บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ /ระวัง! ยิ่งกดดัน-ยิ่งยุบ (ศาล รธน.) กลัวซะที่ไหน

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

ระวัง! ยิ่งกดดัน-ยิ่งยุบ

(ศาล รธน.) กลัวซะที่ไหน

 

ไปๆ มาๆ ก็ก่อม็อบจนได้ สำหรับพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ หลังจากพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานแล้วเห็นว่าการที่พรรคดังกล่าวกู้เงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จำนวน 191 ล้านบาท เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

มาตรา 72 ระบุว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ อนค.ต่อสู้โดยอ้างว่าไม่มีข้อห้ามไว้ จึงสามารถกู้เงินมาใช้ในกิจการพรรคได้และไม่ถือเป็นเงินบริจาค

มาตรา 66 กำหนดว่า ห้ามบุคคลใดก็ตามบริจาคให้พรรคการเมืองเกิน 10 ล้านบาทต่อปี

ข้อกำหนด กติกาต่างๆ ที่มีอยู่ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคเมือง มีเจตนาสำคัญอยู่ที่ป้องกันไม่ให้ “นายทุน” หรือบุคคลใดมาครอบงำพรรคการเมืองนั้นๆ

การที่ธนาธรให้พรรคกู้เงินตัวเอง ไม่ว่าจะคิดในแง่มุมไหน มันก็คือเจตนาหลบเลี่ยงข้อห้ามเรื่องเงินบริจาค เป็นการทำนิติกรรมอำพราง เพื่อให้สามารถบริจาคเงินเกิน 10 ล้านบาทในการสนับสนุนพรรค

ในทางปฏิบัติ มีใครเชื่อหรือไม่ว่า ธนาธรซึ่งเป็นเจ้าของเงินกู้และเป็นหัวหน้าพรรคจะไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลเหนือพรรค

แม้ในสัญญาการกู้เงินจะระบุให้มีการชำระหนี้ แต่ในทางปฏิบัติ มีใครสามารถยืนยันว่าจะมีการชำระคืน อีกทั้งจะนำเงินจากไหนมาชำระหนี้ เพราะมาตรา 87 ห้ามพรรคการเมืองนำเงินและทรัพย์สินของพรรคไปชำระหนี้กู้ยืม จะใช้ได้เฉพาะกับการเลือกตั้งของพรรคหรือเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคเท่านั้น

หากไม่มีผู้ร้องเรียนหรือเรื่องไม่แดงขึ้นมา สัญญากู้เงินที่ทำไว้ก็อาจเป็นแค่เอกสารพิธีกรรมเท่านั้น การใช้หนี้อาจไม่เกิดขึ้นจริง นั่นเท่ากับว่าธนาธรบริจาคเงินให้พรรคนี้เกิน 10 ล้านบาทนั่นเอง

พรรคอื่นๆ ไม่มีใครกู้เงินมาใช้ในกิจการของพรรค การกระทำของ อนค.จึงถูกมองว่าเอาเปรียบคนอื่น อีกอย่างหนึ่ง หากอนุญาตให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ก็เท่ากับเปิดช่องให้นายทุนเข้ามาครอบงำหรือชักใยพรรคการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของนายทุนนั้น

อุตส่าห์สร้างความหวังว่าเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ เล่นการเมืองที่สร้างสรรค์ แต่การเลี่ยงบาลีด้วยการทำนิติกรรมอำพราง สะท้อนว่า อนค.ใช้แง่มุมกฎหมายมาสร้างความได้เปรียบให้ตัวเองเหนือพรรคอื่น โดยเพิกเฉยต่อ “เจตนารมณ์” ของกฎหมายซึ่งน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การเคารพเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องอาศัยสปิริตและสามัญสำนึกที่สูงกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะนักการเมืองที่ประกาศแข็งขันว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศ

อนค.อ้างว่า กกต.เร่งรัดในการสรุปคดีและไม่ยอมขยายเวลาส่งเอกสารการกู้เงิน แต่ในข้อเท็จจริง กกต.ได้ขยายเวลามาให้รอบหนึ่งแล้ว 120 วัน โดยเลื่อนให้จนถึงวันที่ 2 ธันวาคม แต่ อนค.ขอเลื่อนไปอีก 4 เดือน ซึ่ง กกต.เห็นว่าเป็นการเตะถ่วง

ชาญวิทย์ ใจสว่าง อดีตผู้สมัคร ส.ส.ของ อนค.ออกมาโพสต์ว่า สาเหตุที่อ๋องกฎหมายพรรคนี้ยกธงยอมแพ้ไม่กล้าส่งเอกสารการกู้เงินให้กับ กกต.ก็เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นหลักฐานมัดตัวหนักยิ่งขึ้น และสาเหตุที่ อนค.เดินมาถึงวันนี้ เป็นฝีมือของ “นักกฎหมายผู้ไม่เคยเดินออกนอกห้องบรรยาย” ทำตัวเป็นคนเหนือคน ไม่ฟังใคร ทั้งที่มีวิธีการมากมายในการระดมทุนที่ปลอดภัย

การจัดม็อบเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม บริเวณสยามสแควร์ ที่ธนาธรเป็นโต้โผด้วยตัวเอง คือความพยายามกดดันไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค โดยลืมสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะเล่นการเมืองในสภา ตามกติกา ไม่เล่นบนท้องถนน

แต่เมื่อไม่ได้อย่างใจ หรือถูกขัดอกขัดใจและสู้ด้วยหลักฐานไม่ได้ ธนาธรและแกนนำก็หันไปเล่นการเมืองบนถนน ด้วยข้ออ้างยอดฮิตคือถูกผู้มีอำนาจกลั่นแกล้งรังแก

ธนาธรพูดเสมอว่าตัวเขาเองจะไม่ทำเหมือนทักษิณ แต่พฤติกรรมที่กำลังทำอยู่ ไม่ต่างอะไรจากทักษิณ เผลอๆ จะร้ายกว่า อย่างที่บางคนเคยทำนายไว้ว่าธนาธรส่อแววว่าจะร้ายกว่าทักษิณ นั่นคือใช้ม็อบมากดดันศาลและองค์กรอิสระ แล้วก็ใช้วาทกรรมดิสเครดิตองค์กรอิสระและศาล

 

เห็นหลายคนออกมาเชียร์ธนาธร โดยขานรับว่าจะไม่ทนไม่ถอยอีกต่อไป ความหมายก็คืออ้างว่าผู้มีอำนาจในรัฐบาลมีใบสั่งให้ยุบอนาคตใหม่ แต่ข้ออ้างนี้ยังเป็นแค่เรื่องมโน ที่ใครๆ ก็อ้างได้เพื่อประโยชน์ตัวเอง

ถ้าคนเชียร์ธนาธรบอกว่าทนไม่ได้กับอำนาจที่เป็นอยู่ เพราะทำให้ประเทศล้าหลัง คำถามก็คือสิ่งที่ อนค.และธนาธรทำคือสร้างนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุนหรือควรทนอย่างนั้นหรือ เพราะการกระทำดังกล่าวเท่ากับกลัดกระดุมเม็ดแรกทางการเมืองผิดเสียแล้ว เม็ดต่อไปจะกลัดให้ถูกได้อย่างไร

ยิ่งกว่านั้น ถ้าธนาธรหรือใครสักคนในพรรคนี้ได้เป็นรัฐบาล คิดจริงๆ หรือว่าพวกเขาจะเป็นประชาธิปไตย เพราะว่าทั้งธนาธรและปิยบุตร ดูมีแนวโน้มเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลสูงมาก คนในพรรคก็ออกมาแฉเป็นระลอกว่าการบริหารงานในพรรคเข้าข่ายเป็นเผด็จการและระบบอุปถัมภ์

เห็นคนในพรรคนี้พากันติดแฮชแท็กว่า “กลัวซะที่ไหน” หลัง กกต.มีมติยุบพรรคและส่งคำร้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขณะเดียวกันก็อย่าลืมว่าบางทีการใช้ม็อบมากดดันศาล อาจกระตุ้นให้ศาลยุบพรรคนี้ก็เป็นได้

เพราะถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญไม่มีคำสั่งยุบพรรค ก็อาจถูกมองว่ากลัวกระแสกดดันจากม็อบ ถึงเวลานั้น ศาล รธน.ก็อาจเป็นฝ่ายพูดบ้างว่า “กลัวซะที่ไหน”

 

แกนนำหลัก 3 คนของพรรคนี้ที่เสนอหน้าต่อสาธารณชนเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็น “ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์” จัดอยู่ในพวก mountain stupid ตามผลวิจัยของ Dunning-Kruger ที่ว่าคนโง่และคนไร้ประสบการณ์มักจะมีความมั่นใจสูงที่สุด

หากเปรียบเป็นภาพภูเขา พวกไร้ประสบการณ์และคนโง่จะมีความมั่นใจสูงที่ระดับยอดบนสุดของภูเขา เหตุที่มั่นใจสูงเพราะพวกเขาไม่รู้ว่ามีอีกหลายอย่างที่พวกเขาไม่รู้ แต่คิดว่ารู้ทั้งหมดแล้ว ส่วนคนมีประสบการณ์นั้นจะมีความมั่นใจต่ำสุดเกือบจะอยู่ระดับตีนภูเขา เพราะพวกเขาฉลาดพอที่จะรู้ว่ามีอีกหลายอย่างที่พวกเขายังไม่รู้และต้องเรียนรู้อีกมาก

ทั้ง 3 คนอาจมีความรู้มาก อ่านหนังสือเป็นพันๆ เล่ม แต่ขาดประสบการณ์ อย่างในรายปิยบุตร ที่ถูกตั้งฉายาว่า “นักกฎหมายผู้ไม่เคยเดินออกนอกห้องบรรยาย” อาจเก่งทฤษฎี แต่ไม่มีประสบการณ์นำกฎหมายมาใช้ในชีวิตจริง เลยให้คำแนะนำกับหัวหน้าพรรคว่าการกู้เงินหัวหน้าพรรคทำได้

เปรียบเทียบให้เห็นภาพแบบบ้านๆ ก็คือ คนพรรคนี้ลงไปว่ายน้ำในแม่น้ำอย่างสนุกสนานเพราะไม่รู้ว่ามีจระเข้อยู่ ส่วนชาวบ้านเจ้าถิ่นในย่านนั้นรู้ว่ามีจระเข้ พวกเขาจึงระวังและไม่ลงเล่นน้ำ

อ่านหนังสือพันเล่ม ไม่สู้ประสบการณ์จริงแค่ครั้งเดียว ไม่เชื่อลองไปถามพวกเล่นหุ้นดู