถามกับระดับบิ๊กภูมิใจไทย อย่างนาที รัชกิจประการ เจ้าตัวก็ยืนยันว่าไม่ได้ตั้งใจเช่นกัน

“ไม่สนใจอะไร เพียงแต่ปลัดอำเภอที่เป็นเลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงเอารูปไปลงในเฟซว่าไปจีนกับคุณนาที ช่วงที่สภาประชุมงบประมาณ ผมตรวจสอบก็ปรากฏว่าบัตรคุณนาทียังทำงานอยู่”

เกิดวิวาทะสวนกันไปมา โดยเฉพาะจากคนในพรรคเดียวกัน จนนิพิฏฐ์โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตนเองนักเลงพอ ใครผิดก็ว่าผิด ถูกก็ว่าถูก ส่วนเรื่องงบประมาณปี 2563 นั้น นิพิฏฐ์บอกว่าอย่าไปกลัว ข้าราชการ พนักงานของรัฐอื่นๆ ก็ยังเบิกได้อยู่ งบฯ ยังไม่ได้ใช้เลย ที่กังวลคือพวกเจ้าสัวขนาดใหญ่ผู้รับเหมาระดับแสนล้าน ที่กลัวเงินเข้าช้าแค่นั้น

ความรุนแรงของเรื่อง ถูกตอกย้ำจากคลิปของช่อง 7 ที่ออกมาได้ตรงเวลา เผยให้เห็นภาพการเสียบบัตรแทนกัน คนอยู่ในคลิปก็เป็นพรรคพลังประชารัฐ จนถูกนักข่าวรุมต้อนอย่างหนัก ก่อนจบที่ข้ออ้างเครื่องเสียบบัตรไม่พอ ยืนยันไม่ได้ลงคะแนนให้กัน

ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องกุมขมับ

 

แต่แล้วก็มีอีกกรณีหนึ่งโผล่ขึ้นมา น.ส.สุพัชรี ธรรมเพชร อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อ้างว่ามาในฐานะตัวแทนประชาชน มาที่สภา พร้อมแผ่นกระดาษโชว์หลักฐานข้อมูลว่า ส.ส.พัทลุง เขต 1 พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมสภาในวันที่ 10 มกราคม 2563 ขณะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2563 พร้อมโชว์หลักฐานไฟลต์บิน ว่าเจ้าตัวอยู่หาดใหญ่ขณะโหวต

เหล่านี้ที่เกิดขึ้นก็ยิ่งเพิ่มรอยร้าวระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยไปอีก

ท่ามกลางกระแสกดดันภูมิใจไทย ก็ดันมีคลิปหลุดออกมาจากช่อง NBT ของกรมประชาสัมพันธ์ ไม่รู้ว่าหลุดไปได้ยังไง แต่บอกได้ถึงจุดประสงค์ว่า พุ่งเป้าเล่นงานไปที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นคลิปนายถาวร เสนเนียม อีกหนึ่งพี่ใหญ่ฝั่งประชาธิปัตย์ ชักบัตรใบหนึ่งออกจากเครื่องเสียบบัตร ก่อนจะเสียบอีกใบหนึ่งเข้าไป พร้อมระบุว่าประชาธิปัตย์ก็มีเสียบบัตรแทนกัน

เป็นศึกสงครามที่ลุ้นระทึกอย่างยิ่ง ร้อนจนนายถาวร เสนเนียม ต้องออกมาชี้แจงว่าเกิดจากช่องเสียบบัตรไม่เพียงพอ จึงต้องดึงของเจ้าของเก้าอี้ออกแล้วเสียบของตัวเองเข้าไป แต่ไม่ได้ลงคะแนนแทนกัน

 

ในสถานการณ์เช่นนี้จึงเป็นที่น่าจับตาว่าทางออกของปัญหาจะเป็นอย่างไร ฝ่ายรัฐบาลจึงรวมชื่อ ส.ส.ยื่นขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องไว้พิจารณา

เรื่องนี้น่าสนใจ มันไม่ใช่ศึกที่สู้กับฝ่ายค้าน ถ้าดูจากความเห็นของโภคิน พลกุล หนึ่งในแกนนำด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย ที่ฟันธงว่าร่างกฎหมาย พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 โมฆะจริง แต่ทางแก้ปัญหาในเชิงการเมืองง่ายนิดเดียว แค่ให้รัฐบาลเสนอร่างขึ้นมาใหม่ ทุกฝ่ายร่วมมือกันก็จบภายในเวลาอันรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเลยด้วยซ้ำ รัฐบาลดำเนินการได้ทันที

หรือจะเป็นเสียงของวิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ อีกหนึ่งอดีตนักการเมืองรุ่นเก๋า ที่เสนอให้ใช้ขั้นตอนสภาพิจารณา 3 วาระรวดวันเดียวก็เสร็จ จากนั้นส่งให้ ส.ว.พิจารณาต่อ ทั้งหมดไม่เกิน 2 วันเรียบร้อย

หรือจะเป็นเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่นำเสนอทางแก้นี้ โดยไม่จำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้รัฐบาลออกเป็น พ.ร.ก. ไปก่อน เพราะถึงอย่างไร เรื่องนี้เชื่อว่าไม่ว่าฝ่ายค้านและรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนยกมือให้ ไม่มีเหตุผลให้ฝ่ายค้านต้องถ่วงเวลา

แม้แต่เสียงของวุฒิสภาอย่างเสรี สุวรรณภานนท์ ที่ให้ความเห็นสนับสนุน คสช.อย่างเต็มที่มาโดยตลอดก็ยังยืนยันว่า มติของ ส.ส.และของ ส.ว.เป็นการใช้อำนาจสูงสุดของประเทศแล้ว การทำหน้าที่ในสภาจึงเป็นเอกสิทธิ์ที่องค์กรอื่นใดจะเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงไม่ได้ หากมีปัญหาใดเกิดขึ้นระหว่างการทำหน้าที่ของแต่ละสภานั้น สภาแห่งนั้นก็ต้องแก้ไขปัญหาในสภาเอง

“ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญมาคอยแก้ปัญหา หรือแนะนำการทำงานให้ หรือให้คอยกำกับบอกว่าอะไรถูกหรือผิด โดยสภาไม่ตัดสินปัญหา”

เสรียังกล่าวอีกด้วยว่า “กระบวนการดังกล่าวทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมาใช้อำนาจสภา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญคงไม่ประสงค์เช่นนั้น งานในสภาเมื่อเกิดปัญหาขึ้นต้องแก้ให้ยุติในสภานั้นเอง ไม่ใช่ให้ศาลรัฐธรรมนูญคอยแก้ปัญหาให้”

นี่คือคำกล่าวและจุดยืนของ ส.ว.เสรี

 

ความเห็นเหล่านี้ นัยยะหนึ่งตอกย้ำว่า ฝ่ายค้านไม่มีปัญหากับ พ.ร.บ.งบฯ แล้ว เรื่องราวจึงอยู่ที่ฝั่งรัฐบาล เป็นการชี้ให้เห็นว่าปัญหาเกิดจากพรรคร่วมนั้นเองดูเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งจะดูราบเรียบ เดินหน้าจับมือกันไปต่อได้ แต่ซ่อนปัญหาลึกๆ ไว้ใต้น้ำ

ทั้งนี้ ยังไม่มีใครยอมรับผิด เพราะหากหันกลับไปทำตามขั้นตอนปกติคือ เสนอขึ้นมาใหม่ โหวตใหม่ภายในเวลาอันรวดเร็วอย่างพร้อมใจกันนั้น ก็เท่ากับว่าเป็นการยอมรับว่าขั้นตอนดังกล่าวผิด

ขณะที่เสียงจากนายกรัฐมนตรีชัดเจนว่าโยนอนาคตข้างหน้าทั้งหมดไว้ที่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยแทบจะไม่แสดงความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของ พ.ร.บ.งบประมาณออกมาแต่อย่างใด ประสานเสียงกับวิษณุ เครืองาม ยืนยันว่าทุกอย่างมีทางออก ไม่มีวันมีทางตัน สอดคล้องกับชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่พูดยืนยันย้ำจุดยืนว่า “ทุกอย่างมีทางออก ไม่มีทางตัน”

“ผมมั่นใจว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือกัน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ช่วยกันหาทางออกในสถานการณ์ที่กำลังวิกฤตในขณะนี้ ทั้งเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณและส่งผลกระทบต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ก็หวังว่าทุกฝ่ายจะตั้งใจที่จะทำให้ประเทศของเราและประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุดในภาวะที่มีปัญหารุมเร้ามากมายในปัจจุบัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

น่าจับตาว่า ไม่ว่าบทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร แต่กระบวนการแบบนี้ โดยเฉพาะรูปแบบการพยายามหาทางออกของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะฝั่งรัฐบาล ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในอนาคต การดำเนินการอย่างถูกต้องชอบธรรม ไม่ขัดต่อหลักกฎหมายใดน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจในเชิงกระบวนการอีกเรื่อง หลัง ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์สาขาวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ที่ให้เหตุผลแย้งอย่างน่าคิดว่า การยื่นคำร้องดังกล่าว ไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักการใน ม.148 ของรัฐธรรมนูญ เห็นว่าการยื่นคำร้องดังกล่าวผิดช่องทาง เพราะมีลักษณะเหมือนสอบถามความเห็นศาล ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้ตามมาตรา 210 อาทิ กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่คำร้องลักษณะแบบนี้

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น คืออาการปะทุเล็กๆ ของความเจ็บป่วยจากวิกฤตรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินมาต่อเนื่องและทวีความรุนแรงชัดเจนมากขึ้นนับตั้งแต่มีการเลือกตั้ง

วิกฤตรัฐธรรมนูญ ก็คือส่วนหนึ่งของวิกฤตการเมือง อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงและโดยอ้อมต่อวิกฤตทางเศรษฐกิจ แค่ในเชิงจิตวิทยาก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนว่าเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะดับ

ตราบเท่าที่วิกฤตรัฐธรรมนูญไม่ถูกถอดสลัก ทำให้เราสามารถพยากรณ์ได้อย่างหนึ่งว่า อาการปะทุแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกตามมาเรื่อยๆ แน่นอน และตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติรับเรื่องนี้ไว้วินิจฉัยแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร น่าติดตามยิ่ง!