การลงพื้นที่กลาง “จะนะ…เมืองอุตสาหกรรม” ไม่ใช่เฉพาะธนาธรหรืออนาคตใหม่อย่างเดียว

17 มกราคม 2563 ณ โรงเรียนศาสนบำรุง หรือปอเนาะบาบอยีแหละ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนต่อโครงการ จะนะต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้า

ซึ่งหัวข้อที่ตั้งวันนี้ คือ “Jana Talk : อนาคตจะนะที่เราอยากเห็น” โดยที่เจ้าภาพหลักการจัดเวทีครั้งนี้คือพรรคอนาคตใหม่ จังหวัดสงขลา ที่ได้ขออนุญาตจากบาบอฮุสนีย์ บินหะยีคอเนาะ ผู้จัดการโรงเรียนศาสนบำรุง

ซึ่งหลังจากมีข่าวนี้แพร่สะพัดก็ทำให้ได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะหน่วยความมั่นคง

ซึ่งช่วงแรกของกำหนดการนั้น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะลงมาพบด้วยตนเอง

ซึ่งบาบอเองก็ได้ทำหนังสือแจ้งไปทุกหน่วยงานราชการ ไม่ว่านายอำเภอจะนะ หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ตำรวจ ทหาร สำนักงานการศึกษาเอกชนถึงเจตนาบริสุทธิ์ของสถานศึกษาท่านในการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนให้ความรู้ ความเข้าใจ สานเสวนา หาทางออกร่วมกันในโครงการอภิมหาโปรเจ็กต์ที่คาดว่ากระทบต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของคนในพื้นที่

จากการที่ผู้เขียนได้สังเกตการณ์และร่วมพูดคุยกับคณะทำงานพรรคอนาคตใหม่ จังหวัดสงขลา ซึ่งได้กรุณาเล่าเรื่องก่อนหน้านี้ และเวทีวันดังกล่าวว่า

“หลังจากที่คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวจะนะ ในเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ “จะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต””

คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้มอบหมายให้ทีมอนาคตใหม่ จังหวัดสงขลา ลงไปดูพื้นที่และข้อเท็จจริงของชาวบ้านในหลายๆ กลุ่ม

หลังจากทีมอนาคตใหม่สงขลาพบปะกับชาวบ้านหลากหลายกลุ่มทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงนกเขา กลุ่มประมง กลุ่มโรงเรียนสอนศาสนา กลุ่มเยาวชน และภาคประชาสังคม สิ่งหนึ่งที่เราพบคือ โครงการลงทุนในพื้นที่ขนาดใหญ่เช่นนี้ ยังขาดข้อมูลและเวทีสาธารณะที่จะให้ทุกฝ่ายมาร่วมพบปะพูดคุยกันอย่างเปิดอก ไม่ว่าจะเป็นคนที่เห็นด้วยหรือคัดค้าน

เราจึงริเริ่มสร้างเวทีสาธารณะในการพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวอันเป็นพื้นที่กลางปลอดภัยอย่างมีอารยะโดยเชิญภาคส่วนต่างๆ มาร่วมพูดบนเวที ทั้งกลุ่มคนหลากหลายอาชีพ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และที่สำคัญที่สุดคือเสียงของเยาวชนที่ต้องเติบโตใช้ชีวิตในพื้นที่อำเภอจะนะต่อไป

โดยทางพรรคตอนแรกนั้นทางท่านธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะมาด้วยตนเอง แต่ก่อนจัดงานสองวันทางท่านธนาธรแจ้งว่าท่านมีความจำเป็นจริงๆ ไม่สามารถมาได้ ดังนั้น ทางพรรคตัดสินใจส่ง ส.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรคและคณะกรรมาธิการการศึกษา พร้อมด้วย ส.ส.เบญจา แสงจันทร์ ประธานอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากเขตเศรษฐกิจพิเศษ มาร่วมรับฟังเก็บข้อมูล (ผ่านการปรึกษากับบาบอฮุสนีย์ก่อน)

ด้วยความอนุเคราะห์ของโรงเรียนศาสนบำรุงที่เอื้อเฟื้อสถานที่ โดยอาจารย์หรือบาบอฮุสนีย์ บินหะยีคอเนาะ จึงทำให้สามารถเปิดเวทีเช่นนี้ขึ้นมาได้

แม้ว่าเราจะผ่านยุค คสช.มาแล้ว แต่เหมือนว่าสภาพสังคมไทยยังไม่คุ้นชินในการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ…

ภาวะปกติที่ประชาชน ภาคประชาสังคม นอกจากจะมีสิทธิในการสะท้อนความเห็นต่อโครงการใดๆ ของรัฐที่จะสร้างในพื้นที่ตนเอง ยังเป็นหน้าที่โดยตรงของสภา ของกรรมาธิการ ของ ส.ส.ที่จะลงมาทำงานร่วมกันกับประชาชนเพื่อรับฟังเสียงของเขา

ภาวะปกติที่เวทีการพูดคุยอย่างมีอารยะ และเปิดกว้างทั้งคนเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ควรจัดขึ้นอย่างหลากหลาย และสิ่งที่ควรจะเป็นคือ ไม่ใช่เพียงพรรคอนาคตใหม่ แต่เราขอเชื้อเชิญและท้าทายให้พรรคอื่นๆ ภาคส่วนอื่นๆ แข่งขันกันลงพื้นที่ จัดเวทีสะท้อนเสียงของชาวบ้านให้ไปถึงรัฐสภา ไปให้ถึงผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในโครงการเหล่านี้

แต่อย่างที่กล่าว น่าเสียดายที่เรายังอาจจะไม่คุ้นชิน ในการกลับสู่ “ภาวะปกติ” ดังว่า จึงยังมีข้อกังวลจากหลายฝ่ายในการจัดเวทีเช่นนี้

การที่โรงเรียนศาสนบำรุงเอื้อเฟื้อสถานที่จัดงานจึงถือว่าเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่ง

เป็นความกล้าหาญที่จะยอมสุ่มเสี่ยงโดนติเตียนเข้าใจผิด โดยถือความถูกต้องและประโยชน์ของคนในพื้นที่เป็นที่ตั้ง และยึดมั่นในการสานเสวนา มากกว่าเมินเฉยและปล่อยให้เรื่องราวของโครงการเช่นนี้ดำเนินไปสู่ความขัดแย้งบานปลาย ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตในพื้นที่จะนะ

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เวทีนี้จะเป็นก้าวแรกของความพยายามที่จะนำความ “ปกติ” กลับมาสู่พื้นที่ ไม่ใช่เพียงแค่จะนะ …แต่เป็นความปกติของพื้นที่ของพวกเราทุกคน

สําหรับผู้เขียน

ท่านศาสนทูตมุฮัมมัดกล่าวไว้ความว่า

“ทุกคนในหมู่พวกท่านเป็นผู้รับผิดชอบ และทุกคนในหมู่พวกท่านต้องถูกสอบสวนต่อความรับผิดชอบของเขา”

ดังนั้น จึงขอยกย่องในความกล้าหาญของบาบอฮุสนีย์ที่กล้านำ (เหมาะสมเป็นโต๊ะครู) ให้โรงเรียนสอนศาสนาที่เป็นที่ดินวากัฟ (สาธารณประโยชน์ที่ชาวบ้านบริจาค) ในการเปิดพื้นที่กลางให้คนจะนะมาเสวนาอนาคตของพวกเขาแม้ท่านจะถูกกล่าวหาจากหลายฝ่าย หรือเข้าใจผิดในตัวท่าน

ท่านยืนยันว่า “ไม่ใช่แค่อนาคตใหม่เท่านั้นแต่ทุกพรรคการเมืองและทุกคนที่มีหน้าที่ต้องเปิดเวที “พื้นที่กลางปลอดภัย” เพื่อคนจะนะได้รับทราบ ข้อดีข้อเสีย ข้อกังวล และข้อเสนอแนะในโครงการอภิมหาโปรเจ็กต์ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า…” ซึ่งสอดคล้องตามหลักประชาธิปไตยและบทเรียนความขัดแย้งในพื้นที่กรณีท่อก๊าซธรรมชาติยังไม่มอด”

(โปรดดูข้อเสนอแนะกรณีโครงการขนาดใหญ่ของรัฐใน https://deepsouthwatch.org/th/node/11677)

สำหรับการเปิดพื้นที่กลางปลอดภัยในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้นถูกยอมรับโดยในวิชาการนานาชาติ

การรายงานของหน่วยความมั่นคงต้องระมัดระวัง ต้องตรงไปตรงมาโดยเฉพาะกับบาบอฮุสนีย์ ซึ่งจะต้องไม่บิดเบือนกล่าวหา ผลักให้โต๊ะครูลงใต้ดิน ทั้งๆ ที่โต๊ะครูพยายามเดินตามกฎหมาย อย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ (ดูคลิปย้อนหลังได้) บทเรียนข้อกล่าวหาต่อหะยีสุหลงน่าจะเป็นอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดี

สำหรับเนื้อหาสาระการนำเสนอ

พอสรุปประเด็นสำคัญดังนี้

1.บาบอฮุสนีย์ บินหะยีคอเนาะ ผู้บริหารโรงเรียนศาสนบำรุง กล่าวเปิดกิจกรรม “พูดมุมมองด้านหลักการศาสนาอิสลามที่ให้ความสำคัญระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชน และนักเรียนทั่วไปในพื้นที่ อ.จะนะ และยืนยันการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ โรงเรียนนั้นคือพื้นที่กลางปลอดภัยให้ทุกภาคส่วนได้เสวนาในโครงการมหาโปรเจ็กต์ที่กระทบกับคนจะนะ และย้ำว่า นักเรียนปอเนาะโดยเฉพาะโรงเรียนศาสนบำรุง ไม่ได้ถูกใครชักจูงจากใครประการใด เรามีวุฒิภาวะพอ และวิจารณญาณในการคิดวิเคราะห์”

2. กลุ่มตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ 6 กลุ่มแสดงความคิดเห็นในมุมมองต่างๆ เช่น โครงการนิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ อ.จะนะ จะส่งผลกระทบด้านใดบ้าง

ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ได้แสดงความคิดเห็นในลักษณะแสดงข้อกังวลกับการจะทำให้ อ.จะนะ เป็นนิคมอุตสาหกรรม

เช่น สภาวะสิ่งแวดล้อมที่จะถูกแปรเปลี่ยนไป มีมลพิษเกิดขึ้น วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป

อนึ่ง ข้อกังวลเหล่านี้มาจากผลสรุปจากเวทีการประชุมระหว่างตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา (ปอเนาะ) อ.จะนะ 12 โรงเรียน เมื่อ 14 มกราคม 2563

3. ตัวแทนผู้เลี้ยงนกเขา พูดถึงข้อกังวลกรณีหากมีเขตนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.จะนะ จริง อาชีพเลี้ยงนกเขาจะหาคนเลี้ยงน้อยลง เนื่องจากปรับเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นแทน

จะทำให้สัญลักษณ์ของ อ.จะนะ คือ นกเขา, คนทำกรงนกเขาก็จะลดน้อยลง ทำให้การสร้างรายได้ของคนในพื้นที่หายไป รวมทั้งวิถีชีวิตของคน อ.จะนะ จะเปลี่ยนแปลงไปแน่นอน

4. ดร.สินาถ ตรีวรรณไชย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พูดถึงมุมมองด้านเศรษฐกิจว่าข้อดีของการที่จะมีเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่อาจทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่เป็นรายได้จากภาคการใช้แรงงานมากกว่า

ในฐานะเป็นคนที่เกิดในพื้นที่ อ.จะนะ ก็อยากให้ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในทุกๆ ด้านให้ครอบคลุม

5. น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่/โฆษกคณะกรรมาธิการ กมธ. กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนฯ กล่าวว่า การอนุมัติใน ครม. ให้ อ.จะนะ เป็นเขตอุตสาหกรรม ซึ่งต้องใช้พื้นที่รวมประมาณ 10,000 กว่าไร่ เป็นอุตสาหกรรมจะนะนั้นไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย

เพราะการที่จะดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐจะต้องถามความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่

ซึ่งตนเองเป็นคนภาคตะวันออก เคยสัมผัสกับเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นอย่างดี รัฐบาลบอกว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ ณ ปัจจุบัน ภาคตะวันออกก็ยังเจอปัญหาและยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร

6. น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และกรรมาธิการการศึกษา กล่าวว่า ตนเองมีโอกาสมาพื้นที่ อ.จะนะ รู้สึกดีใจที่ได้เห็นเวทีที่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแบบนี้ และพูดถึงงบประมาณเรื่องการศึกษาที่ลงมาในพื้นที่ อ.จะนะ ประมาณ 15 ล้านบาท แต่เป็นงบฯ บริหารจัดการโครงสร้างการศึกษามากกว่าการพัฒนาระบบการศึกษา ซึ่งในพื้นที่ไม่มีโอกาสบริหารจัดการงบประมาณตรงนี้ตามความต้องการของบริบทแต่ละพื้นที่

อยากให้ทุกคนได้ตระหนักรู้ว่าปัจจุบันไม่ว่าเรื่องอะไรเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น