ฉัตรสุมาลย์ : กราบลาหลวงปู่ชุ้น

ชาวนครปฐม หรือคนเช่นผู้เขียนแม้ไม่ใช่ชาวนครปฐม แต่ก็อยู่ที่จังหวัดนั้นนานพอที่จะรู้จักหลวงปู่ชุ้น

มีใครที่ไม่รู้จักท่านบ้าง

ท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัดอยู่นานถึง 30 ปี ถ้าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด มาอยู่คราวละ 2 ปี แล้วก็ย้ายไป ต้องใช้ผู้ว่าฯ ถึง 15 คน ที่จะทำงานในจังหวัดนครปฐมนานเหมือนหลวงปู่

ในช่วง 3 ทศวรรษที่ท่านดูแลงานบริหารของสงฆ์นั้น เรียกว่า พระภิกษุในเขตจังหวัดนครปฐมที่ท่านดูแลไม่มีใครกล้าแตกแถว

ท่านปราบเซียนอย่างอยู่หมัด ทั้งมือ ทั้งเท้าทีเดียว

ท่านเล่าเองว่าใช้ “เบญจภาคี” หมายถึงฝ่ามือที่มีนิ้ว 5 นิ้ว ผัวะ เข้าที่พระหนุ่มๆ ที่แตกแถว ต้องไม่ลืมว่า หลวงปู่ท่านมีร่างใหญ่ มือก็ใหญ่ และแม้พระภิกษุที่ขี้เมาไม่ยอมเลิก ท่านเล่าว่า “ไม่รู้ขามันดีดออกไปได้ยังไง”

หลวงปู่ท่านจัดการถึงลูกถึงคน ท่านจึงเป็นตำนานที่ผู้คนจดจำระลึกถึงท่าน

ในคอลัมน์เดียวกันนี้ ผู้เขียนเคยเขียนถึงท่านอย่างน้อยสองครั้ง ก็ท่านออกจะเป็นตำนานขนาดนั้น

 

หลวงปู่เดิมชื่อชุณห์ ภูศรี (แซ่เฮง) เกิดที่ตำบลวังตะกู อ.เมือง จ.นครปฐม เมื่อ พ.ศ.2468 เคยรับราชการเป็นครูที่โรงเรียนประชาบาลบ้านบ่อด่าน วัดทัพยายท้าว พออายุครบบวช ก็ได้อุปสมบท ใน พ.ศ.2488 และชาวบ้านนิมนต์ให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดวังตะกูตั้งแต่ พ.ศ.2498

หลวงปู่มีคุณูปการต่อชาวเมืองนครปฐมอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการศึกษา ได้รับแต่งตั้งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ.2494 เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดวังตะกู เป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมสนามหลวง เป็นวิทยากรบรรยายธรรมแก่หน่วยงานต่างๆ พัฒนาวัด และชุมชนรอบวัดให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง

ผู้เขียนคงไม่สามารถบรรยายงานที่หลวงปู่สร้างทำให้แก่พระศาสนาได้ครบถ้วน เพราะทุกคนที่รู้จักท่านก็ได้เห็นเป็นประจักษ์กับตาตัวเองมาทั้งสิ้น

หลวงปู่อาพาธ และเริ่มอยู่ในภาวะติดเตียงมา 7 ปี ในที่สุดท่านมรณภาพเมื่อเย็นวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา สิริรวมอายุ 94 ปี 74 พรรษา

 

หลวงปู่น่าจะเป็นพระภิกษุในจังหวัดนครปฐมรูปแรกที่ได้สมณศักดิ์ขึ้นมาถึงชั้นธรรม ท่านเป็นพระธรรมเสนานี ในงานศพท่าน ได้รับพระราชทานโกศและฉัตร 5 ชั้น

งานสรงน้ำศพของเย็นวันที่ 6 ธันวาคมนั้น ช่วงแรกเป็นพระราชพิธีที่ทำได้อย่างงดงาม ที่ว่างดงามคือเป็นไปตามราชพิธีระเบียบเรียบร้อยทุกประการ

ปกติผู้เขียนจะเป็นคนที่ไม่ชอบพิธีการ แต่การที่ได้นั่งเฝ้ามองพิธีการในส่วนแรกที่เป็นพระราชพิธีครั้งนี้ จิตใจจดจ่อเห็นนัยยะและความหมายของงาน และดีใจที่เป็นชาวไทย ที่มีประเพณีที่งดงามให้เราได้เห็น

เมื่อลูกหลานศิษยานุศิษย์ได้สรงน้ำหลวงปู่ ไม่ได้สรงน้ำที่มือท่านดอกนะคะ เดี๋ยวท่านหนาวแย่ เดี๋ยวนี้เขาตั้งพานดอกไม้ด้านหน้า ให้ลูกศิษย์ลูกหาเทน้ำโรยกลีบกุหลาบจากจอกเล็กลงบนพานดอกไม้ที่จัดไว้อย่างประณีต

ท่านภิกษุณีธัมมนันทาพาพระภิกษุณีและสามเณรีมากราบสรีระของหลวงปู่อย่างน้อย 40 รูป พระภิกษุผู้ใหญ่ที่มานั่งเป็นประธานในงาน คือ พระพรหมเวที เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ และเจ้าคณะภาค 15 จากนั้นก็เป็นพระผู้ใหญ่ที่เป็นพระสังฆาธิการ คือเจ้าคณะจังหวัดใกล้เคียง เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล

นอกจากนั้น เป็นข้าราชการ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายชาญนะ เอี่ยมแสง ก็ให้เกียรติและให้ความเคารพ มาเป็นประธานในพิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงศพด้วย

ในภาพรวมเป็นงานศพพระผู้ใหญ่ที่มีคุณูปการต่อทั้งพระศาสนาและสังคมไทยที่สมเกียรติ

 

ในส่วนของพระราชพิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงศพนั้น เจ้าหน้าที่จากในวังแต่งตัวเรียบร้อย ทุกคนรู้หน้าที่ ทำงานประสานกันโดยรู้งานอย่างดี

เข็นฉากออกมากั้น เพื่อบังสายตา ฉากที่กั้นนี้ เป็นสีน้ำเงิน กรอบและสีดำ ดูขลังทีเดียว เมื่อท่านประธานเสร็จพิธีแล้ว เคลื่อนศพออกไปด้านหลังโกศที่ตั้งไว้ เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ก็พับฉาก แล้วเคลื่อนย้ายไปด้านหลัง อย่างเป็นระเบียบไม่มีเสียงดังเลย

ภาพที่มองมาจากด้านหน้า เราจะเห็นโกศสูงเด่นอยู่ตรงกลาง ฉัตร 5 ชั้น วางได้ระดับ ข้างละ 1 คู่

สรีระของหลวงปู่อยู่ในโลงที่อยู่ด้านหลังโกศอีกทีหนึ่ง การที่ไม่บรรจุศพลงในโกศนี้ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเองรู้สึกโล่งใจ การเปลี่ยนประเพณีนี้ เริ่มตั้งแต่พระบรมศพของสมเด็จย่า และถือปฏิบัติสืบกันมา

 

เนื่องจากหลวงปู่ท่านมีพื้นฐานเป็นชาวจีน เครื่องประดับหน้าโกศเป็นโถจีนลายขาวน้ำเงิน เข้าชุดกัน จัดวางทั้งสองด้าน สลับกับดอกไม้ที่จัดเป็นพุ่มสีขาวเหลือง สมกับที่เป็นดอกไม้ถวายพระ ทุกอย่างหน้าศพของหลวงปู่ งดงาม ลงตัว ไม่เว่อร์ ขณะเดียวกันก็สมศักดิ์ศรี

หลวงปู่มองลงมาเห็นก็คงสบายใจ

หลังจากเคลื่อนย้ายศพหลวงปู่ไปอยู่ด้านหลังเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็เป็นพิธีสงฆ์ พระภิกษุที่ถือไมค์กำกับดูแลความเรียบร้อยของงานก็นิมนต์ให้พระสังฆาธิการที่นั่งอยู่ด้านหน้าโกศ ไปรวมกันอยู่ด้านหลังของประธาน คือ พระพรหมเวที ที่อยู่ด้านขวาของโกศ แล้วย้ายพระภิกษุที่นั่งอยู่ประปรายให้ขึ้นมานั่งด้านหน้าให้เต็ม

ย้ายพระภิกษุณีสงฆ์ที่นั่งอยู่ด้านหลังฆราวาสไปนั่งฝั่งเดียวกับพระภิกษุสงฆ์แต่อยู่ด้านหลัง ขอขอบคุณพระภิกษุผู้จัดการดูแลความเรียบร้อยที่ท่านทำหน้าที่ของท่านอย่างสมบูรณ์แบบ ต้องชมว่า รู้งาน

คราวนี้ พระภิกษุที่ทำหน้าที่ประกาศ นิมนต์พระสงฆ์ 10 รูป ตามที่ได้นิมนต์ไว้ ให้สวดปากโกศ โดยมีพระพรหมเวทีเป็นเจ้าภาพ เมื่อทอดผ้าแล้ว ช่วงนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ในวังทำหน้าที่รับผ้าไตรที่ทอดแล้วออกไป สังเกตว่า เจ้าหน้าที่เดินแถวเข้ามา 3 คน คุกเข่าลงทิ้งระยะ เพื่อเก็บผ้าไตรคนละ 3 ชุดอย่างเรียบร้อย คนที่ 3 น่าจะเก็บ 4 ชุด

จากนั้น เป็นการสวดพระอภิธรรม ตอนนี้ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดยังนั่งเป็นประธาน เสียงพระกำกับว่าให้สวดจบเดียว

จากนั้น ท่านผู้ว่าฯ ทอดผ้า ผ้าไตรแต่ละชุดมีซองขาวแนบมาด้วย คราวนี้ เจ้าหน้าที่ 3 คนชุดเดิม มาคุกเข่าลงทิ้งระยะพอที่คนหนึ่งจะเก็บได้ 3 ไตร คราวนี้ดึงเอาซองขาวที่ใส่ปัจจัยออกแล้วสอดไว้ใต้ที่นั่งของพระแต่ละรูป เก็บไปแต่ผ้าไตร

การทำงานเรียบร้อยสวยงาม ประเพณีที่ฝึกหัดมาดี มีความพร้อมเพรียง มีจังหวะที่ถูกต้อง งานออกมาจึงงดงามนัก

หลวงปู่ท่านเป็นคนเจ้าระเบียบ หากท่านได้อยู่ ได้สังเกตเห็นเช่นเดียวกับผู้เขียน ท่านคงพอใจและออกปากชมเช่นกัน

 

จะมีการสวดพระอภิธรรมเช่นนี้ทุกคืน เวลา 1 ทุ่ม ที่ศาลาการเปรียญ วัดวังตะกู จ.นครปฐม 45 คืน จากนั้น หลวงปู่ท่านสั่งไว้ว่าให้นำสรีระของท่านไปประดิษฐานที่หอประชุมธรรมเสนานี ที่ท่านเองเป็นผู้สร้าง ให้มีการสวดพระอภิธรรมต่อไปโดยทางวัดยังไม่ได้กำหนด

ภิกษุณีธัมมนันทาจะหาโอกาสเข้าไปกราบท่านทุก 2-3 เดือน ถวายปัจจัย และหนังสือเล่มล่าสุด หลวงปู่ว่า “เออ อ่านทุกเล่มแหละ” ครั้งล่าสุด คือต้นเดือนพฤศจิกายน ไปกราบท่าน เพราะจะเดินทางไปจีนในช่วงกลางเดือน ไม่ได้ทราบล่วงหน้าว่าครั้งนั้นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้ฟังท่านคุย

ในช่วงปีนี้ เวลาเข้าไปกราบท่าน ท่านไม่อยู่ในสภาพที่อยากพูดคุย พอท่านเห็นหน้าท่านก็ว่า “ไม่ไหวแล้ว” ท่านธัมมนันทาก็จะไม่ชวนคุยต่อ ถวายปัจจัยแล้วก็กลับ

แต่เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ หลวงปู่ยังนอนที่กุฏิ คราวนี้พอท่านเห็นหน้า ท่านเป็นฝ่ายทักขึ้นมาก่อนเลยว่า “เออ นี่คุณ มีคนที่เขานามสกุลเดียวกับคุณนะ ส.ส.ก่อเกียรติ ษัฏเสน น่ะ” ผู้เขียนแปลกใจมาก ไม่เคยทราบว่าท่านรู้จักบิดาของผู้เขียน รับปากกับท่านว่า

“หลวงปู่ นั่นพ่อของลูกเองเจ้าค่ะ”

หลวงปู่พูดต่อว่า “เขาเป็น ส.ส.จังหวัดภูเก็ต”

ผู้เขียนกราบเรียนท่านเพื่อแก้ข้อมูลว่า “จังหวัดตรังเจ้าค่ะ”

หลวงปู่ท่านพูดต่อว่า “เออ นั่นน่ะ ส.ส.ตลอดกาล”

จริงๆ แล้ว บิดาของผู้เขียนเป็น ส.ส.จังหวัดตรังเพียง 3 สมัย แต่สำหรับหลวงปู่ท่านว่า ส.ส.ตลอดกาล

ก็คงจะเช่นเดียวกับความรู้สึกผูกพันที่ท่านก็เป็นหลวงปู่ตลอดกาลของผู้เขียนเช่นกัน