เทศมองไทย : ผลการสอบ “PISA” กับการศึกษาไทย

องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) จัดการวัดความรู้ความเข้าใจในการเรียนรู้ของนักเรียนอายุ 15 ปีอย่างที่เรารู้จักกันในชื่อ Pisa Test ทุกๆ 3 ปี เพื่อนำข้อมูล สถิติและผลการสอบมาประเมินและวิเคราะห์ และจำแนกระดับในเชิงเปรียบเทียบ

ไม่เพียงเปรียบเทียบระหว่างเด็กนักเรียนตัวแทนของประเทศต่างๆ ที่เข้าสอบวัดผลครั้งนี้เท่านั้น

แต่ยังสามารถนำไปเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของโออีซีดี ซึ่งถูกยึดถือเป็นค่ามาตรฐานสำหรับใช้อ้างอิงตลอดมา

การวัดผลหลังสุดทำขึ้นเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา เมื่อนำมาประมวลและวิเคราะห์เข้าด้วยกันแล้วก็มีการแถลงเผยแพร่อย่างเป็นทางการที่อาคารสำนักงานโออีซีดีในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา

พิซา 2018 สำหรับเด็กไทย ดูเหมือนจะเป็นยาขมมาโดยตลอด เพราะทำได้ไม่ดีเอาเลย

คราวที่แล้วฮือฮากันมากเพราะมีเวียดนามเป็นเครื่องชี้วัด ในปีนี้ไม่มีเวียดนามให้คอยเทียบเคียง แต่ถ้าถามว่าเด็กไทยทำได้ดีขึ้นหรือไม่?

คำตอบก็คงหนีไม่พ้นจากคำว่า ไม่ อีกเหมือนเดิม

เมื่อพูดถึงพิซา เทสต์ มักถูกต่อด้วยคำถามว่า คะแนนของเด็กไทยอยู่ที่ “อันดับ” เท่าใด?

ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับคำถามคำตอบในเชิงอันดับอย่างนี้นัก

เพราะการสอบนี้เป็นเรื่องของความสมัครใจ ไม่ได้มีใครบังคับ บางประเทศจึงมีในบางปีแล้วก็ไม่ได้มีในอีกบางปี ระดับของประเทศที่เข้าสอบในแต่ละปีก็แตกต่างกันออกไปจนยากที่ “อันดับ” จะสามารถสะท้อนนัยสำคัญออกมาได้

พิซาเองก็ไม่ได้จัดอันดับ เพียงจัดกลุ่มประเทศไว้เป็น “ระดับ” จำนวนประเทศในแต่ละระดับจะมีมากมีน้อยก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของประเทศที่เข้าร่วมในแต่ละปีเท่านั้น

สิ่งที่น่าพิเคราะห์น่าจะเป็นจำนวน “คะแนน” ของวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ซึ่งเป็น 3 วิชาที่สอบเสียมากกว่า นำไปเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา สามารถแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าหรือถอยหลังของเด็กไทยเราได้ครับ

 

ในปีนี้เด็กไทยทำข้อสอบว่าด้วยการอ่านได้ลดลงกว่าเดิมไม่น้อย ทำได้เพียง 393 ลดลง 16 คะแนน วิทยาศาสตร์ทำได้ 426 คะแนน เพิ่มขึ้น 4 คะแนน คณิตศาสตร์ทำได้ 419 คะแนน เพิ่มขึ้น 3 คะแนน

จะบอกว่า 3 ปีที่ผ่านมาศักยภาพของเด็กไทยหยุดอยู่กับที่ แถมยังมีแนวโน้มถอยลงด้วยอีกต่างหาก

ยิ่งนำไปเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานโออีซีดีที่ใช้เป็นค่าอ้างอิงก็สามารถเห็นภาพรวมได้คร่าวๆ ว่า ในโลกใบนี้ ศักยภาพของเด็กไทยเราอยู่ตรงจุดไหนกันแน่

อีกประเด็นสำคัญที่ผมอยากชี้ให้เห็นก็คือ คะแนนที่เป็นผลการสอบที่ว่านี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าหากเราไม่ได้นำเอาผลการวิเคราะห์และการสังเคราะห์ข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญของโออีซีดีทำเอาไว้ควบคู่ไปกับการเสนอแนะแนวทางสำหรับแก้ไขปัญหาที่อาจเป็นไปได้ในแต่ละประเทศ

นี่ต่างหากที่มีนัยสำคัญที่สุดในความคิดของผมสำหรับการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวัดความรู้ความเข้าใจในระดับนานาชาตินี้

แล้วก็ช่วยเป็นคำตอบของคำถามที่มักถามกันอยู่เสมอว่า ไทยเราควรเลิกเข้าร่วมในการสอบพิซาเสียทีหรือไม่?

 

ถ้าเราไม่เข้าร่วมอยู่ในกระบวนการทั้งหมดนี้ เราก็ไม่มีวันล่วงรู้ว่าเราอยู่ตรงไหนในระดับนานาชาติ เรามีจุดแข็งหรือไม่ จุดอ่อนของเราอยู่ตรงไหน เพราะเหตุใด และจะแก้ไขปัญหา ปิดจุดอ่อน ทำให้กลายเป็นจุดแข็งได้อย่างไร ทั้งหมดนี้เราอาจไม่รู้ อาจละเลยไปทุกๆ ปี ถ้าหากไม่มีการเผยแพร่ผลพิซาออกมา

ดังนั้น เราจึงไม่ควรตั้งคำถามเพียงแค่ว่า เด็กไทยทำสอบพิซาได้คะแนนเท่าใด แต่ควรถามต่อเนื่องด้วยว่า ผลสอบที่ว่านี้ในเมื่อปรากฏออกมาเช่นนี้หมายความว่าอย่างไร? เพราะเหตุใด?

คนที่อยู่ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ต้องถามต่อไปด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญของโออีซีดี วิเคราะห์ผลการสอบเหล่านั้นไว้อย่างไรบ้าง และให้คำแนะนำอะไรไปแก้ไขกันบ้าง?

ถึงที่สุดกระทรวงศึกษาธิการก็คงต้องตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่า จากผลการสอบที่แสดงออกมาครั้งนี้ การศึกษาเมืองไทยควรเปลี่ยนแปลงได้แล้วหรือยัง?

ถ้าถึงเวลาแล้ว จะเปลี่ยนตรงไหน เปลี่ยนอย่างไร? ขั้นตอนแรกเริ่มควรเป็นอย่างไร และก้าวต่อๆ ไปหลังจากนั้นต้องทำอย่างไร เป้าหมายถึงที่สุดคืออะไรกัน?

เพราะโลกหมุนรุดหน้าไปทุกวัน เปลี่ยนไปรวดเร็วและมากมายเหลือหลาย เพียงหยุดกับที่แค่วันสองวัน เดือนสองเดือน ก็แทบไม่ต่างกับเดินถอยหลังแล้ว

นี่คือความจริงใหม่ของโลกในยุคสมัยนี้ที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ครับ