เหตุการณ์เป็นข่าว ปี 2562 : “ผู้ลี้ภัย” ชะตาชีวิตที่จบทั้งรอยยิ้มและน้ำตา

ในบรรดาข่าวที่ปรากฎเป็นที่รับรู้ ยังมีข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะ ผู้ลี้ภัย ปรากฎเป็นข่าวขึ้นในไทย ซึ่งในปีนี้ มีข่าวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้ลี้ภัยที่ทั้งเป็นชาวต่างชาติและชาวไทยที่เป็นที่สนใจทั้งในไทยและต่างประเทศ และตอนจบของเรื่องราว ก็มีทั้งชีวิตใหม่ที่มีความสุขและความเศร้าต่อการหายไปโดยไม่รู้ว่าจะได้กลับมาหรือไม่

นี่คือ เรื่องราวของผู้ลี้ภัยที่เป็นข่าว ในปี 2562

ราฮาฟ โมฮาเหม็ด อัล-คอนนุน : สาวซาอุฯ ผู้หันหลังให้ความเชื่อและชีวิตใหม่ที่เฝ้าหา

วันที่ 5 มกราคม 2562 สายการบินแห่งหนึ่งที่บินจากคูเวตได้เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีราฮาฟ หญิงชาวซาอุดิอาระเบียวัย 18 โดยสารมาด้วย ราฮาฟมีแผนที่จะขึ้นเครื่องต่อไปยังออสเตรเลียเพื่อยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ ซึ่งเดินทางมาด้วย ได้ยึดหนังสือเดินทางของเธอเอาไว้ ส่วนหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของไทย ได้ขัดขวางไม่ให้เดินทางต่อไปยังออสเตรเลีย และได้มีการติดต่อกับ “สถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียเพื่อประสานงาน” ทำให้ราฮาฟถูกกักตัวอยู่ในห้องพักภายในสนามบิน เธอตัดสินใจใช้ทวิตเตอร์สื่อสารเรื่องราวทั้งหมดให้ได้รับรู้

วิดีคลิปความยาวไม่ถึงนาที เปิดภาพราฮาฟแนะนำตัวเอง พร้อมกับสาเหตุที่เธอเดินทางเพราะเธอหลบหนีมาจากการปฏิบัติมิชอบ การทุบตี และการขู่ฆ่าจากครอบครัวของตนเอง โดยเฉพาะประเพณีคลุมถุงชน เธอจึงตัดสินใจหนีจากพ่อแม่

โดยตลอดช่วงที่เธอขังตัวเองไม่ให้เจ้าหน้าที่ไทยและซาอุฯเข้ามา เธอแจ้งข่าวสารให้ผู้ใช้งานรับรู้และเรียกร้องให้สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNHCR) เข้ามาพบกับเธอ

ข้อความในทวิตเตอร์ดังกล่าว ทำให้มีการแชร์และติดแฮชแท็ก #SaveRahaf จากผู้ใช้งานทั่วโลก กลายเป็นพลังกดดันซึ่งทำให้ท่าทีของทางการไทยเปลี่ยนไป โดยบีบีซีไทยรายงานว่า ในช่วงบ่ายของวันที่ 7 มกราคม พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในขณะนั้น ได้กล่าวว่า “วันนี้ถ้าเขาต้องถูกทำร้ายถูกลงโทษ ลงทัณฑ์ ถูกฆ่า อย่างนี้ เป็นต้น เราก็คงต้องใช้หลักสิทธิมนุษยชน หลักของศีลธรรม เข้ามาเดินคู่ขนานไปด้วย” พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ กล่าว และเสริมว่า “วันนี้เขาอยู่ในดินแดนไทย ใครจะมาบังคับให้เขาไปไหนมาไหนไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหนก็ตาม เรายังต้องปกป้องคุ้มครองเขา”

ราฮาฟได้รับอนุญาตให้อยู่ในไทยชั่วคราวระหว่างทำเรื่องขอสถานะลี้ภัยกับเจ้าหน้าที่ยูเอ็น

ในที่สุด เจ้าหน้าที่จากยูเอ็นเอชซีอาร์ได้มาพบกับเธอพาตัวไปพักในเซฟเฮ้าส์แห่งหนึ่งที่ไม่เปิดเผยที่ตั้งในฐานะบุคคลภายใต้ความคุ้มครองของ UNHCR

บีบีซีไทยยังรายงานคำสัมภาษณ์ของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลียว่า ทางการออสเตรเลียกำลังติดตามเรื่องนี้ และเห็นว่าคำกล่าวอ้างของ น.ส.อัล-คอนนุน ที่ว่าการเดินทางกลับประเทศจะทำให้ตกอยู่ในอันตรายนั้นถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง  สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียในประเทศไทยได้แจ้งต่อทั้งรัฐบาลไทยและสำนักงานยูเอ็นเอชซีอาร์ในไทยขอความมั่นใจให้ น.ส. แอล เคนูน สามารถเข้าถึงกระบวนการขอสถานะผู้ลี้ภัยของยูเอ็นเอชซีอาร์ ในประเทศไทยได้

จนกระทั่งวันที่ 11 มกราคม น.ส.อัล-คอนนุน ได้รับการลี้ภัยไปยังประเทศแคนาดาและเธอขึ้นเครื่องบินไปยังแคนาดาทันที

ทั้งนี้ ในวันที่ 15 มกราคม น.ส.ราฮาฟ ได้แถลงข่าว ที่นครโตรอนโต โดยเธอขอขอบคุณรัฐบาลแคนาดาและรัฐบาลไทย ตลอดจนยูเอ็นเอชซีอาร์ที่ได้ช่วยเหลือเธอ และระบุว่าต่อไปนี้เธอตั้งใจจะทำงานเพื่อสนับสนุนเสรีภาพของผู้หญิงทั่วโลก

ฮาคีม อัล-อาไรบี : “นักเตะ” สู่ “นักโทษ” ก่อนพลังทั่วโลกช่วยพากลับบ้าน

ฮาคีม หนุ่มชาวบาห์เรนที่ลี้ภัยมายังออสเตรเลียเมื่อหลายปีก่อนจนได้รับสัญชาติออสเตรเลียและเป็นนักฟุตบอลให้กับสโมสรแห่งหนึ่ง ได้เดินทางมายังไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วเพื่อมาเที่ยวฮันนีมูนกับภรรยา

แต่ก่อนที่ฮาคีมจะถึงประเทศไทย อินเตอร์โพลของออสเตรเลียได้มีการแจ้งมายังทางการไทยว่ามีบุคคลที่ถูกหมายจับแดงของอินเตอร์โพลที่ขอออกโดยรัฐบาลบาห์เรนกำลังเดินทางเข้าประเทศไทย

เป็นเหตุให้นายฮาคีมถูก ตม.ไทยจับกุมตัวไว้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

หลังจากเกิดเหตุควบคุมตัว ทางการออสเตรเลียได้ทราบเรื่องดังกล่าวจึงแจ้งไปยังอินเตอร์โพล (ตำรวจสากล) ทำการเพิกถอนหมายแดงดังกล่าวออกเนื่องจากจากนายฮาคีมได้รับสถานะลี้ภัยของออสเตรเลียแล้ว

จึงได้มีการถอนหมายแดงออกในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 หลังจากควบคุมตัวไปแล้ว 3 วัน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบาห์เรนได้มีหนังสือโดยวิถีทางการทูตขอให้รัฐบาลไทยจับกุมและคุมขังชั่วคราว “นายฮาคีม” สัญชาติบาห์เรนซึ่งถือหนังสือเดินทางบาห์เรนในวันที่ 3 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่มีการถอนหมายแดงไปเเล้ว 3 วัน และ “ฮาคีม” ถูกควบคุมตัวไปแล้ว 6 วัน

เงื่อนเวลาตรงนี้ ทำให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวชี้แจงว่า ยึดตามหลักสากลที่ตำรวจทั่วโลกใช้ โดยใช้อำนาจ ตม.คุมตัว จากนั้นจึงดำเนินการขออำนาจศาลคุมตัวต่อ และอ้างว่าแม้อินเตอร์โพลยกเลิกหมายจับแล้ว แต่ทางรัฐบาลบาห์เรนได้ส่งหมายจับผ่านกระทรวงการต่างประเทศของไทย ฉะนั้น ในส่วน ตม.ก็จะประสานอัยการสูงสุดเพื่อทำเรื่องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามขั้นตอนต่อไป

ส่วนที่ว่ารัฐบาลบาห์เรนทำไมขอให้ส่งตัวฮาคีมกลับประเทศทั้งที่ฮาคีมได้รับสถานะผู้ลี้ภัยกับทางออสเตรเลีย ต้องย้อนกลับไปในช่วงกระแสความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ที่โหมกระพือทั่วตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือนั้นคือ เหตุการณ์อาหรับสปริงในปี 2554 ฮาคีมระหว่างที่เป็นนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน เขาได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบาห์เรน ที่ซ้อมทรมานนักฟุตบอลซึ่งเข้าร่วมในการชุมนุมประท้วง โดยตัวเขาเองถูกจับกุมในเดือน พฤศจิกายน 2555 และถูกซ้อมทรมานเช่นกัน

ด้านแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ให้ข้อมูลว่า ฮาคีมเคยถูกตัดสินโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปี จากการพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรมในบาห์เรนเมื่อปี 2014 ทำให้เขาตัดสินใจลี้ภัยมายังออสเตรเลียและพำนักจนได้รับสถานะผู้ลี้ภัย

ฮาคีมถูกคุมขังที่ไทยเป็นเวลาร่วมเดือนกว่า จนกระทั่งวันที่ 18 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่คุมขังนายฮาคีมมาแล้วถึง 53 วัน รัฐบาลบาห์เรนเพิ่งมีหนังสือพร้อมเอกสารหลักฐานอย่างเป็นทางการ ส่งถึงอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลาง ผ่านทางวิถีทางการทูต ให้ส่งตัว “นายฮาคีม” ซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติบาห์เรนเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปรับโทษ ซึ่งพนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศซึ่งได้พิจารณาคำร้องแล้วพบว่าเข้าเกณฑ์เป็นคดีที่จะส่งคำร้องขอผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศบาห์เรนได้ ด้วยเหตุว่าคดีดังกล่าวไม่ใช่คดีการเมือง การทหาร มีอัตราโทษเกิน 1 ปี และเป็นความผิดตรงกันระหว่าง 2 ประเทศจึงทำการยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาวินิจฉัยการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562

แต่แล้วข่าวการส่งตัวกลับนายฮาคีมได้ปรากฎสู่สาธารณะ ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ปล่อยตัวฮาคีมกลับบ้าน ทั้งจากองค์กรสิทธิมนุษยชนในออสเตรเลีย ไทยและบาห์เรน ปลุกแคมเปญผ่านแฮชแท็ก #SaveHakeem อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในไทยได้มีการรณรงค์ทั้งจากฮิวแมนไรท์ วอช แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แม้กระทั่งแฮชแท็กยังปรากฎในขบวนล้อการเมืองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ และแอ็คชั่นเรียกร้องปล่อยตัวของทีมฟุตบอลเชียงรายยูไนเต็ด

แม้ทีมโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดของไทยจะแถลงยืนยันแนวทางของตัวเองและย้ำว่ากรณีนายฮาคีมไม่ใช่คดีการเมืองและเข้าเกณฑ์การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ส่วนเรื่องที่จำเลยได้สถานะลี้ภัยถือเป็นคนละเรื่องกันกับการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่กระแสกดดันที่มีต่อเนื่อง แม้แต่ความเห็นของรัฐบาลออสเตรเลียที่กังวลและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายฮาคีม ได้ทำให้ท่าทีของทางการไทยซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ไทยกลายเป็นประเทศที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุยยชนอย่างหนัก ต้องเปลี่ยนไป

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ อัยการต่างประเทศยื่นถอนคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยขอให้ศาลอาญาเปิดห้องพิจารณาเป็นการลับ และไม่ถึง 5 นาทีศาลอาญาก็มีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอ พร้อมออกหมายปล่อยตัวนายฮาคีมจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อันเป็นการยุติคำร้องขอส่งจำเลยไปยังบาห์เรน และเป็นจุดเริ่มต้นขั้นตอนผลักดันนายฮาคีมกลับออสเตรเลียตามความต้องการของเจ้าตัว

เบื้องหลังการถอนฟ้องครั้งนี้ได้รับการเปิดเผยจากนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ภายหลังเข้าเฝ้าเจ้าชายซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งบาห์เรน ว่า รัฐบาลบาห์เรนได้มองแง่ความสัมพันธ์โดยเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้เกี่ยวข้องมีส่วนได้เสียในเรื่องนี้

และไม่อยากเห็นประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ กดดันโดยไม่ชอบธรรม ซึ่งประเทศไทยอยู่ในปีที่จะจัดพระราชพิธีสำคัญจึงไม่อยากให้เรื่องยืดเยื้อและประเทศไทยลำบากใจ

จนในที่สุด 12 กุมภาพันธ์ ฮาคีมได้บินกลับถึงออสเตรเลียท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่น โดยมีเครก ฟอสเตอร์ อดีตกัปตันทีมชาติออสเตรเลียและนักวิจารณ์ฟุตบอล ร่วมรอต้อนรับ ซึ่งเครกถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการณรงค์ปล่อยตัวฮาคีมกลับประเทศที่ฮาคีมเรียกว่า “บ้าน” ได้อย่างปลอดภัย

เจือง ซุย เญิ๊ต : ผู้ลี้ภัยถูกลักพาตัว และที่มาของ “ไทย-เวียตนาม” ร่วมใจจับส่งกลับ

เจือง ซุย เญิ๊ต นักข่าวอิสระและบล็อกเกอร์ชาวเวียตนาม ได้เดินทางมายังไทยในวันที่ 25 มกราคม และเดินทางยื่นขอลี้ภัยที่สำนักงานยูเอ็นเอชซีอาร์ แต่แล้วในวันที่ 26 มกราคม มีรายงานข่าวนายเญิ๊ตถูกลักพาตัว และต่อมาทางการเวียตนามยอมรับว่า นายเญิ๊ตได้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำที่กรุงฮานอย ทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องทางการไทยสอบสวนความเกี่ยวข้องของตำรวจไทยกับการลักพานักข่าวเวียดนามโดยทางการเวียดนาม หากพบว่าเจ้าหน้าที่ไทยรายใดเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวครั้งนี้ต้องถูกนำตัวมาลงโทษ

นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า 

“การลักพาตัวเจือง เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่น่ากังวลอย่างยิ่งในภูมิภาคนี้ในแง่การบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย ซึ่งมักเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

“หลายประเทศในภูมิภาคกำลังแลกเปลี่ยนตัวบุคคลฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และบุคคลที่หลบหนีการประหัตประหาร ซึ่งเป็นความร่วมมือที่น่ารังเกียจของรัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาค ผู้นำอาเซียนต้องยุติแนวโน้มที่ดิ่งลงเหวเช่นนี้”

หลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะไทย เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย ต่างแลกเปลี่ยนตัวบุคคลที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองซึ่งเป็นเป้าหมายให้แก่กันและกัน ถือเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย ในกรณีที่เลวร้ายสุด ดูเหมือนว่าฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเหล่านี้จะถูก “อุ้มหาย” ไปจากประเทศที่อยู่ระหว่างการขอลี้ภัย และไปปรากฏตัวในอีกประเทศหนึ่งในฐานะผู้ถูกควบคุมตัวไว้ ในเวลาหลายเดือนหรือหลายสัปดาห์ต่อมา

อีกทั้ง การลักพาตัวนายเญิ๊ตส่งกลับเวียตนามนั้น สำหรับแอมเนสตี้ฯถือว่า เป็นการเหยียดหยามวิสัยทัศน์ของอาเซียน ที่ประกาศว่าจะรวมตัวเป็นภาคีที่ “ไม่ทิ้งใครอยู่ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต” เพราะการปฏิเสธสิทธิของคนบางคน ย่อมเป็นการปฏิเสธอนาคตของพวกเขาด้วย รัฐบาลในอาเซียนควรยุติการสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อปราบปรามฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และประกันว่าจะให้ความเคารพอย่างเต็มที่ กับสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในประเทศตนเอง

นักเคลืื่อนไหวไทยผู้ต่อต้านเผด็จการ : มีทั้งรอดและสาบสูญ

แม้เป็นเรื่องที่ปรากฎบนหน้าสื่อกระแสหลักของไทยน้อยมาก (ยกเว้นสื่อทางเลือกไม่กี่แห่งที่รายงานอย่างละเอียด) แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎคือ มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยจำนวนมาก นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านและพยายามลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศที่ 3

จากข้อมูลและรายงานขององค์กรสิทธิฯและผู้ลี้ภัยระบุในทิศทางเดียวกันนั้นคือ มีการยกระดับการกวาดล้างผู้เห็นต่างทางการเมืองหนักขึ้นและใช้ช่องทางความร่วมมืออย่างลับๆกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านในการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวไทยกลับมาหรือเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ของดำเนินภารกิจลับในการจัดการกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยที่ยังคงเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านโลกออนไลน์ เมื่อใดที่มีการรายงานเรื่องดังกล่าวและตั้งคำถามกับรัฐบาลไทย บ่อยครั้งที่รัฐบาลไทยเลือกปฏิเสธและไม่ยอมรับหรือไม่เปิดเผยการจัดการนักเคลื่อนไหวอย่างลับๆ

1.คดีฆ่า 3 ศพ ยัดปูนถ่วงน้ำ : ระบุได้ 2 คนสนิท แต่ “สุรชัย” ไม่พบแม้แต่ร่างไร้วิญญาณ

เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคมปี 2561 มีรายงานข่าวพบศพปริศนาลอยอืดเกยฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณ ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน โดยเจ้าหน้าที่ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) ได้พบศพชาย ไม่ทราบสัญชาติ ซึ่งในช่วงสัปดาห์เดียวกัน ยังมีการพบศพชายไม่ทราบสัญชาติ ลอยมาติดริมฝั่งโขง ช่วงหน้าวัดหัวเวียง ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม ท่ามกลางกระแสข่าวบนโลกออนไลน์ว่า นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ นักเคลื่อนไหวที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและชนชั้นจารีต และคนสนิทอีก 2 คน หายสาบสูญ

จากการตรวจสอบ 2 ศพที่ถูกพบระบุว่าเป็นของ นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ และนายไกรเดช ลือเลิศ 2 คนสนิทของนายสุรชัย ซึ่งจากข้อมูลที่เปิดเผยนั้น มีนักเคลื่อนไหวจากไทยลี้ภัยมาอยู่สปป.ลาวเป็นจำนวนมาก จนไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีกระแสข่าวบนโลกออนไลน์จากนักเคลื่อนไหวไทยว่า รัฐบาลไทยและลาวได้ร่วมมือกันอย่างลับๆในการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาจับนักเคลื่อนไหวส่งกลับไทยหรืออาจถึงขั้นชีวิตหากขัดขืน ทำให้หลายคนต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ

ด้านนางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยา นายสุรชัย (แซ่ด่าน) ด่านวัฒนานุสรณ์ เปิดเผยว่า มีอีกศพ เป็นศพที่ 3 ลอยน้ำมา เจอไล่ๆกับ 2 ศพ ลักษณะถูกฆ่าเหมือนกัน แต่ลักษณะศพเปื่อยมากกว่า 2 ศพ ศพที่โผล่วันที่ 26 ม.ค.ที่ บ.ท่าจำปา ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน แต่ตอนหลังหาไม่เจอ อาจถูกฝัง กำลังจะสืบหา ลงในเฟซช่วงเดียวกัน มันรู้สึกแปลกๆนะ ตอนนี้ก็พยายามทำใจให้ว่าง ไม่คิดมาก อะไรจะเกิดก็ให้เกิด เพราะเราเป็นฝ่ายถูกกระทำมาตลอด ยังภาวนาและ หวังให้ อ. ปลอดภัย

ล่าสุดเว็บไซต์ประชาไทรายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า นางปราณี ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า มีภาระต้องผ่อนจ่ายค่าปรับนายประกันคดีพัทยาของ สุรชัย เดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 150 เดือน จากยอดเต็ม 450,000 บาท บวกยึดเงินสดไปแล้ว 50,000 บาทถ้วน เริ่มจ่ายงวดแรกเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยนางปราณีและนายประกันไปขอลดค่าปรับ แล้ว ยังไม่ได้คำตอบ ขณะนี้ลำบากมาก รายได้ไม่พอจ่ายค่าปรับฯ มีรายได้ค่าแบ่งบ้านให้ผู้อื่นเช่าที่ จ.นครศรีธรรมราชเดือนละ 2,000 บาท ได้เบี้ยผู้สูงวัยเดือนละ 600 บาท ทำให้ต้องใช้เป็นค่าครองชีพอย่างประหยัด เงินเก็บก็ใช้หมดแล้ว

นอกจากนี้ นางปราณีระบุด้วยว่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้ไปยื่นเรื่องขอให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ช่วยเหลือเรื่องค่าปรับนายประกันนั้น ปราณี กล่าวว่า ไม่สามารถขอให้หยุดจ่ายค่าปรับนายประกัน เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า สุรชัยเสียชีวิต โดยต้องรอให้ครบ 5 ปี จะต้องไปยื่นต่อศาลเพื่อให้ได้คำสั่งว่าสุรชัยเป็นบุคคลสาบสูญ และไปยื่นเรื่องขอหยุดจ่ายค่าปรับนายประกันต่อศาลพัทยาอีกที

2.เพื่อนบ้านอาเซียนส่งตัวนักเคลื่อนไหว ถึงไทยกลับไร้วี่แวว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ระบุในสรุปสถานการณ์ประจำปี 2562 ว่า หลายคนทำเรื่องไปยังองค์กรระหว่างประเทศเพื่อให้ช่วยพาพวกเขาออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย หลายคนเปลี่ยนที่อยู่ที่นอน และลดการแสดงออกในช่องทางต่าง ๆ ลง ถึงอย่างนั้น หลายคนยังแอบหวังว่า สถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม หลังมีการจัดตั้งรัฐบาล (ซึ่งฝ่ายจารีตนิยมและคสช.ที่ใช้กลไกพรรคและรัฐธรรมนูญ 2560 ชนะการเลือกตั้ง) มีรายงานข่าวว่า “ลุงสนามหลวง” หรือ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์, สยาม ธีรวุฒิ และกฤษณะ ทัพไทย กลุ่มสหพันธรัฐไท ถูกทางการเวียดนามส่งตัวกลับไทย แต่ทั้งทางการไทยและเวียดนามกลับปฏิเสธเรื่องดังกล่าว และไม่มีใครติดต่อพวกเขาได้อีกเลย สร้างความสะเทือนขวัญต่อคนอื่น ๆ เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีผู้ลี้ภัยสูญหายไปรวม 8 รายแล้ว ในยุค คสช. 1 วันหลังมีข่าวทีมลุงสนามหลวงถูกส่งตัวจากเวียดนาม มาเลเซียก็ส่งตัวประพันธ์ จำเลยคดีเสื้อสหพันธรัฐไท กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย แม้ว่าเธอจะได้การรับรองเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยจาก UNHCR แล้ว

นางกัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม 1 ใน 3 นักกิจกรรมที่ถูกเวียตนามส่งกลับแต่ไม่รู้ชะตากรรมระบุว่า แค่อยากรู้ว่าเขาปลอดภัยไหม และอยู่ที่ไหน

ในวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นางกัญญาพร้อมด้วยทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงผู้บังคับการกองปราบปราม ขอทราบผลการจับกุมตัวสยาม เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวพร้อมทั้งยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการนำตัวสยามหรือคนอื่นๆ ที่ตกเป็นข่าวมาควบคุมตัวที่กองปราบแต่อย่างใด หากมีการนำตัวคนเหล่านั้นเข้ามาในไทยจริงจะต้องส่งกองปราบภายใน 24 ชั่วโมงเนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ออกหมายจับสยามในคดีมาตรา 112

3.วงดนตรี “ไฟเย็น” : การดิ้นรนเพื่อรอดจากการไล่ล่า

หลังจากกรณี 3 นักเคลื่อนไหวที่ถูกเวียตนามส่งกลับมาไทยแต่ไร้วี่แววว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่ผ่านไปไม่นาน ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่า สมาชิกวงดนตรีไฟเย็น ซึ่งเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตที่เคลื่อนไหวในช่วงการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 และลี้ภัยทางการเมืองไปยังลาวหลังรัฐประหารปี 2557 กำลังถูกไล่ล่าโดยกำลังลับที่คาดว่าถูกส่งมาจากไทย เพราะการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและชนชั้นนำจารีตอย่างเปิดเผย

ข่าววงไฟเย็นถูกไล่ล่า ได้กลายเป็นกระแสบนโลกออนไลน์จนมีการติดแฮชแท็ก #SaveFaiyen จนทำให้องค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศสามารถเข้าถึงตัวสมาชิกวงไฟเย็นและสามารถนำพวกเขาลี้ภัยไปยังประเทศฝรั่งเศสได้

ด้านเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้ออกแถลงการณ์ระบุตอนหนึ่งว่า การติดตามไล่ล่าผู้ลี้ภัยในต่างประเทศเกิดขึ้นอย่างไร้ร่องรอย รัฐบาลไทยซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยปฏิเสธความเกี่ยวข้อง แม้จะเป็นผู้ “ขอความร่วมมือ” รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านในการดำเนินการกับผู้ลี้ภัยเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยค่อนข้างดี มีการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับมายังประเทศไทยแม้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองโดยอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัยและไม่ได้มีพฤติกรรมเข้าข่ายถูกยกเว้น เช่น ก่ออาชญากรรมในประเทศนั้น นอกจากนี้ ในบางประเทศ เช่น ลาว ไม่มีสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ตั้งอยู่เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัย สถานการณ์ผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านจึงอยู่ในสภาวะที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง

ปัจจุบัน สมาชิกวงไฟเย็นทั้งหมด ยังคงแสดงดนตรีอยู่ที่ฝรั่งเศสพร้อมกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเฉพาะเรื่องราวของนักเคลื่อนไหว 8 คน ที่ถูกอุ้มหายตลอดรัฐบาล คสช.ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการยืนยืนว่าพวกเขามีชีวิตอยู่หรือตายแล้วหรือไม่