การศึกษา / ปรับโครงสร้าง ศธ. หรือ…ถอยหลังเข้าคลอง?!?

การศึกษา

 

ปรับโครงสร้าง ศธ.

หรือ…ถอยหลังเข้าคลอง?!?

 

งวดมาตามลำดับสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) การันตีว่าปลายปีนี้จะเห็นรูปเห็นร่างของพิมพ์เขียว

สอดคล้องกับที่นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. ระบุว่า กลางเดือนธันวาคมนี้จะประชุมคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อพิจารณาโมเดลที่แต่ละองค์กรหลักเสนอมา ซึ่งนายวราวิชยืนยันว่าไม่มีธง

ส่วนกระแสข่าวว่าจะยุบศึกษาธิการภาค (ศธภ.) หรือศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ต้องรอดูผลวิเคราะห์ของแต่ละองค์กร

โดยทั้งหมดจะยึดประโยชน์และคุณภาพการศึกษาเป็นหลัก

 

แม้พิมพ์เขียวโครงสร้างใหม่จะยังไม่ชัด แต่ปัญหาที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือความซ้ำซ้อนของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ส่งผลกระทบต่องบประมาณ บุคลากร ภาระงาน เกิดคำถามตามมาถึงความคุ้มค่าเมื่อเทียบคุณภาพการศึกษากับตำแหน่งผู้บริหารที่เพิ่มมากขึ้น

แต่องค์กรครูกลับอาศัยห้วงเวลานี้รื้อฟื้นกรม ดึงอำนาจกลับคืน และยื่นเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาสนับสนุนการออก พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. …

ซึ่งมีคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ

คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2560 เรื่อง การบริหารงานบุคคลและบุคลากรทางการศึกษา ลงวันที่ 21 มีนาคม 2560

และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560

เรียกร้องให้สนับสนุนร่างแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ สนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

โดยนัยคือดึงอำนาจการบริหารงานบุคคล การโยกย้ายและแต่งตั้งข้าราชการครู กลับคืนเขตพื้นที่ฯ ขณะที่ปัจจุบันคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ถูกยุบไปแล้ว มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เข้ามาแทนที่

นอกจากนี้ ขอให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อ.ก.ค.ศ.สพฐ.) มาดูแลงานบริหารงานบุคคลโดยตรง จากเดิมอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)

 

นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) ระบุว่า ตนพร้อมด้วยภาคีเครือข่ายองค์กรครูทั่วประเทศ ได้ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้สนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

โดยมีสาระสำคัญ 3 เรื่อง คือ เสนอให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. 2 ฉบับ และให้มี อ.ก.ค.ศ.สพฐ. เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคลของ สพฐ. ซึ่งเดิมอยู่กับ ก.ค.ศ. ทำให้งานล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพ

ด้านนายวิสิทธิ์ ใจเถิง ผู้ประสานงานสมาพันธ์ครูและผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ระบุว่า สมาพันธ์ครูและผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา วุฒิสภา

เสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานระดับกรม รับผิดชอบการจัดการศึกษาตามสมรรถนะของเด็กแต่ละช่วงวัย เช่น กรมประถมศึกษา กรมมัธยมศึกษา กรมอาชีวศึกษา กรมการศึกษาพิเศษ กรมการศึกษาเอกชน กรมการศึกษาตามอัธยาศัย โดยมีปลัด ศธ.เป็นผู้บริหารระดับ 11 เพียงตำแหน่งเดียว

“ข้อเสนอนี้อาจถูกมองว่าย้อนกลับไปที่เดิม แต่ผมคิดว่าดีกว่ามี 5 องค์กรหลักที่เห็นชัดแล้วว่า 20 ปีที่ผ่านมาคุณภาพการศึกษาต่ำลงมาก ขณะเดียวกัน อยากให้กระจายอำนาจลงสถานศึกษา มีอำนาจบรรจุแต่งตั้งและลงโทษครูและบุคลากร เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ ไม่ล่าช้า” นายวิสิทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าว ส่อแววจะเป็นหมันเมื่อ ส.ว.ไม่รับลูก โดยนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา วุฒิสภา ระบุว่า การกลับมาเป็นกรมเป็นเรื่องลำบาก ตอนนี้การศึกษาต้องเดินไปข้างหน้า และขณะนี้ทุกคนยอมรับแล้วว่าศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทำงานซ้ำซ้อน

“ตอนนี้การศึกษาเดินมาไกล การกลับไปเป็นกรมคงลำบาก ประกอบกับทิศทางของประเทศ เน้นกระจายอำนาจลงสถานศึกษา ส่วนกลางทำหน้าที่แค่ประสาน ลดอำนาจลง ดังนั้น จึงอาจไม่จำเป็นต้องมีทั้งกรมและองค์กรหลัก เหลือเพียงสำนักงานปลัด ทำหน้าที่ประสานงาน ให้ ศธ.เป็นกระทรวงที่เล็กลง แต่คล่องตัว ซึ่งเท่าที่พูดคุยกับ ส.ว.หลายคน ก็เห็นด้วย”

นายตวงกล่าว

 

ขณะที่ผู้บริหาร สพฐ.อย่างนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า เรื่องปรับโครงสร้าง เป็นเรื่องที่ต้องดูรายละเอียดให้รอบด้าน เน้นคุณภาพที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียนเป็นสำคัญ

ขณะที่นายอดิศร สินประสงค์ นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) เองก็กลัวว่าอาชีวะเอกชนจะหายไปจากโครงสร้างใหม่ของ ศธ. จึงเสนอให้อาชีวะเอกชนเป็นองค์กรหนึ่ง จากเดิมที่อยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

ซึ่งมองว่าเป็นเหมือนเด็กถูกฝากเลี้ยง

 

ว่าไปทิศทางการปรับโครงสร้าง ศธ. ของเจ้ากระทรวงอย่างนายณัฏฐพลเองก็ไม่ชัดเจน เพราะไปให้ความหวังคนมัธยมศึกษา ด้วยการเสนอแนวคิดให้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ครบทั้ง 77 จังหวัด ขณะที่ปัจจุบันจำนวนนักเรียนลดน้อยลง จนนำมาสู่การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก แม้นายณัฏฐพลจะอ้างว่าที่ให้ควบรวมคือโรงเรียนระดับประถม ในส่วนของมัธยม ยังดูแลไม่ทั่วถึง และยืนยันว่าจะไม่เพิ่มงบประมาณ โดยจะปรับลดงบส่วนอื่น มาใช้ส่วนนี้แทน

แต่เหตุผลก็ดูฟังไม่ขึ้น นอกจากจะเป็นแค่การหาเสียง

ดั่งที่นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า นายณัฏฐพลต้องชัดเจนในตนเองก่อน เพราะขณะนี้จำนวนเด็กลดลง จึงต้องควบรวมโรงเรียนกว่า 15,000 แห่ง เมื่อจำนวนนักเรียนลดลง เหตุใดต้องเพิ่ม สพม.ให้ครบ 77 จังหวัด แล้วจะเกิดผลดีต่อการศึกษา เด็กและครูมากน้อยแค่ไหน ขณะที่การปรับโครงสร้าง ศธ.ที่ทำอยู่ พยายามให้เล็กลง ลดความซ้ำซ้อน แต่กลับเพิ่ม สพม.มากขึ้น ถือเป็นวิธีคิดที่ย้อนแย้ง

“ที่น่าสังเกตคือหลายปีที่ผ่านมา ศธ.และภูมิภาค ต่างขยายหน่วยงานและอัตรากำลังคน เห็นได้จากโครงสร้าง ศธ., สพท. และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ขยายตำแหน่งกันเยอะมาก ขณะที่ระดับล่างสุด คือโรงเรียน กลับมีแต่แย่ลง ขาดแคลนทุกอย่าง เป็นการส่งเสริมผิดจุด ผิดงานหรือไม่ ระวังจะกลายเป็นภาระงบฯ โครงสร้างอุ้ยอ้ายมากขึ้น”

นายสมพงษ์ระบุ

 

ต้องรอดูว่าธงการปรับโครงสร้าง ศธ.ที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ย้ำว่าเน้นคุณภาพการศึกษาเป็นหลักนั้น ผลสุดท้ายจะตอบโจทย์แค่ไหน

หรือสุดท้ายก็เป็นแค่ภาพสวยหรู

แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ต่างจากการถอยหลังเข้าคลอง!!

อดใจไม่นาน เพราะประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.อย่างนายวราวิชการันตีแล้วว่าจะได้เห็นหน้าตาโครงสร้างใหม่

      ไม่เกินต้นปีหน้าแน่!!