ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 29 พ.ย. – 5 ธ.ค. 2562

ขอแสดงความนับถือ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ให้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
วันที่ 8 ธันวาคมนี้
ณ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร
“มติชนสุดสัปดาห์” ร่วมอาลัยในวาระสุดท้ายนี้
ด้วยบทความพิเศษขนาดยาว “จิ๋วเล่าเรื่องป๋า”
แน่นอน “จิ๋ว” มิไม่ใช่ใครอื่น
หากแต่คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นั่นเอง

“รู้จักกับจิ๋วสมัยผมเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ตอนนั้นจิ๋วเขาอยู่ บก.315”
นั่นคือจุดเริ่มต้นแห่งสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.เปรม และ พล.อ.ชวลิต
เพียงแค่เอ่ยนาม บก.315 ก็น่าสนใจเสียแล้ว
บก.315 คือศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกที่ 315
ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2513
มีภารกิจหลัก 3 ประการคือ
1) รวบรวมข่าวสาร ทั้งทางยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีของฝ่ายตรงข้าม ในทิศทางด้านกัมพูชา
2) ปฏิบัติการ ในฐานะหน่วยฝ่ายอำนวยการของผู้บังคับบัญชา ในเรื่องการข่าวด้านกัมพูชาและเวียดนาม
3) ปฏิบัติการพิเศษด้วย “มาตรการทั้งปวง” เพื่อผลประโยชน์ และความมั่นคงของชาติ
บก.315 จึงเป็นหน่วยข่าวที่สำคัญ คอยป้อนข้อมูลให้ผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานที่รับผิดชอบ
พล.ท.เปรม ซึ่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลรับผิดชอบภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดที่ใครๆ ก็รู้ว่ามีความรุนแรง และหมิ่นเหม่ต่อการเพลี่ยงพล้ำต่อพรรคคอมมิวนิสต์ขนาดไหน
บก.315 ที่ พล.อ.ชวลิตดูแลจึงมีบทบาทสูง

น่ายินดีที่บทบาทสูง มิได้หมายถึง การเสนอรบ ตะพึดตะพือ
หากแต่ได้นำมาสู่แนวคิดสำคัญในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์
ซึ่ง พล.อ.เปรมเปิดกว้างรับ
ไม่ว่าแนวคิด การเมืองนำการทหาร
และมาตกผลึกเป็นคำสั่งที่ 66/2523
ที่ทำให้สามารถเอาชนะสงครามประชาชน ในที่สุด
ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่คนไทยทราบกันดี

ความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.เปรม และ พล.อ.ชวลิต ไม่ได้หยุดอยู่เพียงในกองทัพเท่านั้น
หากแต่สืบเนื่องมาถึง “การเมือง” ในตอนหลังด้วย
ซึ่งก็มีเรื่องราวให้เล่าขานมากมาย ทั้งการร่วมเป็นพันธมิตร หรือแม้กระทั่งต่างคนต่างมีเส้นทางของตนเอง
กระนั้น สำหรับ พล.อ.ชวลิต ดูเหมือนจะยกย่อง พล.อ.เปรมอย่างสูง
“ในห้วงที่เป็นรัฐบาล พล.อ.เปรมต้องเผชิญปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางทหาร แต่ท่านก็สามารถประคับประคองรัฐบาลอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง มรสุมเศรษฐกิจ และการเมือง ไม่สามารถทำอะไรท่านได้”
“หากมีปัญหาในทางการเมือง ก็แก้ปัญหาด้วยวิถีทางประชาธิปไตย คือยุบสภา เมื่อเลือกตั้งใหม่ พรรคการเมืองก็ยังสนับสนุนท่านเป็นนายกรัฐมนตรีอีก”

แม้จะมีความแตกต่างระหว่างเส้นทางแห่งอำนาจ ระหว่าง พล.อ.เปรม และ พล.อ.ชวลิต
แต่กระนั้น สิ่งสำคัญที่เหมือนกันประการหนึ่ง นั่นก็คือ
การก้าวขึ้นสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีของบุคคลทั้งสอง
เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย
มิได้ใช้ทางลัด เช่น การ “รัฐประหาร” แต่อย่างใด
ตรงกันข้าม กลับมีบทบาทในการปราบการรัฐประหาร โดยเฉพาะรัฐบุรุษอย่าง พล.อ.เปรม

“จิ๋วเล่าเรื่องป๋า” ที่ พล.อ.ชวลิตมอบเป็นที่ระลึกในวาระสุดท้ายของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นี้
ได้มอบหมายให้นักข่าวอาวุโสสายทหาร-การเมือง
“บุญกรม ดงบังสถาน” เป็นผู้เรียบเรียง และหาข้อมูลเพิ่มเติม
เพิ่มความน่าอ่านและความสนใจยิ่งขึ้น
นี่คือสิ่งที่ “มติชนสุดสัปดาห์” ภูมิใจเสนอ
จิ๋วเล่าเรื่องป๋า รอคอยแล้วที่หน้า 30