มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส/ อยากให้ผู้ว่าฯ กทม. ทำอะไรบ้าง

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

อยากให้ผู้ว่าฯ กทม. ทำอะไรบ้าง

 

เขียนถึงผู้ว่าฯ กทม.ไปแล้ว มีคนส่งเสียงกลับมาว่า ก็รู้และเข้าใจว่ากรุงเทพมหานครนั้นใหญ่โต คนมากมาย ปัญหาเลยตามมา แม้จะมีการแก้ไข วางแผนอะไรมากมาย แต่ก็เป็นแบบแยกส่วนคือต่างคนต่างทำ ตามระบบบริหารราชการที่มีมาแต่เดิม

เอาแค่เรื่องง่ายๆ เช่น สายต่างๆ ที่รกรุงรังรำคาญตา รำคาญใจนั้น ก็มีหลายเจ้าของ ทั้งการไฟฟ้านครหลวง ที่มีทั้งสายแรงต่ำ อยู่สูง สายแรงสูง อยู่ต่ำ ยังมีสายโทรศัพท์บ้านขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ที่ไม่มีใครใช้แล้ว สายอินเตอร์เน็ตของหลายบริษัทที่ได้รับสัมปทานจาก กสช. และอาจมีสายอื่นแอบปนอยู่ก็ได้

ตอนนี้การไฟฟ้าฯ เขาย้ายสายไฟฟ้าลงดิน แต่ไม่รวมท่อน้ำดีคือน้ำประปาและน้ำเสียจากอาคาร รวมไปถึงท่อระบายน้ำฝน ที่วุ่นวาย และวุ่นวายมานาน จนชินกันไปแล้ว รวมทั้งคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ทั้งๆ ที่บ้านเมืองอื่นเขาไม่ได้มีปัญหานี้

ทางด้านการจราจรก็ไม่น้อยหน้า เจ้าของถนนทางหลวง ทางยกระดับ และทางด่วนก็คนละหน่วยงาน แยกกันคิด แยกกันดูแล แยกกันรับและใช้เงินงบประมาณ ยังไม่นับสัญญาณไฟ การควบคุมจัดการจราจร ก็มีตำรวจร่วมด้วยช่วยกัน เลยมีแต่ป้ายรายงานสถานการณ์จราจรน้อยนิด โฆษณามากหน่อย เต็มบ้านเต็มเมือง

เอาแค่รถไฟฟ้า ที่ต่อไปจะวิ่งวนไปกลางเมือง รอบเมือง ก็มีหลายเจ้าของ หลายหน่วยงาน หลายระบบ แม้จะมีจุดเชื่อมต่อ แต่ต้องใช้ตั๋วหลายใบ

 

ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่ว่าใครที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ไม่ว่าชาตินี้ ชาติหน้า หรือชัชชาติ ก็แก้ปัญหาไม่ได้แน่นอน เพราะขนาดหัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งการให้ใช้บัตรร่วมใบเดียวยังไม่ได้ผล ทั้งๆ ที่อยู่ยาวหลายปี จนหมดเวลา ทุกอย่างล้วนเหมือนเดิม

เลยเป็นคำถามว่า แล้วผู้ว่าฯ กทม. ต้องทำอะไร นอกจากขนขยะ ซ่อมทางเท้า กวาดถนน เปิดโรงรับจำนำ และดูแลนักเรียนเทศบาล

แม้แต่จะจับแม่ค้าหาบเร่แผงลอยเกะกะทางเท้าก็ยังไม่ได้ เพราะเดี๋ยวนี้เค้ากลายเป็นสตรีตฟู้ดแห่งการท่องเที่ยวไปแล้ว

ถ้าเปรียบเทียบบทบาทหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. กับนายกเทศมนตรี นคร เมืองหรือตำบลอื่นแล้ว ดูเหมือนว่านายกเทศมนตรีทั้งหลายจะปฏิบัติงานได้ดีกว่า เพราะผลงานจะส่งผลถึงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ในขณะที่ชาวบ้านเลือกนายกเทศมนตรี ด้วยผลงานที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ชาวเมือง กทม. กลับเลือกผู้ว่าฯ กทม. ด้วยเหตุผลทางการเมืองระดับชาติไป เลยกลายเป็นว่า ทั้งคนเลือกและคนรับเลือกทำอะไรก็ได้

แม้แต่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) ที่หน้าที่หลักคือเป็นหัวคะแนนให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ต้องสนใจทำหน้าที่อื่น

 

ที่จริงคนกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ยังอยากให้มีทางเท้า ที่แม้จะแคบ แต่ขอมีที่ทางสำหรับเดินสบาย ไม่สะดุด ไม่ทรุดพัง ยังอยากให้มีแผงลอยหาบเร่ แต่ขอให้จัดระเบียบ ยังอยากให้มีถนนซอยเล็กซอยน้อย แต่ขอให้เป็นระบบ ไม่มีรถเก่าจอดเกะกะ ยังอยากให้มีวินมอเตอร์ไซค์ รถตุ๊กตุ๊ก รถสองแถว รถเมล์เล็ก ที่วิ่งในซอย แต่ขอให้มีการจัดการควบคุมมากขึ้น ยังอยากได้แค่สนามใต้ทางด่วน สวนริมสะพานลอย หรือสวนหย่อมริมถนน แต่ขอให้สะอาด สว่าง และปลอดภัย

ยังอยากได้แผงลอย รถเข็น และรถขายอาหาร แต่ก็อยากให้มีระบบน้ำเสีย ของเสีย เพื่อสุขภาพอนามัย

ที่จริงเรื่องที่คนกรุงเทพฯ อยากได้ ไม่ได้ใช้งบประมาณมากมายแต่อย่างใด ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศแต่อย่างใด ไม่ต้องอาศัยนักวิชาการหรือนักธุรกิจชั้นแนวหน้า แค่ผู้ว่าฯ สมาชิกกรุงเทพฯ สมาชิกเขต สนใจพื้นที่ใกล้บ้านบ้างเท่านั้น

ขออย่าได้เสนอนโยบายเลอเลิศ งบประมาณมหาศาล เทคนิคชั้นสูง แผนงานห้าปี สิบปี ยุทธศาสตร์สามชั้น

เพราะรู้อยู่แล้วว่า ทำไม่ได้