ฐากูร บุนปาน | ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีทำงาน ก็ต้องเปลี่ยนคน หรือคณะบุคคล

เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว มีท่าน ส.ส.ของพรรครัฐบาลจาก กทม.นี่เอง

ออกมาวอนขอร้องพี่น้องชาวกรุงทั้งหลาย ให้ลุกขึ้นมาร่วมกัน “ช่วยตัวเอง” ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ

ฟังดูดี ฟังดูมีหลักการ

เพราะเป็นการให้แก้ปัญหาด้วยการพึ่งตัวเอง ด้วยการร่วมมือกันทุกฝักทุกฝ่าย

แต่เอาเข้าจริงแล้วเป็นคำขอร้องที่แย่มากนะครับ

ชาวบ้านน่ะเขาช่วยตัวเองอยู่แล้ว มันชีวิต-ความปลอดภัยของเขา

รัฐบาลต่างหากทำอะไรอยู่

เพราะปัญหาฝุ่นพิษ (เอาเฉพาะ กทม.) ไม่ได้เกิดขึ้นปีนี้ปีแรก

ปีก่อนก็เกิดแล้ว

และไม่เห็นรัฐบาล-ในฐานะผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงก่อนใครทั้งหมด-ทำอะไรนอกจากพูดนั่นพูดนี่ปาวๆ

เหมือนกับปีนี้

ถ้าพูดแล้วฝุ่นมันจางไปกับน้ำลายก็คงจะดี

แต่นี่พูดแล้วไม่มีมาตรการอะไรที่จริงจัง

ไม่ว่าบังคับ (ในส่วนที่ควรบังคับ) หรือการรณรงค์ในวงกว้าง

ปัญหามันก็จะซ้ำซากอย่างนี้เรื่อยไป

ไม่เฉพาะแต่กรุงเทพฯ

แต่รวมไปถึงภูมิภาคอื่นๆ (โดยเฉพาะภาคเหนือ) ที่ทุกข์ทรมานจากเรื่องนี้ด้วย

ถามจริงๆ เถอะ

ที่ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่มาโอดครวญขอความร่วมมือจากชาวบ้าน

นี่เป็นเพราะไม่รู้จริงๆ ใช้ไหม

ว่าต้นตอ สาเหตุของฝุ่นพิษเกิดขึ้นจากอะไรบ้าง

เพราะเป็นคนธรรมดาถ้ารู้ว่าต้นตอปัญหาคืออะไร

เขาก็ลงมือแก้ไขตรงนั้น

ไม่ต้องมานั่งเสียเวลาโอดครวญ

โทษนั่นโทษนี่

หรือขอแรงคนนั้นคนนี้

กฎหมายมี ทรัพยากรมี มือไม้มี

ถ้ามีปัญญาด้วย

ปัญหามันจะเกิดซ้ำซากอย่างนี้หรือ

ถึงตรงนี้แล้วก็ชวนให้คิดไปว่า

ไอ้ที่บ้อท่านี่เห็นจะไม่ใช่แต่เรื่องฝุ่นพิษอย่างเดียว

แต่อย่างอื่นก็ด้วย

อย่างเรื่องแล้งนี่มีข้อมูลว่า หน่วยงานจัดการน้ำทั้งหลายรู้ตัวล่วงหน้ามาตั้งแต่กลางปี 2562

แต่จะด้วยระบบราชการ หรือความเป็นไทยไทย หรืออะไรก็ตามที

ข้อมูลนี้มาถึงรัฐบาลเอาเดือนธันวาคม 2562

มาถึงแล้วก็ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน

จนผู้ประสบภัยทั้งประเทศประสานเสียงขึ้นมาพร้อมกัน

ถึงตั้ง “คณะกรรมการระดับชาติ” ขึ้นมาจัดการปัญหา

ถามว่ามาถึงป่านนี้แล้วจะจัดการอะไรได้

หรือคิดว่าถ้าน้ำลายในการประชุมมากพอ

จะช่วยทุเลาความเดือดร้อนของพี่น้องที่ทุกข์ยาก-โดยเฉพาะเกษตรกร ที่ถูกจัดลำดับความสำคัญเอาไว้ท้ายสุดได้

ก็ทำไปเหอะ

เรื่องเศรษฐกิจหรือค่าเงินบาทก็เหมือนกัน

เอาเศรษฐกิจหรือปากท้องชาวบ้านก่อน

ไม่ใช่ว่าไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

หรือผู้คนก่นด่าอะไรบ้าง

รู้หมด

แต่ที่ไม่รู้คือทำยังไงจะเดินออกจากหลุมดำนี้ได้

ที่ทำอยู่ก็เป็นมาตรการ “ครึ่งเดียว”

คือครึ่งหนึ่งในรัฐบาลทำอย่าง อีกครึ่งทำอีกอย่าง

และที่ประหลาดก็คือ

ทำแต่ครึ่งกระตุ้นการใช้จ่าย ไม่ได้ทำครึ่งที่สำคัญกว่าอย่างการสร้างรายได้

เรื่องค่าเงินบาทนี่ยิ่งเห็นชัดถึงความบ้อท่า

ก็รู้อยู่ว่านโยบายการเงินของแบงก์ชาติ กับนโยบายเศรษฐกิจและการคลังของรัฐบาล เดินกันคนละทาง

รู้มาตั้งแต่ปีมะโว้

แต่รัฐบาลเกลี้ยกล่อม หรือบังคับ (ตามอำนาจและกฎหมายที่มีอยู่) ให้แบงก์ชาติทำตามไม่ได้

จนบาทแข็งทะลุ 30 บาท/ดอลลาร์ไปนั่นแหละ

ถึงเกิดอาการ “ช็อก”

ลุกขึ้นมาทำโน่นนี่กัน

ซึ่งเดาล่วงหน้าไว้ก่อนเลยก็ได้ ว่าคงไม่มีมรรคผลอะไรออกมา

เหมือนเรื่องฝุ่นกับเรื่องแล้งนั่นแหละ

ความพยายามที่จะแก้ตัวว่า

รัฐบาลนี้เพิ่งเข้ามาทำงานไม่กี่เดือนนี่ฟังไม่ขึ้นนะครับ

นายกฯ ก็คนเดิม แกนนำที่มีอำนาจจริงของรัฐบาลก็ชุดเดิม กับ 5 ปีที่ผ่านมา

วิธีบริหารจัดการก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิม คือเพิ่มอำนาจให้รัฐราชการเป็นใหญ่ (ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าบ้อท่า พอๆ กันกับตัวรัฐบาลเอง)

คนหน้าเดิม วิธีการเดิม

จะหวังผลที่ต่างไปจากเดิม

เป็นไปได้หรือครับ

อยากได้การแก้ปัญหา อยากได้ผลลัพธ์ใหม่

ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีทำงาน

ก็ต้องเปลี่ยนคน หรือคณะบุคคล

ตรงๆ ง่ายๆ อย่างนี้เอง