รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ/ทำไม Facebook เปลี่ยนสัญลักษณ์หรือโลโก้

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

ทำไม Facebook

เปลี่ยนสัญลักษณ์หรือโลโก้

 

การเปลี่ยนโลโก้ครั้งแรกของ Facebook เกิดขึ้นโดยเปลี่ยนตัวเอจากตัวเขียนเป็นตัวพิมพ์ พร้อมยังออกแบบอักษรตัวอื่นบางขึ้นและตัดขอบสีขาวให้ชัดขึ้นกว่าเดิม

การทำให้โลโก้มีความทันสมัยขึ้น เพื่อที่จะทำให้รู้สึกถึงความเป็นมิตรและเข้าถึงได้ และโลโก้ใหม่จะเหมาะสมกับโทรศัพท์มือถือมากขึ้น

โดยครั้งนี้การออกแบบให้ต่างไปจากโลโก้เดิมของแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก ซึ่งโลโก้ที่ได้รับการรีแบรนด์ใหม่ของบริษัทนี้จะปรากฏอยู่บนแอพพลิเคชั่นและผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทเฟซบุ๊ก

การรีแบรนด์ใหม่ครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการปรับภาพลักษณ์องค์กรด้วยรูปลักษณ์แบบใหม่

แต่ยังเป็นหนึ่งในการดำเนินการปรับเปลี่ยนมาตรการและนโยบายด้านข้อมูลส่วนบุคคลของเฟซบุ๊ก ตามข้อตกลงยุติคดีกับคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (FTC) ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

 

ซึ่งก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานละเมิดข้อตกลงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ จากกรณี “Cambridge Analytica” ที่เฟซบุ๊กปล่อยให้มีบุคคลที่สามเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลบางส่วนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ใช้บริการเจ้าของข้อมูล

และยังมีการหลอกลวงให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลซ้ำๆ ส่งผลให้เฟซบุ๊กต้องยินยอมเสียค่าปรับสูงถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและยอมรับข้อตกลงปรับเปลี่ยนมาตรการและนโยบายด้านข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อยุติคดี

จากสถานการณ์ที่เฟซบุ๊กเจอวิกฤตใหญ่ ถูกทางการของอเมริกาและอังกฤษสอบสวนเมื่อพบว่าบริษัทเคมบริดจ์ อนาไลติก้า ของอังกฤษ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ ได้ขโมยข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กราว 50 ล้านคนไปใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต

ทำให้ข้อมูลของผู้ใช้บริการถูกขโมยผ่านแอพพลิเคชั่นหนึ่งที่พัฒนาโดยนักวิชาการชาวอังกฤษซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่บนเฟซบุ๊ก

ดังนั้น เฟซบุ๊กจึงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

 

เรื่องราวน่าอึ้งไปกว่านั้น เมื่อมีการแฉอีกว่าบริษัทเคมบริดจ์ อนาไลติก้า เป็นที่ปรึกษาทีมหาเสียงเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปลายปี 2559 ด้วย และน่าเชื่อว่าบริษัทนี้ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง โดยนำข้อมูลเชิงลึกที่ได้มาไปออกแบบโฆษณาเพื่อโน้มน้าวให้กลุ่มเป้าหมาย (ซึ่งก็คือกลุ่มที่อนาไลติก้าฉกข้อมูลไป) เลือกทรัมป์

การนำข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กไปใช้ในทางการเมืองและธุรกิจ เพราะมันคือการเปิดโอกาสให้ใครก็ตามได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึกของเราจากสิ่งที่เราโพสต์ แชร์ แสดงความเห็น สถานที่เราเช็กอินตามสถานที่ต่างๆ

หรือแม้กระทั่งกลุ่มเพื่อนที่เราคบด้วย สิ่งเหล่านี้มันเป็นประโยชน์ในทางการตลาด มันเปิดโอกาสให้นักการตลาด นักวิจัยข้อมูล รู้ไลฟ์สไตล์ รู้ความชอบของเรา ชอบเที่ยวไหน ชอบกินอะไร ชอบนักการเมืองคนใด ชอบดาราคนไหน รวมทั้งพฤติกรรมทั้งหมด

สมัยก่อนที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย นักการตลาดจะรู้เพียงข้อมูลประชากรศาสตร์ที่เป็นข้อมูลพื้นๆ เช่น อายุเท่าไหร่ อาชีพ เพศ สถานที่เกิด การศึกษา ต้องทำแบบสำรวจ แบบสอบถาม งานวิจัย

แต่มาสมัยนี้โลกโซเชียลมีเดียทำให้นักการตลาดได้ข้อมูลละเอียดที่เรียกว่า “บิ๊กดาต้า” ทำให้การทำธุรกิจหรืออื่นๆ มีความแม่นยำในการเจาะกลุ่มเป้าหมาย

 

การปรับเปลี่ยนแบรนด์ใหม่เพื่อใช้กับทุกผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊กครั้งนี้ จะเป็นการยืนยันว่าแอพพลิเคชั่นต่างๆ เป็นผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊กจริง เพื่อป้องกันแอพพลิเคชั่นปลอมที่มีผู้พัฒนาขึ้นมาหลอกลวงให้ผู้ใช้บริการของเฟซบุ๊กหลงเชื่อและเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะเป็นการละเมิดข้อตกลงที่เฟซบุ๊กมีต่อ FTC ด้วย

Facebook ออกแถลงการณ์เปลี่ยนสัญลักษณ์หรือโลโก้ของบริษัท โดยออกแบบให้สัญลักษณ์ใหม่เป็นตัวแสดงว่าบริษัทจะถูกแยกจากแอพพลิเคชั่น Facebook ให้แตกต่างชัดเจนระหว่างตัวบริษัทและแอพพ์ Facebook และบริการอื่นในเครือทั้งวอตส์แอพพ์ (WhatsApp), อินสตาแกรม (Instagram) และโอคูลัส (Oculus) เพื่อจะไม่ให้มีข้อหาอื้อฉาวที่ Facebook กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้

เจ้าหน้าที่การตลาดของ Facebook กล่าวในแถลงการณ์ว่าสัญลักษณ์ใหม่นี้จะเริ่มนำมาใช้จริงในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยจะเริ่มปรากฏบนเว็บไซต์ของบริษัท Facebook รวมถึงบริการอื่นที่ Facebook เป็นเจ้าของคือ Instagram, WhatsApp และ Oculus

ขณะที่โลโก้สีน้ำเงินรุ่นเก่าจะยังคงเป็นโลโก้ของ Facebook เครือข่ายโซเชียลเช่นเดิม

 

ทางด้าน “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ซีอีโอของเฟซบุ๊กระบุว่า “หลายคนไม่รู้ว่าพวกเราเป็นผู้สร้างผลิตภัณฑ์เหล่านี้หรือไม่รู้ว่าทีมงานของพวกเราต่างทำงานร่วมกัน เราคิดว่าผู้คนควรจะรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาใช้”

ในการเปิดตัวโลโก้บริษัทใหม่ที่ถูกระบุว่าเป็นการสร้างความโดดเด่นให้กับบริษัท Facebook ซึ่งจะแยกส่วนเพิ่มเติมจากแอพพ์ Facebook โดยยังจะรักษาแบรนด์ของตัวเองไว้ อย่างไรก็ตาม หลายเสียงมองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการรับมือกับภาวะที่บริษัทต้องเผชิญกับการสอบสวนหลายครั้งเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

หากแยกความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง Facebook ที่เป็นบริษัทและ Facebook ที่เป็นแอพพ์ นักวิเคราะห์เชื่อว่า Facebook จะสามารถสบายใจว่าบริการอื่นของ Facebook จะไม่ถูกร่างแหไปด้วย จุดนี้ CMO ของ Facebook ยอมรับกับสื่ออย่างบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ว่าการเพิ่มตราสินค้าใหม่ของ Facebook ให้กับบริการในเครือ จะทำให้ผู้คนมอง Facebook ที่เป็นบริษัทในแง่บวกมากขึ้น

ทั้งนี้ Instagram และ WhatsApp ได้ถูกเพิ่มคำว่า “from Facebook” เพื่อระบุว่าเป็นบริการจาก Facebook เรียบร้อยแล้ว การเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของแบรนด์เป็นเรื่องปกติสำหรับการทำธุรกิจและกลยุทธ์ทางการตลาด การเปลี่ยนรูปแบบของแบรนด์สำหรับเป็นการสื่อสารเรื่องราวที่ง่ายและชัดเจนที่สุดของบริษัทต่อผู้คนและธุรกิจที่ใช้บริการ

 

ที่มา Facebook