ทรรศนะอดีตบิ๊กตำรวจ ส่องกฎเหล็กฉบับ ม.44 แก้ปัญหาวิ่งเต้นได้จริงหรือ ?!!

คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2560 เรื่อง การปรับปรุงระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตํารวจที่ออกมาล่าสุดนั้น อาจทำให้เหล่าสีกากีผู้มีประกายความหวังจะเห็นการแต่งตั้งตำรวจ เปลี่ยนแปลง และรอคอยคำสั่ง ออกอาการผิดหวังเล็กน้อย

ด้วยวัตถุประสงค์ตั้งต้น ตั้งแต่ตีปี๊บว่ารัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกคำสั่ง โดยอาศัยอำนาจมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ออกแบบกฎเกณฑ์การแต่งตั้งตำรวจ ให้รัดกุม ป้องกันนานาปัญหาการแต่งตั้ง ที่สั่นคลอนระบบคุณธรรม

แม้วัตถุประสงค์ที่ยกมาในตอนต้นของคำสั่งฉบับนี้คล้ายตีโจทย์แตก ชำแหละปมการแต่งตั้งตำรวจแบบเข้าใจ เข้าถึงปัญหา

แต่ทว่าเนื้อหาใจความ “ระบบแต่งตั้งตำรวจ” ฉบับปรับปรุงใหม่โดย คสช. คล้ายไม่ตอบโจทย์เมื่อเทียบกับตอนนั้นที่เหมือนตีโจทย์แตก

คำสั่ง คสช. คล้ายให้กระจายอำนาจ ที่ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มอบอำนาจการออกคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้บัญชาการ (ผบช.) ขึ้นไปได้

แต่ก็สงวนสิทธิ์รักษาอำนาจไว้ด้วย เพราะในคำสั่งนี้กำหนดว่า ผบ.ตร. จะให้อำนาจหรือไม่ให้ก็ได้ และให้อำนาจ ผบ.ตร. สั่งทบทวน แก้ไข เปลี่ยนคำสั่งได้ หากเห็นว่าไม่เหมาะ

ที่เพิ่มมาใหม่ แต่เอาของเก่าตั้งแต่ทศวรรษก่อนมาปัดฝุ่น ก็คือ การกำหนดให้มีบอร์ดกลั่นกรองตั้งแต่ระดับกองบังคับการ (บก.) กองบัญชาการ (บช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ช่วยกรองชื่อ ก่อนผู้มีอำนาจแต่งตั้งจะออกคำสั่ง

แต่ก็ขีดเส้นใต้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพิจารณาว่าไม่เหมาะสมก็สลับสับเปลี่ยนรายชื่อโยกย้ายได้อยู่ดี

ถ้ามองว่าก่อนมีคำสั่งฉบับนี้ มีคำสั่ง คสช. ก่อนหน้าให้อำนาจ ผบ.ตร. คนเดียว แต่งตั้งทั้งกระบวนการจนสิ้นวาระแต่งตั้ง 59 คำสั่งนี้ที่เปิดช่องให้ระบายอำนาจ อีกนัยหนึ่งก็ระบายความเสี่ยง

ด้วยที่ยกมาข้างต้นคำสั่งแก้ไขปัญหาแต่งตั้ง คสช. เวอร์ชั่นนี้ จึงทำให้เหล่าสีกากีจำนวนไม่น้อยผิดหวังกับสุราเก่าในขวดใหม่

 

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอดีตกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ให้ความเห็นกรณีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2560 เรื่อง การปรับปรุงระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตํารวจว่า ดูแล้วเป็นการกลับไปใช้ระบบการแต่งตั้งเหมือนที่เคยใช้ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ที่กระจายอำนาจ ไม่กระจุกอำนาจการแต่งตั้งไว้ที่ ผบ.ตร. เหมือนที่เป็นอยู่ ย้อนไปก่อนปี 2547 อำนาจรวมศูนย์ที่ ผบ.ตร., พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 จึงออกแบบให้มีการกระจายอำนาจ และใช้เรื่อยมา

กระทั่งมีคำสั่ง คสช. ให้อำนาจกลับไปรวมศูนย์ที่ ผบ.ตร. อีกครั้ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจที่ผ่านมา ผ่านระบบที่รวมศูนย์อำนาจ คงทำให้ คสช. เห็นแล้วว่าเกิดปัญหา เกิดการวิ่งเต้น องค์กรตำรวจที่กำลังพลจำนวนมาก และปัจจุบันมากกว่าแต่ก่อน การแต่งตั้งโยกย้ายคนจำนวนมาก การแต่งตั้งโดยรวมศูนย์ที่ผ่านมาจึงเกิดความสับสนในการวางตัว โยกย้ายคน ย้ายสลับข้ามหน่วยข้ามพื้นที่กันจำนวนมาก

และนั่นไปกระทบต่อขวัญกำลังใจและคุณภาพชีวิตของตำรวจ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยระบุว่าข้าราชการตำรวจเมื่อทำงานได้ 10-15 ปี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่สารวัตร (สว.) เป็นต้นไป จะเริ่มวางรากฐานชีวิต เลือกแล้วว่าจะตั้งรกรากอยู่ที่ไหน พื้นที่ใด เริ่มมีครอบครัว แต่เมื่อมีคำสั่งโยกย้ายแบบข้ามหน่วย ข้ามพื้นที่กันมากมาย ก็เกิดผลกระทบกับชีวิตตำรวจ นำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ

“ผมว่าการออกคำสั่งมาตรา 44 ครั้งนี้ ตอบโจทย์การแก้ปัญหา การแต่งตั้งที่เป็นอยู่ แน่นอนว่าระบบอุปถัมภ์ยังมีอยู่ แต่มันจะใช้ได้ยากขึ้น มันไม่สะดวกแล้ว เมื่อมีการกระจายอำนาจออกไป ต้องขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี และ คสช. ที่เข้าใจปัญหา ออกคำสั่งนี้กลับไปย้อนยุคตั้งแต่ปี 2547 กระจายอำนาจออกไปให้ ผบช., ผบก. ด้วย ไม่รวมศูนย์ไว้ที่ ผบ.ตร. คนเดียว ผมต้องขอบคุณ เพราะเชื่อว่าเมื่อกระจายอำนาจการแต่งตั้งออกไป จะทำให้การบังคับบัญชาของตำรวจมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อผู้บังคับบัญชาแต่ละระดับให้คุณให้โทษได้ องค์กรตำรวจจะเข้มแข็งขึ้น” อดีต ก.ตร. อธิบาย

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ บอกด้วยว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ แม้จะกระจายอำนาจแต่ยังสงวนอำนาจไว้ เพราะระบุว่า ผบ.ตร. จะใช้อำนาจเอง หรือกระจายอำนาจก็ได้ ตรงนี้ ความเห็นส่วนตัวมองว่า คสช. ยังคงมองว่าสถานการณ์การเมืองยังไม่มั่นคงนัก จึงยังสงวนอำนาจตรงนี้ไว้ให้ ผบ.ตร. วางขุมกำลัง วางตัวคนที่ไว้วางใจได้เมื่อถึงคราวที่จำเป็น

เป็นอำนาจที่ยังสงวนไว้ให้ ผบ.ตร. ไว้แก้ปัญหาและเพื่อความมั่นคง

ด้าน พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ เผยว่า มองว่าคำสั่งนี้ดี ที่กำหนดให้มีบอร์ดกลั่นกรองในแต่ละระดับ ตั้งแต่ บก., บช. และ ตร. พิจารณาก่อนออกคำสั่งแต่งตั้ง มองว่าผู้บังคับบัญชาระดับ บก., บช. เป็นคนที่รู้จักผู้ใต้บังคับบัญชาของตัวเองดี รู้ว่าใครเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับตำแหน่งอะไร มีข้อมูลในมือ จะช่วยแก้ปัญหาแต่งตั้งผิด แบบที่ว่า ชื่อผิด ตำแหน่งพลาด เอา ผบก. เป็นรอง ผบก. แบบนี้คงไม่มีแล้ว

สำหรับเรื่องการใช้อำนาจ ผบ.ตร. ในการแต่งตั้ง มองว่าถ้าหากให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของคำสั่งนี้ แม้ในกรณีที่ ผบ.ตร. ไม่มอบอำนาจให้ ผบช. แต่งตั้ง แต่การพิจารณาควรผ่านบอร์ดกลั่นกรองทุกระดับเพื่อให้ทุกรายชื่อผ่านการพิจารณาจากผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด ให้ผ่านสายตาผู้บังคับบัญชาโดยตรง แล้วจากนั้น ผบ.ตร. ค่อยพิจารณา หากเสนอมาไม่ดี เขาก็ยี้กันเองใน บก. ใน บช. ส่งมาถึง ผบ.ตร. ถ้าดูไม่เข้าท่า เอาคนไม่ดีมาก็สั่งทบทวน เปลี่ยนแปลง

อดีตอธิบดีกรมตำรวจ บอกด้วยว่า ทางหนึ่งที่ควรนำมาใช้แก้ปัญหาการวิ่งเต้น โยกย้ายในการแต่งตั้งตำรวจ และต้องเพิ่มเป็นกฎเกณฑ์เข้าไป คือควรต้องแต่งตั้งโดยยึดอาวุโสเป็นหลัก ทุกวันนี้อาวุโสร้อยละ 33 ที่เหลือใช้ความเหมาะสม

คำว่าความเหมาะสมนี่แหละกลายเป็นช่องว่างเกิดปัญหาแต่งตั้งข้ามหัว เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่บางคนทำงานไม่เป็น ไม่มีผลงาน ไม่เป็นที่ยอมรับอะไรเลย แต่วิ่งเต้นเก่ง ก็ได้ขึ้นข้ามหัวรุ่นพี่มาด้วยความเหมาะสม

อย่าลืมว่าคนอาวุโสมีประสบการณ์มากกว่า แต่กลับเสียกำลังใจที่ถูกคนไม่เข้าท่าข้ามหัว ถ้าใช้หลักอาวุโสมาแต่งตั้ง วิธีการคือต้องไล่เรียงกันตามลำดับพิจารณาจากคนอาวุโสอันดับ 1 ถ้าไม่แต่งตั้งคนนี้เลื่อนขึ้น ต้องบอกให้ได้ว่าไม่ดีอย่างไร หย่อนยาน ไม่ทำงาน ติดสุรายาเมา แล้วไล่พิจารณาตามลำดับ 2 3 4 จะเอาคนอาวุโสน้อยขึ้นต้องบอกได้ว่าคนก่อนหน้าไม่ดีอย่างไร ถ้าเอาตรงนี้มาใช้ต่อไปคนที่ถูกข้ามหัวจะไปร้อง ศอตช. ได้ตามคำสั่งนี้ และอีกด้าน ตร. ก็เอาไปชี้แจงได้ ว่าทำไมไม่แต่งตั้งคนนี้ และการจะเอาคำว่าเหมาะสมมาใช้ ผลงานต้องเป็นที่ประจักษ์ ชี้วัดได้ เช่น ผลงานปราบปรามยอดเยี่ยม จับเยอะ จับเก่ง เสี่ยงภัย เสี่ยงอันตราย ทุ่มเท

พล.ต.อ.ประทิน กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาการแทรกแซงทางการเมือง อำนาจจากภายนอกที่เข้าแทรกแซงการแต่งตั้งตำรวจ แก้ได้คือ ผบ.ตร. และผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งต้องเข้มแข็ง ต้องไม่ยอม ต้องกล้าสนับสนุนคนดี คนไม่ดีต้องไม่เอา ไม่ว่าจะอย่างไร

“ผมว่าองค์กรตำรวจไม่ได้เสียหรอก องค์กรยังดี ตำรวจส่วนใหญ่ก็ยังดี แต่ผู้ใหญ่นั่นแหละทำให้เสียหาย ทั้งคนในคนนอกที่เข้ามา ผมขอฝาก เราเป็นตำรวจ เมื่อมียศเป็น พล.ต.อ. ต้องมีศักดิ์ศรี ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเคารพ ที่ความเป็นตำรวจ มีอุดมการณ์ ทำงานเพื่อดูแลประชาชน ไม่ใช่ไปเดินตามนักการเมือง จนทำงานตำรวจไม่เป็น” อดีตอธิบดีกรมตำรวจให้แง่คิด

เป็นทรรศนะ มุมมองของอดีตบิ๊ก ตร. อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาการแต่งตั้งครั้งนี้ที่คาดว่าจะเริ่มเป็นทางการในช่วงเดือนมีนาคม 2560 และออกคำสั่งหลังช่วงสงกรานต์ มีผลพฤษภาคม 2560 นี้