เพ็ญสุภา สุขคตะ : เมื่อพระสงฆ์ถูกจับสึก กรณีตัดไม้ไปสร้างวัด กรณีครูบาอภิชัยขาวปี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปัญหาเรื่องนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลบุกรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติ แต่กลับไม่มีความผิด ไม่ต้องได้รับโทษใดๆ สร้างความไม่พอใจให้แก่คนไทยทั้งประเทศ ที่ต่างตั้งคำถามว่า “นี่เราอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกันหรือไม่?”

เหตุการณ์นี้ชวนให้ดิฉันนึกถึงเรื่องราวสะเทือนใจเรื่องหนึ่ง ย้อนหลังกลับไปราว 95 ปีก่อน

คราวที่ “ครูบาอภิชัยขาวปี” เมื่อครั้งยังเป็นพระสงฆ์นุ่งห่มผ้าเหลือง เคยตัดไม้ในป่าเพื่อนำไปสร้างวัดให้ญาติโยมในถิ่นทุรกันดาร ปรากฏว่าทางราชการกล่าวหาว่าท่านทำผิดกฎหมาย จึงถูกจับสึก

แม้แต่กับเพศบรรพชิตผู้ทรงศีล ตำรวจและนายอำเภอยุคนั้นก็ยังไม่คิดที่จะผ่อนปรนละเว้นโทษกรณ์ใดๆ มาแล้ว

 

ครูบาอภิชัยขาวปีคือใคร

ครูบาอภิชัยขาวปี คนเมืองเหนือออกเสียงเป็น “ขาวปี๋” คือศาสนทายาทผู้สืบสานตำนาน “ตนบุญแห่งล้านนา” ต่อจากครูบาเจ้าศรีวิชัย ในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นแนวร่วมในการต่อต้านอำนาจจากสยามที่พยายามครอบงำวงการสงฆ์ล้านนา

เหตุที่ถูกเรียกว่า “ขาวปี” ก็เพราะท่านถูกจับสึกจากความเป็นพระสงฆ์ ทำให้ต้องมานุ่งห่มผ้าขาว

ส่วนคำว่า “ปี” มาจากชื่อเดิมของท่านก่อนบวช มีชื่อว่า “จำปี” หรือออกเสียงเป็น “จุมปี” ตามที่ท่านเกิดในช่วงสงกรานต์วัน “ปากปี” ตรงกับวันจันทร์ที่ 17 เมษายน ปีฉลู พ.ศ.2432

เด็กชายจุมปีมีเชื้อสายลัวะ เป็นชาวแม่เทย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน กำพร้าบิดาตั้งแต่ยังเล็ก เมื่ออายุได้ 16 ปี มารดานำไปฝากบวชเป็นสามเณร ณ วัดบ้านปาง โดยมีครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นพระอุปัชฌาย์

ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ถ่ายทอดความรู้ให้ทั้งทางธรรมและโลก พบว่าสามเณรจุมปีมีพรสวรรค์ด้านการก่อสร้างในเชิงช่างมากเป็นพิเศษ จากการติดสอยห้อยตามอาจารย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยไปก่อสร้างวัดวาอารามทุกหนทุกแห่งมิได้ขาด จึงเกิดความชำนาญในด้านนี้ตั้งแต่ยังเยาว์

อายุครบ 22 ปี สามเณรจุมปีบวชเป็นพระภิกษุ มีฉายาว่า “พระอภิชัย อภิชโย” เมื่ออุปสมบทได้ 2 พรรษาจึงกราบลาอาจารย์ เพื่อมุ่งมั่นงานก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดร้างต่างๆ ตามแนวทางที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยวางไว้

ถือเป็นช่วงต้นของชีวิตพระภิกษุระหว่างอายุ 24 ปีจนถึงอายุ 35 ปี ที่อุทิศทุ่มเทให้แก่งานการก่อสร้างพระอารามอย่างเต็มที่ นอกจากแถบอำเภอลี้ แม่ทา บ้านโฮ่งในลำพูนแล้ว ยังได้เดินทางไปก่อสร้างศาสนสถานทั่วล้านนา ทั้งในเชียงใหม่ ตาก และข้ามเขตแดนพม่าแถบลุ่มน้ำสาละวินอีกด้วย

ก่อนจะพบกับวิกฤตชีวิตด้วยมรสุมทางการเมืองที่พัดผ่านข้ามมาสู่วงการพระศาสนา

 

การถูกจับสึกครั้งที่ 1

แม้จะเป็นพระป่าผู้สมถะครองตนอย่างดีมาโดยตลอด แต่เนื่องจากความใกล้ชิดในฐานะศิษย์เอกคอยอุปัฏฐากครูบาเจ้าศรีวิชัย จนได้รับยกย่องว่าเป็นเสมือน “มือขวา”

ทำให้ครูบาอภิชัยขาวปีย่อมได้รับผลกระทบจากคณะสงฆ์ล้านนาและฝ่ายราชการที่ไม่พอใจครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ตามไปด้วยโดยปริยาย

ปี พ.ศ.2467เมื่อครูบาอภิชัยขาวปีบวชได้ 13 พรรษา ท่านถูกกลั่นแกล้ง และถูกจับดำเนินคดีอย่างไร้เหตุผล ในข้อหาหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร

ทั้งๆ ที่กาลเวลาล่วงผ่านอายุในวัยเกณฑ์ไปนานกว่า 15 ปีแล้ว คือขณะนั้นท่านอายุ 35 ปี แต่ทางการยังไปขุดคุ้ยเอกสารย้อนหลัง อ้างเหตุผลร้อยแปดพันเก้า หาเรื่องบังคับให้ท่านสึกและครองผ้าขาวเป็นครั้งแรก

อยากทราบเหมือนกันว่า มีนักบวชในพระพุทธศาสนารูปไหนบ้างไหม ที่บวชเป็นสามเณรอยู่ดีๆ โดยมีความมุ่งมั่นปรารถนาจะบวชต่อเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุครบ 20 ต้องยอมสึกไปเกณฑ์ทหารก่อน แล้วค่อยกลับมาบวชใหม่? มีด้วยล่ะหรือ?

พูดแบบไม่อ้อมค้อม มีใครบ้างที่ไม่รู้ว่า เหตุการณ์ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเกิดจากการที่ “หาทางเล่นงานครูแบบจะจะไม่ได้ จึงหันมาแกล้งลูกศิษย์แทน”

ในขณะที่ท่านถูกจองจำอยู่ในคุกเมืองลำพูน ซึ่งเรือนจำกลางยุคนั้นตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย (และก่อนหน้านั้น สถานที่แห่งเดียวกันนี้ก็เคยเป็นวัดแสนข้าวห่อ) ครูบาอภิชัยขาวปีได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษในเรือนจำที่แสนจะอนาถา

คนป่วยไม่มีที่บำบัดรักษา ต้องนอนเบียดเสียดก่ายกัน สารพัดน้ำเหลือง คูถมูตรไหลเยิ้ม ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไร้ระบบสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน

ครูบาอภิชัยขาวปีเกิดปริเทวนาทุกข์อย่างรุนแรง จึงได้ริเริ่มสร้างโรงพยาบาลลำพูน

เมื่อศิษยานุศิษย์สายครูบาเจ้าศรีวิชัยทราบข่าว จึงช่วยกันระดมทุนก่อสร้างโรงพยาบาลกันอย่างคับคั่ง จนครูบาอภิชัยขาวปีสร้างโรงพยาบาลแล้วเสร็จ ในวันที่ท่านพ้นโทษตามคำพิพากษาครบ 6 เดือนพอดี

ชาวล้านนาเชื่อว่า การที่ท่านต้องหาเหตุออกไปสร้างโรงพยาบาลเพื่อเป็นสาธารณสถานโดยใช้ระยะเวลา 6 เดือนเท่ากับเวลาที่ท่านต้องได้รับโทษในเรือนจำนั้น เป็นเพราะท่านไม่อยากให้ผู้คุมเรือนจำสร้างเวรสร้างกรรมมากไปกว่านี้ ด้วยเหตุที่ท่านยังคงเคร่งครัดในศีล 227 ข้อเยี่ยงภิกขุภาวะ

แม้ภายนอกท่านจะนุ่งขาวห่มขาว แต่วัตรปฏิบัติของท่านยังคงเคร่งครัดเหมือนกับศีลาจารวัตรของพระสงฆ์ทุกประการ

 

การถูกจับสึกครั้งที่ 2

เมื่อออกจากคุกแล้ว ครูบาอภิชัยขาวปีรีบเดินทางไปนมัสการครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ แต่เนื่องจากขณะนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยอยู่ในสถานะลำบาก ตัวท่านเองก็เพิ่งพ้นจากการต้องอธิกรณ์มาได้ไม่นานเหมือนกัน ครูบาศรีวิชัยจึงได้อาราธนาขอให้พระครูสรภังค์ (เทพวงศ์ เทววํโส) วัดนันทาราม เจ้าคณะแขวงเมืองนครเชียงใหม่ เป็นพระอุปัชฌาย์ดำเนินการอุปสมบทให้ครูบาอภิชัยขาวปีเป็นภิกษุอีกเป็นคำรบสอง

เหตุการณ์นี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ต่อมาไม่นานพระครูสรภังค์ถูกลดบทบาทลงไม่ให้มีหน้าที่ดูแลสงฆ์ในพื้นที่ ถูกโยกมาเป็นพระครูกิตติมศักดิ์แทน เพราะไปข้องเกี่ยวรับเป็นพระอุปัชฌาย์ให้แก่ครูบาอภิชัยขาวปีก็เป็นได้

ครูบาอภิชัยขาวปีอยู่จำพรรษากับครูบาศรีวิชัยได้ 1 พรรษา ก็ลาอาจารย์จาริกไปสร้างวัดและโรงเรียนอีกหลายแห่ง จากพระเจดีย์ที่บ้านนาหลวง เมืองตาก ท่านมุ่งสู่แม่สอดจนถึงแม่ระมาด พรมแดนไทย-พม่า

ณ ที่แม่ระมาดนี้ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง ไม่มีปัจจัยมากพอสำหรับสร้างโบสถ์ ครูบาอภิชัยขาวปีจึงปรึกษาคณะศรัทธาว่าคงต้องขอเงินบริจาคจากชาวบ้านในเมือง ซึ่งชาวบ้านยินดีช่วยด้วยความเต็มใจ

นอกจากนี้ ครูบาอภิชัยขาวปียังได้ตัดไม้ในป่าแถบแม่ระมาดซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำสาละวิน เพื่อนำไปสร้างอุโบสถ วิหารให้แก่พุทธศาสนิกชนชาวกะเหรี่ยงบนถิ่นทุรกันดาร โดยที่ครูบาอภิชัยขาวปีไม่เคยทราบมาก่อนว่า เจ้าหลวงลำพูนได้ให้สัมปทานป่าไม้บริเวณนี้แก่บริษัทบอร์เนียวเบอร์ม่าไปแล้ว

นายอำเภอแม่ระมาดอ้างว่าการกระทำของครูบาอภิชัยขาวปี “ผิดระเบียบคณะสงฆ์” 2 ข้อ คือ 1.ขอรับบริจาคเรี่ยไรเงินชาวบ้าน 2.บุกรุกป่าซึ่งให้ชาวต่างชาติทำสัมปทาน

นายอำเภอจึงทำรายงานไปยังเจ้าคณะจังหวัดลำพูนต้นสังกัด เจ้าคณะจังหวัดลำพูนตัดสินว่า “ให้สึกพระอภิชัยอีกเป็นครั้งที่สอง”

การถูกจับสึกครั้งนี้ได้สร้างความสะเทือนใจอันใหญ่หลวงให้แก่กลุ่มชาวกะเหรี่ยงผู้ติดสอยห้อยตาม จนถึงกับประกาศถ้อยคำที่อัดอั้นตันใจในเชิงประชดว่า

“ตุ๊เหลืองของพวกเจ้า ตุ๊ขาวของหมู่เฮา”

การถูกจับสึกเป็นครั้งที่ 2 นี้ แม้ครูบาอภิชัยขาวปีจะไม่ต้องถูกกักขังในเรือนจำเหมือนกับครั้งแรก แต่ก็ถูกคาดโทษว่า “ห้ามกลับไปบวชอีก และห้ามตัดไม้ทำลายป่าอีก”

ช่วงที่ครูบาอภิชัยขาวปีกำลังช่วยครูบาเจ้าศรีวิชัยก่อสร้างวัดทั่วล้านนานั้น เป็นยุคที่ชาวต่างชาติคืออังกฤษเข้ามาถือสัมปทานป่าไม้สักทองเกือบแทบทุกแห่ง

ส่งผลให้ไม้ที่ครูบาทั้งสองนำมาใช้สร้างวิหารไม่สามารถตัดไม้สักจากป่าใกล้ๆ วัดแต่ละแห่งได้ จำเป็นต้องใช้ไม้ตะเคียนบ้าง ไม้เนื้อแข็งประเภทอื่นแทนบ้าง โดยต้องไปขนมาจากป่าลึก ที่ไม่อยู่ในเขตสัมปทานป่าไม้ของชาวต่างชาติ

ชาวบ้านต้องช่วยกันตัดเอาไม้ตะเคียนเหล่านั้นล่องลงแม่น้ำปิง ช่วยกันลากใส่เกวียน นำมาใช้ก่อสร้างวิหาร ทั้งในส่วนของขื่อ โครงหลังคา เสา พื้น หน้าต่าง ประตู ฯลฯ น่าเสียดายอย่างยิ่ง วัดส่วนใหญ่ที่สร้างโดยสองครูบามักเป็นไม้ที่คุณภาพไม่ค่อยดีนัก

 

การถูกจับสึกครั้งที่ 3

อันที่จริงครูบาอภิชัยขาวปีได้รับการคาดโทษไว้อย่างเด็ดขาดแล้วว่า ห้ามบวชเป็นพระภิกษุอีก แล้วเหตุไฉนจึงเกิดเหตุการณ์การถูกจับสึกเป็นครั้งที่สาม?

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อคราวที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยดำเนินการสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพใกล้เสร็จ ขณะนั้นพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พร้อมด้วยหลวงศรีประกาศ ส.ส.เชียงใหม่ รู้สึกประทับใจผลงานของครูบาอภิชัยขาวปีมาก ที่ได้พาชาวกะเหรี่ยงประมาณ 500 คนไปช่วยทำถนนด้วยความแข็งขัน

จึงได้ขอร้องให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยทำการอุปสมบทให้แก่ครูบาอภิชัยขาวปีเพื่อเป็นภิกษุอีกครั้งหนึ่ง ณ วัดพระสิงห์ โดยอ้างว่าสภาพของครูบาอภิชัยขาวปีนั้นมีลักษณะคาบลูกคาบดอก

“คือพระก็ไม่ใช่ ขะโยมก็ไม่เชิง”

การอุปสมบทครั้งสุดท้ายนี้ถูกดึงไปเป็นเหตุผลหนึ่งให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยเองก็ถูกคดีต้องอธิกรณ์อีกครั้ง (เป็นครั้งที่ 6 และครั้งสุดท้าย) ด้วยข้อหาว่าทำการอุปสมบทให้แก่ครูบาอภิชัยขาวปี

“ผ้าขาวปี๋ หรือหนานปี๋ ซึ่งคณะสงฆ์ประกาศห้ามมิให้อุปสมบท เนื่องจากเคยขโมยตัดไม้สักในป่า มาสร้างวิหาร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ จึงถูกคณะสงฆ์ลงโทษเป็นทุติยปาราชิก”

นอกจากนี้แล้ว ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังได้รับข้อหาเพิ่มอีกข้อคือ “ตัดไม้ทำลายป่าโดยไม่ขออนุญาตจากกรมป่าไม้” ทั้งๆ ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ขออนุญาตต่อเจ้าแก้วนวรัฐ และรัฐบาลสยามแล้วว่าจะสร้างทางขึ้นดอยสุเทพอย่างเป็นทางการ

และจะเป็นไปได้อย่างไรกัน ในเมื่ออนุญาตให้สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพได้ แต่กลับห้ามตัดต้นไม้!

ผลลัพธ์ก็คือ ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกส่งไปสอบสวนที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ เป็นเวลา 6 เดือน

เพื่อตัดวงจรแห่งมารผจญ นับเป็นครั้งสุดท้ายแห่งการครองผ้าไตรจีวร ในที่สุดครูบาอภิชัยขาวปีก็มองเห็นสัจธรรมว่า

“ไม่ว่าจะห่มเหลืองหรือห่มขาว ขอให้ยึดมั่นต่อคุณงามความดีเท่านั้น ความเป็นพระอยู่ที่ใจมิใช่อยู่ที่สีของจีวร” จากนั้นท่านได้ตั้งสัจจวาจาว่าไม่ขอกลับคืนสู่ผ้าเหลืองชั่วนิรันดร์

หลังจากที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยละสังขารไป ครูบาอภิชัยขาวปีได้กลายมาเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวล้านนาแทนที่ เพราะมีวัตรปฏิบัติตามแนวทางที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยวางรากฐานไว้ให้ทุกประการ ครูบาอภิชัยขาวปีถึงแก่มรณกรรม เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2520

ชาวล้านนาถือว่าท่านเป็น “ตนบุญแห่งล้านนา” ผู้ที่มีความยิ่งใหญ่เป็นอันดับสองรองจากครูบาเจ้าศรีวิชัย

แต่วงการนักกฎหมายและนักปกครองในศตวรรษที่แล้ว ครูบาอภิชัยขาวปีกลับถูกประทับตราบาปให้กลายเป็น “นักโทษผู้ตัดไม้ทำลายป่า”