หนึ่งคำถามล้านคำตอบ กับ นิ้วกลม : เราอาจต้องการแค่ 30%

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

ผมพบว่าชีวิตมีลำดับขั้นตอนของมันในการทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ คลี่คลายความคิดและชีวิตของตัวเองให้ผ่อนคลายมากขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมกัน ราวกับว่า ยิ่งเข้าใจว่าโลกและเรื่องราวต่างๆ ซับซ้อนมากเท่าไหร่ เรายิ่งปล่อยวางมันได้มากขึ้นเท่านั้น (ซึ่งปล่อยวางไม่ได้หมายความว่า ไม่คิด ไม่รู้สึก ไม่ทำอะไร แต่หมายถึงลงมือคิดและทำอย่างผ่อนคลายกว่าเดิม)

ในวันวัยหนึ่ง เรารู้สึกเหมือนคนที่หนีออกจากบ้าน ผละจากอ้อมอกของพ่อแม่ เราหิว เราต้องการหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อสร้างความมั่นคงในจิตใจ เราเหงา เราต้องการความรัก ต้องการการยอมรับ เราทำสารพัดสิ่งเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมา ทำงานหนัก ทุ่มเทเวลากับความฝัน วิ่งไล่ตามคนที่เราอยากให้เขามาอยู่ข้างกาย เหนื่อย-แต่ปลอบตัวเองว่า เมื่อวันที่ได้ทุกสิ่งพร้อมสรรพ เราจะมีชีวิตที่มีความสุข

ช่วงชีวิตนั้นอาจเป็นช่วงที่เว้าแหว่งอย่างยิ่ง ด้วยความเว้าแหว่งนั้นเองที่ทำให้เรามีพลัง พลังแห่งการสะสม เรียนรู้ ท่องโลกกว้าง ปีนผา วิ่งออกไปหาความรัก

เราไม่ค่อยรู้ตัวนักว่า เราตัดสินคุณค่าตัวเองจากการประเมินของคนอื่น เรายกย่องตัวเองจากปริมาณเสียงปรบมือของคนรอบข้าง และกว่าเราจะรักตัวเองได้ ก็ต้องรอให้ใครคนนั้นรักเราเสียก่อน

ไม่แปลกเลยที่เราจำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อสร้างความมั่นคงทางจิตใจในวัยนั้น เพราะเรากำลังกลายเป็นมนุษย์ผู้เป็นอิสระ ไม่พึ่งพาพ่อแม่และ “บ้าน” หลังเดิม เรากำลังจะก่อร่างสร้างชีวิตตัวเอง ไปตามทางที่คิดฝัน ไปตามคุณค่าที่เชื่อถือ

เพื่อสะสม (และสับสน) ทั้งสิ่งของและคุณค่านามธรรมทั้งหลายนั้นใช้เวลาเนิ่นนาน กระทั่งสามารถสร้างความรู้สึกเสพติดและนิสัยในการออกล่าสิ่งต่างๆ ขึ้นในชีวิตของเรา กระทั่งในวันที่ไม่จำเป็นต้องออกล่าเท่าเดิมแล้ว เราก็ยังตามล่าสิ่งเหล่านั้นราวกับแก้วน้ำที่มีรูรั่ว

กับความรัก, ไม่ใช่แค่คนใกล้ตัว บางหนเราอยากให้ทุกคนรักเรา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ กับการงาน, เราอยากทำงานทุกชิ้นให้สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ เรากดดันตัวเองอย่างหนัก กับโลกใบนี้, เราอยากเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมให้เป็นไปในแบบที่เราเชื่อภายในเร็ววัน

เมื่อพลังมากขึ้น ความต้องการก็มากขึ้นตาม

ความหวังค่อยๆ กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก หรือกระทั่งเป็นไปไม่ได้ แล้วเราก็เผลอใช้อดีตที่เคยทำสำเร็จมาตัดสินว่า เราน่าจะทำได้

เราใช้ชีวิตเพื่อตามหา “ชีวิต 100%”

ผมคิดว่า บางคนที่ผ่านชีวิตไปถึงจุดหนึ่ง สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะค่อยๆ คลี่คลายและมอบคำตอบบางอย่างให้กับเขา

 

ตื่นขึ้นมาเห็นข้อความที่พี่ตูน บอดี้สแลม เคยว่าไว้

“คนที่ไม่ชอบ เขาก็ไม่ชอบเราอยู่ดี พยายามเท่าไหร่ให้เขามาชอบก็ไม่มีประโยชน์ ใช้ชีวิตอยู่กับคนที่เรารักและรักเราดีกว่า ดูแลกันและกันให้ดีที่สุด ชีวิตนี้อีกไม่นานก็ต้องตายจากกันแล้ว คิดดีทำดีให้กับเข้าไว้ สนุกจะตายครับ”

ชีวิตที่ดีไม่ใช้ชีวิตที่จะต้องทำให้ทุกคนชอบเรา หากคือชีวิตที่ยอมรับ

พยักหน้าให้กับความจริงว่า มันช่างเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะมีคนไม่ชอบ ไม่เข้าใจ หรือไม่รับรักเราบ้าง

สิ่งสำคัญคือ ดูแลคนที่รักกันให้ดี

 

เช้านี้ ได้อ่านข้อความจากเฟซบุ๊กของ คุณธนัชชา ศักดิ์สยามกุล ที่พี่พิง ลำพระเพลิง แชร์มา เป็นเรื่องของนักธุรกิจจีน ผู้เสียชีวิตขณะอายุไม่มาก เหลือเงินไว้ให้ภรรยา 1,900 ล้าน และภรรยาได้แต่งงานใหม่กับคนขับรถของเขา

ข้อความคล้ายฟอร์เวิร์ดเมล์ฉบับนี้แนะนำว่า ขอให้ทุกคนออกกำลังกายและรักษาสุขภาพ พร้อมแนบข้อความเหล่านี้ต่อท้ายว่า มือถือทันสมัย, 70% ของฟังก์ชั่นในนั้นไม่มีประโยชน์ รถหรูๆ, 70% ของความเร็วนั้นเหลือใช้ บ้านใหญ่โต, 70% ของพื้นที่นั้นถูกทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งาน กิจกรรมทางสังคม, 70% เป็นเรื่องน่าเบื่อ

เสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน, 70% ไม่ได้ใช้ ไร้ประโยชน์

 

ผมไม่แน่ใจตัวเลข 70% ว่าควรคล้อยตามหรือไม่ แต่ “มุม” ที่เขาหยิบยกมานั้นน่าคิด ข้าวของ ผู้คน กิจกรรม กี่เปอร์เซ็นต์ในชีวิตที่เราอยากครอบครอง อยากปฏิสัมพันธ์ อยากยืดเหยียดมือไม้ของเราออกไปให้ไกลที่สุด ถึงที่สุดแล้ว เราได้ใช้เวลาใช้ประโยชน์จากมันแค่ไหน?

เราต้องครอบครอง “ทั้งหมดนั้น” จริงหรือเปล่า จึงจะมีความสุข เราอาจเผลอใช้เวลา เรี่ยวแรง และหัวใจไปกับ 70% ที่ไม่จำเป็นต้องมี ทั้งที่เราอาจจะมีความสุขตั้งแต่เรามีสิ่งต่างๆ 30% แล้วก็ได้

เราอาจไม่ต้องทำให้ทุกคนรัก แต่รู้ว่ามีคนที่รักเราจริง

เราอาจไม่ต้องทำงานให้สุดยอดทุกชิ้น แต่ได้สนุกกับการทดลองบ้าง

เราอาจไม่ได้เก่งกาจมากมาย แต่ผ่อนคลายและได้หัวเราะ

เราอาจไม่ต้องชนะในทุกการถกเถียง แต่มีมิตรภาพที่สวยงาม

ผมไม่ชำนาญเรื่องคณิตศาสตร์ ไม่แน่ใจตัวเลข 70-30 แต่ผมเชื่อเรื่องสมดุลของความคิดและการใช้ชีวิต รวมถึงการตั้งความคาดหวัง และทุ่มหัวใจลงไปในอะไรสักอย่าง

“เต็มร้อย” อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง

ส่วนใครจะจัดสัดส่วนแบบไหน ก็คงแล้วแต่กันไปตามช่วงวัย ประสบการณ์ ร่างกาย และฮอร์โมน

 

เมื่อถึงวัยที่ชีวิตคลี่คลายให้เราเห็นว่า เราสามารถยิ้มได้โดยที่บางคนไม่รัก เราสามารถภูมิใจกับตัวเองได้ แม้งานยังไม่สมบูรณ์แบบ เราสามารถอยู่ร่วมกับคนที่คิดไม่เหมือนกันได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนให้เขาคิดเหมือนเรา เราสามารถมีความสุขกับ “ชีวิตไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์” ได้ แล้วยักไหล่ให้กับส่วนที่เหลือ

ผมไม่คิดว่าจะมีใครครอบครองทุกสิ่งทุกอย่างได้ดังใจตัวเองทั้ง 100% ไม่ว่าจะเก่งกาจสามารถขนาดไหน หล่อสวยรวยทรัพย์ หรือใช้เวลามากมายเพียงใดก็ตาม โลกและชีวิตจะค่อยๆ นวดความหวังของเขาจนกระทั่งลงมาในจุดที่ลงตัวที่สุด ต่างก็แค่บางคนอาจไม่ทันพบจุดนั้นก่อนสิ้นลมหายใจ

และผมว่า ความจริงของชีวิตก็คือสิ่งนั้น

ไม่มีอะไร 100% หรอก

แต่เรามีความสุขได้ก่อนถึง 100% ตั้งนานแล้ว