ธงทอง จันทรางศุ | ทุบ “ศาลาว่าการ กทม.” ลงเสีย

ธงทอง จันทรางศุ

ผู้คนสมัยนี้น่าจะไม่รู้จักโรงหนังเฉลิมไทย หรือโรงภาพยนตร์ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ศาลาเฉลิมไทย” เสียแล้วว่าอยู่ตรงไหนของกรุงเทพฯ

แต่ถ้าเป็นคนที่อยู่ในวัยอาวุโสสักหน่อย คงจะยังทรงจำได้ว่าโรงหนังชื่อนี้ตั้งอยู่ตรงที่เป็นลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ริมถนนราชดำเนินกลางใกล้กันกับสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตรงกันข้ามกับป้อมมหากาฬ

หัวมุมตรงนั้นนั่นแหละครับที่เป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย

โรงหนังเฉลิมไทยที่ว่านี้เป็นโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งของกรุงเทพฯ ในยุคนั้น ยุคที่ว่านี้เริ่มต้นตั้งแต่พุทธศักราช 2489 ช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งจบสิ้นไปหมาดๆ และอยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงปีพุทธศักราช 2532 จึงถูกทุบทิ้งไป

จากนั้นก็มีการปรับปรุงภูมิทัศน์จนเป็นลานสวยงามดั่งที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้

เกือบยี่สิบปีก่อนหน้าที่จะมีการทุบโรงหนังเฉลิมไทยทิ้งไปอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ผมจำได้ว่าประมาณปีพุทธศักราช 2515 หรือบวกลบก่อนหลังนั้นไม่นาน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนคอลัมน์สยามรัฐหน้าห้า ซึ่งเป็นคอลัมน์ประจำวันของคุณชาย ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐที่มีผู้คนติดตามอ่านกันงอมแงมเสนอความเห็นว่า น่าจะมีการทุบโรงหนังเฉลิมไทยทิ้งไปเสีย ความงดงามของโลหะปราสาทวัดราชนัดดาและบริเวณใกล้เคียงที่เป็นศรีสง่าแก่พระนครจะได้ปรากฏโฉมขึ้น หลังจากถูกโรงภาพยนตร์ที่ว่าปิดบังทัศนียภาพมานานปีแล้ว

เพื่อประกอบความเข้าใจของผู้อ่านคอลัมน์ดังกล่าว คุณชายคึกฤทธิ์ได้ไปจัดหาช่างเขียนมาทดลองเขียนภาพภูมิทัศน์ริมถนนราชดำเนินบริเวณนั้นเมื่อไม่มีศาลาเฉลิมไทยปรากฏอยู่ เพื่อเป็นแนวคิดให้คนอ่านได้รู้ว่าเราจะได้เห็นอะไรหากดำเนินการดังว่า

รูปที่วาดขึ้นคราวนั้นใกล้เคียงกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในทุกวันนี้เป็นอย่างยิ่ง

หลังจากบทความของคุณชายปรากฏต่อสาธารณะแล้ว เรื่องก็เงียบหายไปอีกช้านาน จนเวลาผ่านไปหลายปี หลังการฉลองพระนคร 200 ปีแล้ว จึงมีการรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาพูดกันอีกครั้งหนึ่ง มีการอภิปรายในที่สาธารณะและตามสื่อมวลชนต่างๆ ทั้งเห็นด้วยและทั้งไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลน่าฟัง

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ก็จบลงด้วยการตัดสินใจทุบศาลาเฉลิมไทยทิ้ง และภูมิทัศน์ตรงข้ามป้อมมหากาฬส่วนที่อยู่ด้านหน้าวัดราชนัดดา ก็ปรากฏโฉมดังที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาย้อนตำนานให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ เพราะผมมีความคิดอะไรทำนองเดียวกันนี้อยากจะเสนอสักข้อหนึ่งครับ

ขอออกตัวเสียก่อนว่าผมไม่ได้คิดจะไปเทียบเทียมกับคุณชายคึกฤทธิ์ประการใด ท่านอยู่เหนือชั้นกว่าผมด้วยประการทั้งปวง

แต่ถ้าจะให้คิดเพ้อฝันอะไรได้ตามใจปรารถนา ผมก็อยากจะเห็นการปรับปรุงภูมิทัศน์สถานที่แห่งที่อยู่ใจกลางพระนคร

และถ้าทำได้จริงผมคิดว่าจะเป็นของน่าตื่นตาตื่นใจมาก

ต้องเข้าใจตรงกันก่อนนะครับว่า เมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นในพุทธศักราช 2325 ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น กรุงเทพฯ ของเรามีขนาดไม่ได้ใหญ่โตกว้างขวางเท่าไหร่นัก

ด้านทิศตะวันตกมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพรมแดน

ส่วนทิศอื่นก็โอบล้อมด้วยคลองบางลำภูหรือคลองโอ่งอ่าง มีแนวคลองเริ่มต้นทางด้านทิศเหนือตั้งแต่ตรงป้อมพระสุเมรุ แล้ววนไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาตรงใกล้กันกับวัดบพิตรพิมุข ทำให้กรุงเทพฯ เมื่อแรกสร้างมีลักษณะเป็นเกาะเพราะมีน้ำล้อมรอบ

ตำแหน่งที่เป็นใจกลางพระนครในยุคนั้น อยู่ที่บริเวณวัดสุทัศนเทพวราราม โดยมีเสาชิงช้าเป็นที่สังเกต ไม่ห่างไกลกันนักจากเสาชิงช้าก็เป็นที่ตั้งของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงตั้งอยู่ที่เดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปที่ไหน

สถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารหลักของวัดสุทัศน์นั้นมีสองอาคารด้วยกัน

ด้านหน้าสุดที่เราเห็นได้ง่ายเวลาขับรถผ่านไปมาบริเวณเสาชิงช้า เมื่อมองเข้าไปในวัดจะเห็นพระวิหารหลวงขนาดใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่งที่เชิญลงมาจากวัดมหาธาตุกรุงสุโขทัยเพื่อมาเป็นศรีสง่าแก่พระนครเมื่อครั้งตั้งกรุงรัตนโกสินทร์

ด้านหลังของพระวิหารหลวง เป็นอาคารหลังใหญ่มหึมาอีกหลังหนึ่ง อาคารที่ว่านี้คือพระอุโบสถของวัดสุทัศน์ ลักษณะการวางแผนผังอาคารทั้งสองหลังนี้ วางได้มุมได้เหลี่ยมสัมพันธ์สอดคล้องกันมาก

ถ้าเรามีโอกาสขึ้นไปยืนอยู่บนศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแล้วมองไปทางวัดสุทัศน์ จะเห็นอาคารสองหลังนี้เสมือนหนึ่งเป็นอาคารหลังเดียวกันเป็นอาคารตรีมุขที่มีขนาดพึงชมเป็นอย่างยิ่ง

แต่น่าเสียดายครับที่มุมมองสวยงามที่ว่านี้ แทบจะหมดโอกาสที่คนทั่วไปจะได้เห็นมานานปีแล้ว เพราะตำแหน่งยืนที่ถูกต้องต้องไปยืนอยู่ที่บริเวณศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แถมบริเวณลานกว้างระหว่างศาลาว่าการกรุงเทพมหานครกับวัดสุทัศน์ ก็เป็นลานที่แห้งแล้ง มีต้นไม้แก้ขัดเขินอยู่ไม่กี่ต้น

และไม่เหมาะกับการนั่งนอนยืนเดินใดๆ ทั้งสิ้น

ผมไม่แน่ใจว่าศาลาว่าการกรุงเทพมหานครตรงหน้าเสาชิงช้าที่ว่านี้สร้างขึ้นเมื่อไหร่ แต่น่าจะอยู่ประมาณพุทธศักราช 2500 หรือหลังจากนั้นอีกไม่นาน นับถึงปัจจุบันก็อายุถึงวัยควรเกษียณราชการแล้ว ทางกรุงเทพมหานครเองก็ไปสร้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแห่งที่สองอยู่ที่ถนนมิตรไมตรีในย่านดินแดงเพื่อใช้เป็นที่ทำงานส่วนหนึ่งไว้แล้วด้วย

คราวนี้ถึงเวลาที่ผมจะขายฝันผมแล้วนะครับ

ผมฝันที่จะเห็นการปรับปรุงบริเวณลานหน้าวัดสุทัศน์และเสาชิงช้าเสียใหม่

ด้วยการทุบศาลาว่าการกรุงเทพมหานครลงเสีย

นึกในใจว่าการมีสถานที่ทำงานที่ผู้คนต้องเข้าไปติดต่อหรือทำงานในแต่ละวันเป็นจำนวนมากอยู่ใจกลางเมืองอย่างนี้ น่าจะไม่ได้รับความสะดวก ก่อให้เกิดปัญหาจราจร ปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นของที่พ้นยุคพ้นสมัยแล้ว

พอไม่มีอาคารที่ทำการของกรุงเทพมหานครตั้งอยู่ตรงนั้น ผมจะปรับปรุงพื้นที่ว่างที่เกิดขึ้นใหม่ เชื่อมโยงเข้ากับลานที่แทบจะเป็นทะเลทรายร้อนระอุซึ่งอยู่ระหว่างที่ทำการกรุงเทพมหานครกับเสาชิงช้า ให้ร่มรื่นสวยงาม มีระยะห่างของสายตาที่สามารถมองเห็นพระวิหารหลวงและพระอุโบสถวัดสุทัศน์รับจังหวะกันเป็นตรีมุขสวยวิเศษปรากฏขึ้นกลางพระนคร

จะทำสวนให้สวยอย่างไร มีต้นไม้ใหญ่ต้นไม้น้อยประกอบลดหลั่นกันอย่างไร ผมเชื่อว่ามีคนออกแบบได้ทั้งนั้นครับ

ทำเสร็จแล้วเราก็จะได้สวนสาธารณะขนาดกำลังดีอยู่กลางพระนคร ใช้งานเป็นประโยชน์อะไรได้อีกมากอย่างที่เมืองนอกเขาเรียกว่า Civic Center เกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง

ชะดีชะร้าย ความคิดที่ว่ามานี้คนที่ทำงานอยู่ในศาลาว่าการกรุงเทพมหานครหน้าเสาชิงช้าอาจจะร้องไชโยโห่ฮิ้วก็ได้ เพราะนั่งอยู่ในกล่องดึกดำบรรพ์นั้นมานานแล้ว

ถ้ายังอาลัยอาวรณ์พื้นที่ที่ผูกพันกันมาแต่ก่อน กรุงเทพมหานครจะสงวนพื้นที่บางส่วนไว้สำหรับทำเป็นพิพิธภัณฑ์เมือง เล่าเรื่องความเป็นมาของกรุงเทพมหานครตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันแล้วฝันเลยไปจนถึงอนาคตก็ย่อมได้ พิพิธภัณฑ์ที่ว่านี้ถ้าออกแบบให้สัมพันธ์สอดคล้องกับภูมิทัศน์โดยรวมของภูมิศาสตร์ย่านนั้นขี้คร้านคนจะร้องชื่นชมกันขรมไป

ผมโยนก้อนหินถามทางมาอย่างนี้คงมีทั้งคนชอบและคนชัง

ไม่เป็นไรครับ ไม่ว่ากัน อย่างน้อยให้คนได้ลองคิดตอบโจทย์ข้อนี้ดูบ้าง

ปีนี้พุทธศักราช 2563 อีกสิบสองปีข้างหน้า พุทธศักราช 2575 จะเป็นการฉลองพระนคร 250 ปี

ผมจะพยายามรักษาสังขารของผมเอาไว้เพื่อจะอยู่ร่วมพิธีฉลองพระนครในวาระนั้น และบางที บางที ความฝันของผมในวันนี้อาจจะเป็นจริงขึ้นมาก็ได้

ฝากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ช่วยแก้ฝันผมด้วยครับ

ถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนไหนมีนโยบายนี้ ส่งข่าวบอกผมหน่อยครับ

ผมจะอาสาเป็นหัวคะแนนให้เลยทีเดียว