เปลี่ยนผ่าน : STARTUP THAILAND 2016 ความสำเร็จในการพัฒนาวงการ Startup หรือรัฐกำลังเดินผิดทาง?

โดย ศักดินา เศรษฐโกมุท

 

จบลงไปแล้วสำหรับงาน STARTUP THAILAND 2016 ซึ่งถือเป็นการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจ Startup เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเครือข่ายภาคเอกชน

ตลอด 4 วันของการจัดงาน มีผู้เข้าร่วมชมงานแสดงนิทรรศการ ฟังปาฐกถาพิเศษและการเสวนาในหัวข้อต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 35,000 คน

ถือเป็นงานธุรกิจ Startup ที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในเอเชีย

แม้เสียงสะท้อนส่วนมากต่อการจัดงานในครั้งนี้ จะออกมาในทางชื่นชม แต่ก็มีข้อที่ต้องปรับปรุงอยู่พอสมควร

ไม่ว่าจะเป็นการให้พื้นที่กับบริษัทขนาดใหญ่มากเกินไป ขณะที่บรรดาธุรกิจ Startup ทั้งหลายกลับมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด รวมถึงการจัดทางเดินที่ค่อนข้างแคบ ทำให้เกิดความแออัดในการชมงาน ซึ่งคงจะได้เห็นการปรับปรุงในการจัดงานครั้งต่อๆ ไป

แต่สิ่งที่เป็นคำถามจริงๆ ก็คือ การจัดงาน STARTUP THAILAND 2016 ในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จหรือไม่?

มีส่วนช่วยในการพัฒนาวงการ Startup ของประเทศไทย ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้มากน้อยแค่ไหน?

หรือบทบาทของภาครัฐในครั้งนี้ เป็นเพียงการ “เคลม” ความสำเร็จ จากการพัฒนาวงการ Startup ของผู้ประกอบการเอกชนในตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา?

 

คุณไผท ผดุงถิ่น นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ หรือ Thailand Tech Startup Association จะมาให้คำตอบในหลายๆ คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Startup รวมถึงให้มุมมองของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐ ในการพัฒนาวงการ Startup ของไทย

อะไรคือความแตกต่างระหว่างธุรกิจ Startup กับธุรกิจเอสเอ็มอี

Startup แปลว่าธุรกิจเริ่มต้นใหม่ เอสเอ็มอี แปลว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

การเริ่มต้นธุรกิจใหม่มันมีเรื่องของระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ว่าวันนี้เรามองว่าธุรกิจเริ่มต้นใหม่ มันไม่เหมือนกับธุรกิจเริ่มต้นใหม่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เพราะว่าธุรกิจที่เริ่มต้นใหม่ในวันนี้มีเทคโนโลยี ซึ่งทำให้รูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนไป

คำว่า Startup ปัจจุบันนี้มีองค์ประกอบที่สำคัญก็คือเทคโนโลยีที่นำมาใช้ เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Tech Startup จริงๆ แล้ว Startup คือใครก็ได้ เปิดร้านกาแฟ เปิดร้านดอกไม้ก็เป็น Startup แต่ถ้าร้านกาแฟกับร้านดอกไม้ใช้เทคโนโลยี ตรงนั้นจะเรียกว่า Tech Startup

และ Tech Startup กลุ่มหนึ่งที่ใช้ไอทีเป็นเครื่องมือในการเติบโต ที่เราเรียกว่า IT Based Tech Startup วันนี้ เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ประเทศต่างๆ พูดถึงกันมากที่สุด และก็กลายมาเป็นตัวแทนของคำว่า Startup เราจะเห็นธุรกิจเริ่มต้นใหม่ในวันนี้ ที่มันก้าวกระโดดได้เพราะใช้เทคโนโลยีนี่แหละ

ถ้าทำแบบเดิม สมมติว่าผมทำโรงงานการผลิตมันอาจใช้เวลา 5 ปี 10 ปี กว่าธุรกิจจะเริ่มออกดอกออกผล แต่ธุรกิจอย่าง Startup ใช้เทคโนโลยี ใช้เวลาไม่นานก็อาจจะทำมูลค่าธุรกิจได้หลายร้อยล้าน และสร้างอิมแพ็กให้กับสังคมในวงกว้างได้ง่ายกว่า

 

ภาพรวมของธุรกิจ Startup ในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง

เติบโตขึ้นอย่างช้าๆ ผมใช้คำว่าอย่างช้าๆ ดีกว่า เพราะประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับการส่งเสริมหรือว่ามีความพร้อมในเรื่องภาษาหรือเงินลงทุนมากกว่านี้ ก็เติบโตเร็วกว่าเรา

วันนี้เราเป็นประเทศท้ายๆ แล้วครับ ที่พูดถึงเรื่อง Startup และมาทำความเข้าใจกันใหม่ว่าอะไรคือ Startup อะไรคือ Tech Startup อะไรคือเอสเอ็มอี ผมว่ามีการเติบโตขึ้น แต่ยังอยู่ในอัตราที่ช้าอยู่

 

อะไรคือปัญหาที่ Startup ของไทยพบบ่อยที่สุด

เรื่องแรกที่สุดน่าจะเป็นความรู้ครับ เรายังไม่เคยทำธุรกิจที่มีคนใช้บริการเป็น 10 ล้านคน 100 ล้านคน ในระดับโลกมาก่อน คนไทยทำธุรกิจเก่งครับ แต่ว่าทำธุรกิจแบบ Tech Startup ยังไม่ค่อยเป็น

เรื่องที่สองก็คือเรื่องกฎหมาย ธุรกิจ Startup ในเมืองไทย กฎหมายอาจจะยังไม่ได้รองรับมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือฮ่องกง ที่ส่งเสริมเรื่อง Startup มานาน ตัวกฎหมายจึงค่อนข้างทันสมัย

ประเทศไทยยังใช้กฎหมายดั้งเดิม ประมวลแพ่งและพาณิชย์มาไม่รู้กี่สิบปีแล้วครับ และมันไม่เหมาะสมกับธุรกิจในยุคนี้

 

แสดงว่านี่คือสิ่งที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ

ใช่ คือรัฐควรจะเข้ามาช่วยในสิ่งที่เอกชนทำไม่ได้ ก็คือเรื่องกฎหมายนี่แหละ เรื่องหลักที่สุดเลย ส่วนเรื่องอื่นๆ การให้ความรู้ อาจจะเป็นรัฐร่วมกับเอกชนก็ได้

เงินลงทุนจริงๆ เอกชนก็มีครับ วันนี้หลายๆ คนก็บอกว่าเงินล้นตลาดไปหมด เขาไม่รู้จะเอาไปลงที่ไหน ไม่รู้ว่าจะเอาไปลงยังไง เครื่องมือในการลงทุนอาจจะยังไม่เหมาะสม อะไรประมาณนี้ครับ

 

ทิศทางที่รัฐพูดถึง Startup ตอนนี้ มันเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นรึเปล่า

ตามความคิดเห็นส่วนตัวของผม ผมคิดว่าวันนี้การหยิบยื่นความช่วยเหลือมันมีค่อนข้างมาก แต่มันน่าจะมีการจัดลำดับความสำคัญหน่อยว่าอะไรควรจะมาก่อนมาหลัง

คือมันเหมือนกับเรากำลังรุมสร้างบ้านพร้อมกัน ตั้งแต่ช่างปูน ช่างสี ช่างไฟฟ้า ทุกอย่างพร้อมกัน มันอาจจะไม่เกิดประโยชน์อะไร บ้านมันอาจจะพังมากกว่า แต่ถ้าตามลำดับของมันแล้ว เราก็ต้องทำพื้นฐานของมันก่อน ก็คือเรื่องกฎหมาย เรื่องความรู้ และค่อยเขยิบไปสู่เรื่องเงินลงทุน หรือการสนับสนุนอย่างอื่น

แต่ผมก็เข้าใจภาครัฐนะครับ ว่าเขาก็มีหลายหน่วยงาน มีหลายพันธกิจเต็มไปหมด เพราะฉะนั้น การที่รัฐหยิบยื่นความช่วยเหลือมาก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี

แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ในฐานะที่ประเทศเราต้องมองตัวเองเป็น Startup ด้วย เป็น Startup Nation มันจึงมีการลองผิดลองถูกเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ามันมีนโยบายไหนที่ลองทำแล้วไม่เกิดดอกออกผลจริงๆ ก็หยุด แล้วก็เรียนรู้กับมัน ปรับมาเป็นนโยบายใหม่ดีกว่า สิงคโปร์ก็ทำแบบนี้มาก่อนครับ

ดาวเด่นของธุรกิจ Startup ในไทย

มีหลากหลายนะครับ วันนี้เรามี Startup สายไลฟ์สไตล์ที่ทุกคนใช้กันมาก แต่จริงๆ แล้วประเทศไทยเอง เรามีจุดเด่นในหลายๆ เรื่อง ที่ถ้าได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้อง ประเทศไทยควรจะเป็นที่ตั้งของ Startup การเกษตรและอาหาร และ Startup สายท่องเที่ยว

อะไรที่ประเทศไทยมีจุดแข็งอยู่แล้ว มีรากอยู่แล้ว ประเทศไทยควรจะส่งเสริมเป็นพิเศษ แล้วเราจะเห็น Startup กลุ่มนี้เติบโตได้ เพราะถ้าเขาแก้ปัญหาในเมืองไทยได้ เขาก็ขยายไปสู่ตลาดอาเซียน ไปสู่ตลาดโลกได้เหมือนกัน

 

อะไรคือหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้ธุรกิจ Startup ธุรกิจหนึ่งประสบความสำเร็จ

ผมว่าองค์ความรู้พื้นฐานของ Startup คือการทำตัวให้ lean ครับ คือการทำตัวให้ไม่ฟุ่มเฟือยอะไรแบบนั้น

วิธีการคิดของ Startup คือ Build, Measure, Learn มันมีอยู่ 3 ข้อนี่แหละครับ ที่ทำให้ Startup แตกต่างจากเอสเอ็มอี

เพราะตอนเริ่มต้นธุรกิจใหม่มันอาจจะไม่ชัดเจนว่าจะหาลูกค้าอย่างไร จะทำรายได้อย่างไร เพราะฉะนั้น มันจะเกิดการทดลอง องค์ประกอบของมันก็คือ Build สร้างของ Measure วัดผล และเรียนรู้ คือ Learn ซึ่งกระบวนการตรงนี้มันจะเกิดขึ้นเร็วมาก

นี่คือสิ่งที่อยากให้ Startup รุ่นใหม่ๆ ได้เรียนรู้ครับ เพราะว่าเราไม่ได้ทำอะไรตามคนอื่นเขา เพราะถ้าเราทำอะไรตามคนอื่น เราก็คงจะแข่งกับเขาไม่ได้

เพราะฉะนั้น เราต้องคิดอะไรให้ต่าง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้เทคโนโลยีให้มากๆ ครับ