วิเคราะห์ : คู ฮารา และซอลลี่ เหยื่อแรงกดดันในอุตสาหกรรมเค-ป๊อป

อุตสาหกรรมบันเทิงที่รุ่งเรืองของเกาหลีใต้ที่รู้จักกันในนาม “เค-ป๊อป” สร้างแรงกดดันมหาศาลให้กับศิลปินที่จำเป็นจะต้องแสดงออกในฐานะบุคคลที่ “มีความสุขอย่างสมบูรณ์แบบ”

ทว่าศิลปินสาวอย่าง “คู ฮารา” และ “ซอลลี่” ที่เพิ่งเสียชีวิตในเวลาห่างกันไม่นาน กลับจะเป็นศิลปินเค-ป๊อปที่ต่างออกไป

ช่วงเวลาก่อนเสียชีวิต ศิลปินสาวทั้งสองคนแสดงออกให้เห็นถึงการเป็นปัจเจกบุคคลที่พูดในสิ่งที่คิด และเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ทำผิดพลาดกันได้

คูถูกพบว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา 6 สัปดาห์หลังจาก “ซอลลี่” เพื่อนสนิทถูกพบเป็นศพในลักษณะที่อาจเป็นการฆ่าตัวตาย สร้างความไม่พอใจและความสับสนให้กับบรรดาแฟนคลับ

รวมไปถึงจุดประเด็นถกเถียงกันขึ้นมาอีกครั้งเกี่ยวกับปัญหา “ไซเบอร์บูลลี่”, “ความรุนแรงทางเพศ”

รวมไปถึงปัญหาสภาพจิตใจของเหล่าเซเลบที่อยู่ในวงการเค-ป๊อป ที่มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น

 

ผู้หญิงเกาหลีใต้ในเวลานี้ประสบความสำเร็จอยู่บ้างในการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่อย่างเกาหลีใต้ที่วัฒนธรรมยังฝังรากลึก แต่ว่าบรรดาผู้หญิงเกาหลีใต้ยังคงต้องเผชิญความท้าทายที่ยากลำบาก เมื่อเกาหลีใต้ถูกจัดให้อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยใน “รายงานความเหลื่อมล้ำทางเพศของโลกประจำปี 2018” ที่แสดงให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันอย่างมากในแง่ของค่าจ้างและรายได้ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง

ปัญหาด้านความเท่าเทียมทางเพศในอุตสาหกรรมเค-ป๊อปนั้นยิ่งชัดเจนมากขึ้น แต่คู ฮารา และซอลลี่ แม้จะเผชิญแรงกดดันให้ผู้หญิงในวงการจะต้องสมบูรณ์แบบ ทั้งสองกลับพยายามจะทำลายกรอบดังกล่าวลง

สาวซอลลี่แสดงให้เห็นผ่านการสนับสนุนนโยบายเปิดทางให้ผู้หญิงทำแท้งได้ในปีนี้ นอกจากนี้ เธอยังเปิดเผยเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพจิต รวมไปถึงแสดงออกถึงจุดยืนที่ว่า ผู้หญิงมีสิทธิที่จะไม่ใส่ “เสื้อชั้นใน”

“ฉันต้องการทำลายกรอบที่ว่านั่น…และแสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร” ซอลลี่ระบุกับรายการทีวีช่องหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเกี่ยวกับการตัดสินใจที่จะไม่สวมใส่เสื้อชั้นในของเธอ

อย่างไรก็ตาม ภาพเซลฟี่ทุกๆ โพสต์ของซอลลี่ในอินสตาแกรมส่วนตัวที่สะท้อนแนวคิดที่ขัดกับค่านิยมเค-ป๊อป เธอกลับต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง

แฟนเค-ป๊อปบางคนระบุว่า ทางเลือกของเธอก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ขณะที่บางส่วนโจมตีซอลลี่ว่าต้องการเรียกร้องความสนใจเท่านั้น

 

เสียงวิจารณ์ในโลกออนไลน์ส่งผลกระทบกับไอดอลสาวรายนี้ในชีวิตจริง เมื่อเธอออกมาเปิดเผยว่า เธอมักจะพยายามเลือกเดินในตรอกซอกซอยเล็กๆ เพื่อหลีกเลี่ยงสถานที่ที่เธออาจถูกถ่ายภาพ

“ฉันคุ้นเคยกับการเดินในตรอกเล็กๆ แต่มันก็ยังรู้สึกเหมือนกับมีกล้องอยู่ทุกๆ ที่เลย” ซอลลี่ระบุ

สำหรับคูแล้ว เธอก็ต้องเผชิญกับปัญหาส่วนตัว โดยเฉพาะกรณีกับชอยจองบัม แฟนเก่า ที่ถูกตัดสินให้มีความผิดฐานคุกคามและแบล็กเมล์ ด้วยการข่มขู่จะปล่อยคลิปวิดีโอลับของทั้งคู่ออกสู่สาธารณะ

คูเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เสียหายในโลกออนไลน์ ก่อนที่ในเดือนมิถุนายนเธอจะโพสต์ข้อความในอินสตาแกรมระบุว่า เธอ “จะไม่ปรานีกับความคิดเห็นมุ่งร้ายอีกต่อไป” และเปิดเผยว่าจะดำเนินการทางกฎหมาย ในท่าทีซึ่งมีไม่บ่อยนักในบรรดาศิลปินเค-ป๊อปของเกาหลีใต้ โดยคูเปิดเผยในโพสต์เดียวกันนั้นด้วยว่า เวลานั้นเธอกำลังทุกข์ทรมานกับ “โรคซึมเศร้า”

เดือนก่อนหน้านั้น คูถูกพบหมดสติอยู่ในบ้าน เพียงไม่กี่วันก่อนหน้าที่เธอมีกำหนดจะเข้ารับการไต่สวนในคดีของชอย

อย่างไรก็ตาม ชอยรอดจากการถูกจำคุกเมื่อศาลมีคำตัดสินให้รับโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญาเอาไว้ก่อน ส่งผลให้ทนายความของคูออกมาแถลงแสดงความไม่พอใจกับคำตัดสินดังกล่าวระบุว่าคำตัดสินดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะขัดขวางพฤติกรรมอย่างที่ชอยทำไม่ให้เกิดขึ้นในสังคมได้

และนั่นก็เกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้าที่คูถูกพบเสียชีวิตในบ้านพักลักษณะเดียวกันกับเพื่อนสนิทที่จากโลกนี้ไปได้ไม่นาน

 

ทั้งนี้ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่อยู่ในสถานการณ์วิกฤตด้านสุขภาพจิต ล่าสุดมีอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศสูงถึง 26.6 คนต่อประชากร 100,000 คน สูงกว่าอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทยถึงเกือบสองเท่า

แพคจองวู จิตแพทย์ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายเกาหลี ระบุว่าปัญหาส่วนหนึ่งมาจากความหวาดกลัวการเสื่อมเสียชื่อเสียงในสังคมที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งกล้าที่จะร้องขอความช่วยเหลือมีน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ อยู่มาก

นอกจากนี้ จิตแพทย์ชาวเกาหลีใต้ระบุด้วยว่า อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้เวลานี้อาจกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง

“ศิลปินมีแนวโน้มที่จะมีอารมณ์ที่ชัดเจนมากกว่า และเพราะอาชีพของพวกเขานั้นเป็นที่รักของสาธารณชน พวกเขาจึงอ่อนไหวกับมุมมองของประชาชนมากๆ” แพคระบุ

ยิ่งกว่านั้นบรรดาดาราดังเกาหลีใต้มักจะไม่สามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตได้เนื่องจากหวาดกลัวกับความอับอาย รวมไปถึงตารางงานที่แน่นในแต่ละวันที่กินเวลายาวนานถึง 16 ชั่วโมง หรือมากกว่า

สเตซี่ นัม โปรดิวเซอร์ในวงการเค-ป๊อป และประชาสัมพันธ์ให้กับนักดนตรีและศิลปินหลายคน เสนอว่า บริษัทบันเทิงเกาหลีใต้อาจจำเป็นที่จะต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตด้วยตนเองเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ก็ได้