วงค์ ตาวัน | จากแฟลชม็อบจะไปสู่อะไร

วงค์ ตาวัน

มีการตั้งข้อสังเกตตั้งแต่เหตุการณ์เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อผู้กุมอำนาจด้านกองทัพลุกขึ้นมาเขย่าสังคมไทยผ่านการทอล์กโชว์ด้านความมั่นคง โดยพุ่งเป้าไปที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งการตื่นตัวอย่างกว้างขวางของคนรุ่นใหม่

โดยยกระดับเป็นเรื่องปัญหาภัยความมั่นคงของชาติของแผ่นดิน เป็นสงครามยุคใหม่

“มองปรากฏการณ์ดังกล่าวกันในหลายแง่มุม แต่บางมุมตีความว่า นั่นคือคำประกาศ นั่นคือ “ธง””

ขณะที่ทุกองค์กรทุกเครือข่ายที่ยืนอยู่ข้างเดียวกันกับผู้มีอำนาจ

“จะได้กระจ่างชัดถึงทิศทางบ้านเมืองที่จะต้องเดินไป และได้รู้ว่ามีภารกิจและเป้าหมายอะไร!?”

จากนั้นมา เรื่องราวก็ดำเนินไปอย่างไม่ผิดคาด

ด้วยปฏิบัติการของ กกต. นำเสนอศาลรัฐธรรมนูญให้หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่สิ้นสภาพ ส.ส. ไม่สามารถเดินเข้าสภาได้เรียบร้อยไปแล้ว ด้วยคดีถือครองหุ้นสื่อ

ขณะที่เสียงวิจารณ์ กกต.จากประชาชนคนดูก็ดังอื้ออึง เพราะเห็นว่านายธนาธรได้ต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อพิสูจน์ว่าโอนหุ้นไปแล้ว รวมทั้งหุ้นสื่อที่ว่าคือผู้ผลิตนิตยสารแฟชั่นไฮโซ ไม่เกี่ยวกับการเมือง แถมหยุดผลิตไปแล้วนับปี ไม่ได้มีบทบาทอะไรเลยในช่วงที่นายธนาธรลงมาเล่นการเมือง อันจะเข้าข่ายตามเจตนารมณ์กฎหมาย ที่ไม่ให้นักการเมืองมีหุ้นสื่อแล้วเอามาใช้ประโยชน์ทางการเมือง

เท่านั้นไม่พอ กกต.ยังเดินหน้าคดีต่อมา คือ กรณีนายธนาธรปล่อยเงินกู้ให้พรรค แต่กลายเป็นเข้าข่ายความผิด ถึงขั้นเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่

“เสียงตอบโต้ กกต.ดังกระหึ่มขึ้นมาอีก โดยเห็นว่านายธนาธรต้องการแสดงให้เห็นว่าพรรคนี้ไม่มีนายทุนใหญ่ครอบงำ เอาเงินของตัวเองมาปล่อยให้กู้ จากนั้นเมื่อมีเงินรายได้จากค่าสมาชิกและกิจกรรมต่างๆ ก็ทยอยคืนเงินให้กับนายธนาธร ทำทุกอย่างเปิดเผย โปร่งใส และเพื่อสร้างมิติใหม่ แต่กลายเป็นความผิด ถึงขั้น กกต.ยื่นร้องให้ยุบพรรค”

จากหัวหน้าพรรคที่หมดสภาพ ส.ส. ตอนนี้กำลังจะโดนยุบไปทั้งพรรค

คนกว่า 6 ล้านคนที่ลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองพรรคนี้จะรู้สึกอย่างไร

กิจกรรมแฟลชม็อบจึงเกิดขึ้น เมื่อเลือก ส.ส.พรรคนี้เข้าไปในสภามากมาย แต่กำลังจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ก็ต้องออกมาส่งเสียงแสดงออกนอกสภา

“ผลก็คือ ไปกันจนล้นสกายวอล์ก รวมทั้งพื้นที่รอบๆ ประเมินจำนวนคนที่ไปร่วมในวันดังกล่าวมีหลายพันจนไปถึงหมื่น”

สื่อต่างประเทศรายงานว่า นี่เป็นการรวมตัวของมวลชนใน กทม.ครั้งใหญ่ที่สุดนับจากมีการรัฐประหารมา

เสียงตะโกนร้องก้องไปทั่วย่านการค้าใหญ่แห่งปทุมวัน ด้วยการชูนายธนาธรให้สู้ต่อไป พร้อมกับตะโกนไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกไป

พร้อมคำประกาศที่ว่า นี่แค่ซ้อมใหญ่ คราวหน้าจะเป็นของจริง

มีการประเมินว่า แฟลชม็อบดังกล่าวเป็นไปอย่างคึกคักเข้มข้น มีจำนวนคนเข้าร่วมมากจนถือว่าประสบความสำเร็จ ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดกิจกรรมนี้ขึ้นอีกครั้งจึงเป็นไปได้มาก ดังคำกล่าวที่ว่า นี่แค่ซ้อมใหญ่ คราวหน้าจะเป็นของจริง

เพียงแต่คราวหน้า จะเป็นแฟลชม็อบเช่นนี้อีก หรือจะเป็นการลงถนนจริง

“นั่นก็ขึ้นกับสถานการณ์ที่เป็นจริงนับจากนี้ไป โดยเฉพาะสถานการณ์ของพรรคอนาคตใหม่”

ขณะเดียวกัน ปฏิกิริยาที่ตามมาทันทีหลังปรากฏการณ์แฟลชม็อบสกายวอล์กก็คือ เสียงตอบโต้จากฝ่ายรัฐบาลและผู้กุมอำนาจ

เริ่มจากโจมตีว่า การชุมนุมมวลชน ทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ทำลายเศรษฐกิจ ทำลายความสุขของประชาชนในช่วงที่ปีใหม่กำลังจะมาถึงแล้ว

ที่ตอบโต้จนกลายเป็นมุขฮาก็คือ กรณีทีมงานโฆษกรัฐบาลตั้งคำถามว่า เมื่อไม่พอใจรัฐบาล ทำไมไม่เข้าไปต่อสู้ในสภา

คนฟังก็ได้แต่หัวเราะร่า ในเมื่อตัวนายธนาธรโดนตัดสินให้พ้นสภาพ ส.ส.ไปแล้ว และนี่พรรคอนาคตใหม่โดนร้องถึงขั้นให้ยุบพรรคแล้ว

ยังจะมาพูดว่า มีอะไรทำไมไม่ไปพูดกันในสภาได้อีกหรือ

บางรายทำตัวเหมือนเหนือชั้น นั่งคิดวิเคราะห์ว่า การเคลื่อนไหวมวลชนของนายธนาธรยากจะจุดติด เพราะสิ่งที่นายธนาธรกำลังต่อสู้ด้วยการเคลื่อนไหวมวลชนนั้น

“เป็นปัญหาคดีความของตัวนายธนาธรเอง ไม่ใช่ปัญหาส่วนรวม!?!”

เป็นการวิเคราะห์ที่ไม่ได้สัมผัสมวลชนมากมายที่ไปกันแน่นพื้นที่สกายวอล์ก

“เพราะมวลชนที่ฮือไปร่วมแฟลชม็อบนั้น ไม่แค่ไปหนุนการต่อสู้ของนายธนาธร แต่ได้ตะโกนไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ด้วย”

โดยเห็นว่าคดีความที่นายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่โดนนั้น เป็นกระบวนการทางการเมือง เพื่อรักษาอำนาจของรัฐบาลชุดนี้

ทั้งเริ่มจะทนไม่ไหวกับสภาพการเมือง ที่มีการเอารัดเอาเปรียบตั้งแต่กติกาการเลือกตั้ง การคำนวณจำนวน ส.ส.ด้วยสูตรพิสดาร

ไปจนถึงการที่มีเสียง 250 ส.ว.ในการโหวตนายกฯ และตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นเสียงจากการแต่งตั้ง ที่มีอำนาจเหนือกว่าเสียงประชาชนหลายล้านคนที่เลือก ส.ส.เข้ามา

ที่สำคัญ กระบวนการใช้กฎหมายจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองนั้น นี่ไม่ใช่หนแรก แต่ทำกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา และประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยยอมรับ

แต่ก็ไม่เคยแยแสกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ยังคงใช้วิธีการเดิมๆ ต่อไป อย่างเหิมเกริมและมั่นใจในอำนาจที่มีอยู่!

เมื่อมีแรงกดย่อมเกิดแรงต้าน เมื่อมีความไม่ถูกต้องเป็นธรรม ย่อมมีการลุกขึ้นตอบโต้ หรือจะว่าตามสำนวนของโลกแห่งการปฏิวัติก็ต้องว่า ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้

กรณีแฟลชม็อบ แสดงถึงจุดเริ่มต้นของอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวนั่นเอง

ขณะเดียวกัน ความที่นายธนาธร พรรคอนาคตใหม่ และมวลชนที่สนับสนุน ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ จึงมีการมองว่า เป็นการเคลื่อนไหวมวลชนที่ไม่น่าเกรงขามอะไร

ม็อบเด็กๆ ไม่สามารถเทียบได้กับม็อบในอดีต ไม่ว่าจะยุคสีเสื้อ ยุคนกหวีด

“นั่นอาจเป็นการมองคนรุ่นใหม่อย่างไม่เข้าใจเพียงพอ ไม่รู้ว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก และไม่รู้ถึงลักษณะพิเศษของคนรุ่นนี้”

เหมือนกับในการเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมา เดิมทีไม่เคยมีใครประเมินพรรคนี้ได้ถูกต้องเลย

เพราะเป็นพรรคที่เกิดใหม่ ไม่ใช้ระบบแบบพรรคการเมืองเก่า ไม่มีหัวคะแนน ไม่มียิงกระสุน ใช้การปราศรัย ใช้กระแสการต่อสู้อันแหลมคมของคนรุ่นใหม่

จนสามารถเข้าสภาได้เป็นอันดับ 3 โดยที่ฝ่ายผู้มีอำนาจก็ไม่รู้จะหาทางสกัดกั้นได้อย่างไร เพราะไม่รู้จะไปบล็อกหัวคะแนนคนไหน ไม่มีพื้นที่ชัดเจนให้ปิดล้อม

“บัดนี้เมื่อมาถึงสถานการณ์ที่ต้องเริ่มกิจกรรมแฟลชม็อบ เอาเข้าจริงๆ หน่วยงานความมั่นคงก็ประเมินล่วงหน้าไม่ได้ จะไปสกัดไปบล็อกก็ไม่ได้”

ไม่เท่านั้น กล่าวกันว่าแฟลชม็อบที่จัดขึ้นนั้น เป็นการทดสอบให้มวลชนคนรุ่นใหม่ลุกออกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อลงพื้นที่ที่มีการรวมตัวชุมนุมกันจริงๆ เพื่อสัมผัสบรรยากาศอันร้อนรุ่มในสนามจริง จะได้เริ่มชิน และเริ่มรู้สึกว่าคึกคักมีพลังมากกว่าอยู่หน้าจอคอมพ์หลายเท่า

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์จากนี้ไป ก็ยังมีโอกาสจะคลี่คลายหรืออาจจะยิ่งร้อนระอุ

นั่นจะเป็นคำตอบว่า จะมีแฟลชม็อบอีกหรือไม่ หรือจะมีการลงถนนจริงหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ กำลังจะมีกิจกรรมสำคัญหลังปีใหม่ ก็คือการวิ่งไล่ลุง จะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญและให้คำตอบต่อสถานการณ์ข้างหน้า!