รายงานพิเศษ / Proxy War สงครามตัวแทน ‘อภิรัชต์-ธนาธร-?’ ขุนพลอำมาตย์-ฮ่องเต้ซินโดรม กับเสียงคำราม สงครามม็อบ และปฏิบัติการ ‘3 ป.’ ยึดทำเนียบ คลี่ปม ‘บิ๊กแดง’ ว่าที่นายกฯ?

รายงานพิเศษ

 

Proxy War สงครามตัวแทน

‘อภิรัชต์-ธนาธร-?’

ขุนพลอำมาตย์-ฮ่องเต้ซินโดรม

กับเสียงคำราม สงครามม็อบ

และปฏิบัติการ ‘3 ป.’ ยึดทำเนียบ

คลี่ปม ‘บิ๊กแดง’ ว่าที่นายกฯ?

บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ควบ รมว.กลาโหมด้วย แสดงความมั่นใจในความมั่นคงของรัฐบาล

“ตราบใดที่ผมยังยืนอยู่ตรงนี้ ไม่มีแพแตก หรือเรือล่ม”

สยบข่าวลือเกาเหลา ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยการกอดคอ จับมือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเสี่ยหนู นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ร้องเพลง รวมทั้งชื่นมื่นในงานเลี้ยง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ที่แดนซ์กันกระจาย

แถมยังมีป้าศรีนวล บุญลือ ส.ส.งูเห่า ที่ถูกขับออกจากพรรคอนาคตใหม่ ไปซบอกพรรคภูมิใจไทย และคาดว่าอีก 3 ส.ส.งูเห่าสีส้ม ก็มีแนวโน้มจะเข้ามาอยู่พรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะทำให้เสียงของฝั่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พ้นการเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

ไม่นับรวม ส.ส.งูเห่าที่ยังไม่ปรากฏตัว เผยโฉม ที่ฝากเลี้ยงไว้ในพรรคฝ่ายค้านอีกไม่น้อย ที่พร้อมจะเปิดหน้าโหวตให้ฝั่งรัฐบาลเมื่อถึงสถานการณ์จำเป็น

โดยไม่ต้องง้อ 6 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยโหวตสวนมติพรรคร่วมรัฐบาล ในเรื่องการตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการใช้มาตรา 44 และคำสั่ง คสช. อีกต่อไป

ถึงขั้นที่บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พี่ใหญ่ 3 ป. ที่ไปคุมพรรคพลังประชารัฐเต็มตัว ประกาศอย่างมั่นใจว่า ถ้าผมยังอยู่ เสียงในพรรคร่วมรัฐบาล 18 พรรค จะไม่เป็นปัญหา

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะยังไม่จำเป็นต้องไปนั่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเองก็ตาม พล.อ.ประวิตรไปคุมเอง และนั่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ก็เสมือนเป็นหัวหน้าพรรคเงาอยู่แล้ว

อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ผนึกกำลังพี่น้อง 3 ป. เปิดตัวในการพบปะพูดคุยกับนักการเมืองมากขึ้น ทั้งการไปทานข้าวกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลด้วยตนเองก่อนนี้ ก่อนมาร่วมงานเลี้ยง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ร้องเล่นเต้นรำแบบที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน

แต่เพราะวันนี้เป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้ว และจะต้องเป็นนายกฯ เป็นรัฐบาลให้นานที่สุด เพื่อสกัดฝ่ายตรงข้ามไม่ให้ได้กลับมามีอำนาจ

แถมทั้งบรรดาหมอดูหลายสำนัก ก็ทำนายตรงกันว่า บิ๊กตู่จะอยู่ยาว อย่างน้อย 2 สมัย คือ 4+4 ปี

ไม่นับรวมที่เป็นนายกฯ ในรัฐบาล คสช. มาแล้ว 5 ปี

ไม่แค่นั้น พล.อ.ประยุทธ์เองก็เคยพูดว่า “อย่าเพิ่งเบื่อผม เพราะยังคงต้องอยู่กับผมไปอีกนาน นานพอสมควรเลยล่ะ”

ที่ทำให้เกิดความเชื่อทางการเมืองที่ว่า “บิ๊กตู่อยู่ยาว” ไม่ใช่แค่ครบเทอม 4 ปี

แม้จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลรออยู่ในเดือนมกราคม 2563 และการปรับคณะรัฐมนตรี หรือการเตรียมดึงพรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง เข้ามาร่วมรัฐบาลเพิ่ม หรืออาจปล่อยให้เป็นงูเห่าต่อไปก็ตาม

ความเชื่อที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ยาว 8 ปีนั้น เพราะหมดเทอมรัฐบาล 4 ปี ในปี 2566 แล้วมีการเลือกตั้งใหม่ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังอยู่ ยังมี ส.ว. 250 คน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งมากับมือตอนเป็นหัวหน้า คสช. ก็พร้อมที่จะโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ต่ออีก 4 ปี

ไม่ใช่แค่เพราะรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อรองรับ พล.อ.ประยุทธ์ หรือที่เรียกว่า รองรับการสืบทอดอำนาจของ คสช.เท่านั้น แต่มีปัจจัยต่างๆ ทั้งที่มองเห็น และมองไม่เห็น สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อยู่

ไม่นับรวมกองหนุนต่างๆ แม้แต่องค์กรอิสระต่างๆ และกองทัพ ที่ก็ล้วนเป็นน้องๆ ทหาร ที่พี่น้อง 3 ป. ขุนมากับมือทั้งสิ้น

พล.อ.ประยุทธ์จึงเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับเป็นนายกฯ ไปอีกนาน

 

กระนั้นก็ตาม ในบรรดานักการเมืองฝ่ายค้าน และทหารแตงโม ยังคงเชื่อว่า บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

แม้ว่าจะไม่ได้ระบุชัดว่า พล.อ.อภิรัชต์จะมาเป็นนายกฯ แบบไหน แต่ก็ทำให้ชื่อของ พล.อ.อภิรัชต์ขึ้นแท่นเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกคนหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เพื่อไทย ก็เคยระบุว่า นายกฯ คนต่อไปคือ ผบ.ทบ. พล.อ.อภิรัชต์

ที่สำคัญ ตอนนั้นพี่ใหญ่ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ไปคุมพรรคพลังประชารัฐเต็มตัว ก็รับลูกเชียร์ให้ พล.อ.อภิรัชต์เป็นนายกฯ ด้วยการระบุว่า “ถ้าเป็นได้ก็ดี”

แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็เคยออกมาปฏิเสธแล้วว่า ผมไม่เล่นการเมือง และไม่เล่นกับนักการเมือง

อีกทั้งในข้อกฎหมายแล้ว พล.อ.อภิรัชต์จะต้องเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี หลังพ้นจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภา คือเมื่อเกษียณกันยายน 2563 นี้ เพราะเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกมาสยบกระแส ด้วยการระบุว่า ก็พูดกันไป สื่อไปถาม พล.อ.ประวิตร ท่านก็ตอบว่า มั้ง สื่อก็นำไปพาดหัวกันทุกวัน ความจริง พล.อ.ประวิตรท่านไม่ได้พูดเช่นนั้น แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามเขาก็ต้องตอบ ถ้าไม่ตอบ ก็จะไปโกรธเขาอีก

“เรื่องนี้อย่าไปสานต่อเลย พล.อ.อภิรัชต์เขาก็ตอบแล้วว่า ความตั้งใจเขามีอย่างไร การเป็นนายกรัฐมนตรีมันเป็นได้ง่ายนักหรือไง ใครจะมาเป็นมันไม่ง่ายหรอก” พล.อ.ประยุทธ์หวังสยบกระแส

แต่อย่าลืมว่า ย้อนกลับไปปลายปี 2561 ตอนแรกที่ พล.อ.อภิรัชต์จะขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.ใหม่ๆ สื่อเสนอข่าวกันอย่างครึกโครม

ในขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์ตอนเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. และว่าที่ ผบ.ทบ.คนใหม่ เพราะตอนนั้นคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายทหารออกมาแล้ว ได้ร่วมคณะนายกฯ ลงพื้นที่ลพบุรี

โดยในช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้แนะนำรัฐมนตรีที่ร่วมเดินทางมาด้วย และแนะนำ พล.อ.อภิรัชต์กับประชาชนด้วยว่า

“คนนี้ พล.อ.อภิรัชต์ ยังไม่ได้เป็น ผบ.ทบ. แต่สื่อเขียนไปเรื่อย เขียนไปจนจะเป็นนายกฯ อยู่แล้ว”

แม้จะเป็นการประชดประชัน เหน็บสื่อ แต่ก็เป็นการเปิดประเด็น ให้เริ่มมีการจับตามองอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.อภิรัชต์มาตั้งแต่บัดนั้น

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะพยายามสยบกระแสข่าววางตัว พล.อ.อภิรัชต์เป็นนายกฯ คนต่อไปมาแล้วก็ตาม

รวมทั้งตัว พล.อ.อภิรัชต์เองก็ย้ำหลายครั้งกับคนใกล้ชิดว่า No Way ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะไม่คิดเล่นการเมือง

แต่ความเชื่อที่ว่า พล.อ.อภิรัชต์ถูกวางตัวไว้เป็นนายกฯ ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังคงสะพัดอยู่

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ “ช่อ-พรรณิการ์ วานิช” ส.ส.และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวในการปราศรัยขณะลงพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เมื่อ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่า ตราบใดที่ยังมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และกฎหมายเลือกตั้งยังเป็นแบบนี้ อีก 10 ชาติ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว เขาเตรียม “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ไว้เป็นนายกฯ คนต่อไป

“ตราบใดยังมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กฎหมายเลือกตั้งยังเป็นแบบนี้ อีก 10 ชาติ ‘ธนาธร’ ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ หมด ‘ลุงตู่’ มีใครรออยู่รู้ไหม? พูดแล้วเหยียบไว้ตรงนี้นะ หมด ‘ลุงตู่’ … ‘เขา’ เตรียมใครไว้รู้มั้ย? ‘บิ๊กแดง…บิ๊กแดง’ นะจ๊ะ…ไม่ใช่พี่น้องเสื้อแดง” น.ส.พรรณิการ์กล่าว

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ฝ่ายค้านที่เชื่อว่า พล.อ.อภิรัชต์จะเป็นนายกฯ ในอนาคต แต่ทหารในกองทัพก็เชื่อเช่นนั้น

ด้วยเพราะ พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ผบ.ทบ.ที่ไม่ธรรมดา แตกต่างจาก ผบ.ทบ.ในอดีต เพราะมีตำแหน่งเป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.รอ.) และเป็น ผบ.หน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) อีกด้วย

หลายสถานการณ์ทางการเมือง เกี่ยวโยงกับความเคลื่อนไหวของ พล.อ.อภิรัชต์ โดยเฉพาะการเป็นผู้ช่วยพระเอกอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ มาตลอด ตั้งแต่เหตุการณ์ 8 กุมภาพันธ์ 2562 จนถึงการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาล

จนทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ถูกมองว่าเป็น ผบ.ทบ.คนพิเศษ

แต่การถูกจับตามองว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปนั้น ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ไม่สบายใจนัก เพราะไม่อยากตกเป็นเป้าทางการเมืองไปมากกว่านี้

อีกทั้งจะทำให้นักการเมืองที่มีความหวังจะเป็นนายกฯ ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นหวังและไม่อยากร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป

และที่สำคัญ พล.อ.อภิรัชต์ไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นกังวล หรือไม่ไว้วางใจ เพราะสถานภาพของ พล.อ.อภิรัชต์นั้น ในทางปฏิบัติแล้ว อยู่เหนือการควบคุมของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แม้จะเป็น รมว.กลาโหมก็ตาม

ด้วยเพราะรู้กันดีว่า พล.อ.ประยุทธ์นั้นพร้อมที่จะเป็นนายกฯ ต่อ 8 ปี เพราะโดยสุขภาพร่างกาย และอายุ 65 ปีนั้น ก็ยังคงพอเป็นนายกฯ ต่อไหว

แต่นั่นหมายถึงว่า พล.อ.อภิรัชต์ที่จะเกษียณ 30 กันยายน 2563 นี้แล้ว ต้องรอไปอีก 8 ปีเลยทีเดียว

 

คาดกันว่า หลังเกษียณ พล.อ.อภิรัชต์จะมีโอกาสได้ทำหน้าที่ของนายทหารรักษาพระองค์ และถวายงานต่อไป จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม

หากย้อนกลับไปจะพบว่า พล.อ.อภิรัชต์ไม่ใช่นายทหารคนแรกที่ถูกมองว่าจะเป็นทายาทตำแหน่งนายกฯ ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ถอดใจไม่ไปต่อ

ทั้งองคมนตรี บิ๊กต๊อก พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีต ผช.ผบ.ทบ. และบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี และอดีต ผบ.ทบ.

แต่วันนี้มีชื่อ พล.อ.อภิรัชต์มาเพิ่มอีกคน แต่ทว่ามาแรง กระแสแรง เพราะบทบาทที่เดินแรงในช่วงกว่า 1 ปีของการเป็น ผบ.ทบ.

ที่ทำให้เห็นถึงความเป็นนายทหารที่ดุดัน เด็ดขาด เอาจริง

ท่ามกลางการถูกจับตามองว่า พล.อ.อภิรัชต์จะมาเป็นนายกฯ ได้อย่างไร หากไม่เล่นการเมือง ก็คือการเป็นนายกฯ คนนอก

หากเป็นหลังการเลือกตั้ง สมัยหน้า ที่ยังมี ส.ว. 250 คนอยู่ ในการช่วยโหวตนายกฯ คนนอก ก็มีโอกาส แต่ทว่า นั่นย่อมหมายถึงว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องตัดสินใจไม่ไปต่อแล้ว พอแล้วแค่ 4 ปี

แต่ก็เชื่อกันว่า พล.อ.ประยุทธ์พร้อมเป็นต่ออีก 4 ปี จนครบ 8 ปี และหากพรรคพลังประชารัฐยังมั่นคง ทุนยังหนา และรัฐธรรมนูญยังไม่ถูกแก้ไข พล.อ.ประยุทธ์ในวัย 73 ปีตอนนั้น ก็คงพร้อมที่จะเป็นนายกฯ ต่อ

เพราะสำหรับ พล.อ.อภิรัชต์แล้ว ชอบการทำงานเบื้องหลัง มากกว่าการออกหน้าหรือการนั่งเป็นนายกฯ

เพราะทุกวันนี้ พล.อ.อภิรัชต์ก็เป็น ผบ.ทบ.ที่ พล.อ.ประยุทธ์เกรงใจ และต้องพึ่งพิงในหลายเรื่อง

โดยเฉพาะเป็น “สัญญาณ” อย่างหนึ่ง

แต่การที่ พล.อ.อภิรัชต์น้องรักจะมาเป็นนายกฯ โดยการรัฐประหาร ล้ม พล.อ.ประยุทธ์ พี่เลิฟนั้นย่อมไม่เกิดขึ้น

 

แต่ที่กำลังจับตามองคือ ความเคลื่อนไหวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ประกาศจะต่อสู้บนถนน ท่ามกลางกระแสการปลุกม็อบลงถนน หลังปีใหม่

หลังจากที่สิ้นสภาพการเป็น ส.ส. และพรรคอนาคตใหม่กำลังจะถูกยุบจากหลายคดีที่รออยู่นั้น จะนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองหรือไม่

แม้การปลุกม็อบที่เริ่มจากแฟลชม็อบชิมลางก่อน จนถึงการลงถนนนั้น ใช่ว่าจะ “จุดติด” ได้ง่ายๆ เพราะกองหนุนนายธนาธรยังเป็นกองหนุนในโซเชียลมากกว่าการที่จะออกมาลงถนน

อีกทั้งการที่ม็อบจะมีพลัง ไม่ใช่ทำแบบ “ฮ่องกงโมเดล” แต่จะต้องยึดครองถนนกันยาวนานแบบ กปปส.ในอดีต และมีกองหนุนและเดินเกมหลายมิติ

รวมถึงการจัดการวิ่ง “วิ่งไล่ลุง” ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ที่จะวิ่งจากธรรมศาสตร์ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 12 มกราคม 2563 ที่จะเป็นวอร์มอัพ เช็กพลังก่อน

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังกังวล จึงออกมาเตือนว่า เราเคยมีบทเรียนมาแล้ว ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นมาอีก

“ทำไมผมต้องมายืนอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่มีตรงนั้น ผมก็ไม่ต้องมายืนตรงนี้ ที่พูดไม่ได้หมายความว่าจะมีแบบนั้นอีก แต่ไม่อยากให้เกิดอะไรขึ้น” นายกฯ กล่าว

คําพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ดูเหมือนจะมีนัยยะของความเป็นห่วงว่า เสี่ยงต่อการเกิดรัฐประหารอีกครั้ง หากบ้านเมืองวุ่นวายถึงขั้นจลาจล เผาบ้านเผาเมืองกันอีก

แม้ความสัมพันธ์ของ ผบ.เหล่าทัพ ชุดนี้ ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นสมาชิก คสช.มาก่อน โดยเฉพาะ พล.อ.อภิรัชต์ จะแนบแน่นกับ พล.อ.ประยุทธ์มากแค่ไหนก็ตาม

แต่กองทัพจะเดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์ นำกำลังทหารออกมาปราบม็อบ แล้วก็ตายกันเป็นเบือ เหมือนเหตุการณ์กระชับพื้นที่คนเสื้อแดง ปี 2553 กระนั้นหรือ

พล.อ.อภิรัชต์ในเวลานั้นเป็น ผบ.ร.11 รอ. ย่อมรู้ปัญหาดี และย่อมไม่นำกองทัพไปทำเช่นเดิม

ดังนั้น จึงเกิดความหวาดหวั่นที่ว่า หากนายธนาธรจุดม็อบติด ไม่ว่าจะด้วยกลยุทธ์ใด

ระหว่างการนำกำลังทหารออกมาปราบม็อบ กับการรัฐประหารเสียเลยนั้น พล.อ.อภิรัชต์ และ ผบ.เหล่าทัพชุดนี้ จะเลือกหนทางใด หรืออาจมีหนทางอื่นที่จะสกัดกั้นไม่ให้เกิดม็อบนั้นได้

แต่เหล่านี้ล้วนเป็นการคาดการณ์ และประเมินสถานการณ์ในทางเลวร้ายที่สุดเท่านั้น

แต่ฝ่ายความมั่นคงก็ไม่ประมาท

ก็ถึงขั้นทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ต้องออกมาป้องปรามดักคอ ด้วยการระบุว่า เป็น Proxy Crisis ที่แม้จะไม่ได้เป็นถึงขั้น Proxy War สงครามตัวแทน แต่ก็เป็น วิกฤตที่เกิดจากการสร้างตัวแทนออกมาสู้แทน

“ผมฝากไว้แล้วกันว่า มันเป็น Proxy Crisis ยังไม่ใช่ Proxy War เพราะถ้าเป็น War คือเป็นสงคราม เป็นการห้ำหั่นกัน”

“แต่ Proxy Crisis เป็นวิกฤตการณ์ที่มีคนบางคนอยู่เบื้องหลัง ไม่ออกมาสู้ หรือไม่สามารถที่จะมาสู้กับภาครัฐได้โดยตรง ต้องมีการสร้างตัวแทนขึ้นมา ไปอ่านดูว่า Proxy War และ Proxy Crisis มันคืออะไร สอดคล้องกับสถานการณ์เมืองไทยในขณะนี้” พล.อ.อภิรัชต์กล่าว

แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อใคร แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็ถูกจับคู่กับนายธนาธรไปแล้ว หลังจากขึ้นเวทีบรรยายพิเศษ ฉะพวก “ฮ่องเต้ซินโดรม”

แถมก่อนหน้านั้นก็ออกมาส่งสัญญาณหลายครั้ง ถึงพวกซ้ายดัดจริต คิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง พวกซ้ายตกขอบ

และการแสดงออกถึงการชื่นชมนายทหารที่ต่อต้านคณะราษฎร ด้วยการตั้งชื่ออาคารในกองทัพบกว่า ศรีสิทธิสงคราม และห้อง “บวรเดช” มาแล้ว

ที่ทำให้ภาพพจน์ของ พล.อ.อภิรัชต์ ก็เป็นเสมือนตัวแทนในการออกมาปกป้องสถาบัน และต่อสู้กับขบวนการหมิ่นสถาบัน หรือขบวนการล้มเจ้า

จึงทำให้การออกมาคำรามส่งท้ายปีเก่าของ พล.อ.อภิรัชต์ ถูกมองว่าส่งสัญญาณถึงนายธนาธร

พล.อ.อภิรัชต์จึงยกประเด็นเรื่องการไม่ยอมรับกฎหมาย และคำตัดสินของศาลขึ้นมา ว่า ขอให้ทุกฝ่ายรวมทั้งฝ่ายการเมือง ต้องเคารพกฎหมาย ถ้าทำผิดกฎหมายก็ต้องยอมรับคำตัดสินในทุกๆ อย่าง…ในเมื่อเรามีองค์กรกลาง องค์กรอิสระ มีศาล ตุลาการของเราแล้ว เราต้องเคารพกฎหมาย เคารพรัฐธรรมนูญ

ไม่แค่นั้น พล.อ.อภิรัชต์ยังส่งสัญญาณถึงคนที่อยู่เบื้องหลังคนอื่นๆ ด้วย ที่ เป็น Shadow Company ที่ไม่ได้หมายถึงบริษัท แต่หมายถึงกลุ่มและบุคคลที่แบ๊กอัพนายธนาธรอยู่ และเป็นมันสมองในการคิดและวางแผนต่างๆ เพื่อให้สังคมฉุกคิด

“แม้แต่เรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เองก็มี Proxy การเมืองก็มี Proxy” บิ๊กแดงระบุ

รวมทั้งการสะกิดเตือนกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่มีนัยทางการเมืองแอบแฝงด้วย

พล.ต.กันตพจน์ เศรษฐารัศมี

ท่ามกลางการถูกจับตามองว่า พล.อ.อภิรัชต์จะเตรียมรับมือสถานการณ์ทางการเมืองในปีหน้าเช่นไร

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ พี่น้อง 3 ป. เป็นแผงสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐ และเป็นเป้าหมายทางการเมือง

แต่ ผบ.เหล่าทัพ และตำรวจ ขุนพลด้านความมั่นคง จะต้องเป็นผู้ปฏิบัติ หากเกิดความไม่สงบ เกิดจลาจลซ้ำรอยขึ้นมา

แล้วจะทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกหรือไม่

    หรือว่า พล.อ.อภิรัชต์ และ ผบ.เหล่าทัพชุดนี้จะเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่