ฐากูร บุนปาน | 2563 มาแล้ว ตั้งหลักกันให้ดีเสียแต่เนิ่นๆ

ก่อนสิ้นปีที่ผ่านมา เที่ยวแจกจ่ายและแนะนำมิตรสหาย-ผู้รู้จักมักคุ้นทั้งหลายให้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งตัวเองกำลังติดงอมแงม

หนังสือ “ตะวันลับแห่งต้าถัง” หนังสือประวัติศาสตร์ฉบับเรียบเรียงใหม่

ผุ้เขียนภาษาจีนคือ “จ้าวอี้” ผู้พากย์ไทยคือ “คุณเรืองชัย รักศรีอักษร”

ที่เขาบอกกันว่าเรื่องจริงสนุกกว่านิยาย หนังสือเรื่องนี้ก็เข้าข่ายนั้นด้วย

อ่านเถอะครับ รับรองไม่ผิดหวัง

เมื่อคนทั่วไปพูดถึงราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่ก่อให้เกิดยุครุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์จีน

ช่วงเวลาจำเพาะส่วนมากก็คือครึ่งแรกของราชวงศ์ โดยเฉพาะในยุคจักรพรรดิถังไท่จง หรือศักราช “เจินกวน”

คนส่วนใหญ่เรียนรู้ว่า “ความรุ่งเรือง” นั้นประกอบไปด้วยปัจจัยความสำเร็จอะไรบ้าง

มีคติและข้อคิดสอนใจอย่างไรบ้าง

มีหนังสือทั้งประวัติศาสตร์ และที่ถอดออกมาเป็นตำราการบริหารมากมายหลายเล่ม

แต่มีน้อยกว่าน้อยที่จะพูดถึง “ความเสื่อมโทรม” ไปจนกระทั่งนำไปสู่การดับสลายในช่วงครึ่งราชวงศ์หลัง

ซึ่งเป็นแก่นแกนหลักของหนังสือเล่มที่แนะนำอยู่นี่ละครับ

ที่บอกว่าสนุกนั้น เพราะประวัติศาสตร์จีนเขาบันทึกอะไรจริงจังต่อเนื่องมากว่า 4,000 ปี

มีทั้งเรื่องราวของความสำเร็จ-ความล้มเหลว ความรุ่งเรือง-ความเสื่อมโทรม ความดีงาม-ความเลวร้าย

และไม่ได้บันทึกกันแต่เรื่องราวของชนชั้นสูงเมือนประวัติศาสตร์ของบางสังคม

แต่เก็บรวบรวมไปถึงปูมสถิติทั้งหลาย ตั้งแต่ฝนชุกฝนแล้ง การเก็บเกี่ยวพืชผล การค้าการขาย ความเป็นอยู่ของชาวบ้านร้านตลาด ฯลฯ

ประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องมีมิติ มีชีวิต ไม่ให้แห้งแล้งจืดชืด

หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน

บอกกับคนคอเดียวกันว่า อ่านไปอ่านมาแล้วทำไมไพล่ไปนึกถึงหนังสือ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขาก็ไม่รู้ได้

อาจจะเป็นเพราะแกนหลักของหนังสือพูดถึงความเสื่อมโทรมในประเด็นที่คล้ายคลึงกันก็ได้

นั่นคือความล่มสลายเกิดจากความเสื่อมโทรมของระบบ ไม่ใช่ความผิดพลาดของใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ

แต่ส่วนใหญ่พอระบบเสื่อมโทรมลง คนก็จะเสื่อมทรามตามไปด้วย

เพราะอยู่ในระบบที่เสื่อมแล้ว ไม่มีอะไรรับประกันว่าทำดีจะได้ดี

ก็จะมีแต่คนเอาตัวรอดเป็นเรื่องปกติ

ลองหาอ่านกันดูเถอะครับ ทั้งสองเล่มนั้นแหละ

รับรองว่าทั้งสนุกและเปิดโลกทัศน์ดีนักแล

ความรู้สึกที่ได้อย่างหนึ่งเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ ต้องอาศัยภาษิตจีนมาช่วยบรรยาย

ที่เขาบอกว่า “อ่านประวัติศาสตร์แล้วหลั่งน้ำตาแทนคนโบราณ” นั่นใช่เลยครับ

เวลามองย้อนหลังกลับไปแล้วเห็นอะไรชัดเจนกว่าคนที่อยู่ในเหตุการณ์

เพราะสามารถสรุปบทเรียนจากเรื่องราวที่ผ่านมาแล้วได้

บางอย่างหรือหลายอย่างก็ให้นึกเสียดาย

คิดไปว่า “ถ้า” เป็นอย่างนั้น “ถ้า” เป็นอย่างนี้ จะดีกว่าหรือไม่

มีแต่ “ถ้า” อยู่เต็มไปหมดในหัว

และไหนๆ ก็ย้อนไปถึงราชวงศ์ถังกันแล้ว

ขออนุญาตย้อนต่อขึ้นไปอีกสักหน่อย

จบเอาตอนที่จักรพรรดิถังไท่จงกล่าวไว้อาลัยในพิธีศพของ “เว่ยเจิง” มหาอำมาตย์ผู้กล้าทักท้วงและทัดทานพระองค์มาตลอดรัชสมัยว่า

“ใช้ทองเหลืองเป็นกระจก ส่องดูรูปโฉมร่างกายให้ทราบว่าตนเองสวยงามหรืออัปลักษณ์

ใช้ประวัติศาสตร์เป็นกระจก ส่องให้รู้ถึงความเจริญหรือเสื่อมโทรมของบ้านเมือง

ใช้ความคิดเห็นของผู้อื่นเป็นกระจก ส่องข้อดีข้อด้อยของตนเอง”

หนังสือบางเล่มนั้นรวบรวมเอาสองข้อหลังไว้ด้วยกัน

อ่านแล้วไม่ใช่แค่ “หลั่งน้ำตาแทนคนโบราณ” แต่ยังใช้เป็น “กระจกส่องความเจริญเสื่อมโทรม” ในปัจจุบันได้ด้วย

ไม่ว่าจะเป็นประเทศ เป็นสังคม เป็นรัฐบาล เป็นเอกชน เป็นหมู่คณะ เป็นครอบครัว

เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต-ไม่ว่าจะของตัวเองหรือของผู้อื่น เป็นบทเรียนที่คุ้มค่า

ไม่รู้จักส่องกระจกสิครับ-อันตราย

หรือส่องไปแล้วโทษกระจกว่าบิดเบี้ยว-ยิ่งอันตรายกว่า

2563 มาแล้ว ตั้งหลักกันให้ดีเสียแต่เนิ่นๆ นะครับ

นรก อิส คัมมิ่ง ซูน

เขาว่ากันอย่างนั้น