โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ /วัตถุมงคลพระพิมพ์ หลวงพ่อเนียม ธัมมโชติ พระเกจิดังสุพรรณบุรี

หลวงพ่อเนียม ธัมมโชติ

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

วัตถุมงคลพระพิมพ์
หลวงพ่อเนียม ธัมมโชติ
พระเกจิดังสุพรรณบุรี

 

หลวงพ่อเนียม ธัมมโชติ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งสุพรรณบุรี เป็นที่นับถือโดยทั่วไป ผู้ทรงพุทธาคมแก่กล้า แม้ท่านละสังขารไปนานกว่า 100 ปี แต่ชื่อเสียงเกียรติคุณ ยังคงปรากฏให้รำลึกถึงสืบมาจวบจนปัจจุบัน
สำหรับวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นนั้น มีมากมายหลายแบบหลายพิมพ์ แต่ที่ได้รับความนิยมสูง อาทิ พระพิมพ์งบน้ำอ้อย พระพิมพ์มารวิชัยเศียรโล้น และ พิมพ์เศียรแหลม
โดยเฉพาะ พระพิมพ์งบน้ำอ้อย แบ่งได้เป็น 3 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก
จัดสร้างเป็นเนื้อชินตะกั่วผสมปรอท ซึ่งการทำให้ปรอทแข็งตัวในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ว่ากันว่าต้องใช้วิทยาคมและต้องมีส่วนผสมเฉพาะ ที่สำคัญต้องทำในฤดูฝน ด้วยใบแตงหนูจะขึ้นเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีส่วนผสมสำคัญอย่างใบสลอดและข้าวสุก
จะนำใบแตงหนู ใบสลอดและข้าวสุก นำมาโขลกปนกันเป็นการไล่ขี้ปรอทออกให้หมด เพื่อให้ได้ปรอทขาวที่สุด ซึ่งจะต้องโขลกและกวนส่วนผสมอยู่ถึง 7 วัน จึงจะเข้ากันดี พอครบ 7 วัน นำส่วนผสมไปตากแดด แล้วนำมากวนต่อจนเข้ากันดี เสร็จแล้วจึงนำมาแยกชั่งเป็นส่วน ส่วนละ 1 บาท (ขนาดเหรียญบาท)
จากนั้นนำไปใส่ครกหิน เติมกำมะถัน และจุนสีโขลกให้เข้ากัน ซึ่งต้องทำตอนกลางคืน ทำอยู่เช่นนั้น 3 คืน แล้วจึงนำปรอทใส่ลงไปในกระปุกเหล้าเกาเหลียง ผสมกับตะกั่วเอาเข้าไปสุมอยู่อีก 7 วัน โดยจะสุมไฟเฉพาะตอนกลางวัน
ส่วนกลางคืนจะทำพิธีปลุกเสกด้วยพระคาถาคม พอครบ 7 ไฟ ก็เทลงแม่พิมพ์
แม้รูปทรงจะดูไม่สวยงาม แต่เรื่องพุทธคุณโดดเด่น และได้รับความนิยมสูงสุด
ปัจจุบันค่านิยมค่อนข้างสูงมาก และทำเลียนแบบมาก

พระพิมพ์งบน้ำอ้อย

เกิดเมื่อปี พ.ศ.2372 ในรัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ บิดาเป็นชาวบ้านซ่อง ต.มดแดง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี มารดาเป็นชาวป่าพฤกษ์ ต.ตะค่า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
การศึกษาสมัยนั้นไม่มีโรงเรียน จึงมีชีวิตคลุกคลีอยู่กับวัด เรียนอักขระขอมและภาษาบาลีจากวัดข้างเคียงที่ให้กำเนิดท่าน เมื่ออายุครบบวช เข้าพิธีอุปสมบท วัดใกล้บ้าน เมื่อประมาณ พ.ศ.2392
หลังอุปสมบท เดินทางเข้าสู่เมืองบางกอก เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย มูลกัจจายนสูตร วิปัสสนากัมมัฏฐาน และวิทยาคมจากสำนักต่างๆ ซึ่งไม่ปรากฏแน่ชัดเช่นกันว่าท่านพำนักอยู่ที่วัดใดและเป็นศิษย์สำนักใด บ้างก็ว่าอยู่วัดพระพิเรนทร์ บ้างก็ว่าวัดโพธิ์ วัดทองธรรมชาติ หรือวัดระฆังโฆสิตาราม
แต่ในสมัยนั้นถ้าจะกล่าวถึงพระเกจิ ต้องยกให้ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ, หลวงปู่ช่วง วัดรังสี (ปัจจุบันรวมเป็นวัดเดียวกับวัดบวรฯ), หลวงปู่คำ วัดอัมรินทร์ และหลวงปู่จันทร์ วัดพลับ
ราว พ.ศ.2412 กลับมาอยู่สุพรรณบุรี หลังจากไปอยู่ในกรุงเทพฯ-ธนบุรี นานเกือบ 20 ปี นับว่านานโข ในการกลับมาตอนต้น ไม่ได้มาอยู่วัดที่อุปสมบท ขึ้นมาอยู่ที่วัดรอเจริญ ต.บางปลาม้า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี อยู่ได้ไม่นานเกิดขัดใจกับเจ้าอาวาส จึงคิดจะไปจำพรรษาที่วัดป่าพฤกษ์ใกล้บ้านเกิด
ขณะนั้นวัดน้อย ต.บางปลาม้า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ซึ่งอยู่เหนือวัดรอเจริญไปไม่ไกลนัก เป็นวัดมีสภาพร้าง สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ยังคงเหลืออยู่เพียงวิหารเก่าเท่านั้น ชาวบ้านมีความประสงค์จะบูรณะซ่อมแซมให้พ้นสภาพวัดร้างขึ้นมาใหม่
วัดน้อย มีสภาพดีขึ้นเป็นลำดับ มีพระภิกษุ-สามเณรมาจำพรรษามากขึ้นทั้งใกล้และไกล

พระพิมพ์มารวิชัยเศียรโล้น
พระพิมพ์มารวิชัยเศียรแหลม

หลวงพ่อเนียมมีความชำนาญทางวิปัสสนาธุระ สำเร็จวาโยกสิณ มีอภิญญาสูงส่ง เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนทั่วหล้า แม้แต่สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม, หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว และหลวงพ่อทับ วัดทอง ยอดพระเกจิชื่อดังยังให้ความเคารพนับถือ และมีพระเครื่องของท่านสะสมไว้
นอกจากนี้ ยังเป็นปรมาจารย์ของพระอมตเถระหลายรูป อาทิ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน, หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นต้น เชื่อกันว่า วิชาสายหลวงพ่อสด และวิชาสายหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ มีต้นกำเนิดมาจากหลวงปู่เนียม ที่รับช่วงกันมา
กิจวัตรประจำวันระหว่างเข้าพรรษา จะตื่นแต่เช้ามืด ครองจีวรแล้วปลงอาบัติ เสร็จแล้วนั่งสนทนากับภิกษุในวัด เป็นการอบรม พอฟ้าแจ้งจึงออกไปบิณฑบาต
ต่อมาในระยะหลัง ท่านไม่ค่อยได้ออกไปบิณฑบาต ด้วยเพราะชราภาพมากแล้ว ในขณะที่ท่านไปส้วมจะมีขันน้ำและข้าวสารไปด้วย โปรยข้าวสารไปตลอดทางจนถึงส้วมเพื่อให้ไก่กิน
ออกจากส้วมกลับมาตามทางเดินโปรยข้าวสารที่เหลือให้ไก่กินจนหมด

มรณภาพเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2452 โดยมรณภาพในลักษณะสีหไสยาสน์
สิริอายุ 80 ปี พรรษา 60
ในงานประชุมเพลิง สมเด็จพระสังฆราช (แพ) สมัยดำรงตำแหน่งพระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลนครชัยศรี และหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ร่วมงานด้วย
หลังจากการฌาปนกิจเสร็จแล้ว ชาวบ้านแย่งเก็บอัฐิของท่านเอาไว้บูชากันอย่างอลหม่าน