สุรชาติ บำรุงสุข | จากรัฐประหาร สู่รัฐบาลทหารเลือกตั้ง (2) ประเมินสถานะและอนาคตการเมืองไทย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ไม่ช้าก็เร็ว ผลจากการแทรกแซงของทหารในการเมืองจะจบลงด้วยการปกครองโดยตัวบุคคลของผู้นำทหาร ซึ่งแตกต่างจากการปกครองโดยทหารในฐานะที่เป็นองค์กร”

Paul Brooker, Non-Democratic Regimes (2009)

หากระบอบทหารที่มาจากการรัฐประหารต้องการที่จะมีอายุยืนยาวในการเมืองไทยแล้ว ทางเลือกอาจจะไม่ใช่การคงอยู่ด้วยการปราบปราม

เพราะสังคมไทยสมัยใหม่อาจจะไม่ยอมทนกับการปราบปราม เช่นที่ระบอบทหารไทยในยุคก่อนเคยใช้

อีกทั้งโลกเองก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การสิ้นสุดของสงครามเย็นทำให้รัฐมหาอำนาจตะวันตกไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพา “ระบอบเผด็จการทหาร” เพื่อเป็นเครื่องมือของการต่อสู้ในสงครามคอมมิวนิสต์อีกต่อไป

หรืออาจกล่าวในบริบททางประวัติศาสตร์ได้ว่า โอกาสการหวนคืนของ “ระบอบสฤษดิ์” ในการเมืองไทยปัจจุบันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ผู้นำกองทัพจำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกใหม่

ทางเลือกที่ดีที่สุดคือ การเปลี่ยนรูปจากรัฐบาลทหาร ไปเป็น “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” เพราะการเลือกเส้นทางนี้น่าจะปลอดภัยที่สุด

ในด้านหนึ่ง การเลือกตั้งจะเป็นเครื่องมือของการสร้างความชอบธรรมให้แก่การสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร

และในอีกด้านหนึ่ง การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ด้วยกลไกการเลือกตั้งจะช่วยลดแรงกดดันทางการเมืองทั้งจากภายนอกและภายใน และยังจะช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลนี้ดีขึ้น…

ถ้ารัฐบาลทหารตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้แล้ว พวกเขาจะทำอย่างไร?

ถนนสายเก่าของรัฐบาลทหาร

สภาวะการเมืองไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อยู่ในสภาพเหมือน “ติดกับดักความขัดแย้ง” จนไม่มีขีดความสามารถในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคต ตลอดรวมถึงคำสัญญาเรื่องการปฏิรูปเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยที่ถูกนำมาโฆษณาอย่างแข็งขันเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจ ก็ดูจะจางหายไป และไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นจริงแต่อย่างใด

ผลอย่างเป็นรูปธรรมจากกรณีนี้ชี้ชัดว่า รัฐประหารไม่ใช่เส้นทางสู่การปฏิรูปดังคำโฆษณาชวนเชื่อของผู้นำทหาร

และรัฐบาลทหารก็ไม่ใช่ผู้นำการปฏิรูป

และคงต้องยอมรับความจริงทั้งในประวัติศาสตร์และปัจจุบันว่าไม่เคยมีผู้นำทหารไทยคนไหนเป็นนักปฏิรูป…

รัฐบาลทหารกำเนิดขึ้นเพื่อการคงอยู่ของอำนาจอนุรักษนิยม ที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงใดๆ และไม่ต้องการแม้กระทั่งการปฏิรูป

ความหวังที่จะเห็นการปฏิรูปที่นำโดยผู้นำทหาร อาจจะเป็นความหวังที่ไม่เป็นจริงเท่าใดนัก

แม้ในบางช่วงอาจจะมีผู้นำทหารที่มีแนวคิดก้าวหน้า แต่ภาวะดังกล่าวก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ ที่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชุดความคิดทหารแบบอนุรักษนิยมที่ฝั่งรากลึกอยู่ในกองทัพ

เช่น ข้อเสนอทางความคิดสำหรับทหารเรื่อง “การเมืองนำการทหาร” และ “ประชาธิปไตยนำเผด็จการ” ที่ครั้งหนึ่งถูกยกให้เป็นกระแสสำคัญทางความคิดในกองทัพ

แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าแนวคิดดังกล่าวกลายเป็นวลีที่อาจจะถูกหยิบยกมากล่าวอ้างเสมอ แต่ก็ไม่ได้มีผลอย่างจริงจังต่อความคิดของทหารในกองทัพแต่อย่างใด

แต่ผู้นำรัฐบาลทหารยังเชื่อมั่นที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป ด้วยการสร้างกติการัฐธรรมนูญ 2560 โดยกำหนดให้วุฒิสมาชิกมาจากการคัดเลือกของรัฐบาล

การขยายบทบาททหารเพื่อรองรับรัฐบาลใหม่

การจัดตั้งพรรคการเมืองที่สนับสนุนระบอบทหาร (หรือที่ในทฤษฎีรัฐศาสตร์เรียกว่า “regime party”) และการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อผูกมัดการกำหนดนโยบายของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

ผู้นำทหารไทยเชื่อมั่นอย่างมากว่า พวกเขาจะไม่ย้อนรอยประวัติศาสตร์แห่งความล้มเหลวของพรรคทหาร

เพราะอย่างน้อยพวกเขาได้ออกแบบรัฐธรรมนูญไว้เป็นหลักประกันว่า จะมีก็แต่ผู้นำทหารกลุ่มนี้เท่านั้นที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลโดยมีกลไกของวุฒิสภาเป็นเครื่องมือหลัก

และแม้พรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้ง ก็จะไม่เป็นตัวแบบพม่า ที่พรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งและตั้งรัฐบาลได้

แต่ในกรณีของไทย รัฐธรรมนูญกลายเป็นประตูที่ “ปิดล็อก” สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลของฝ่ายค้าน

ฉะนั้น การออกแบบรัฐธรรมนูญที่เอื้อให้กับระบอบทหารเดิมอยู่ได้ในสภา อาจกลายเป็น “วิกฤต” การเมืองได้ในอนาคต เพราะรัฐบาลอาจอยู่ได้ในสภาด้วยเกมรัฐธรรมนูญ แต่การอยู่เช่นนี้อาจไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน

ฉะนั้น รัฐบาลทหารในยุค คสช. ที่แม้จะอยู่ในสภาพ “ทุลักทุเล” เต็มที และอาจยังคงมีกองเชียร์ที่เข้มแข็งจากผู้สนับสนุนเดิม

แต่เสียงเชียร์ก็ดูจะลดลงแตกต่างจากปีแรกๆ หลังรัฐประหารอย่างเห็นได้ชัด

ขณะเดียวกันเพื่อสร้างหลักประกันว่า รัฐบาลทหารเดิมจะต้องได้เป็นรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง จึงเกิด “ปรากฏการณ์เก่า” ด้วยการตั้งพรรคการเมืองภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐบาลทหาร

ซึ่งว่าที่จริงแล้วก็คือ การย้อนรอย “ประวัติศาสตร์พรรคทหาร” ที่ประสบความล้มเหลวในการเมืองไทยมาทุกยุค ไม่ว่าจะเป็นพรรคเสรีมนังคศิลา (ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม) พรรคชาติสังคม (ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) พรรคสหประชาไทย (ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร) และพรรคสามัคคีธรรม (ยุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร)

การจัดตั้งพรรคของระบอบทหารของคณะรัฐประหาร 2557 จึงเป็นเสมือนกับการเลือกเดินบน “ถนนสายเก่า” ที่ผู้นำทหารหลังรัฐประหารล้วนเคยใช้ และประสบความล้มเหลวมาก่อน

แต่พวกเขามั่นใจว่าถนนสายนี้ในปี 2562 เป็นเส้นทางที่ถูกออกแบบเพื่อรองรับต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากรัฐบาลรัฐประหารไปสู่รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง

หรืออาจเปรียบเทียบได้ว่า ทหารได้ซ่อมแซมถนนสายเก่านี้ให้มีความมั่นคงสำหรับ “รัฐบาลทหารแปลงรูป” แล้วด้วยกติการัฐธรรมนูญใหม่

พวกเขาจึงมีความมั่นใจอย่างมากว่ารัฐบาลทหารแบบเลือกตั้งจะอยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน

สภาวะเช่นนี้ชี้ให้เห็นถึงความพยายามที่จะคงอำนาจของรัฐบาลทหารหลังจากการเลือกตั้ง แม้ผู้นำทหารได้เปลี่ยนภาพลักษณ์จาก “นักรัฐประหาร” ไปสู่การเป็น “นักเลือกตั้ง” แต่ก็ไม่ได้ยอมเปิดให้การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างเสรี

แต่การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 จึงเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่มีทหารเป็นผู้ควบคุม (military-controlled transition) โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารเป็นผู้กำหนดกติกาการเลือกตั้ง

และที่สำคัญทหารเป็นผู้กำหนดสาระในรัฐธรรมนูญ (ในทางทฤษฎีอาจเปรียบเทียบได้ว่า มีความคล้ายคลึงระหว่างกระบวนการการเลือกตั้งในเมียนมา ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารในปี 2558 กับการเลือกตั้งในไทยในปี 2562 แม้ผลจะแตกต่างกันคือ รัฐบาลทหารเมียนมาแพ้ แต่รัฐบาลทหารไทยชนะ)

สภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามในอนาคตว่า สุดท้ายแล้ว “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” หรือระบอบพันทางไทย 2562 จะมีอายุยืนยาวเพียงใด

และพวกเขาจะเดินย้อนรอยความล้มเหลวอีกครั้งหรือไม่

อะไรที่หายไป?

แม้การเลือกตั้งจะหวนกลับคืนสู่การเมืองไทยในเดือนมีนาคม 2562 แต่สิ่งที่สูญหายไปกับการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ยังคงเป็นประเด็นสำคัญ และมีผลกระทบต่อสังคมการเมืองไทยปัจจุบันอย่างมาก เราจะเห็นประเด็นสำคัญๆ 7 ประการที่สูญหายไป ดังต่อไปนี้

1. การหายไปของสิทธิขั้นพื้นฐานทางการเมือง : สถานะด้านสิทธิทางการเมืองที่หายไปเช่นนี้อาจดูได้จากดัชนีของ Freedom House ซึ่งจะเห็นได้ชัดใน 3 เรื่องดังต่อไปนี้

1) สิทธิเสรีภาพ

2) สิทธิมนุษยชน

และ 3) สิทธิทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ

2. การหายไปของความเป็นทหารอาชีพ : รัฐประหารชี้ให้เห็นถึงสถานะทางการเมืองของทหารและการขยายบทบาทของกองทัพที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลสำคัญ 3 ประการคือ

1) การขยายบทบาทของกองทัพในทุกภาคส่วนของสังคม จนประเทศมีสถานะเป็น “รัฐทหาร”

2) กองทัพไร้ความเป็นทหารอาชีพ และการมีบทบาททางการเมืองทำให้เกิดเกิด “กระบวนการทำให้เป็นการเมือง” ภายในกองทัพ

3) นายทหารบางส่วนถูกแปรสภาพเป็น “ทหารการเมือง” หรือกลายเป็นสิ่งที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “นักการเมืองในเครื่องแบบ” (politician in uniform)

3. การหายไปของโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ : สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลทหารแล้วมีสภาพที่สำคัญ 4 ประการ ดังนี้

1) รัฐบาลทหารไม่มีขีดความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมหภาค และมีผลสืบเนื่องต่อสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

2) รัฐประหารไม่ใช่ปัจจัยเชิงบวกในการพัฒนาเศรษฐกิจ

3) รัฐบาลทหารไม่ใช่ปัจจัยส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะทำให้การคาดการณ์ของนักลงทุนต่างประเทศทำได้ยาก

และ 4) รัฐบาลทหารไม่ใช่ปัจจัยในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

4. การหายไปของธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลาง : รัฐประหารครั้งนี้กลายเป็นการ “เปิดประตู” ให้แก่บรรดาทุนขนาดใหญ่ในสังคมไทยเข้ามามีบทบาทอย่างเห็นได้ชัด และเห็นในอีกด้านของที่ทุนใหญ่เป็นผู้สนับสนุนหลักของรัฐบาลทหาร ผลที่เกิดหลังรัฐประหาร 2557 ที่สำคัญในกรณีนี้อย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่

1) ทุนใหญ่เข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างชัดเจน

2) บทบาทของทุนใหญ่ในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ และเห็นได้ชัดหลังการรัฐประหารว่า เศรษฐกิจของประเทศอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มทุนใหญ่มากขึ้น

3) การเติบโตของรายได้ทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนใหญ่ และมีส่วนส่งเสริมต่อการสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศ

และ 4) การถดถอยของทุนขนาดเล็กและขนาดกลาง และกลุ่มทุนในสองระดับนี้ประสบปัญหาความอยู่รอดในทางเศรษฐกิจอย่างมากบนเงื่อนไขของการเติบโตของทุนใหญ่

5. การหายไปของวุฒิภาวะทางการเมืองของรัฐไทย : การเป็นรัฐสมัยใหม่มีความจำเป็นต้องมี “วุฒิภาวะทางการเมือง” (political maturity) และปัจจัยนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐได้รับการยอมรับนับถือจากสังคมโลก แต่รัฐประหารกลับทำให้วุฒิภาวะที่มีองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการของรัฐไทยหายไป ดังนี้

1) ไม่มีนิติรัฐ (rule of law)

2) ไม่มีธรรมาภิบาล (good governance)

3) ไม่มีความรับผิดจากการกระทำของตนที่สามารถถูกตรวจสอบได้ (accountability)

4) ไม่มีความโปร่งใส (transparency)

และ 5) ไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance)

6. การหายไปของระบบกฎหมายที่เป็นธรรม : รัฐประหารคือการสิ้นสุดของความเป็นนิติรัฐ ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 แล้ว มีข้อวิพากษ์วิจารณ์การใช้กฎหมายในสังคมการเมืองไทยอย่างมาก ข้อโต้แย้งของฝ่ายที่รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมเช่นนี้ มีเรื่อง “สองมาตรฐาน” เป็นประเด็นสำคัญ

ดังนั้น หากจะแก้ปมความขัดแย้งในสังคมไทยแล้ว การรักษาความเป็นธรรมทางกฎหมายจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ แม้การวิจารณ์ผลแห่งคดีจะเป็นประเด็นที่มีความล่อแหลมและมีความละเอียดอ่อนในสังคม

แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า ถ้าจะสร้างไทยให้เป็นนิติรัฐ ก็จำเป็นต้องหันกลับมาสร้างกระบวนการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากล (เหมือนเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 พยายามสร้างระบบกฎหมายสยามให้เป็นสากล เพื่อให้เกิดการยอมรับจากชาติตะวันตกในยุคอาณานิคม)

7. การหายไปอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศ : ประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากการรัฐประหารที่เกิดขึ้น 3 ประการ ได้แก่

1) การไม่ได้รับการยอมรับในประชาคมระหว่างประเทศของรัฐบาลตะวันตก เพราะการรัฐประหารที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดข้อจำกัดในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทย เนื่องจากโลกตะวันตกหลายประเทศจะมีบทบัญญัติทางกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้รัฐบาลของตนมี “ความสัมพันธ์ในระดับปกติ” กับรัฐบาลรัฐประหาร

2) การแสวงหาการยอมรับจากรัฐมหาอำนาจด้วยการปรับทิศทางของระบบพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ ที่มีทิศทางใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น (คล้ายกับกรณีของรัฐบาลทหารเมียนมาหลังรัฐประหาร 2531 ที่ต้องหันไปหาจีนเพราะการแซงก์ชั่นของรัฐบาลตะวันตก)

3) การใช้การจัดหายุทโธปกรณ์เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และเป็นวิธีของการสร้างพันธมิตร (คล้ายคลึงกับการซื้ออาวุธของรัฐบาลทหารเมียนมาในช่วงรัฐประหาร ที่ต้องซื้ออาวุธจากประเทศมหาอำนาจที่สนับสนุนการรัฐประหาร) ผู้นำทหารพยายามสร้างความเชื่อให้แก่สังคมว่า การซื้ออาวุธทั้งจากจีนและสหรัฐพร้อมกันไปนั้น เป็นการสร้าง “สมดุล” ในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัฐมหาอำนาจทั้งสอง

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐมหาอำนาจต่างหากที่ใช้อาวุธเป็นเครื่องมือในการสร้างอิทธิพลเหนือรัฐไทย และขณะเดียวกันอาจจะต้องตระหนักว่า ไทยเป็นรัฐเล็ก จึงไม่อยู่ในสถานะที่จะใช้นโยบาย “ดุลแห่งอำนาจ” (balance of power)

เนื่องจากนโยบายเช่นนี้ เป็นเรื่องการดุลกำลังระหว่างรัฐมหาอำนาจ ไม่ใช่เรื่องที่รัฐเล็กจะทำได้