เศรษฐกิจ / โรงงานโฮ! ควันพิษบาทแข็งไม่ทันจาง เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อค่าแรงเพิ่ม ม็อบการเมืองฟื้นชีพ?

เศรษฐกิจ

 

โรงงานโฮ! ควันพิษบาทแข็งไม่ทันจาง

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อค่าแรงเพิ่ม

ม็อบการเมืองฟื้นชีพ?

 

อีกเพียงสัปดาห์เศษจะเข้าสู่ปีพุทธศักราชใหม่อีกครั้ง

ก่อนเข้าปีใหม่ 2563 ก็ยังมีทั้งข่าวดีข่าวร้ายเข้ามา

ข่าวดีล่าสุดเมื่อ 2 ประเทศมหาอำนาจ สหรัฐและจีนยืนยันบรรลุข้อตกลงการค้าระยะแรก (Phase-1) การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน (เทรดวอร์)

แม้ทั้งสหรัฐและจีนยังไม่เปิดเผยเนื้อหาข้อตกลงระยะแรกอย่างเป็นทางการ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทบทวนทางกฎหมาย และขัดเกลาถ้อยคำก่อนเข้าสู่กระบวนการลงนามต่อไป

แต่การยืนยันจากทั้งสองประเทศก็ช่วยให้บรรยากาศทางการค้าดีขึ้น และคลายความกังวลว่าสงครามการค้าจะไม่ลุกลามไปถึงการขึ้นภาษีนำเข้าเต็มจำนวน ความสำเร็จของการเจรจา Phase-1 Deal

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ออกมาระบุว่า นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องที่สหรัฐ ผลักดันให้จีนแก้ไข

โดยประเมินว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและผลกระทบต่อธุรกิจและผู้บริโภค

โดยข้อตกลงระยะแรกจะช่วยลดภาระภาษีนำเข้าแก่ผู้ประกอบการสหรัฐ และช่วยลดแรงกดดันด้านราคาต่อผู้บริโภค รวมถึงการบรรเทาภาวะการส่งออกและเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อน โดยคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐ และจีนขยายตัวดีขึ้น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งออกไทยให้ขยายตัวได้มากขึ้น

โอกาสที่ส่งออกไทยปีหน้าพลิกจากติดลบในปีนี้เป็นบวก 1-3% ก็มีลุ้น

คิดเป็นมูลค่าเกิน 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อบวกกับรายได้จากภาคท่องเที่ยวที่ประเมินว่าปีหน้าได้เห็นตัวเลขทั่วโลกมาเที่ยวไทย 41-42 ล้านคน

ซึ่งรายได้จากส่งออกและการท่องเที่ยวมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) สัดส่วนรวมกันถึง 77%

 

ย้อนกลับมาดูปัจจัยภายในประเทศ ต่างก็หวาดหวั่นว่าจะหนักหนากว่าปีนี้

หลักๆ คือยังแก้ไม่ตกเรื่องเงินบาทแข็งค่า หลุด 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐทุบสถิติเงินบาทแข็งค่าในรอบ 5-6 ปี

ภาคเอกชนก็ชี้ให้เห็นถึงความเดือดร้อนจากค่าเงินบาทแข็งค่า เจอผลกระทบ 2 เด้ง

คือ ประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศคู่แข่งส่งออกกับไทยอยู่เฉยๆ จากค่าเงินเขาไม่เปลี่ยนแปลงก็ได้เปรียบไทยในเรื่องราคาสินค้าถูกกว่าไทย

จากต้นปีบาทแข็งค่ากว่า 7% หากรวม 2 ปีที่ผ่านมา บาทแข็งค่ากว่าคู่แข่งถึง 17% แล้ว เมื่อเสนอราคาขายสินค้ากับนานาประเทศสินค้าไทยแพงขึ้นอย่างน้อยก็ 10-15% และหากประเทศใดมีการดัมพ์ราคาสินค้าเพื่อให้สินค้าเข้าตีตลาดไทย

อย่างสินค้าจากจีนหรือเพื่อนบ้านในอาเซียน ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็กำลังเข้ามาตีประกบไทยทั้งชิงตลาดส่งออกโลก และส่งสินค้ามาตีตลาดไทย

อีกเด้งคือสินค้าไทยแพงขึ้น ย่อมกระทบต่อการสั่งซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าไทย และเปิดโอกาสให้ประเทศคู่แข่งเข้าไปเสียบตลาดแทน

หลายฝ่ายยังมองว่าแนวโน้มเงินบาทน่าจะยังแข็งค่าและหลุด 30 บาท ไปอยู่ที่ 29.50-29.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐก่อนครึ่งหลังปีหน้า

ผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจาก 2% ต้นๆ เป็น 2% ปลายถึงเกิน 3.2% นั่นหมายถึงขีดความสามารถแข่งขันด้านราคาและรายได้เข้าจากส่งออกเข้ากระเป๋าผู้ประกอบการลดลง ก็ต้องดิ้นร้นหาวิธีลดค่าใช้จ่าย ลดสวัสดิการพนักงาน

รวมถึงลดพนักงานเก่าหยุดรับพนักงานใหม่

 

เรื่องผลกระทบค่าบาทยังไม่จาง รัฐบาลก็มีมติซื้อใจผู้ใช้แรงงานอีกรอบ ประกาศให้ทั่วประเทศปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอีก 5-6 บาท มาอยู่ที่ 313-336 บาทต่อวัน และมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2563

แม้จะยังไม่ถึงเป้าหมายตามนโยบายพรรคร่วมรัฐบาลได้หาเสียงว่าจะปรับให้ถึง 400 บาททั่วไทย ยังเป็นฝันค้างของลูกจ้าง ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงไม่ว่าจะเป็นเท่าไหร่ แต่ย่อมมีผลทางจิตวิทยาต่อความหวังปรับขึ้นราคาสินค้าหรือบริการไว้รอท่า

แต่ครั้งนี้หลายฝ่ายระบุเศรษฐกิจไม่ดี กำลังฝืด ใครกันจะขึ้นราคาสินค้า แต่ต้องไม่ลืมว่าผู้ค้าบางส่วนก็มักนำเรื่องการลดน้ำหนักสินค้าแต่คงทรงรูปห่อและราคาเท่าเดิม

นั่นก็เหมือนเราจ่ายเงินเท่าเดิมแต่ของได้น้อยลง ขณะที่ฝ่ายลูกจ้างบ่นว่าปรับ 5-6 บาทก็เพียงซื้อบะหมี่สำเร็จรูปได้แค่ห่อเดียว!!!

 

เมื่อสำรวจเสียงโรงงานผู้ผลิตผู้ส่งออกที่มีผลโดยตรงกับค่าบาทและค่าแรง วันนี้ก็ยังให้น้ำหนักเรื่องวิตกค่าบาทแข็งขายของไม่ได้ มากกว่าปรับขึ้นค่าแรงเพราะสามารถลดชั่วโมงทำงานและใช้เครื่องมือประดิษฐ์มาช่วยงานแทนคนได้แล้ว

แต่หากรัฐยังยืนจะขยับต่อเนื่องจนถึง 400 บาท ในระยะยาวเข้าสุภาษิต “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” ทำให้ทั้ง 2 เรื่องสำคัญพอๆ กัน เพียงแต่ว่ามองต่างมุมกันเท่านั้นเอง ส่วนที่มองว่าเรื่องค่าแรงมากกว่า เพราะหากขยับขึ้นแล้วส่งผลให้ทุกด้านที่เกี่ยวข้องขยับราคาขึ้นตามและไม่เคยมีการปรับลดค่าแรง แต่มองว่าค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งและอ่อนตัวลงได้

ส่วนที่มองว่าค่าแรงหนักกว่า เพราะเทียบกับประเทศผู้ผลิตที่แข่งกับประเทศไทย ที่ผลิตสินค้าคล้ายๆ กัน วิตกว่าจะซ้ำรอยเมื่อครั้งปรับค่าแรงพร้อมกันถึง 300 บาท เกิดโกลาหลการย้านฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านครั้งใหญ่

จนวันนี้จะเห็นว่าหลายอุตสาหกรรมใช้ฐานผลิตแทนไทยเกือบหมดแล้ว และยังเป็นการตัดโอกาสดึงนักลงทุนตั้งฐานในประเทศเพราะสู้ค่าแรงไม่ไหว ส่งผลย้อนมากระทบนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลเอง!!

แม้อีกมุมมองว่าไทยน่าจะถึงเวลาหันมามุ่งพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ มาใช้แทนแรงงานคน และเข้าสู่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง

และเป็นการก้าวข้ามจุดเปลี่ยนผ่านไปได้โดยที่ไม่มีใครเจ็บตัว

 

อย่างเสียงสะท้อนจากนายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)

“อยากให้การปรับขึ้นค่าแรง ทำให้แรงงานรายวันหรือฐานรากได้เงินเพิ่มขึ้นจริงๆ ถือว่าเป็นข้อดี ส่วนตัวอยากให้ปรับขึ้นอยู่แล้ว เพราะคนที่ทำงานให้กับบริษัทจะได้มีเงินเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องทำให้ไม่เป็นภาระกับผู้ประกอบการด้วย เพราะแม้ตัวเลขที่ปรับขึ้นมาจะอยู่ที่ 5-6 บาท ซึ่งถือว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่หากปรับขึ้นแตะระดับ 400 บาทเมื่อใดนั้น จะเป็นระดับที่น่ากังวลและสร้างผลกระทบตามมามากขึ้น เพราะค่าจ้างแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านยังอยู่ในระดับต่ำกว่าไทยมาก ทำให้จะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันหลายๆ ด้านได้ รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นปัญหาหลักของภาคการท่องเที่ยวไทย แม้ภาครัฐจะพยายามหามาตรการออกมาทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่ก็ยังไม่ได้ช่วยให้อ่อนค่าลงได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้เอกชนก็ส่งเสียงไปถึงภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยยังฝากความหวังไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเร่งหามาตรการออกมาช่วยดึงค่าเงินบาท ก่อนที่ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบมากกว่านี้”

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการออกมาให้ข้อมูลอีกว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-6 บาท ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจมากนัก เพราะปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ซึ่งการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปตามนโยบายที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลได้มีการหาเสียงเอาไว้ที่ 400-425 บาทต่อวัน ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีคงได้พิจารณาถึงประเด็นความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และภาวะเศรษฐกิจว่าไม่สามารถดำเนินการได้ และควรมีมาตรการดูแลสถานประกอบการขนาดเล็กที่อาจได้รับผลกระทบจากขึ้นค่าจ้างด้วย

เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะทำให้ร้านเล็กร้านน้อย ถูกซ้ำเติมจนต้องปิดกิจการลงได้

ตัวแทนสมาพันธ์แรงงาน สะท้อนว่าการปรับขึ้นค่าแรงแค่ 5-6 บาท เท่านี้มันไม่มีใครพอใจได้จริงๆ เพราะปรับขึ้นไม่ถึง 2% ซื้อได้แค่มาม่าห่อเดียวเท่านั้น ซึ่งทุกวันนี้อย่าว่าแต่ 300 หรือ 400 บาท ต่อให้ 500 บาทก็อยู่ไม่ได้

ข้อมูลของรัฐมันไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ต้องไปดูข้อมูลที่องค์กรที่มีมาตรฐานเคยทำไว้ ว่าจะอยู่ได้ต้องมีรายได้เท่าไหร่ถึงจะพอกิน ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน

ผลกระทบจากปรับค่าแรงยังไม่รู้ออกหัวออกก้อย แต่ต้องมาลุ้นกับเสถียรภาพรัฐบาลกับความวุ่นวายภายในของพรรคร่วมรัฐบาลและปรากฏการณ์แฟลชม็อบ ชุมนุมเคลื่อนไหวนอกสภาหวนฟื้นมาอีกครั้ง จากนี้จะลุกลามหรือนำสู่ความรุนแรงแค่ไหน ก็ไม่มีเอกชนรายใดฟันธงได้ แต่ที่แน่ๆ ปีหน้าจัดซ้ำจัดถี่

    ตอกฝาโลงหลายธุรกิจชัวร์!!