ที่มาที่ไป | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

“กาแฟดำ” กล่าว

สวัสดีครับ

ขอรายงานตัวด้วยคอลัมน์แรกใน “มติชนสุดสัปดาห์” ครับ พลิกดูที่ปกก็เพิ่งสำเหนียกว่านิตยสารรายสัปดาห์เล่มที่ยังยืนหยัดอยู่ในวงการน้ำหมึกนั้นตีพิมพ์มาเป็นปีที่ 40 แล้ว

ผมได้รับเกียรติให้มาร่วมชายคาเดียวกับเพื่อนพ้องน้องพี่ในมติชนได้อย่างไร?

ความจริง เราอยู่ใน “บ้านช่องห้องหอ” เดียวกันในวงการสื่อทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการมายาวนานครับ

เรื่องนี้มีที่มาที่ไป

ผมมาร่วมแสดงความยินดีกับมติชนย่างเข้าปีที่ 43 เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา

ความตั้งใจหลักคือมาแสดงความยินดีกับปานบัว “หวานเย็น” บุนปาน ที่เพิ่งรับแต่งตั้งวันนั้นเป็น “กรรมการผู้จัดการ” ที่เรียกกันว่า “เอ็มดี” หรือ MD

ซึ่งครั้งหนึ่งคุณพ่อของเธอคือคุณขรรค์ชัย บุนปาน เคยบอกว่าเป็นคำย่อมาจาก Mad Dog เพราะตัวเขาเองเคยมีตำแหน่งนี้มาก่อนตอนที่ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชน

ที่ต้องเรียกว่า Mad Dog เพราะหากไม่ “บ้า” จริงก็คงจะไม่หาญกล้าก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในยามที่ไม่มีเงิน, ไม่มีประสบการณ์, ไม่มีคนรอบข้างเห็นด้วย มีแต่ความมุ่งมั่นและเพื่อนที่บ้าพอๆ กันไม่กี่คน

แต่ถ้าไม่ “บ้า” ก็คงจะมาไม่ถึงวันนี้

ตั้งใจจะไปให้กำลังใจ “หวานเย็น” เพราะเห็นกันมาตั้งแต่ยังแบเบาะ เมื่อได้รับหน้าที่งานการอันสำคัญในช่วงเวลาที่ท้าทายของวงการสื่อ อย่างน้อยก็ต้องไปยืนยันว่าภารกิจนี้มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

แต่พอเดินเข้าไปในงาน แขกเหรื่อแน่นขนัด ก็พบคุณขรรค์ชัย ท่านประธานบริษัทก่อนคนอื่น สีหน้าแย้มยิ้มเหมือนเดิม ท่าทางคึกคัก เดินเข้ามาหาและรายงานความเคลื่อนไหวส่วนตนแบบรัวๆ

ว่าแล้ว โดยไม่ได้คาดหมายมาก่อน ท่านประธานก็สั่งการว่า

“เอ็งเขียนคอลัมน์กาแฟดำในมติชนสุดสัปดาห์ได้แล้ว”

ผมยังไม่ทันตั้งตัว กำลังจะบอกว่าให้คนหนุ่มคนสาวเขาบรรเลงจะสนุกและได้รสชาติมากกว่า คุณพี่ขรรค์ชัยก็จัดการบอกกล่าวส่งต่อคำสั่งนี้ไปยังบรรณาธิการผู้รับผิดชอบเสร็จสรรพ

นี่คือ “ที่มา” ของการที่ผมมาปรากฏตัวอยู่บนหน้านี้

แต่หากย้อนอดีตอันไกลโพ้นกว่า 50 ปีมาแล้ว เรื่องนี้มี “ที่ไป” มาก่อน

เพราะตอนที่ผมเขียนคอลัมน์ “กาแฟดำ” อยู่ที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐขณะนั้น คุณขรรค์ชัยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ นพพร บุญยฤทธิ์ มีหน้าที่ทวงต้นฉบับ, จัดหน้าและตรวจต้นฉบับของคอลัมน์ต่างๆ ในหน้าความเห็น

ตอนนั้น คุณขรรค์ชัยกับคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ คือ “กุมารสยาม” ที่กำลังร้อนแรงในแวดวงเขียนหนังสือ อันเป็นยุค “แสวงหาความหมายแห่งชีวิต”

แสวงหาความหมายกันไปๆ มาๆ ก็หนีไม่พ้นต้องไปพบกันที่ร้านเหล้าเพราะเป็นแหล่งนัดพบเพื่อถกแถลงแสวงหากันทุกๆ เรื่อง

ผมทำงานอยู่บางกอกโพสต์ คุณขรรค์ชัยอยู่สยามรัฐ สำนักพิมพ์ทั้งสองตั้งอยู่ใกล้กันบนถนนราชดำเนินกลาง

แต่พบกันครั้งแรกไม่ใช่ในกองบรรณาธิการ หากแต่คือร้านเหล้าที่ตั้งอยู่ระหว่างสองโรงพิมพ์

ขรรค์ชัยอ่านต้นฉบับ “กาแฟดำ” มาระยะหนึ่งเพราะเป็นคนตรวจต้นฉบับ แต่ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตาคนเขียน

พอเจอกันที่หน้าห้องน้ำของร้านเหล้า ต่างก็ทักทายขึ้นพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย…และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางบนเส้นทางสื่อที่สนุกสนาน, ท้าทายและสับสนอลหม่าน

คนทำข่าวรุ่นนั้นไม่รู้จักคำว่า startup ไม่มีคำว่า disruption แต่ทุกย่างก้าวของเราในการลงมือทำสื่อด้วยกันก็เจอกับ “ความป่วน” และ “ความวุ่นวาย”

ยิ่งวุ่นยิ่งมีแรงกดดัน เรายิ่งสนุก

คนทำข่าวรุ่นก่อนเราทำอะไร เราบอกว่าต้องเปลี่ยน ต้องทำอีกแบบหนึ่ง

โดยที่เราไม่รู้ตัว เราก็เข้าสู่โหมดของ disruption เพราะเราปฏิเสธค่านิยมเก่าๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนเรียกเป็น “สื่อ”

รุ่นพี่นั่งกินเหล้ากับนักการเมืองแล้วเอามาเขียนด่าเขียนเชียร์ในคอลัมน์สังคม เราเห็นเป็นเรื่องน่ารังเกียจ

แทนที่จะร่วมวงนักการเมือง คนข่าวรุ่นใหม่เลือกที่จะไปนั่งฟังนักเขียนนักคิดรุ่นพี่รุ่นพ่อนั่งถกกันหน้าดำคร่ำเครียดเรื่องความเป็นไปของสังคม

การจะได้เข้าวงเหล้าของนักคิดนักเขียนแห่งปัญญานั้น คนข่าวใหม่ๆ ผู้ขวนขวายหาความรู้และความคิดความอ่านต้องไปนั่งรินเหล้า, วิ่งซื้อบุหรี่และประคองท่านผู้พี่ที่เริ่มจะพูดลิ้นพันกัน ลุกขึ้นเดินก็เริ่มเซ

บางครั้งก็ช่วยล้างอ้วกของท่านปัญญาชนแห่งสยามหลังจากที่ปริมาณแห่งแอลกอฮอล์ก่อตัวในท้องของท่านผู้อาวุโสจนเอ่อล้นออกมากลางถนนพร้อมด้วยเสียงโอ๊กอ๊ากดังไปทั่วย่าน

แต่นั่นคือหนทางเดียวที่จะเรียนรู้จาก “ของจริง” ที่มหาวิทยาลัยไม่สามารถจะเสนอให้ได้

ไม่ว่าจะวันนั้นหรือวันนี้

ครั้นเมื่อ “กุมารสยาม” และ “อาตี๋จากแดนใต้” สุมหัวกันแลกเปลี่ยนทัศนะกันกลางดึกกลางดื่น ไม่สนใจจะหลับนอนกันต่อเนื่องมาหลายเพลา มีมติเป็นเอกฉันท์จะต้อง “ก่อการเปลี่ยนแปลง” เพื่อให้หนังสือพิมพ์สยามรัฐปรับตัวให้ทันกับยุคสมัย สมกับความเป็น New York Times ของสยามประเทศ

อย่างน้อยก็หยุดพฤติกรรมประจำวันที่สั่งให้เด็กวิ่งต้นฉบับ (มีชื่อตำแหน่งเก๋ไก๋ว่า Copy Boy) วิ่งข้ามถนนไปกรมประชาสัมพันธ์ (ก่อนจะถูกขนานนามว่า “กรมกร๊วก” ในอีกไม่กี่ปีต่อมา) เพื่อไปหยิบ “ข่าวแจกของทางราชการ” ประจำวันมาโดยที่หัวหน้าข่าวมีจุดประสงค์เดียวคือลอกข่าวเพื่อถมให้เต็มหน้าหนึ่งของค่ำคืนนั้น

เราคิดของเราเองว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงแห่งการเสนอข่าวสารที่มิใช่เพียงรายงานว่าผู้นำประเทศและเหล่ารัฐมนตรีทั้งหลายไปเปิดงานอะไร หรือแถลงข่าวอะไรที่ไม่สนใจว่าจะเป็นที่สนใจของเหล่าประชาหรือไม่

เราต้องการ “ข่าวที่เป็นข่าว” …ข่าวที่เกี่ยวกับชีวิตของชาวบ้าน ไม่ใช่ “ข่าวทางการ” ที่ขณะนั้นวิทยุและโทรทัศน์ถูกบังคับให้ต้องกระจายเสียงไปล้างสมองประชาชนทุกวี่วัน

“กลุ่มก่อการ” 3-4 คนสรุปข้อเสนอปรับปรุงการทำงานของกองบรรณาธิการแล้ว เตรียมจะเสนอไปช่วยท่านบรรณาธิการให้ยกเครื่องหนังสือพิมพ์สยามรัฐทางด้านการนำเสนอ, การจัดหน้า, การพาดหัวและนำเสนอบทวิเคราะห์ที่อาจหาญชาญชัยภายใต้การนำของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

คืนนั้น เราถก “แผนลับ” กันถึงฟ้าสาง เตรียมนำเสนอท่าน บ.ก. เช้าวันนั้น

ผมกลับบ้านไปด้วยอารมณ์ตื่นเต้น ถึงบ้านดวงอาทิตย์ก็โผล่ พระก็ออกบิณฑบาต

ผมขึ้นรถเมล์ถึงห้องข่าวของบางกอกโพสต์คนแรก หัวใจเต้นแรง ใจหนึ่งก็คิดว่าโลกกำลังจะเปลี่ยน แต่อีกความรู้สึกหนึ่งก็เหมือนใจจะหยุดเต้น

หากทุกอย่างเป็นไปตามข้อเสนอ โลกจะไม่เหมือนเดิมต่อไปอีกแน่นอน

กริ๊ง! โทรศัพท์ดังขึ้นนาทีนั้น (ยุคนั้นยังไม่มีมือถือ โทรศัพท์ต้องวางบนโต๊ะ)

“ช้างพูดนะเว้ย” ขรรค์ชัยพูดเสียงเนิบ

ผมจับได้ว่ามีอะไรผิดปกติแล้ว

“เรียบร้อยไหมวะ” ผมร้อนรน

“เรียบร้อย…เรียบร้อยโรงเรียนคุณชาย…”

หัวใจผมตกไปใต้ตาตุ่ม

“คุณชายคึกฤทธิ์เซ็นจดหมายไล่กูกับไอ้จิตต์ออก มีผลทันที!”

เรากลายเป็น “กบฏ” ทันใด

เรื่องราวที่เหลือจากนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่เรารู้กันอยู่สามคนถึงวันนี้!

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ถ้าไม่มีวันนั้น ก็ไม่มีวันนี้

เพราะอะไรๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากวันนั้นคือบทที่หนึ่งสำหรับชีวิตใหม่บนเส้นทางสื่อสารมวลชนของ “สองกุมารสยาม” และ “อาตี๋จากแดนใต้”

ชนิดที่ “เอาอะไรมาแลกก็…ไม่ยอม” ทีเดียว!