เพ็ญสุภา สุขคตะ : “พระพิมพ์แบบทวารวดี” ณ วัดสันป่ายางหลวง ปฐมบทแห่งพระเครื่องเมืองลำพูน

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ความหมายของคําว่า
“พระพิมพ์” กับ”พระเครื่อง”

มูลเหตุของการเรียก “พระพิมพ์” กับ “พระเครื่อง” แตกต่างกัน สามารถอธิบายได้อธิบายดังนี้

“พระพิมพ์” หมายถึงพระพุทธรูปขนาดเล็กที่ใช้วิธีการกดประทับด้วยแม่พิมพ์ หรือถ้าเป็นเนื้อโลหะจะใช้โลหะละลายเทหล่อเข้ากับแม่พิมพ์

ในอินเดียโบราณภาษาปรากฤตเรียกว่า “Saccha” หรือ “Sacchaya” ส่วนในภาษาสันสกฤตเรียกว่า “Sat – chaya” โดยทุกคํามีความหมายว่า “รูปภาพที่สมบูรณ์” (Perfect Image)

ด้วยเหตุนี้ในหนังสือเรื่อง “ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง” ที่เขียนโดย “ตรียัมปวาย” เกจิด้านพระเครื่องคนสำคัญยุคบุกเบิกแห่งสยามจึงนิยมใช้คำว่า “พระศักรปฏิมา” แทนที่พระพิมพ์หรือพระเครื่องอยู่เนืองๆ

ส่วนคําว่า “พระเครื่อง” เป็นคำที่ใช้เรียกพระพิมพ์ที่ลงพระพุทธคุณและอาคมเพื่อป้องกันภัย ใช้พกติดตัวหรือห้อยแขวนคอ กร่อนมาจากคําว่า “พระเครื่องรางของขลัง”

สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดในการสร้างพระพิมพ์ว่ามีความหมายไปในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อเรื่องพุทธคุณในพระเครื่องน่าจะมีมาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่สมัยหริภุญไชย เหตุเพราะมีเรื่องราวของผู้สร้างคือเหล่าฤษีปรากฏอยู่ในตำนานท้องถิ่น

การสร้างพระพิมพ์แพร่หลายกว้างไกลออกไป เหตุที่พระพิมพ์เป็นปูชนียวัตถุทางพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนทุกระดับชั้นสามารถทําขึ้นได้โดยไม่จำกัดจำนวน การสร้างพระพิมพ์จึงได้แพร่หลายไปในดินแดนต่างๆ แทบทุกแห่งที่มีร่องรอยวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาจากชมพูทวีป สู่เอเชียตะวันออกไกลและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซึ่งมีจํานวนไม่น้อยที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าเป็น “ของทําบุญ” เช่น พระพิมพ์จํานวนหนึ่งที่สร้างขึ้นในสมัยเมืองพุกาม ประเทศพม่า มีจารึกระบุถึงคําอธิษฐานผลบุญของผู้สร้างว่า “ขอให้บรรลุวิมุตติธรรม” หรือ “ขอให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า” เป็นต้น

พระพิมพ์จํานวนมากมักมีคาถาหัวใจอริยสัจ (หรือที่เรียกย่อๆ ว่า “คาถาเย ธฺมมา” ฉบับเต็มคือ เย ธฺมมา เหตุ ปฺปภวา เยสํ เหตุ ยํ ตถาคโต อาห เตสฺญจ โย นิโรโธ เอวํ วาที มหาสมโณ) ปรากฏอยู่ด้วย

จึงมีการศึกษาแปลความว่า การบรรจุข้อความคาถาเช่นนั้นในพระพิมพ์ เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด

ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสได้แสดงความเห็นเรื่องนี้ไว้ว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับคําทํานายในคัมภีร์บางเล่มที่ระบุว่า พระพุทธศาสนาจะสิ้นไปเมื่ออายุครบ 5,000 ปี ซึ่งอาจเกิดภัยพิบัติใหญ่ทําลายล้างปูชนียวัตถุทางศาสนาจนหมดสิ้น

หากในเวลานั้นยังคงเหลืออยู่แต่พระพิมพ์ ผู้คนทั้งหลายในอนาคตที่มาพบเข้าก็อาจรู้ได้ว่า ครั้งหนึ่งเคยมีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่บนแผ่นดินแห่งนี้

ข้อความคาถาหัวใจอริยสัจที่ปรากฏอยู่บนพระพิมพ์ ก็จะเป็นเครื่องแสดงว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีหลักการแก่นสารเป็นอย่างมาก

ถ้ากล่าวโดยสรุปก็คือพระพิมพ์เหล่านี้สร้างขึ้นเป็นเสมือนเครื่อง “สืบต่ออายุ” ของพุทธศาสนา ให้ยังเป็นที่รู้จักนับถือกันต่อไป เมื่อถึงกาลจะต้องดับสูญไปในอนาคต

 

พระพิมพ์ดินเผาแบบทวารวดี
ในดินแดนหริภุญไชย

เท่าที่คนทั่วไปรับทราบ มักเข้าใจว่า “พระรอด-พระคง” เป็นพระพิมพ์รุ่นที่เก่าที่สุดในสกุลพระเครื่องหริภุญไชย หรือหากบางท่านเคยไปชมพระพิมพ์ที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธสถานแห่งชาติ หริภุญไชย บ้างแล้ว ก็อาจรู้จักกับพระกลีบบัว พระกล้วย พระกวาง ฯลฯ ซึ่งเป็นพระพิมพ์รุ่นเก่าแก่มากด้วยอีกเช่นกัน

ในที่นี้ดิฉันอยากนำเสนอถึงพระพิมพ์รุ่นเก่ามากที่สุดในลำพูน ถือเป็นรุ่นแรกสุดเลยก็ว่าได้ เนื่องจากยังเป็นศิลปะแบบทวารวดีอย่างชัดเจน ยังไม่ได้คลี่คลายกลายเป็นศิลปะแบบหริภุญไชย

พระพิมพ์ดังกล่าวค่อนข้างอันซีน เพราะไม่ได้จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ค้นพบและจัดแสดงที่วัดสันป่ายางหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

วัดสันป่ายางหลวงตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเก่าหริภุญไชย เดิมชื่อวัดมาลุวการาม หรือวัดป่ายางทราย อันเป็นวัดหนึ่งในห้าแห่งที่มีประวัติตำนานกล่าวว่าสร้างโดยพระนางจามเทวี (อีก 4 แห่งคือวัดสี่มุมเมือง)

วัดแห่งนี้มีการค้นพบพระพิมพ์จำนวนหลายองค์ หลายรุ่น หลายพิมพ์ทรง พิมพ์ที่กำลังจะกล่าวถึงนี้มีจำนวน 2-3 องค์ ไม่ได้เหมือนกันทุกประการแต่มีลักษณะร่วมที่ละม้ายกัน และขนาดใกล้เคียงกันคือ กว้างประมาณ 6-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร

บางชิ้นเมื่อพลิกด้านหลังมีร่องรอยของจารึกที่ค่อนข้างเลือนราง พบตัวอักษรคล้ายอักษรสมัยหลังปัลลวะที่มีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ภาษาที่ใช้คือภาษาสันสกฤตประยุกต์ที่ใช้ปะปนในกลุ่มอารยธรรมมอญ

ข้อความบนพระพิมพ์ค่อนข้างลบเลือนจึงอ่านจับใจความไม่ได้ชัดนัก สรุปโดยรวมว่ากล่าวถึง “การถวายบุญ อุทิศส่วนกุศล”

ลักษณะร่วมกันของพระพิมพ์กลุ่มนี้คือ ทำองค์พระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิบนฐานบัวคว่ำหงาย บางองค์เป็นกลีบบัวขนาดค่อนข้างใหญ่แหลมคม บางองค์ประทับนั่งบนฐานคล้ายขนดนาค

ท่านั่งไม่ใช่ทั้งขัดสมาธิเพชรหรือขัดสมาธิราบ แต่ก้ำกึ่งระหว่างเพชรและราบ ข้อสำคัญแลเห็นฝ่าพระบาทใหญ่มากเป็นพิเศษทั้งสองข้าง

พระพักตร์เป็นทวารวดีชัดเจน มีรัศมีหรือประภามณฑลล้อมรอบพระวรกายและพระเศียร ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นซ้อนชั้นล้อไปตามเส้นรอบนอกของพระวรกาย 3 เส้น ขอบนอกสุดตกแต่งด้วยลวดลายกระหนกสะบัดหางที่สื่อถึงเปลวไฟหรือแสงสว่างที่แผ่ออกมาจากพระพุทธองค์

อาจกล่าวได้ว่าลักษณะเด่นของพระพิมพ์แบบทวารวดีกลุ่มนี้ ก็คือการที่จัดวางพระพุทธองค์ประทับอยู่ท่ามกลางประภามณฑลแผ่เป็นรูปเปลวไฟโดยรอบนั่นเอง มีลักษณะคล้ายกับประภามณฑลที่เคยพบในศิลปกรรมสมัยศรีวิชัย และราชวงศ์ถังของจีนด้วยเช่นกัน

พระพิมพ์ขนาดใหญ่สององค์นี้ถือว่าเป็นรูปแบบของพระพิมพ์ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายเป็นอย่างมาก ในแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีหลายภูมิภาค ที่เจริญขึ้นระหว่างช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-15

พบกระจายในบริเวณภาคกลาง ดังเช่น พบที่เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองเก่านครปฐม เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองโบราณซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี แหล่งโบราณคดีพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี บ้านหนองสรวง อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

และยังพบในเมืองโบราณเขตลุ่มน้ำชีด้วย เช่น เมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ นครจำปาศรี อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เมืองคันธาระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

จนอาจถือได้ว่าพระพิมพ์กลุ่มนี้เป็นหลักฐานการติดต่อสัมพันธ์ของชุมชนเครือข่ายยุคโบราณระหว่างภูมิภาคต่างๆ ของรัฐทวารวดีอย่างหนึ่ง แม้ว่ารายละเอียดและขนาดอาจมีความแตกต่างกันไปบ้างในลักษณะปลีกย่อยบางอย่าง

แต่องค์ประกอบหลักโดยรวมนั้นเหมือนกัน คือพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนฐานบัวขนาดใหญ่ มีประภามณฑล และประภาวลีล้อไปตามพระวรกายขอบนอกคล้ายเปลวเพลิง

การค้นพบพระพิมพ์แบบทวารวดีรุ่นนี้ที่วัดสันป่ายางหลวง ในเขตเมืองเก่าลำพูน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหลักฐานชิ้นสำคัญที่ช่วยตอกย้ำถึงสถานภาพของนครหริภุญไชยว่า เป็นชุมชนที่อยู่ในกระแสการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างภูมิภาคทั้งสามในยุคที่อาณาจักรทวารวดีรุ่งโรจน์อย่างแท้จริง

นั่นคือภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ

 

เสวนา “พระรอดมหาวัน มหัศจรรย์เมืองลำพูน”

สัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้ประชาสัมพันธ์ข่าวงานเสวนาเรื่อง “พระรอดหลวง-พระรอดมหาวัน” ว่าจะจัดขึ้น ณ วัดมหาวัน ในวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2563 เวลาช่วงเช้า 09.00-11.30 น. นั้น ฉบับนี้ขอแก้ไขเวลากำหนดการจัดงานเสวนาใหม่เป็นเวลา 13.00-16.00 น.

ขอขยายรายละเอียดหัวข้อเสวนา และรายชื่อวิทยากรเพิ่มเติมดังนี้

หัวข้อแรก “ตำนานพระรอดหลวงวัดมหาวัน” โดยอาจารย์จุลพงศ์ ขันติพงษ์ ปราชญ์ท้องถิ่นลำพูน

หัวข้อที่สอง “พระรอดหลวง-พระรอดมหาวัน อิทธิพลพุทธศิลป์อินเดีย ทวารวดี สู่หริภุญไชย” โดยดิฉันเป็นวิทยากร

หัวข้อที่สาม “เสน่ห์พระรอดมหาวัน มหัศจรรย์เมืองลำพูน” หัวข้อนี้มีวิทยากร 2 ท่าน ได้แก่

คุณพรรค คูวิบูลศิลป์ อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย และประธานกรรมการตัดสินพระชุดสกุลลำพูน

และคุณวีระชัย ไชยเจริญ (โจ๊ก ลำพูน) ประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย สาขาจังหวัดเชียงใหม่ และกรรมการตัดสินพระเนื้อดินยอดนิยมของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย

ดำเนินรายการเสวนาโดย คุณเบญจวรรณ พลประเสริฐ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย

งานนี้เข้ารับฟังฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย สนับสนุนการจัดโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชน 17 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองลำพูน ผู้สนใจอยากทราบรายละเอียดกิจกรรมวันที่ 24-25 มกราคม 2563 เพิ่มเติมโปรดสอบถามที่เบอร์ 0-5359-7260 ต่อ 114