งานวิจัยชี้ โลกปล่อยก๊าซคาร์บอนช้าลงแต่ยังสูง สะท้อนนโยบายรัฐบาลยังทำไม่มากพอ

วันที่ 4 ธันวาคม 2562 สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า โครงการโกลบอล คาร์บอน ศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียเปิดรายงานว่า โลกยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แม้จำนวนการปล่อยก๊าซจะช้าลงในปีนี้ โดยปี 2019 ก๊าซถูกปล่อยเพิ่มขึ้น 0.6% เทียบกับปีที่แล้วที่ก๊าซถูกปล่อยจำนวน 2.1% โดยสหรัฐฯและยุโรปปล่อยลดลง แต่ก็ถูกชดเชยด้วยการเพิ่มขึ้นจากประเทศที่เร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างจีนและอินเดีย

รายงานระบุว่า นโยบายสภาพอาาศและพลังงานในปัจจุบัน(ของรัฐบาลหลายประเทศ) ไม่เพียงพอที่จะสวนกระแสการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การสนับสนุนเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำจะต่อเนื่องได้ต้องสอดรับการนโยบายที่มุ่งยุติการใช้พลังงานฟอสซิล

รายงานยังระบุกลุ่มแหล่งพลังงานอย่างถ่านหิน คิดเป็น 42% ของการปล่อยทั่วโลกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ความสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้ากำลังลดลงในสหรัฐอเมริกา โดยการจัดหาก๊าซธรรมชาติราคาถูกจำนวนมากกำลังช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงให้ห่างจากเชื้อเพลิงที่สกปรกที่สุด

นอกจากนี้ ระดับซีโอทูในชั้นบรรยากาศปีนี้เพิ่มขึ้นถึงระดับ 410 ส่วนใน 1 ล้านส่วน นับเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 800,000 ปีเป็นอย่างน้อย

ทั้งนี้รายงานดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนให้กับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่กำลังจัดการประชุมเรื่องสภาพภูมิอากาศโลกที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน อยู่ในเวลานี้ ขณะยูเอ็นเองระบุเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าหากต้องการไปให้ถึงเป้าหมายการจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2030 โลกจำเป็นต้องลดการปล่อยซีโอทูลงปีละ 7.6 เปอร์เซ็นต์ทุกๆปี เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงเรื่อยๆในเวลานี้