ไซเบอร์ วอทช์เมน : ข้อสังเกตความเคลื่อนไหว “วิ่งไล่ลุง-เดินเชียร์ลุง” บนโลกออนไลน์

เริ่มมาเดือนแรกของปีก็ถือว่าฮือฮา สำหรับกิจกรรมที่มี “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นแกนหลักของเรื่อง อย่าง “วิ่งไล่ลุง” และ “เดินเชียร์ลุง” ที่กิจกรรมทั้งสองฝ่าย ต่างแสดงจุดยืนคนละฝั่งชัดเจนว่า “เอา” หรือ “ไม่เอา” รัฐบาลนี้

แม้จะผ่านไปเพียงสัปดาห์เดียว แต่กิจกรรมภาคประชาชนครั้งใหญ่นี้ สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่มีอายุได้ครึ่งปี ก็เข้าสู่สภาวะอันไม่แน่นอนต่ออนาคตทางการเมืองและเสถียรภาพในการบริหารประเทศเสียแล้ว

และเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน ไม่เพียงการเคลื่อนไหวระหว่างคนหนุ่มสาวที่ออกมาวิ่งพร้อมคลื่นมหาชนชูสามนิ้วกันเต็มตา กับคนรุ่นใหญ่ต่างเดินส่งเสียงให้กำลังใจรัฐบาล

บนโลกออนไลน์ก็ขับเคี่ยวช่วงชิงพื้นที่ความนิยมกันอย่างดุเดือด ตั้งแต่งานยังไม่เกิดขึ้น และบางทีต่อให้งานจบแล้วก็ยังมีประเด็นให้ถกเถียงโจมตีกันต่อ

แฟลชม็อบ
จุดเริ่มต้นการขับเคี่ยว สู่ “วิ่งไล่ลุง”

หากไล่เรียงไทม์ไลน์ จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่กิจกรรมกีฬาเชิงการเมืองก็ต้องนึกถึงแฟลชม็อบ ไม่ถอยไม่ทน เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ที่กลายเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 5 ปี และเป็นสเต็ปแรกในการเคลื่อนไหวของฝ่ายไม่พอใจการบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ ด้วยจำนวนมวลชนทั้งใหม่และเก่ากว่าหมื่นคน ซึ่งโลกออนไลน์ก็มีบทบาทในการเป็นช่องทางการสื่อสารและเผยแพร่เรื่องราว ทำให้ภาพที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ มหาสารคามและขอนแก่น ปรากฏออกสู่สายตาสาธารณชน

หลังจากงานวันนั้น มีความพยายามรักษาความต่อเนื่อง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเฟซบุ๊กของธนวัฒน์ วงค์ไชย นักศึกษารั้วจุฬาฯ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ได้ผลักดันไอเดียการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่างจากรูปแบบเดิมๆ

ในที่สุด ตกผลึกกลายเป็น “วิ่งไล่ลุง” ที่จัดในรูปแบบกีฬาเชิงการเมืองขึ้น และสามารถดึงคนทุกวัยเข้าร่วมออกกำลังกาย พบปะสังสรรค์หรือแสดงออกทางการเมืองในระดับปัจเจก ตั้งแต่ป้ายข้อความ ไปจนถึงชุดคอสเพลย์สไปเดอร์แมน หรือรถหุ้มเกราะล้อยาง ให้เห็นพร้อมกับคลื่นนักวิ่งจำนวนกว่า 13,000 คนจนแน่นสวนวชิรเบญจทัศเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา

“วิ่งไล่ลุง” ถูกจัดขึ้นโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะผู้จัดงานวิ่งไล่ลุง โดยใช้เฟซบุ๊กแฟนเพจ “วิ่งไล่ลุง” (Run Against Dictatorship) เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่เนื้อหาและข่าวสารกิจกรรม ใช้ “ลุง” เป็นแกนนำหลักของเรื่อง โดยคณะผู้จัดระบุว่า “ลุง” ในที่นี้คือคนที่ถ่วงความเจริญของประเทศ ทำให้ประเทศไม่ก้าวหน้า เศรษฐกิจตกต่ำ จึงทำให้มีความต้องการแสดงพลังเบื่อหน่ายและอยากให้บรรดาลุงๆ ที่มีอำนาจแต่ไร้ความสามารถออกไป

แม้ตลอดการเดินทางของ “วิ่งไล่ลุง” จะเต็มไปด้วยอุปสรรคหลายอย่าง ตั้งแต่การแถลงข่าวที่ต้องโยกย้ายสถานที่บ่อยครั้ง เส้นทางวิ่งก็ถูกเปลี่ยนจากเดิมคือเส้นราชดำเนินกลางจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและตีกลับทางเดิม มาเป็นภายในสวนรถไฟ

แต่เพราะกระแสการเมืองที่ตกค้างจากแฟลชม็อบ บวกกับภาพลักษณ์เชิงลบในการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่ปรากฏออกสื่อ และความต่อเนื่องของการโต้ตอบบนโลกออนไลน์ ทำให้กระแสวิ่งไล่ลุงถูกพูดถึงมากขึ้นและดึงดูดบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายวงการมาร่วมกิจกรรม

แต่สิ่งที่สำคัญมากที่สุดนั้นคือ การตื่นตัวของคนธรรมดาที่เบื่อหน่ายการบริหารรัฐบาลปัจจุบันในจังหวัดต่างๆ ได้ขานรับกิจกรรมในกรุงเทพฯ และตั้งเพจวิ่งไล่ลุงในจังหวัดตัวเองทั่วประเทศขึ้นมา

ถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การตอบโต้จากฝ่ายหนุนรัฐบาล สู่ “เดินเชียร์ลุง”

กลไกการตอบโต้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลของรัฐนั้นมีการยกระดับมากขึ้นนับตั้งแต่รัฐบาล คสช.ขึ้นมามีอำนาจ เมื่อฝ่ายต่อต้านใช้ออนไลน์เป็นพื้นที่เคลื่อนไหว ฝ่ายรัฐก็ต้องปรับกลยุทธ์ตัวเองด้วย มีการตั้งหน่วยเฉพาะด้านไซเบอร์ การเขียนกฎหมายเพื่อควบคุมโลกออนไลน์ การทำสงครามจิตวิทยากับประชาชนที่ใช้โซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์ เป็นผลทำให้ตัวเลขคดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือกฎหมายอาญาเกี่ยวกับหมิ่นประมาทเพิ่มสูงขึ้น

ทว่าการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. และมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันที่หลายคนเคยดำรงตำแหน่งในรัฐบาล คสช.ก็มานั่งในรัฐบาลนี้ต่อ ได้ก่อผลลัพธ์ด้านลบทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สูงขึ้น ทำให้ภาพลักษณ์และความนิยมของรัฐบาลลดน้อยลง เสียงวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์จึงดังขึ้นไปด้วย

การทำสงครามข่าวบนโลกออนไลน์จึงหนักมากขึ้น โดยเฉพาะเพจการเมือง อาทิ เชียร์ลุง เสธ.Play หรือเพจข่าวของสื่อบางค่ายที่แสดงตัวสนับสนุนรัฐบาลก็เสนอข่าวโจมตีฝ่ายตรงข้ามด้วยเนื้อหาที่มีทั้งความจริงครึ่งเดียวหรือเป็นเท็จ และเสนอเรื่องเชิงบวกของฝ่ายรัฐบาล

แต่ไม่ทราบด้วยเหตุอะไร ข้อความบางโพสต์ของเพจการเมืองแห่งหนึ่งกลับมีความเหมือนทุกถ้อยคำกับโพสต์ข้อความในเพจหน่วยงานกองทัพ จนเกิดคำถามว่าเพจการเมืองกับเพจของหน่วยงานรัฐมีความเชื่อมโยง ประสานกันด้วยจุดมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงหรือไม่

พอเมื่อกระแสวิ่งไล่ลุงมีทีท่าจะเกิดขึ้น เพจการเมืองอย่างเชียร์ลุงจึงสร้างกิจกรรมคู่ขนานขึ้นมา ที่เรียกว่า “วิ่งเชียร์ลุง”

แต่ไม่นานก็เปลี่ยนมาเป็น “เดินเชียร์ลุง” แทน

วิ่งไล่ลุง vs. เดินเชียร์ลุง

2กิจกรรมที่มี “ลุง” เป็นแกนหลักของเรื่องแต่ต่างจุดประสงค์นี้ได้ขับเคี่ยวกันผ่านนำเสนอเนื้อหาของตัวเองและเกทับกันไปมาตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายก่อนวันที่ 12 มกราคม ได้มีบัญชีใหม่ถูกสร้างขึ้นจำนวนมากจนน่าสงสัยและโพสต์แนวโน้มน้าวให้ร่วมงานเดินเชียร์ลุงในโพสต์หรือแฮชแท็ก #วิ่งไล่ลุง

หรือจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมเอง โดย “วิ่งไล่ลุง” ตัวผู้ร่วมงานที่สื่อมวลชนและฝ่ายความมั่นคงประเมินก็ใกล้เคียงกันคือเกินหมื่นคน ในขณะที่ “เดินเชียร์ลุง” เพจเชียร์ลุงก็ประกาศว่า มีมากกว่า 2 หมื่นคน และนำเสนอภาพมวลชนที่มาร่วมงาน

แต่จากการตรวจสอบพบว่า หนึ่งในภาพที่เพจเชียร์ลุงโพสต์นั้น เป็นภาพมวลชนที่ร่วมงานวิ่งไล่ลุง ตอนแรกเพจดังกล่าวไม่ยอมรับและเบี่ยงเบนว่าเป็นเพจปลอม จนในที่สุดก็ยอมรับความผิดพลาดเพราะหลักฐานและลบภาพดังกล่าวไป

หรือตัวเลขผู้เข้าร่วมงาน เพจเชียร์ลุงก็ประกาศว่ามีมากกว่าวิ่งไล่ลุง แต่ได้มีภาพสวนลุมพินีซึ่งเป็นสถานที่จัดงานจากมุมสูงก็พบว่ามีความหนาแน่นบางจุดและจำนวนอาจไม่ถึงหมื่นคนอย่างที่ประกาศออกไป

แม้แต่เรื่องวัยของผู้ร่วมงานก็ถูกนำมาเปรียบเทียบด้วย เช่น “วิ่งไล่ลุง” ภาพส่วนใหญ่คือคนหนุ่ม-สาวออกมาวิ่งและแสดงสัญลักษณ์ด้วยสีหน้าที่ร่าเริงสนุกสนาน กับอีกด้าน “เดินเชียร์ลุง” คนส่วนใหญ่คือชาย-หญิงวัย 50 ขึ้นไป ออกมาขับร้อง เต้นรำหรือตีส้ม สตรอว์เบอร์รี่กันอย่างสนุกสนาน

ไปจนถึงเรื่องการจัดการขยะหลังจบงานก็ยกมาเทียบกัน เช่น “วิ่งไล่ลุง” มีทีมแยกขยะพร้อมรณรงค์ให้ผู้ร่วมงานลดการผลิตขยะให้มากที่สุด จนเป็นภาพพื้นที่จัดงานสะอาดเหมือนตอนที่ยังไม่จัดกิจกรรมนี้ขึ้น ขณะที่เดินเชียร์ลุง หลังจบงานกลับมีภาพขยะ ถุงพลาสติกทิ้งเกลื่อนกลาดทั่วบริเวณจัดงาน

และที่สำคัญ ข่าวสารบนโลกออนไลน์ที่สัมภาษณ์บุคคลที่ร่วมงานทั้ง “วิ่งไล่ลุง” และ “เดินเชียร์ลุง” ก็ฉายภาพกรอบความคิด ทัศนคติ ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ระหว่างคนที่อยากบอกลุงให้ลาออกไป กับคนที่บอกอย่างหน้าชื่นตาบานอยากให้ลุงอยู่ต่อ

 

นอกจากที่กล่าวมานี้ ยังมีอีกหลายอย่างที่ผู้ใช้โซเชียลแสดงออกเชิงเปรียบเทียบ 2 กิจกรรมนี้ และนำไปสู่การถกเถียงตอบโต้กัน

ยิ่งไปกว่านั้นคือ ทั้ง 2 กิจกรรม กลายเป็นภาพสะท้อนการแบ่งขั้วทางการเมืองที่ชัดเจน ระหว่างฝ่ายชาตินิยม-จารีตประเพณี ที่สนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์ กับฝ่ายเสรีนิยมที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์

เป็นก้าวแรกของการเมืองมวลชนที่อาจหวนนึกถึงบรรยากาศที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนจากสาเหตุเดิม ต่างตรงที่ผู้เล่นและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนเดิม

ทั้งนี้ วิ่งไล่ลุงจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็ต้องติดตามกันต่อว่า การเมืองมวลชนและโลกออนไลน์จะคึกคักกันมากแค่ไหน