อนุสรณ์ ติปยานนท์ : อาหารกับพระโลกนารถภิกขุ

ปากะศิลป์ฉบับอ่านใหม่ (13)

ข้อคิดสำหรับศีลข้อที่หนึ่ง

โดย อินทปัญโญ ภิกขุ

“ในข้อแรกขอกล่าวเสียก่อนว่า ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นคนฝ่ายโลกนารถภิกขุหรือฝ่ายใด นอกจากฝ่ายที่ประกอบด้วยเหตุผล ข้าพเจ้าได้ไปสนทนากับโลกนารถภิกขุเป็นเวลานาน บางตอนถึงกับกลายเป็นการโต้วาทะกันก็มี อย่างน้อยก็คงทำให้ข้าพเจ้ารู้จักโลกนารถภิกขุได้บ้าง ข้าพเจ้ากล้ากล่าวว่าโลกนารถภิกขุกล่าวไม่ผิด ก็เพราะส่วนใหญ่โลกนารถภิกขุกล่าวไม่ผิดจริง และเพราะข้าพเจ้าเป็นนักเพ่งแต่ฝ่ายดี (Optimist) จึงไม่สนใจถึงการกล่าวพลาดเล็กๆ น้อยๆ ของโลกนารถภิกขุนั้นเลย อีกประการหนึ่ง เราจะต้องต้อนรับแขกต่างประเทศของเราด้วยเจตนาดีอย่างเดียวเสมอ เราเป็นศิษย์พระพุทธองค์ควรประกอบกรรมดีโดยส่วนเดียว”

“ส่วนใหญ่ที่กล้ากล่าวว่าโลกนารถภิกขุกล่าวไม่ผิดนั้นหมายถึงการชักชวนให้เราก้าวหน้าในการอบรมใจ ดีกว่าที่จะนิ่งเฉยอยู่ เรื่องบางเรื่องที่มีผู้เห็นเป็นสำคัญ แต่ข้าพเจ้าเห็นเป็นเพียงเกร็ดของเรื่องมีอยู่มาก เช่น การพิสูจน์ว่าพระพุทธองค์ฉันเนื้อหรือไม่เป็นต้น ความจริงพระพุทธองค์ต้องทรงฉันเนื้อแน่ๆ แต่เป็นส่วนน้อยที่สุด เพราะหาฉันยากตามประเพณีพื้นเมืองของอินเดีย

และที่ท่านโลกนารถพยายามพิสูจน์ว่าปัจฉิมบิณฑบาตเป็นเห็ดนั้น ขอให้เราให้อภัยแก่ท่านอย่างเดียวกับที่โบราณาจารย์ของเราหวังดีต่อเราอ้างว่าบนสวรรค์มีนางฟ้าเท่านั้นเท่านี้…”

 

การต้องละทิ้งการฆ่า การต้องละทิ้งการกินสิ่งที่เรียกว่าเป็นเนื้อสัตว์ ดูจะเป็นเรื่องราวเดียวกัน เขาขบคิดถึงการงดเว้นในสิ่งเหล่านั้น มนุษย์ถูกสร้างมาให้กินสิ่งใด ร่างกายของมนุษย์ถูกสร้างมาให้กินพืชหรือสัตว์กันแน่ มนุษย์ถูกสร้างมาให้กินของดิบหรือของสุก มนุษย์ถูกสร้างมาให้กินธัญพืชหรือพืชใบเขียว คำถามจำนวนมากวนเวียนอยู่ในหัวของเขา ในฐานะของคนทำอาหาร ในฐานะของคนที่สนใจเรื่องอาหาร เขาค้นลงไปในหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่า และในฐานะของผู้ที่สนใจในพุทธศาสนาเขาค้นลงไปในสรรพตำราด้านธรรมะ

เขาพบพระสูตรที่มีชื่อว่าลังกาวตารสูตรที่กล่าวถึงคุณและโทษแห่งการกินเนื้ออย่างชัดเจน

ในพระสูตรนั้น “มหามติ” ผู้เป็นองค์โพธิสัตว์ได้ทูลถามพระพุทธองค์ถึงสาเหตุที่ควรงดเว้นหรือวิรัติจากการกินเนื้อสัตว์ไว้อย่างชัดเจน

“ข้าแต่ตถาคต โปรดเทศนาต่อข้าพเจ้าและเหล่าโพธิสัตว์ที่มีอยู่ในปัจจุบันและมีอยู่ในภายภาคหน้าว่าข้าพเจ้าจะพึงกระทำฉันใดดีจึงจะสามารถงดการเสพเนื้อและมังสาของเหล่าสัตว์ทั้งหลายได้ ด้วยเหตุว่าพฤติกรรมดังกล่าวนั้นแฝงเร้นเป็นอุปนิสัยที่ติดใจในรสเหล่านั้นจนฝังแน่นเสียแล้ว โปรดสั่งสอนเหล่าข้าพเจ้าโดยพลันให้ตระหนักถึงความผิดบาปจากการเสพเนื้อและหันมาเห็นคุณค่าของกุศลจากการงดเว้นดังกล่าว เพื่อที่พวกข้าพเจ้าจะได้เกิดใจกรุณาต่อสรรพสัตว์และมองเห็นสรรพสัตว์เหล่านั้นไม่ต่างจากทายาทของตน โปรดกล่าวคำสอนของท่านที่เปี่ยมด้วยความรักและความเมตตาเพื่อที่เหล่าโพธิสัตว์จะได้ประจักษ์แจ้งและตื่นรู้ เพื่อที่จะได้บรรลุในความเป็นอรหันตสาวกและปัจเจกพุทธเจ้าและได้เข้าสู่พุทธภูมิ รวมถึงยังได้สั่งสอนแม้ในหมู่ชนที่ไม่ได้เลื่อมใสในพุทธศาสนา ที่ยังมีความหลง ความยึดมั่น ให้เห็นประโยชน์จากการงดเว้นซึ่งเนื้อสัตว์ ตถาคตผู้เป็นที่พึ่งในสามโลกโปรดเทศนาคำสอนที่เปี่ยมด้วยความรักและความเมตตา เป็นคำสอนของพุทธะทั้งหลาย เพราะการกินเนื้อสัตว์นั้นทำให้เราติดในรสชาติของมันไม่สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้เองเมื่อได้สดับคำสอนของท่าน พวกเราจะได้ประจักษ์แจ้งในความจริง ถึงโทษของการกินและเสพเนื้อสัตว์เหล่านั้น

โปรดสั่งสอนพวกข้าพเจ้าให้เห็นถึงความกรุณาที่ท่านมีต่อสรรพสัตว์ในสังสารวัฏนี้อย่างเท่าเทียมด้วยเทอญ”

 

พระตถาคตเจ้าทรงตรัสว่า

“มหามติ พระโพธิสัตว์ที่เปี่ยมด้วยความรักและความกรุณานั้นไม่สมควรจะกินเนื้อสัตว์เลยด้วยเหตุผลหลายประการ ดังต่อไปนี้ ประการแรกในสังสารวัฏอันไพศาลและอุบัติขึ้นไม่รู้จบนั้น สรรพสัตว์ที่เรากินอาจเคยเป็นบิดา มารดา น้องชาย พี่ชาย น้องสาว พี่สาว บุตร ธิดา ญาติสนิท มิตรสหาย หรือผู้ใกล้ชิดของเราได้ทั้งสิ้น สรรพสัตว์เหล่านั้นล้วนเคยเป็นเช่นนั้นมาแล้วในกาลก่อน และบัดนี้ได้กลายเป็นสัตว์นานาชนิด ทั้งบนบก ในน้ำและบนท้องฟ้า มหามติและองค์โพธิสัตว์ทั้งหลายที่ปรารถนาจะเดินตามรอยเท้าของตถาคตจะบริโภคหรือกินเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้อย่างไร มหามติ แม้แต่ปีศาจร้ายเมื่อได้ฟังคำเทศนาและคำตักเตือนของตถาคตก็สละเสียซึ่งธรรมชาติของความชั่วร้ายและหันมาเจริญในธรรม ดังนั้นจึงป่วยการไปไยที่บุคคลผู้ที่คามศรัทธาในพุทธธรรมอยู่เป็นเบื้องต้นแล้วจะไม่พึงกระทำเช่นนั้น? มหามติ โพธิสัตว์นั้นย่อมเล็งเห็นสิ่งมีชีวิตทั้งหลายไม่ต่างไปจากทายาทที่รักยิ่งของตน พวกเขาย่อมปฏิเสธในเนื้อสัตว์และมังสาหารทั้งหลาย เป็นการไม่ชอบ เป็นการไม่ถูกต้องเลย ที่ผู้แสวงหาในโพธิสัตว์ธรรมจะถือเอาเนื้อสัตว์ทั้งหลายเป็นอาหาร พวกเขาพึงละเว้นจากสิ่งนั้นเสีย หากเป็นปุถุชนทั่วไปพึงละเนื้อเหล่านี้อันได้แก่เนื้อลา เนื้ออูฐ เนื้อสุนัข เนื้อช้าง และเนื้อมนุษย์

หากเป็นโพธิสัตว์พึงละเนื้อทุกชนิดเสีย มหามติ โพธิสัตว์ที่ปรารถนาชีวิตที่หมดจดไร้มลทินย่อมไม่แตะต้องเนื้อสัตว์เพราะสัตว์เหล่านั้นเกิดจากการผสมระหว่างไข่และน้ำเชื้อของเพศทั้งสอง”

 

เขาวางหนังสือพระสูตรนั้นลง ไล่เรียงบนชั้นหนังสือไปจนพบตำราอาหารที่ว่าด้วยอาหารที่ทำจากผักที่เก่าที่สุด ตำราเล่มนั้นรวบรวมโดยพระยาภะรตราชสุพิชในปี พ.ศ.2477 ตำราเล่มนั้นรวบรวมอาหารจำนวนมากที่ปราศจากเนื้อสัตว์แม้แต่น้อย

หลายถ้อยคำในตำราเป็นภาษาโบราณ อาทิ คำว่าน้ำปลาถั่วนั้นแทบไม่มีใครใช้เสียแล้ว ปัจจุบันผู้คนดูจะชินกับคำว่าซีอิ๊วหรือซอสถั่วเหลืองมากกว่า

หลายสูตรอาหารเป็นที่นิยมอย่างแกงส้มผักกระเฉด แต่หลายสูตรอาหารดูจะไม่มีใครคิดปรุงอาหารแบบนั้นเสียแล้ว อย่างเช่น แกงดอกขี้เหล็กกับถั่วเหลืองและแซพม่า เป็นต้น

แกงดอกขี้เหล็ก

เครื่องปรุง

ใบขี้เหล็กหรือดอกก็ได้ พริกแห้ง หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ กระชาย เกลือ ถั่วเหลือง (ใช้แทนปลาย่าง) น้ำปลาถั่ว มะพร้าว

วิธีทำ

เอาใบหรือดอกขี้เหล็กต้มเสียให้หายขมแล้วเอาพริกแห้ง หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ กระชาย เกลือ ใส่ครกโขลกให้ละเอียด แล้วเอาถั่วต้มให้สุก โขลกพร้อมกับพริกให้ละเอียด ขูดมะพร้าว คั้นกะทิ เคี่ยวเสียก่อน แล้วเอาขี้เหล็กที่ต้มไว้นั้นใส่ลง ชิมดูรสตามใจชอบ

แซพม่า

เครื่องปรุง

ผักกาดสด สับปะรด ต้นขึ้นฉ่ายกับหัวผักกาดสด แตงกวา ผักชี งาขาว เต้าหู้ขาว (อย่างที่เจ๊กทอดขาย) น้ำตาล เกลือ น้ำส้ม พริกชี้ฟ้า ถั่วลิสงตัด มะพร้าว กระเทียม

วิธีทำ

ผักกาดสดหั่นเป็นชิ้นเล็กยาวๆ ต้นขึ้นฉ่ายจัดให้เป็นฝอย แตงกวาฝานเอาแต่เนื้อ เมล็ดไม่ใช้ กับหัวผักกาดสด สองอย่างนี้หั่นให้ละเอียดเป็นฝอย มะเฟืองฝานเป็นชิ้นบางๆ เต้าหู้หั่นชิ้นเล็กยาวๆ แล้วเอาของเหล่านี้ลำดับใส่จาน ผักชี พริกชี้ฟ้าบนของเหล่านี้ให้งามจัดไว้ต่างหาก คั้นกะทิให้ข้น เคี่ยวตั้งไฟให้แตกมันแล้วยกลง ปอกกระเทียมโขลกกับเกลือพอละเอียด จึงใส่ถั่วลิสงตัดกับพริกชี้ฟ้าสดโขลกหยาบๆ แล้วละลายกับกะทิที่เคี่ยว ใส่น้ำส้ม น้ำตาล งาคั่ว

ชิมเปรี้ยวหวานเค็มตามใจชอบใช้เคล้ากับผักที่จัดไว้รับประทาน

 

นอกเหนือจากสูตรอาหารที่ปรากฏในตำราเล่มนี้แล้วสิ่งที่น่าสนใจคือบทความจำนวนมากที่สนับสนุนการกินพืชและผัก โดยเนื้อหาที่ข้องเกี่ยวทั้งทางสุขภาพและทางพุทธศาสนา

ในส่วนของทางพุทธศาสนานั้นผู้ที่ออกแรงสนับสนุนการงดเว้นการกินเนื้อสัตว์มากที่สุดได้แก่พระโลกนารถภิกขุ พระภิกษุชาวอิตาเลียนที่เดินทางผ่านมายังประเทศไทยในช่วงนั้น

พระโลกนารถภิกขุได้ออกหนังสือชื่อเทศนาพระโลกนารถ โดยกล่าวถึงพรหมวิหารสี่ในมุมมองของผู้กินเนื้อสัตว์ไว้ว่า

“ก่อนที่จะกินเนื้อสัตว์ ควรระลึกถึงพรหมวิหารสี่นั้นบ้างคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

เมตตา รักใคร่สัตว์ทั่วไป

กรุณา สงสารสัตว์ทั่วไป

มุทิตา ยินดีที่สัตว์ทั้งหลายได้รับความสุข

อุเบกขา เมื่อไม่มีทางที่จะแสดงในสามประการต้นให้วางใจเฉยดั่งนี้

ก็เมื่อเรายังเอาเนื้อสัตว์เหล่านั้นมารับประทาน จะว่าเราพร้อมที่จะบำเพ็ญพรหมวิหารได้อย่างไร การสังหารผลาญชีวิตและกินเลือดกินเนื้อกันไม่ใช่วิถีแห่งธรรมวิเศษเลย”

“โลกนารถภิกขุ”