ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : วันประสูติของพระเยซู ไม่เกี่ยวกับต้นไม้ แล้วทำไมชาวคริสต์จึงฉลองด้วยการประดับต้นคริสต์มาส?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เคยสงสัยกันไหมครับว่า ทำไมวันสำคัญของคริสต์ศาสนาอย่าง “วันคริสต์มาส” ที่ชาวคริสต์เชื่อกันว่าเป็นวันประสูติของพระเยซูนั้น ไม่ได้มีประวัติอะไรที่สัมพันธ์กับ “ต้นไม้” เลยสักนิด แล้วทำไมชาวคริสต์เขาถึงต้องมาประดับตกแต่งต้นไม้ที่เรียกว่า “ต้นคริสต์มาส” กันด้วย?

(อันที่จริงแล้ว คำว่า “ต้นคริสต์มาส” ก็ไม่ใช่ชื่อประเภทของต้นไม้ เพราะต้นไม้ที่ถูกนำมาเป็นต้นคริสต์มาสนั้น อาจเป็นได้ทั้งไม้ตระกูลซพรูซ [spruce], ไม้ตระกูลสน รวมถึงไม้จำพวกต้นเฟอร์ [fir] คำว่าต้นคริสต์มาสนั้น จึงเป็นชื่อที่ได้มาจากการนำไม้พวกนี้มาใช้ในวันคริสต์มาสต่างหาก)

หลักฐานหลายอย่างแสดงให้เห็นว่า ก่อนหน้าที่คริสต์ศาสนาจะถือกำเนิดขึ้นมานั้น ความเชื่อของหลากหลายวัฒนธรรมบนผืนแผ่นดินทวีปยุโรป และปริมณฑล ต่างก็ให้ความสำคัญกับ “ต้นไม้” ในช่วง “ฤดูหนาว” เป็นอย่างมาก

แถมความสำคัญที่ว่านี้ ยังได้ถูกแสดงออกในเชิงพิธีกรรมอยู่บ่อยครั้งอีกต่างหาก

โดยส่วนใหญ่แล้วก็มักจะให้มีพิธีในช่วงวัน “เหมายัน” (winter solstice, อ่านว่า เห-มา-ยัน) ซึ่งก็คือช่วงที่พระอาทิตย์อยู่ห่างจากโลกมากที่สุดในรอบปี จึงทำให้กลายเป็นวันที่มีกลางคืนยาวนานที่สุด และมีกลางวันสั้นกระชั้นที่สุดของทุกๆ ปี โดยจะตรงกับช่วงวันที่ 21-22 ธันวาคม ในแต่ละปี ใกล้ๆ กับวันคริสต์มาสนั่นแหละครับ

บรรดาบรรพชนคนโบราณในทวีปยุโรปมักจะถือว่า พระอาทิตย์เป็นเทพเจ้า ที่ให้ทั้งแสงสว่าง ความอบอุ่น รวมไปถึงความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งก็ทำให้พระอาทิตย์ยิ่งสำคัญกว่าเทพเจ้าองค์อื่นๆ เพราะสำหรับภูมิภาคที่มืดทะมึน และหนาวเหน็บ ซ้ำยังเพาะปลูกอะไรได้ยากลำบากในฤดูหนาว พระอาทิตย์จึงไม่ต่างไปจากพระผู้มาโปรดของพวกเขา

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะมีความเชื่อว่า ช่วงฤดูหนาวเกิดขึ้นเพราะพระอาทิตย์นั้นป่วยไข้ โดยเฉพาะช่วงเหมายันนี่เรียกได้ว่าพระอาทิตย์นั้นกำลังป่วยในระดับที่กระเสาะกระแสะเป็นที่สุด พวกเขาจึงได้นำเอากิ่งก้านของต้นไม้ที่มีสีเขียวมาประดับไว้ในบ้าน และวิหารของเทพเจ้า นัยว่าจะเป็นการเฉลิมฉลองเพื่อให้พระอาทิตย์ฟื้นไข้ ด้วยการระลึกถึงความอุดมสมบูรณ์จากฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง

 

ประเพณีการประดับกิ่งไม้เขียวๆ ไว้ในบ้าน หรือศาสนสถานอย่างนี้ มีอยู่ในหลายๆ วัฒนธรรม ในความหมายคล้ายๆ กัน โดยจะแตกต่างกันไปในรายละเอียด

เช่น ดรูอิด (druid, นักบวช) ของพวกเคลต์ (Celt) จะประดับกิ่งไม้เขียวไว้ในศาสนสถาน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่ไม่มีวันดับสูญ

ในขณะที่พวกไวกิ้งนั้นถือว่าทำเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเทพแห่งแสงสว่าง บาลเดอร์ (ฺBaldr, เทพเจ้าของชาวนอร์สองค์นี้ถูกเทียบว่าเป็นพระอาทิตย์อยู่บ่อยครั้ง) เป็นต้น

ความเชื่อในทำนองคล้ายๆ กันอย่างนี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในยุโรป เพราะมีในอียิปต์ด้วยเหมือนกัน โดยชาวอียิปต์จะเชื่อว่าในช่วงวันเหมายันนั้น รา เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ ผู้มีศีรษะเป็นนกเหยี่ยว จะฟื้นตัวขึ้นจากการเจ็บป่วย ดังนั้น จึงต้องเฉลิมฉลองด้วยการประดับใบปาล์มสีเขียวสดใสไว้ในบ้าน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนชัยชนะเหนือความตายของเทพเจ้ารา

ส่วนในอารยธรรมใหญ่อย่างพวกโรมันนั้น ก็มีประเพณีทำนองนี้เช่นกัน โดยจะเรียกประเพณีการประดับกิ่งใบไม้เขียวในบ้าน และวิหารของเทพเจ้าว่า “แซทเทิร์นนาเลีย” (Saturnalia) ซึ่งจัดเพื่อเป็นเกียรติแก่เทพเจ้าแห่งการเกษตรกรรม ควบตำแหน่งเทพเจ้าแห่งดาวเสาร์ที่ชื่อ แซทเทิร์น (Saturn)

แต่ที่พัฒนาจนใกล้เคียงกับการประดับตกแต่งต้นคริสต์มาสของชาวคริสต์ในปัจจุบันมากที่สุดก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการประดับตกแต่งต้นยูล (Yule) ในเทศกาลยูล

 

กล่าวโดยสรุป “เทศกาลยูล” ก็คือ เทศกาลเฉลิมฉลองช่วงฤดูหนาว ที่มีมาแต่โบราณของพวกเพเกิน (pagan, ความหมายโดยทั่วไปในปัจจุบันนี้คือ กลุ่มคนที่ไม่ได้นับถือคริสต์ศาสนา) กลุ่มที่พูดภาษาตระกูลเยอรมนิก เช่น ชาวดอยซ์, ชาวดัตช์, พวกเบลเยียม และลักเซมเบิร์ก รวมถึงพวกเคลต์โบราณบางกลุ่มด้วย

ในเทศกาลยูลจะมีการเฉลิมฉลองหลายอย่าง รวมถึงการประดับตกแต่งต้นไม้ด้วยริบบิ้น และเครื่องประดับต่างๆ ในลักษณะที่แทบจะไม่ต่างไปจากต้นคริสต์มาสเลยทีเดียว โดยต้นไม้ที่ได้รับการตกแต่งเหล่านี้ ก็จะถูกเรียกตามชื่อเทศกาลว่า “ต้นยูล” เหมือนกับที่ชาวคริสต์เรียกต้นคริสต์มาสอีกด้วย

เทศกาลยูลที่ว่านี้จะดำเนินติดต่อกัน 12 วัน เพื่อฉลองช่วงเหมายัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับวันคริสต์มาสของชาวคริสต์

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ประวัติของการประดับตกแต่งต้นคริสต์มาสนี้ มักจะถูกยกผลประโยชน์ในพวกเยอรมันเป็นชาติแรกที่คิดค้นขึ้น

โดยมักจะอ้างกันว่า เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยนักปฏิรูปศาสนาผู้ทำให้เกิดนิกายโปรเตสแตนต์อย่างมาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther, มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ.1483-1546) โดยถึงขนาดมีเรื่องเล่ากันว่า มาร์ติน ลูเธอร์ เป็นบุคคลแรกที่นำเอาแสงเทียนขึ้นไปประดับอยู่บนต้นคริสต์มาสเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หลักฐานของการนำต้นไม้มาประดับในช่วงวันคริสต์มาสของชาวคริสต์นั้นมีมาก่อนสมัยของมาร์ติน ลูเธอร์ แล้วนะครับ

 

ในช่วงยุคกลางของยุโรป (คริสต์ศตวรรษที่ 5-15) นั้น มีประเพณีการเล่นละครตามโบสถ์ของชาวคริสต์ ทุกคืนวันที่ 24 ธันวาคมของทุกปี แต่ละครที่ว่านี่ไม่ได้เล่นเพื่อเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสอีฟอย่างทุกวันนี้นะครับ เพราะในสมัยนั้นถือว่า วันที่ 24 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันของอาดัมกับอีฟ ผู้เป็นบรรพชนของมนุษย์ทั้งมวล ตามความเชื่อของชาวคริสต์ ดังนั้น ละครดังกล่าวจึงเล่นเรื่องของอาดัมกับอีฟด้วย

และเรื่องราวของอาดัมกับอีฟเรื่องไหนจะเป็นที่รู้จักไปมากกว่าเรื่องในบทปฐมกาล (ปฐมกาล 3 : 1-24) ส่วนหนึ่งในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ที่เล่าถึงเรื่องของอาดัมกับอีฟ สมัยยังอาศัยอยู่ในสวนสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าทรงอนุญาตให้คนทั้งสองกินดื่มอะไรก็ได้ที่อยู่ภายในสวนแห่งนั้น ยกเว้นก็แต่ “ผลไม้” แห่งภูมิปัญญา ที่มีอยู่เฉพาะในต้นไม้ต้นหนึ่ง

ทั้งอาดัมและอีฟต่างก็ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จนกระทั่งวันหนึ่ง ซาตานได้ปลอมตัวเป็นงู (บางข้อสันนิษฐานว่าเป็นซาลาแมนเดอร์) มาเพื่อล่อหลอกให้อีฟกินเจ้าผลไม้ที่ว่านี่ และอีฟก็ได้กินเข้าไปจริงๆ

จึงทำให้ทั้งอาดัมและอีฟถูกพระผู้เป็นเจ้าขับไล่ออกจากสวนลงมายังโลกมนุษย์

 

ผลไม้ที่ว่านั้น แต่เดิมว่าคือผลฟิก หรือมะเดื่อฝรั่ง (fig) แต่ในยุคกลางนั้น พวกคริสตชนเขาแปลความว่าเป็น “แอปเปิล” ดังนั้น ในละครจึงต้องมีการประดับอะไรก็ตามที่เป็นสัญลักษณ์ของลูกแอปเปิลไว้ที่ต้นไม้ โดยก่อนที่จะแสดงละครนั้นจะมีการเฉลิมฉลองด้วยการเดินขบวนพาเหรดไปทั่วเมือง ซึ่งจะมีธรรมเนียมว่า ผู้แสดงเป็นอาดัมจะต้องแบกต้นไม้ และห้อยแอปเปิลไปทั่วเมืองด้วย

เจ้าผลแอปเปิลบนต้นคริสต์มาสที่ว่านี่ ทุกวันนี้ก็ยังเห็นอยู่บนต้นคริสต์มาสกันอยู่เลยนะครับ

เพราะการที่ต้นคริสต์มาสทุกวันนี้ประดับเอาผลแอปเปิลเข้าไปด้วยนั้น ก็มีเหตุมาจากประเพณีการเล่นละครเรื่องอาดัมกับอีฟในโบสถ์ยุคกลางนี่แหละ

ดังนั้น ถึงแม้ว่าประเพณีดังกล่าวจะถูกยกเลิกจนหายไปหมดแล้ว แต่ร่องรอยก็ยังมีให้เห็นอยู่ในการประดับประดาต้นคริสต์มาสนี่เอง

การประดับต้นคริสต์มาสในเทศกาลคริสต์มาสของชาวคริสต์จึงมีที่มาจากพิธีเฉลิมฉลองเทศกาลเหมายัน ด้วยต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของพลังแห่งชีวิต ซึ่งมีอยู่ทั่วยุโรป โดยค่อยๆ ปรับเอาคติความเชื่อของตัวเองเข้ามาใช้เพื่ออธิบายความในชั้นหลัง

ดังนั้น ชาวคริสต์จึงเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซู ด้วยการประดับตกแต่งต้นไม้ ทั้งที่ตำนานเรื่องวันประสูติของพระองค์ ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับต้นไม้เลย