อีอีซีเคาะแผนรับมือภัยแล้ง โชว์แผนลงทุนระยะยาวกว่า 5 หมื่นล. ชี้งบ 63 ล่าช้าไม่กระทบลงทุน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ว่า ที่ประชุมรับทราบถึงการแก้ปัญหาเรื่องน้ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้น เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2563 ในกรณีที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลในเดือนมิถุนายน อาจมีปัญหาเรื่องน้ำดังนั้นจึงมี 3แผนรองรับคือ 1.โครงการสูบน้ำกลับคลองสะพาน มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 20 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสวอเตอร์ประสานกับกรมชลประทาน เร่งดำเนินการ 2. โครงการสูบน้ำคลองหลวง ณ จุดพานทองเข้ากับท่อส่งน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต – บางพระ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย อีสวอเตอร์ปประสานกับกรมชลประทาน เร่งดำเนินการ 3. โครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแกด (ลุ่มน้ำวังโตนด) จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยต้องเจรจาค่าน้ำกับคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด   ซึ่งทั้ง 3 โครงการ จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 160 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายอุตตมกล่าวว่า นอกจากนี้ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำแผนใช้น้ำ ลดลง 10% ช่วงเดือน มกราคม – มิถุนายน 2563   รวมถึงมีแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาวให้เพียงพอให้ประสานสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช.) จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของปี 2563 – 2580 ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและ การจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563 – 2580) วงเงินลงทุน 52,797 ล้านบาท   เช่น พัฒนาแหล่งต้นทุน สร้างอ่างเก็บน้ำ คลองวังโตนด อ่างเก็บน้ำ คลองโพล้ และพัฒนาระบบสูบกลับคลองสะพาน – อ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นต้น  ,บริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ เช่น แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย การประปาส่วนภูมิภาค สาขาต่าง ๆ ปรับระบบ การเพาะปลูก เป็นต้น  การขุดบ่อบาดาล การผลิตน้ำจืดจากทะเล

“แม้ว่างบปี 2563 จะล่าช้าไม่กระทบต่อแผนการลงทุนและบริหารจัดการน้ำของภาคตะวันออกเนื่องจากการลงทุนขนาดใหญ่สามารถรอได้ ส่วนการระยะระยะสั้นใช้เงินจากอีสวอเตอร์ได้เลย ส่วนแผนลงทุนของอีอีซีไม่กระทบ เพราะการลงทุนอีอีซีส่วนใหญ่ในรูปแบบพีพีพี”นายอุตตม กล่าว