วิเคราะห์ | เหยียบเท้าทหาร! “ชวน” แตะกล่องดวงใจ “บิ๊กตู่” โละ “6 ผบ.เหล่าทัพ” พ้น ส.ว.

หลังมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะเห็นตรงกันในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หนทางจากนี้มีแต่ความเห็นที่ตรงข้ามกัน เช่น ที่มา 250 ส.ว.

แต่กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที หลัง “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเจาะจงไปที่ 6 ผบ.เหล่าทัพ-ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง ในลักษณะเชิงที่มา ส.ว. ควรมาโดยวิธีอื่นที่เป็นประชาธิปไตย ก่อนออกมากล่าวเสริมตอนหลังว่าไม่ควรระบุตำแหน่งผู้มาเป็น ส.ว.

“การบรรจุให้ ผบ.เหล่าทัพต้องเป็น ส.ว. ผมคิดว่าโดยหลักไม่เคยมีการระบุ ส.ว.โดยตำแหน่งแบบนี้ เพราะถ้าจะเลือกคนเข้ามา ก็ควรเป็นระบบอื่น ผมไม่ได้ว่าตำแหน่งของเขา แต่ในทางประชาธิปไตย ไม่ควรไปกำหนดให้ทำอย่างนั้น” นายชวนกล่าว

“ส่วนทหาร ผบ.เหล่าทัพ เขาก็เป็นคนดี มีความสามารถ แต่ในเชิงประชาธิปไตย เราไม่ควรไปกำหนดตำแหน่งใด เช่น ถ้าอยากให้อดีตนายกฯ อดีตประธานสภาเป็น ส.ว.ก็ไม่ควร และผมเห็นด้วยว่าการที่รัฐธรรมนูญไม่กำหนดให้ข้าราชการเป็น ส.ว.นั้นถูกต้องแล้ว ฉะนั้น จึงไม่ควรมีข้อยกเว้นกับตำแหน่งใด”

นายชวนกล่าว

ซึ่งเสียงในสังคมก็ตอบรับ หลัง “ซูเปอร์โพล” เปิดผลโพลเมื่อถามถึงข้อเสนอของ “ชวน” พบส่วนใหญ่ร้อยละ 75.4 เห็นด้วย เพราะไม่เหมาะสมที่รับเงินซ้อนหลายทาง ตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพสำคัญสุด ทำตรงนั้นให้ดีที่สุดต่อชาติบ้านเมือง ควรแยกออกให้ชัดเจน อำนาจฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ควรทำทุกอย่างชัดเป็นอิสระจากกัน และหน้าที่ ส.ว.ไม่ใช่หน้าที่ของเหล่าทัพ เป็นต้น

ขณะที่ร้อยละ 24.6 ไม่เห็นด้วย เพราะไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวายและไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เร่งแก้เศรษฐกิจก่อนแก้รัฐธรรมนูญ เป็นต้น

งานนี้ฝ่ายค้านออกมารับลูกเต็มๆ อย่าง “สมคิด เชื้อคง” ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นแนวคิดปกติธรรมดาของคนที่เดินทางสายประชาชน การให้ ผบ.เหล่าทัพเป็น ส.ว. เป็นการใช้แม่ทัพนายกองให้มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องการคุ้มครองกลุ่มตนเอง

แน่นอนว่าย่อมมีผู้เห็นแย้งกับ “ชวน” ในฝั่ง 250 ส.ว. ที่แสดงจุดยืนชัดเจนอย่าง “เสรี สุวรรณภานนท์” สมาชิก ส.ว. กล่าวว่าต้องดูบริบทด้วย รัฐธรรมนูญเดิมทีเขียนไว้แบบนี้ เพราะต้องการให้ ผบ.เหล่าทัพ 6 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ความมั่นคง เข้ามามีส่วนในการดูแลความเรียบร้อยของประเทศ

แต่สิ่งที่ “เสรี” มองข้ามช็อตไปถึงขั้นจะเป็นการ “ยึดอำนาจ ส.ว.” หรือไม่ เพราะเกรงว่าจะลามไปเรื่องอำนาจอื่นๆ ของ ส.ว. จึงขอให้ ส.ว.ระมัดระวังกับข้อเสนอดังกล่าว พร้อมกล่าวในเชิงขู่ด้วยว่า อย่ามาแตะหมวด ส.ว. ถ้า ส.ว.ไม่เอาด้วย ระวังจะเสียงานใหญ่

“การเสนอแบบนี้เป็นเพียงการเริ่มต้น เป็นก้าวแรก แต่จะมีหลักประกันอะไรว่า ในการพิจารณาหากไม่เอา 6 คนนี้ ระหว่างการพิจารณาจะไม่มีโอกาสเป็นไปตามข้อเสนอ ดังนั้น ส.ว.ก็ต้องระวัง อาจลามไปอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ในส่วนอื่น และการที่ผมพูดอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นการหวงอำนาจ แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบที่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้แค่ 5 ปี ถ้าทำแบบนี้เป็นการยึดอำนาจ ส.ว.หรือเปล่า เพราะอาจจะมีคนอื่นแปรญัตติอย่างอื่น ยึดอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ไปหมดเลย

ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดในเวลา 5 ปี ถ้าจะแก้อะไร เสนอแก้อะไร อย่าแตะหมวด ส.ว. ก็จะทำงานง่ายขึ้น หาก ส.ว.รับไม่ได้ งานใหญ่ก็จะเสีย ซึ่ง ส.ว.เราไม่ได้ปฏิเสธ และควรเสนออะไรที่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาพรรคการเมืองจะดีกว่า เพราะทั้ง 6 คนอยู่แค่ 5 ปี ไม่ได้ยาวนาน และผ่านมา 2 ปีแล้ว แค่ 5 ปี ก็แค่ตำแหน่ง พอหมดตำแหน่งก็เปลี่ยนคนอื่นมา”

นายเสรีกล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่ “เสรี” ให้เหตุผลถึงงานด้านความมั่นคง ก็สอดรับกับการออกมาชี้แจงของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเลือก ส.ว. ในยุค คสช. โดยให้เหตุผลถึงการให้ ผบ.เหล่าทัพเป็น ส.ว.โดยตำแหน่งว่า “เพื่อให้เหล่าทัพติดตามงานในสภา เพื่อจะได้รู้เรื่องและมาบอกให้ทหารทราบ และเป็นการทำงานร่วมกับ ส.ส. ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องปฏิวัติ”

ส่วน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ก็โนคอมเมนต์ในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของ กมธ.ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ไปศึกษาตามกระบวนการ จะแก้ไขได้หรือไม่ได้ ตนไม่เกี่ยวข้อง และเป็นเรื่องที่ “ชวน” เสนอขึ้นมา ให้ไปถามเจ้าตัวเอง

แม้แต่มือกฎหมายของรัฐบาลอย่าง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ก็ไม่มีความเห็นในข้อเสนอดังกล่าวเช่นกัน โดยกล่าวเพียงว่าตนไม่ทราบ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุไว้เช่นนั้น แต่จะเลือกแก้ไขส่วนใดก็แล้วแต่ ตนไม่มีความเห็น

มากันที่อดีต ส.ว.อย่าง “เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” กลับออกมาสนับสนุนข้อเสนอของ “ชวน” และตอบโต้ “บิ๊กป้อม-ส.ว.เสรี” ผ่านเหตุผล 7 ข้อ

1. ตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ-ปลัดกระทรวงกลาโหม ต่างเป็นข้าราชการประจำ เช่นเดียวกับปลัดกระทรวงและอธิบดีอื่นๆ จึงไม่ควรทำหน้าที่เลือกนายกฯ ตรวจสอบฝ่ายบริหาร และมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกรรมการในองค์กรอิสระ เพราะเป็นข้าราชการประจำต้องทำตามนโยบายของฝ่ายการเมือง และต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ การที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ข้าราชการประจำเฉพาะ 6 ตำแหน่งนี้เป็นสมาชิกวุฒิสภา จึงเป็นผลประโยชน์ขัดกันระหว่างตำแหน่งและหน้าที่

2. การให้ความสำคัญกับ 6 ตำแหน่งเป็นพิเศษ ย่อมก่อให้เกิดความแตกต่างและแปลกแยกกับข้าราชการในระดับเดียวกันของกระทรวงทบวงกรมอื่น ที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน และเป็นการเลือกปฏิบัติหลายมาตรฐาน

3. การอ้างว่าบุคคลใน 6 ตำแหน่ง มาอยู่ใน ส.ว. จะเป็นการป้องกันการทำรัฐประหารก็ฟังไม่ขึ้น เพราะหาก ผบ.เหล่าทัพเหล่านี้จะยึดอำนาจก็สามารถทำได้ ข้ออ้างที่ว่า มาทำหน้าที่ใน ส.ว. จะได้ชี้แจงกำลังพลให้เข้าใจถูกต้องก็ยิ่งฟังไม่ขึ้น เพราะการไม่ได้สวมหมวก 2 ตำแหน่ง ก็สามารถชี้แจงกำลังพลให้เข้าใจได้อยู่แล้ว กำลังพลมีสติปัญญาสามารถขวนขวายหาข้อมูลด้วยความรักชาติ รักแผ่นดิน โดยไม่ต้องรอจากคน 6 ตำแหน่งนี้ก็ได้

4. การให้ข้าราชการ 6 ตำแหน่งดังกล่าวรับเงินเดือน 2 ทาง ทั้งเงินเดือนของข้าราชการประจำและเงินเดือนค่าตอบแทนของ ส.ว. เป็นการไม่เหมาะสม แล้วยังมีค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วย ส.ว. รวมกัน 8 คนต่อ ส.ว.หนึ่งคนอีกด้วย

5. ประชาชนจะขาดความเลื่อมใสศรัทธาที่ คสช. อันประกอบไปด้วยบุคคลทั้ง 6 ตำแหน่งสืบอำนาจไปอยู่ในตำแหน่ง ส.ว. กลับมามีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีและให้ความเห็นชอบในองค์กรอิสระ จะถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นรัฐซ้อนรัฐ โดยรัฐทหาร

6. รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ได้ยึดหลักสำคัญว่า ข้าราชการประจำที่อยู่ใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร ไม่สมควรไปเป็น ส.ว.เพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหาร จึงได้กำหนดให้ข้าราชการที่ปรารถนาจะลงสมัครเป็น ส.ว. ต้องลาออกจากราชการเสียก่อน โดยไม่มีข้อยกเว้น

7. ส.ว.ในชุดปัจจุบันบางคนที่ออกมาโต้แย้งความเห็นของประธานรัฐสภา เพราะเกรงว่าหากแก้ไขประเด็น 6 ตำแหน่งได้ ก็อาจจะแก้ไขอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ในส่วนอื่นได้ เป็นการคิดแต่ประโยชน์ของตนและพวกพ้องเป็นที่ตั้ง โดยไม่ได้คำนึงถึงหลักการในการบริหารประเทศและผลประโยชน์ของส่วนรวม

ส่วนผู้ถูกพาดพิงอย่าง ผบ.เหล่าทัพ-ปลัดกระทรวงกลาโหม ต่างพากันนิ่ง ไม่ขอแสดงความเห็นถึงข้อเสนอดังกล่าว เริ่มจาก “บิ๊กนัต” พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ. เลี่ยงที่จะตอบคำถาม ว่า ไม่มีความเห็น เพราะยังไม่ได้ทราบข่าวถึงรายละเอียดในประเด็นนี้ ทำให้ยังไม่อยากวิเคราะห์

แม้สื่อจะถามย้ำว่า หากมีการแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ แล้วทำให้ ผบ.เหล่าทัพไม่มีชื่อเป็น ส.ว.นั้น พล.อ.อ.มานัตกล่าวติดตลกว่าตอนนี้ไม่ได้ยินอะไรเลย หูอื้อไปหมดเลย

ด้าน “บิ๊กลือ” พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร.กล่าวเพียงว่า “ไม่พูด” พร้อมกับส่ายหน้า ส่วน “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ยังคงนิ่งเงียบ ไม่ได้ออกมาพูดถึงข้อเสนอดังกล่าว

หากจับท่าทีจะพบว่า ผบ.เหล่าทัพปล่อยให้เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองว่ากันไป เพราะเป็นสิ่งที่ฝ่ายการเมืองเสนอกัน แต่มีรายงานว่า ผบ.เหล่าทัพไม่มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ แต่จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญต่อไป ไม่ว่าจะมีการแก้ไขไปในทิศทางใดหรือยังคงเดิมก็ตาม เพราะ ผบ.เหล่าทัพจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งในที่นี้ก็คือรัฐธรรมนูญนั่นเอง

แน่นอนว่าข้อเสนอดังกล่าวก็เป็นอีก “เงื่อนไขใหม่” ในการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ต้องดูว่าฝ่ายรัฐบาลจะยอมได้เท่าใด หรือจะงัดข้อไม่ยอมเลย

เดิมพันครั้งนี้จึงสูงนัก เพราะหมวด ส.ว. เปรียบเป็น “กล่องดวงใจ” ของ “บิ๊กตู่” และข้อเสนอเช่นนี้ ก็เปรียบเป็นการ “เหยียบเท้าทหาร” ด้วย!