จรัญ มะลูลีม : อินเดียศึกษา และแนวคิดด้านการศึกษาในอินเดีย

จรัญ มะลูลีม

ขณะนี้วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาอินเดียศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีนักศึกษาจบการศึกษาไปแล้ว 1 รุ่น และผลสัมฤทธิ์ของผู้จบการศึกษาก็มีงานทำที่มั่นคงในหลายการงานอาชีพ

ไม่ว่าจะรับราชการเป็นนายทหาร Air Hostess และ Stewart อยู่ในสายการบิน Qatar และการบินไทย

ศึกษาต่ออยู่ในประเทศต่างๆ รวมทั้งในประเทศอินเดียเอง

 

จุดมุ่งหมายสำคัญของอินเดียศึกษา

1.เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญในความเติบโตขึ้นมาของอินเดียในฐานะมหาอำนาจในเอเชียใต้ ซึ่งมีบทบาทอยู่ในเวทีโลก และบทบาทของอินเดียในโลกร่วมสมัย

2. เพื่อการรู้จักอินเดียและเข้าใจอินเดียอย่างครอบคลุมในทางสังคม วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การค้าพาณิชย์ ฯลฯ

3. มีความสามารถในการใช้ภาษาฮินดี (Hindi) ซึ่งมีผู้ใช้ภาษานี้มากกว่าพันล้านคน

นอกจากนี้ นักศึกษายังจะได้ใช้ชีวิตด้านการศึกษากับอาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของอินเดียหนึ่งเทอมการศึกษาเพื่อให้ได้ประสบการณ์และบรรยากาศด้านการศึกษาในประเทศอินเดีย

4. หลังจบการศึกษา นักศึกษามีโอกาสเข้าทำงานได้หลากหลายทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียใต้

ด้วยเหตุนี้ในการศึกษาอินเดียศึกษา นักศึกษาจะเรียนรู้ในหลากหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวเนื่องกับอินเดีย การศึกษาหนึ่งเทอมการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอินเดีย (Lovely University, Chandigarh University และ Guwahati University คือมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาสาขาอินเดียศึกษาได้ไปร่ำเรียนและแลกเปลี่ยนมาแล้ว)

 

ล่าสุดเพื่อสนับสนุนความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างสถาบันการศึกษาของประเทศไทยกับสถาบันการศึกษาของอินเดีย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีข้อตกลงและมีความร่วมมือที่จะสร้างโปรแกรมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในด้านต่างๆ ที่มีความสนใจ และเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีของอินเดีย

คือมหาวิทยาลัยอินดอร์ (Indore University)

โดยทั้งสองมหาวิทยาลัยตกลงที่จะมีความร่วมมือต่อกันในด้านต่อไปนี้

1. การแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิชาการและเจ้าหน้าที่

2. ร่วมกันในกิจการต่างๆ อย่างเช่นการทำวิจัยร่วมกันระหว่างอาจารย์ของสองมหาวิทยาลัย

3. ใช้ข้อมูลร่วมกันในการตีพิมพ์เอกสารและวัตถุดิบด้านการวิจัยในด้านที่เป็นความสนใจร่วมกัน

4. โครงการอื่นๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน

 

อินเดียศึกษาและแนวคิดด้านการศึกษาในอินเดีย

จากการเรียนอินเดียศึกษาที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการศึกษาในอินเดียผมจึงขอนำเสนอแนวคิดด้านการศึกษาของอินเดียเพื่อต่อยอดความเข้าใจว่าด้วยอินเดียศึกษาในเวลาเดียวกัน

ในที่นี้ ผมจึงขอสรุปจากรายงานของ ผศ.ดร.นิธินันท์ วิศเวศาร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเดินทางไปร่วมงาน The 15th FICCI Higher Education Summit 2019 ระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2562

โดย ผศ.นิธินันท์ได้สรุปสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีศรีราม นาถ โกวินด์ ของอินเดียว่าด้วยประเทศอินเดียและอินเดียศึกษาเอาไว้อย่างน่าสนใจ มีใจความว่า

1. การประชุม FICCI นี้ ถือเป็นการรวมตัวของผู้นำทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาของโลก ที่นับว่ามีจำนวนกลุ่มผู้มีส่วนร่วมต่างๆ (Stakeholders) ทั้งจากอินเดียและนานาชาติเป็นจำนวนมากที่สุด และมั่นใจได้ว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะมีความสมบูรณ์ดังเช่นครั้งที่ผ่านๆ มา

2. การศึกษาในระดับอุดมศึกษา (Higher Education) ถือเป็นนโยบายสาธารณะที่ส่งผลต่อความเติบโตและความก้าวหน้าของสังคม วิทยาศาสตร์ และพัฒนาการของการสร้างปัญญาของทุกชนชาติ

ประการที่สำคัญคือ อินเดียนั้นถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันพิเศษยิ่ง

เพราะอินเดียเป็นดินแดนที่เป็นแหล่งของการเรียนรู้ การสร้างแรงบันดาลใจ และให้แสงสว่างแห่งการดำเนินชีวิต เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตมายาวนานหลายพันปี

โดยเมื่อครั้งคริสต์ศตวรรษที่ 7 นั้น มีนักเรียนมาจากที่ต่างๆ มากกว่า 10,000 คนเข้าศึกษาที่นาลันทา ที่ซึ่งจัดการเรียนการสอนแบบเน้นการวิเคราะห์ ถกเถียง และการคิดในเชิงวิพากษ์ สร้างนักปราชญ์ นักคิดอินเดียมาอย่างมหาศาล

และสิ่งเหล่านี้มิใช่หรือที่เป็นรูปแบบของการเรียนการสอน (Pedagogies) ที่เรากำลังเน้นกันในสมัยปัจจุบัน

3. การลงทุนใน “คน” ให้เข้าสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ จึงถือว่ามีผลต่อการสร้างสังคมที่รู้แจ้ง เพราะการศึกษาคือการเพิ่มขีดความสามารถของคนในวันนี้ให้เขาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับบุคคลต่อระดับสังคมในปัจจุบัน และระหว่างคนรุ่นต่อรุ่นที่จะส่งต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตได้

4. ปัจจุบันอินเดียถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีระบบนิเวศทางการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก คืออุดมด้วยผู้สอน ผู้เรียน สภาพแวดล้อม และบรรยากาศที่เอื้ออำนวย

ประเทศอินเดียจะดำเนินทุกวิถีทางเพื่อการพัฒนามาตรฐานให้เป็นศูนย์กลางความรู้ของโลก เพื่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมของพลังที่จะรองรับโอกาสอันมีอยู่อย่างมหาศาลและไม่จำกัดนี้ เราจำเป็นต้องพลิกโฉมการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ด้วยกระบวนการเรียนรู้ใหม่ที่เอื้อต่อการแปลงโฉมการวิจัยในลักษณะที่เป็นเชิงลึกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้อินเดียศึกษาของเยาวชนไทยเพื่อรู้จักประเทศอินเดียให้มากขึ้น

5. การเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างความคิด (Ideation) นวัตกรรม (Innovation) และความรู้ที่เกิดขึ้นเองรอบตัวเราได้ (Intuition) ต้องถูกบรรจุไว้ในหลักสูตร โดยที่การเรียนด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (social sciences and humanities) ต้องได้รับความสำคัญทัดเทียมกับการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ (sciences)

โดยต้องสร้างความเชื่อมโยงของความรู้ข้ามสาขา ผ่านการเรียนในรูปแบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary studies) ให้ได้

ซึ่งประเด็นนี้มีนัยยะอันสำคัญว่า การศึกษาจะต้องปลดเปลื้องพันธนาการของความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และตรรกะแห่งความคิดของผู้เรียนออกจากกรอบแบบเดิมให้ได้

ซึ่งการจะสร้างคลื่นใหม่ของการศึกษาได้อย่างสัมฤทธิผลนั้น เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติในทุกระดับ

ตั้งแต่ระดับผู้นำในการศึกษา ไปจนถึงระดับผู้สอน และผู้เรียน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการเรียนรู้ และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม

ประธานาธิบดีศรีรามนาถ โกวินท์ กล่าวปิดท้ายไว้ว่า ในอนาคตข้างหน้าอีกหลายทศวรรษ เราจะได้เห็นพลวัตของการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางเศรษฐกิจ การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงและการเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมจริงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

และไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม อินเดียจะยังคงเป็นดินแดนของโอกาสแห่งการเรียนรู้ให้แก่ประชาคมโลกในวงกว้างสืบต่อไป

 

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เป็นวันที่สองของการประชุม เริ่มต้นด้วยการสนทนาพูดคุยอย่างเป็นกันเองในรูปแบบที่เรียกว่า Fireside Chat โดยผู้สนทนาหลักคือ Gurudev Sri Ravi Shankar Ji ผู้นำทางจิตวิญญาณในการเรียนรู้ของชาวอินเดีย ที่ให้มุมมองอย่างน่าสนใจเกี่ยวกับการศึกษาในอินเดีย มีสาระโดยสังเขป ดังนี้

1. ถ้าจะกล่าวถึงมรดกทางการศึกษาของโลกก็ต้องนึกถึงตักศิลา ซึ่งนับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก และต่อมามีนาลันทา และที่อื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นมรดกด้านการศึกษาที่เป็นพื้นฐานอันสำคัญของการศึกษาในอินเดียในปัจจุบัน ซึ่งในอดีตนับพันปีนั้น เรียกได้ว่ามีสาขาของการศึกษามากถึง 64 สาขา และหลายสาขาที่มีวัฒนธรรมของการเรียนรู้อยู่ที่การตั้งคำถาม เราจะเห็นว่าสังคมอินเดียเป็นสังคมที่กระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งคำถาม เป็นสังคมที่ครูไม่เคยปิดกั้นการตั้งคำถาม และคำถามเหล่านั้นคือพื้นฐานอันสำคัญที่ทำให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาคำตอบ และเรียนรู้ต่อยอดขึ้นไปจนเกิดการสร้างสรรค์ปัญญา

2. จุดประสงค์ของการศึกษาแท้จริง คือการสร้างให้คนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ดังนั้น การศึกษาจึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างความรู้ (knowledge) และการสร้างบุคลิกลักษณะของบุคคล (character) โดยเป้าหมายมิใช่ความฉลาด แต่เป็นความสามารถในการหยั่งรู้อย่างเฉียบคม (sharp intuition)

3. สังคมมีบทบาทอย่างสูงในการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการสร้างบุคลิกลักษณะของเด็ก เช่น ถ้าเราต้องการให้นักเรียนเติบโตมาอย่างเป็นผู้รักสันติ ไม่โอนเอียงไปทางความรุนแรง เราก็ควรคิดหารางวัลให้แก่ผู้ที่ไม่นิยมความรุนแรง แทนที่จะให้รางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดต่างๆ ซึ่งแฝงไว้ด้วยการแข่งขัน และเมื่อไม่ชนะก็ย่อมผิดหวัง และเกิดการต่อสู้ในจิตใจที่รุนแรงเพิ่มขึ้น จนที่สุดสามารถพัฒนาให้เกิดความก้าวร้าว ความโกรธ และนำไปสู่ความรุนแรง

4. สังคมอินเดียเป็นสังคมแห่งการเสาะหาความจริง ซึ่งต้องเป็นความจริงที่ผู้คนยอมรับด้วยความใจกว้าง และปราศจากอคติ ซึ่งอินเดียมีเครื่องมือสำหรับการเสาะหาความจริงอย่างมีเสน่ห์ที่สุด คือการโต้วาที หรือการถกอภิปราย (debate) ที่ทำให้เราสามารถประเมิน วิเคราะห์ เปรียบเทียบ และสรุปหาความจริงได้อย่างถูกต้อง ไร้อคติ

หากแต่โลกปัจจุบันนี้ ที่เต็มไปด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม เราพึ่งพาเทคโนโลยีกันมาก ทำให้การเรียนรู้ขาดมิติของปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์

ซึ่งหากจะเปรียบเทียบแล้ว แม้แต่การคิดเลขแบบง่ายๆ ในปัจจุบันเรายังต้องพึ่งพาเครื่องคิดเลข แทนที่จะสามารถคิดในใจแบบในอดีตได้

สิ่งเหล่านี้ทำให้ความสามารถในการค้นหาความจริงที่แท้สูญหายไป และเมื่อสังคมมีวิวัฒนาการในทิศทางนี้ ย่อมทำให้เกิดความไม่เข้าใจ และเป็นสังคมที่บิดเบือนความรู้ไปในที่สุด

ดังนั้น การศึกษาแนวคิดด้านการศึกษาของอินเดียจะทำให้การศึกษาอินเดียศึกษามีหลากมิติและหลากมุมมองยิ่งขึ้นในการพัฒนาการเรียนการสอนอินเดียศึกษาต่อไปในอนาคต