เศรษฐกิจ / เศรษฐกิจปี ’63 หนูลุยไฟ สารพัดปัจจัยลบรุมเร้า เหนื่อยหน่อย! กับเป้า 3%

เศรษฐกิจ

 

เศรษฐกิจปี ’63 หนูลุยไฟ

สารพัดปัจจัยลบรุมเร้า

เหนื่อยหน่อย! กับเป้า 3%

 

เปิดศักราชปีหนู 2563 สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกทำเอารัฐบาลและกูรูด้านเศรษฐศาสตร์ใจหายใจคว่ำ!!

ควันของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังไม่ทันจางหาย ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน เริ่มคุกรุ่นขึ้นและมีความกังวลว่าจะลุกลามเป็นสงครามขนาดย่อมๆ สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

ในปีนี้หน่วยงานเศรษฐกิจภาครัฐประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยต่ำกว่าปีที่ผ่านมาพอควร โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าจีดีพี 2563 น่าจะโต 2.8% ส่วนปี 2562 ที่ผ่านมา คาดว่าจะโต 2.5% ขณะที่สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดโต 3.2% จากปีก่อน 2.6% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินไว้ 3.3% จากปีก่อน 2.8% โดยมีแนวโน้มทั้ง สศค. และ สศช.จะปรับลดคาดการณ์เหลือ 3% สอดคล้องกับ ธปท.

หากย้อนไปต้นปีที่ผ่านมาหลายสำนักมองตรงกันว่าเศรษฐกิจปี 2562 มีแนวโน้มโตกว่า 4% เพราะปี 2561 โต 4.1% สูงสุดรอบ 5 ปี แต่ตัวเลขจริงปี 2562 ตรงกันข้ามกับที่ประเมินไว้แบบหักปากกาเซียน และกลายเป็นโตต่ำสุดรอบ 5 ปี เนื่องจากการส่งออกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และความวุ่นวายการเมืองไทย ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง ส่งผลให้จีดีพี 3 ไตรมาสโตเพียง 2.5%

ทั้งนี้ ยังลุ้นกันว่าไตรมาส 4/2562 จะขยายตัวมากกว่าทุกไตรมาสหรือไม่ หลายฝ่ายมองว่าทั้งปี 2562 อาจโตไม่ถึง 2.5% เดือนกุมภาพันธ์นี้น่าจะเห็นตัวเลขชัดเจน

 

ปี2563 สิ่งที่ต้องจับตาคือค่าเงินบาท เพราะก่อนปิดทำการสิ้นปี 2562 เงินบาทหลุดไปอยู่ที่ 29.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี 9 เดือน แข็งค่าสุดเมื่อเทียบกับสกุลอื่นในเอเชียและแข็งค่ามากที่สุดอันดับ 4 ของโลก

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการด่วนให้อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เร่งแต่งตั้ง คณะกรรมการที่ปรึกษานโยบายเสถียรภาพการเงิน เพื่อให้เป็นเวทีในการถกเรื่องค่าเงินของหน่วยงานภาครัฐ จากเดิมอำนาจหน้าที่ในการดูแลค่าเงินนั้น ธปท.จะจัดการเบ็ดเสร็จหน่วยงานเดียว แม้ว่าการดูแลค่าเงินหน่วยงานอื่นจะไม่สามารถไปแทรกแซง ธปท.ได้ แต่ทางรัฐบาลอยากให้คณะกรรมการดังกล่าวสะท้อนปัญหาค่าเงิน ให้ ธปท.นำไปประกอบการตัดสินใจ คาดว่าจะแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคมนี้

นอกจากนี้ ต้องจับตาเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเครื่องมือหนึ่งนำมาช่วยเรื่องค่าเงินบาท ได้ผลดี คือการลดดอกเบี้ยนโยบายลง จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% แม้ว่าระดับดอกเบี้ยดังกล่าวต่ำที่สุดในประวัติการณ์

แต่มีการประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในปีนี้เหลือ 1.00% ทำสถิติต่ำสุดในประวัติการณ์อีกรอบ เพื่อดูแลเศรษฐกิจไทย

 

สําหรับการส่งออกมีความคาดหวังปีนี้จะฟื้นตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา พ้นภาวะติดลบ โดยที่ประชุมครม.เศรษฐกิจประกาศเป้าหมายการส่งออกปี 2563 ขยายตัว 3% และตัวเลขนี้เกิดได้ต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ย 21,800 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน

การส่งออกสำคัญกับไทย เพราะเป็นสัดส่วน 70-80% ของจีดีพี หากส่งออกขยายตัวต่ำหรือติดลบ ย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

เรื่องส่งออกต่างก็รอผลงาน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประกาศตัวเป็นหัวหน้าเซลส์แมน โดยทูตพาณิชย์ทั่วโลกต้องทำหน้าที่เซลส์แมนประเทศขายทั้งสินค้าและบริการ พร้อมสั่งการจัดทัพนำเอกชนไปเจรจาขายสินค้าเอง 16 ทริปใน 18 ประเทศครอบคลุมทุกภูมิภาค และให้ทำควบคู่กับเร่งเจรจาเอฟทีเอกับนานาประเทศต่างๆ

ทั้งหมดนี้คาดหวังดันการส่งออกฟื้นกลับมาเป็นบวกให้ได้!!!

 

ในส่วนของดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ รัฐบาลยังคงเสพติดการอัดมาตรการกระตุ้น แม้ปีที่ผ่านมาแค่ไม่กี่เดือนที่เข้ามาบริหารประเทศ รัฐบาลชุดนี้อัดมาตรการกระตุ้นไปแล้วเป็นเม็ดเงินกว่า 6 แสนล้านบาท ทั้งแจกเงินคนจนผ่านบัตรสวัสดิการ แจกเงินเกษตรกรผ่านโครงการประกันรายได้ และแจกเงินให้คนชั้นกลางผ่านชิมช้อปใช้ รวมถึงอัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านแบงก์รัฐ

เมื่อเริ่มปีใหม่ 2563 ไม่กี่วัน กระทรวงการคลังเสนอมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเข้าสู่ ครม.วันที่ 7 มกราคมอีก คิดเป็นเม็ดเงินเข้าไปช่วยเหลือกว่า 3.8 แสนล้านบาท เป้าหมายช่วยเอสเอ็มอีกว่า 2 แสนราย ผ่านการค้ำประกันสินเชื่อ การให้สินเชื่อใหม่ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังวางใจไม่ได้ ขุนคลังอุตตมสั่งการให้หน่วยงานกระทรวงการคลัง ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและแบงก์รัฐเตรียมพร้อมมาตรการกระตุ้นและดูแลเศรษฐกิจไว้ เพื่อเสนอไปยังรัฐบาล หากมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการต้องมีพร้อมใช้ทันที

คาดว่าภายในเดือนมกราคมนี้กระทรวงการคลังจะเสนอเรื่อง สวัสดิการประชารัฐ ให้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบใหม่ และพิจารณาว่าควรจะมีสวัสดิการอะไรเพิ่มเติม จากขณะนี้มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแล้ว 14.6 ราย ได้รับสวัสดิการพื้นฐาน ประกอบด้วย วงเงินซื้อของร้านธงฟ้า ค่าขึ้นรถเมล์ รถไฟ

นอกจากนี้ยังสั่งการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมพร้อมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากภัยแล้ง ซึ่งคงหนีไม่พ้นการออกมาตรการสินเชื่อและการพักหนี้

 

แม้หลายเดือนที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามารับหน้าที่ งบประมาณยังไม่เพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังสามารถออกมาตรการกระตุ้นไปแล้วหลายรอบ ดังนั้น ต้องจับตามองว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ งบประมาณประจำปี 2563 มีผลบังคับใช้ ทำให้สามารถใช้งบประมาณมากระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่จะมีมาตรการใหม่ๆ ออกมามากน้อยแค่ไหน

ปัญหาในการเลือกตั้งปีที่ผ่านมาทำให้งบประมาณต้องล่าช้าจากกำหนดเดิมต้องเริ่มใช้เมื่อ 1 ตุลาคม 2562 ส่งผลให้งบลงทุนในปีงบ 2563 วงเงินสูงถึง 6 แสนล้านบาท ยังไม่สามารถลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจไทย เมื่องบภาครัฐยังไม่ออก สิ่งที่ทำได้คือกระตุ้นให้รัฐวิสาหกิจลงทุน ตั้งเป้าหมายไตรมาสละ 1 แสนล้านบาท โดยไตรมาสสุดท้ายปี 2562 กระทรวงการคลังรายงานว่ารัฐวิสาหกิจสามารถลงทุนตามเป้าหมาย 1 แสนล้านบาทไปแล้ว มุ่งหวังพยุงเศรษฐกิจต่อเนื่องถึงต้นปีไม่ให้ทรุดต่ำลงไปกว่าที่ควรจะเป็น

ก่อนหน้านี้เมื่อ 1-2 ปีก่อน รัฐบาลชุดนี้เคยคาดหวังให้เศรษฐกิจไทยโตเต็มศักยภาพคือ 4-5% ต่อปี แต่พอตัวเลขเศรษฐกิจปี 2562 เริ่มดิ่งเหลือระดับ 2% เศษ ทำให้คนในรัฐบาลหลีกเลี่ยงจะพูดถึงเป้าหมายจีดีพีว่าจะโตเท่าไหร่ แม้เลขในใจคือ 3% ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์เคยกล่าวในเวทีเศรษฐกิจแห่งหนึ่ง ว่าต้องการเห็นจีดีพีปี 2565 ขยายตัวถึง 5% โดยสิ่งที่ผลักดันให้เติบโตคือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเขตเศรษฐกิจภาคใต้

ดังนั้น จากนั้นต้องติดตามนโยบายภาครัฐ และเศรษฐกิจไทยใกล้ชิด เพราะปัญหาหนึ่งของเศรษฐกิจไทยนอกเหนือจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก คือความเชื่อมั่นต่อการเมืองและเศรษฐกิจไทย

ในปี 2562 ที่ผ่านมาสถานการณ์การเมืองของไทยง่อนแง่น จากปัญหาเสถียรภาพรัฐบาลของรัฐบาลผสม สร้างผลลบต่อเศรษฐกิจไทยไม่น้อย

เป็นที่น่าจับตามองปี 2563 หากปัญหาการเมืองไทยปะทุขึ้นผสมโรงกับปัญหาเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งการเมืองโลก อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยแขวนอยู่บนเส้นด้าย

            เป้าหมาย 3% หลายคนอยากเห็นอาจเป็นได้แค่ฝันหรือไม่