คำ ผกา | เราจนเงิน หรือ เราจนอำนาจ

คำ ผกา

เป็นธรรมเนียมว่าเมื่อใกล้จะสิ้นปีเรามักจะทำลิสต์ สรุปสิ่งที่เกิดขึ้นในตลอดปีที่ผ่านมา

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับฉันในปีนี้คือเรื่องปากท้อง ภาวะเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำ

รัฐบาลบอกว่า เศรษฐกิจไม่ดี เป็นเรื่องสะกดจิต เป็นอุปาทานหมู่

นายกฯ ก็บอกว่า คนมีตังค์ก็เอาตังค์ออกมาใช้บ้าง ส่วนคนจนก็ประหยัดๆ หน่อย รู้จักอดออม เด็กรุ่นใหม่ก็อย่าเอาเงินไปเสริมสวย ไปทำจมูก ประหยัดๆ กันนิดหนึ่ง

เอาละ เราไม่ควรเสียเวลากับการถกเถียงว่า เศรษฐกิจดีจริงหรือไม่จริง

เรามาดูที่สถิติตัวเลขกันดีกว่า

ก่อนอื่นมีรายงานที่น่าสนใจจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ที่ออกมาแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ประท้วงต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และชัดเจนว่ามันมาจากความไม่พอใจของประชาชนต่อผู้นำของตนเอง

และสิ่งที่ทำให้พวกเขาไม่พอใจคือ สภาวะเศรษฐกิจ และภาพความเหลื่อมล้ำที่ฉายชัดขึ้นเรื่อยๆ

ผู้อำนวยการของ UNDP ยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นไม่อาจโฟกัสไปที่ตัวเลข “รายได้” เท่านั้น แต่ต้องไปดูที่การสร้างความเท่าเทียมกันทางอำนาจ และความเท่าเทียมกันทางโอกาส ถ้าสองอย่างนี้ไม่เกิดขึ้น การลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนก็จะไม่เป็นผล

ความไม่เท่าเทียมกันทางอำนาจและทางโอกาสนี้ ส่งผลต่อภาวะความยากจนที่น่ากลัวมาก นั่นคือ มันทำให้คน “ยากจน” ก่อนที่พวกเขาจะเกิดมาบนโลกใบนี้เสียอีก

อาคิม สไตน์เนอร์ ผอ. UNDP ยกตัวอย่างเด็กในประเทศที่ยากจน เมื่อพ่อ-แม่ขาดโอกาสในการเข้าถึงการสาธารณสุข การศึกษา ลูกที่เกิดมาก็ย่อมขาดสารอาหาร แคระแกร็น ไม่ได้รับการพัฒนาทักษะ ความรู้ ซึ่งนั่นก็ทำให้พวกเขาต้องจ่อมจมอยู่กับความยากจนต่อไป

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังย้ำว่า การทำงานหนักไม่ได้ทำให้คนหลุดพ้นจากความจน ยิ่งทำก็ยิ่งจน เพราะเหตุแห่งอำนาจที่ไม่เท่าเทียม เหตุแห่งโอกาสที่ไม่ทั่วถึง

จริงๆ แล้วสิ่งที่เขาพูดก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเรารู้จักเรื่องนี้ในนามของ “ความยากจนเชิงโครงสร้าง” ที่อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดได้ว่า คนถูกทำให้จนเงินจนทอง จากการที่เราทำให้เขาจนอำนาจทางการเมือง และความยากจนทางอำนาจการเมืองนำมาซึ่งความยากจนทางทรัพยากร ทางความรู้ความสามารถ สุดท้ายก็ทำให้เขายากจนเงินทองนั่นแล

และมันช่างเป็นเรื่องที่เราจินตนาการได้อย่างง่ายดาย คนจนภายใต้รัฐบาลที่ไม่ได้สะท้อนภาวะการเป็นตัวแทนของพวกเขา คนที่ขึ้นไปมีอำนาจ ขึ้นไปด้วยเครื่องมืออื่นๆ ที่ไม่ใช่ “เสียง” ของประชาชน พวกเขาจึงไม่ถูกเห็นหัว มีสถานะเป็นเพียงสัตว์โลกภายใต้การ “ดูแล” ของผู้นำ อันผู้นำก็ต้องมาคอยทวงบุญคุณว่า

“ฉันอุตส่าห์เสียสละมาทำงาน เหนื่อยจะตาย เครียดจะตาย หาทางดูแลให้พวกเธอมีกิน มีใช้ มีผ้าห่มแจก มีคนช่วยตอนน้ำท่วม พยายามคิดว่าจะเอามาจากไหน มาแบ่งๆ แจกๆ กันไปให้ทั่วถึง ฯลฯ ดังนั้น ก็เห็นใจ และเห็นบุญเห็นคุณกันบ้าง”

สิ่งที่คนจนเหล่านี้ได้จึงเป็นการสงเคราะห์ แต่ไม่ใช่อำนาจและโอกาส

พวกเขาอาจจะมีที่คุ้มหัวนอน มีข้าวกิน และ 24 ชั่วโมงของพวกเขาก็หมดไปกับการหาให้พอกินไปในแต่ละวัน

ถามว่า ลูกๆ ของพวกเขาได้กินอาหารดีๆ ให้ร่างกายกำยำไหม?

จะได้ไปเรียนเสริมทักษะ เสริมศักยภาพสมอง เชาวน์ปัญญาไหม

จะได้ไปโรงเรียนที่เห็นคุณค่าของเด็ก พัฒนาศักยภาพของเด็กได้อย่างเต็มที่ไหม?

คำตอบคือไม่ ที่เหลืออยู่ในอนาคตของคนจนคือการส่งผ่านความจนนั้นจากรุ่นสู่รุ่น จากนั้นสังคมก็จะโบยตีพวกเขาด้วยการบอกว่า พวกเขาขี้เกียจ พวกเขาลงทุนอย่างไม่ฉลาด ปลูกข้าว ปลูกอ้อย ปลูกมัน ปลูกสับปะรดราคาตกแล้วจะโทษใคร ไม่รู้จักปรับตัว เอะอะจะให้รัฐบาลอุ้ม เอะอะโทษว่าคนรวยเอาเปรียบ ก็ตัวเองวางแผนชีวิตไม่ดีเอง แล้วดูซิ คนพวกนี้เลี้ยงลูกก็ไม่เป็น ลูกคนจนทั้งนั้นเลยที่แว้น ที่ติดยา ที่ท้องวัยทีน พ่อ-แม่เอาแต่กินเหล้า ไม่ใส่ใจลูกเต้ามากพอ ก็วนเวียนอยู่กับความจนอย่างนี้

ฉันคงไม่ต้องมาเขียนเรื่องเหล่านี้ซ้ำๆ ซากๆ อีกว่า การวางแผนชีวิตยาวๆ การเปลี่ยนอาชีพ การอดเปรี้ยวไว้กินหวาน รวมไปถึงแผนการออมเงิน การลงทุนต่างๆ นั้นเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสำหรับคนจน เพราะมันมีเรื่องราวเฉพาะหน้า รายได้ระยะสั้น หนี้สินระยะประชิด ความเจ็บปวดกะทันหัน มาช่วงชิงความสุขุมรอบคอบออกไปจากชีวิตอย่างไม่รู้ตัวแล้ว

หันมาดูสิถิติต่างๆ ในปีนี้กันดีกว่า

ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่องสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปี 2562 มีตัวเลขที่ควรจะกังวลใจ นั่นคือ มูลค่าหนี้ครัวเรือนสูงถึง 13 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 78.8 ของจีดีพี

สูงเป็นอันดับสองของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้

น่าสนใจกว่านั้นคือ หนี้ครัวเรือนของไทยเราไม่ใช่เป็นหนี้บ้าน หรือหนี้เพื่อการลงทุนธุรกิจ

แต่เป็นหนี้เพื่อการบริโภค คือ สินเชื่อส่วนบุคคล, บัตรเครดิต และรถยนต์

หนี้บัตรเครดิตนั้นคิดเป็นร้อยละ 82 ของผู้เป็นหนี้

มีตัวเลขที่น่าสนใจอีกว่า คนไทยเป็นหนี้ในการซื้อบ้านแค่ร้อยละ 15.3 แต่มูลค่าหนี้มีสัดส่วนตั้งร้อยละ 47.2

ในขณะที่ร้อยละ 88 ของคนไทยมีเงินฝากในธนาคารไม่เกิน 50,000 บาท แต่ 1/3 หรือร้อยละกว่า 33 ของคนไทยมีหนี้สินสูงถึง 500,000 บาท

ปาดเหงื่อสักครู่ แล้วหันไปดูข้อมูลหนี้นอกระบบบ้าง หนี้นอกระบบปี 2560 ดูข้อมูลจากกลุ่มที่ไปลงทะเบียนรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 11.4 ล้านคน มีคนที่เป็นหนี้นอกระบบ 1.25 ล้านคน มูลค่าหนี้ 68,000 บาท เฉลี่ยเป็นหนี้ต่อราย รายละ 50,000 บาท

แล้วเราต้องทำยังไง?

ผู้รู้เรื่องการเงินและนักเศรษฐศาสตร์เทคโนแครตไทยมีคำตอบที่คลาสสิคให้กับเราว่า ดูจากสถิติตัวเลขต่างๆ สิ่งที่คนไทยต้องทำมีดังนี้นะจ๊ะ

หนึ่ง ลดรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เสื้อผ้า และการกินข้าวนอกบ้านสิ แล้วหันมาออมเงินให้มากขึ้น อย่าไปซื้อของออนไลน์ให้มันมากนัก รู้ไหม คนซื้อของออนไลน์ มีแนวโน้มจะซื้อของมากกว่าคนซื้อออฟไลน์ถึงร้อยละ 40 เชียวนะ

จากนั้นก็พากันมาสำทับว่า เนี่ย ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมนะ บรรดาผู้เป็นหนี้ทั้งหลาย ต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ต้องวางแผนการออมเพื่ออนาคต

หูย ดูสิ ตัวเลขการเป็นหนี้นี่ หนุ่มๆ สาวๆ กันทั้งนั้น แถมยังเป็นหนี้บัตรเครดิตเสียเป็นส่วนใหญ่ ฟุ่มเฟือยกันนะเธอ

ทีนี้มาดูว่า คนไทยใช้เงินไปกับอะไร เราฟุ่มเฟือยดังว่าจริงหรือไม่?

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เรื่องค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทย มีตัวเลขไม่หนีกันมากตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาว่า ครัวเรือนไทยจ่ายเงินไปกับค่าอาหาร เครื่องดื่ม ร้อยละ 33

ค่าบ้าน ที่พัก ของใช้ในบ้าน ร้อยละ 20

ค่าเดินทาง ร้อยละ 18

อื่นๆ อย่างทำบุญ ซื้อหวย ซื้อประกัน ประมาณร้อยละ 12

มาดูตัวเลขแบบนี้ แล้วย้อนไปดูคำแนะนำของกูรูด้านการเงิน และนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักของไทย ก็อดคิดไม่ได้ว่า ค่าใช้จ่ายที่เป็นปัจจัยสี่คือ บ้าน อาหาร การเดินทาง รวมๆ กันแล้ว มันปาเข้าไปร้อยละ 71 แล้วนะ และค่าเดินทาง มันไม่ควรจะสูงจนเกือบถึงร้อยละ 20 ของรายได้

นี่ยังไม่นับว่าเกือบทุกคนมีภาระในการเลี้ยงดูพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลูก หลาน ส่งเงินกลับบ้าน อ้าว ต้องมีค่าเล่าเรียนบุตร หลานอีกนี่นา

ตามสถิติตัวเลขก็ต้องตกใจอีกว่า คนจนนั้นมีรายจ่ายสำหรับการศึกษาของบุตร-หลานร้อยละ 22 ของรายได้

ในขณะที่คนมีอันจะกิน มีรายได้สูง รายจ่ายสำหรับการศึกษาของบุตร-หลานนั้นจิ๊บจ๊อยมากคือ ร้อยละ 4 เท่านั้น

มีรายได้เดือนละล้าน ถ้าส่งลูกเรียนอินเตอร์ ปีละล้าน มันก็จิ๊บๆ ถูกไหม

แต่มีรายได้สองคนผัว-เมีย เดือนละสองหมื่น ปีละสองแสนสี่ ค่าเทอมลูกสองคน อาจจะตกปีละห้าหมื่น ไหนจะค่าเสื้อผ้า ค่ากิน ค่ารถ ค่าเรียนพิเศษ อาจจะปาเข้าไปปีละแสน

ในตัวเลข ถามหน่อยว่า ไหนเลยจะไม่เป็นหนี้ ไม่ว่าจะหนี้บัตรเครดิต หรือหนี้นอกระบบ

แล้วทำไมต้องให้ลูกเรียนอะไรแพงๆ กันนักหนา รู้ตัวว่ารายได้มีเท่านี้ ทำไมไม่รู้จักวางแผนการใช้เงินและการศึกษาของลูกให้มันสมฐานะ ก็สมแล้วที่เป็นหนี้ แบบนี้แหละที่เรียกว่าใช้เงินไม่เป็น

คือใจคอคนที่พูดนี่ กะว่าคนมีรายได้น้อย ต้องนุ่งเจียมห่มเจียม ให้ลูกเต้าเรียนไปตามมีตามเกิด พอเขาทำอย่างนั้น ก็หาว่าเขาไม่มีความฝัน ไม่มีความทะเยอทะยาน ไม่ลงทุนกับการศึกษาลูกเต้า เลยวนเวียนอยู่กับความจนไม่มีที่สิ้นสุด เป็นงั้นไปอีก

แค่เป็นคนจนนี่ หายใจก็ผิดจริงๆ

ฉันก็อยากจะเขียนซ้ำซากว่า อยากให้คนหายจน รัฐต้องลดรายจ่ายประชาชน สิ่งที่ลดได้ทันที การศึกษาฟรี ที่ฟรีจริงๆ ฟรียันดินสอ ปากกา แบบเรียน สมุด ไม่ต้องมีเครื่องแบบอะไรให้สิ้นเปลือง ไม่ต้องไปคิดแทนเด็กว่า จะอายเพื่อน นู่น นั่น นี่ ขอร้องให้คิดเรื่องลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนก่อน

ไอ้ค่าเดินทางร้อยละ 18 ของรายได้นั้น ถ้าทำให้มันเหลือร้อยละสาม ร้อยละห้า คิดดูว่าจะมีเงินเหลือในกระเป๋าแค่ไหน และร้อยละสิบห้าของเงินที่เหลือ ก็คือความหวังที่จะเป็นหนี้น้อยลงไม่ใช่หรือ?

นี่เราพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ภาวะหนี้ครัวเรือนแบบกว้างมากและหยาบมาก ยังไม่ได้ถึงตัวแปรทางเศรษฐกิจของปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินบาทแข็ง และสภาวะทางการเมืองที่ไม่เป็นคุณต่อการลงทุนและความเชื่อมั่นอะไรได้เลย ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของคนชั้นกลาง ผู้ลงทุน นักธุรกิจ ผู้ประกอบการรายย่อย ในขณะที่รัฐบาลมีแต่ไอเดีย ชิม ช้อป ใช้ ไปเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หนี้สิน และจำนวนคนจนใหม่คงจะค่อยๆ ท่วมทับทวีคูณ คนที่พอจะมีเงินเก็บก็ไม่กล้าใช้เงิน

ครานี้ ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สุขภาพกาย สุขภาพจิต ก็จะตามกันมาเป็นพรวน

ถามว่า แล้วสังคมนี้ขาดอะไร

อะไรที่ทำให้เราอยู่ในภาวะความยากจนและความอับจนขนาดนี้ ถ้าไม่ใช่ภาวะความยากจนทางอำนาจ อันนำมาซึ่งความยากจนทางโอกาส

และครั้งหนึ่งเมื่อเราได้จนเสียแล้ว ความจนนั้นมันก็จะนำมาซึ่งความจนไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะเมื่อคุณจนอำนาจ คุณก็ไม่มีอะไรไปต่อรอง

เมื่อคุณต่อรองไม่ได้ คุณก็จำต้องรับในสิ่งที่เขาให้ เขาให้สิบบาทก็ต้องรับ เขาให้ห้าบาทก็ต้องรับ เพราะดีกว่าเขาไม่ให้อะไรเลย

เมื่อเราต้องรับห้าบาท สิบบาท เพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อไปทีละวันๆ ก็ไม่ต้องพูดถึงว่าเราจะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนไปทวงถามถึงอำนาจทางการเมืองของเรา จะเอากำลังเรี่ยวแรงที่ไหนไปสะสมทักษะ สติปัญญามาต่อสู้กับชนชั้นมั่งมี ที่ครอบครองทรัพยากรอย่างเหลือเฟือเพื่อสะสมทุนทางกาย ใจ สติปัญญา ความรู้ เพื่อใช้ในการกำราบไม่ให้คนจน และคนที่กำลังจะจน ให้เข้าถึงอำนาจ

อย่างมาก เขาก็ให้เรามีเงินเหลือเล็กๆ น้อยๆ พอจะมีเครดิตไปเป็นหนี้บัตรเครดิตเพื่อเอาไปจับจ่ายบริโภคในสินค้าที่เขาเป็นเจ้าของนั่นแหละ

ว่าแล้ว ทำอะไรไม่ได้ ปิดปีใหม่นี้ก็รูดการ์ดฉลองแก้กลุ้มกันไปก่อน ตามประสาชนชั้นกลางอุดมหนี้อย่างพวกเรา

ปีหน้าค่อยว่ากัน