การศึกษา / ย้อนรอย…2 แม่พิมพ์ชวดบรรจุ ‘ครูผู้ช่วย’ สะท้อนเหยื่อระบบราชการ??

การศึกษา

 

ย้อนรอย…2 แม่พิมพ์ชวดบรรจุ ‘ครูผู้ช่วย’

สะท้อนเหยื่อระบบราชการ??

 

ผ่านไป 2 ปีแล้ว แต่คดี ‘ครูแอน-ครูวัลย์’ ไม่คืบ…

เดือนพฤษภาคม 2560 น.ส.วนาลี ทุนมาก หรือครูแอน และ น.ส.นิราวัลย์ เชื้อบุญมี หรือครูวัลย์ ผู้สอบแข่งขันได้ในสาขาวิชาเอกสังคมศึกษา ลำดับที่ 66 และ 67 ตามลำดับของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 38 (สุโขทัย-ตาก) ร้องทุกข์สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และฟ้องศาลปกครอง

เพื่อขอกลับเข้ารับราชการตำแหน่งครูผู้ช่วย โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จ.ตาก เนื่องจากสอนได้ 5 เดือน (เริ่ม 4 พฤษภาคม 2560) แล้วถูกปลดจากครูผู้ช่วยโดยไม่ได้รับเงินเดือน เนื่องจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ตาก ไม่อนุมัติการบรรจุ เพราะ สพม.เขต 38 เรียกผู้สอบแข่งขันได้ในสาขาวิชาเอกสังคมศึกษามาบรรจุ 2 ตำแหน่ง ขณะที่สาขาที่ได้รับอนุมัติคือ วิชาเอกคณิตศาสตร์ 1 ตำแหน่ง และบัญชีเลยกำหนด 2 ปี (10 พฤษภาคม 2560)

ขณะที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขณะนั้น ยอมรับว่ามีความไม่ชอบมาพากลและซับซ้อนกว่าที่คิด

โดยได้รับข้อมูลว่ามีครูเข้าไปเกี่ยวข้อง

พร้อมสั่งการให้นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ขณะนั้น ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กับนายมรกต กลัดสอาด อดีตผู้อำนวยการ สพม.เขต 38 ที่ออกหนังสือเรียกครูทั้งสองมาบรรจุโดย กศจ.ตากยังไม่อนุมัติ

 

ตอนนั้นครูแอน-ครูวัลย์ยืนยันว่าไม่เคยวิ่งเต้นหรือเสียเงินให้ใคร ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ตรวจสอบลำดับที่ 68 ของสาขาวิชาเอกสังคมศึกษา ของบัญชี สพม.เขต 38 หรือลำดับที่ 18 ของบัญชีรวมของ กศจ.สุโขทัย ที่มีคำสั่งบรรจุแต่งตั้งเป็นครูผู้ช่วยที่โรงเรียนบ้านสุเม่น จ.สุโขทัย

ส่วนผลตรวจสอบของ กศจ.ตาก วันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 ให้สัมภาษณ์โดยนายชำเรือง เรืองขำ กรรมการ กศจ. ตัวแทน ก.ค.ศ.ขณะนั้น ระบุว่า เป็นความผิดพลาดของ สพม.เขต 38 (สุโขทัย-ตาก) และโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จ.ตาก ที่ควรเชื่อมโยงกันในเรื่องบรรจุข้าราชการครู ซึ่งทางโรงเรียนจะต้องแจ้งความต้องการเกี่ยวกับครู ไปยัง สพม.เขต 38 ตามกฎหมาย กศจ.ตากไม่มีปัญหาใดๆ พร้อมให้บรรจุตามที่ขออยู่แล้ว

ส่วนเรื่องการสอบสวนความผิดเพื่อจะลงโทษหรือไม่ อย่างไรนั้น อยู่ที่ต้นสังกัด จะไม่ไปก้าวล่วง

ส่วนการดำเนินการของ กศจ.ตาก จะรายงานให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) รับทราบและพร้อมทำตามคำสั่ง

ก่อนสิ้นปี 2560 นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ.ขณะนั้น ระบุว่า สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ได้ตั้งคณะกรรมการทำงานลงพื้นที่จังหวัดตาก ทำงานควบคู่กับคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงของ สพฐ. จากนั้นจะร่วมกันวิเคราะห์ข้อกฎหมาย เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้ครูทั้ง 2 คนได้รับบรรจุแต่งตั้ง

“หลักใหญ่ต้องช่วยให้ครูทั้ง 2 คนได้กลับเข้ารับราชการ ให้ครูได้รับการเยียวยา ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนและมีข้อเสนอทางกฎหมาย จะเสนอให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณา หรืออาจต้องขอใช้อำนาจ คปภ. ที่มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธานพิจารณา”

แต่ความเป็นจริง ล่วงเลยมาถึง 2 ปีแล้ว แต่ครูแอน-ครูวัลย์ยังไม่ได้กลับเข้ารับราชการ!!

 

จึงเป็นที่มาที่ทำให้นายไกรทอง กล้าแข็ง กรรมการชมรมครูภูธรแห่งประเทศไทย บุก ศธ. เมื่อเดือนตุลาคม 2562 โดยได้ยื่นหนังสือต่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และ น.ส.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เพื่อติดตามความคืบหน้า

“ทางชมรมกังวล เพราะขณะนี้ล่วงเลยมาถึง 2 ปี แต่ครูแอนและครูวัลย์ยังไม่ได้รับบรรจุแต่งตั้งเป็นครูผู้ช่วย แถมต้องทำงานฟรีถึง 5 เดือน โดยไม่ได้เงินเดือน จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้เงินเยียวยา ทั้งที่เป็นความผิดพลาดของระบบการบริหารงานบุคคล ทั้งขอสอบถามความคืบหน้าการบรรจุขึ้นบัญชีของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) สพม.38 ในลำดับที่ 68 หรือลำดับที่ 18 ของบัญชีรวมของ กศจ.สุโขทัย ซึ่งอยู่ในลำดับถัดจากครูแอนและครูวัลย์ แต่ได้รับการบรรจุแต่งตั้ง โดยอาจเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 เพราะข้ามผู้ที่ขึ้นบัญชีไว้ก่อน”

นายไกรทองระบุ

 

ด้านนายอัมพร พินะสา รองเลขาธิการ กพฐ. ระบุว่า สพฐ.ได้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัย นายมรกต กลัดสอาด อดีต ผอ.สพม.เขต 38 ผลสอบออกมาว่า ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งใคร และได้ถูกลงโทษลดขั้นเงินเดือน ขณะนี้นายมรกตได้เกษียณไปแล้ว สำหรับประเด็นเยียวยาครูแอน-ครูวัลย์นั้น ต้องเยียวยาบนพื้นฐานของกฎหมาย แต่บัญชีของทั้ง 2 คนหมดอายุแล้ว

เบื้องต้น สพฐ.หาตำแหน่งครูอัตราจ้างให้ทั้งครูแอนและครูวัลย์ แต่ช่วงนั้นทั้งสองคนปฏิเสธ และทราบว่าครูวัลย์ได้เข้าไปทำงานเป็นครูอัตราจ้างที่โรงเรียนเลยพิทยาคม เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 และทั้ง 2 คนยังฟ้องต่อศาลปกครอง

ดังนั้น ต้องรอคำตัดสินของศาล หากศาลมีคำสั่งอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติตาม

“หากศาลมีคำสั่งว่าสิทธิที่เกิดขึ้นชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ความผิดของทั้ง 2 คน การบรรจุกลับเข้ารับราชการก็ไม่ใช่เรื่องยาก ในส่วนของ สพฐ. บัญชีหมดอายุไปแล้ว จึงทำอะไรไม่ได้ ยืนยันว่า สพฐ.ไม่ได้ละเลย โดยได้เสนอให้เป็นครูอัตราจ้างตั้แต่แรก แต่ถูกปฏิเสธ ถึงตอนนี้ก็อยากดูแล แต่อำนาจที่มีกฎหมายรองรับไม่มี ดังนั้น ต้องรอคำสั่งศาล” นายอัมพรกล่าว

ความผิดพลาดของกรณีครูแอน-ครูวัลย์สะท้อนความล้มเหลวของทั้งคนและระบบการบริหารงานในพื้นที่

ถึงเวลาหรือยังที่จะทบทวนโครงสร้าง ศธ.ในภูมิภาค

     ขณะเดียวกันต้องเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย เพราะถึงตอนนี้ผ่านมา 2 ปีแล้ว ก็ยังไร้ความคืบหน้า