ศึกสงครามการค้า : ข้อสังเกตการแปรเป็นดิจิตอลและปัญญาประดิษฐ์ กับการสงครามและความมั่นคง

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (22)

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการแปรเป็นดิจิตอล

การตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการแปรเป็นดิจิตอลเป็นความพยายามในการสร้างกรอบความเข้าใจ การอธิบาย และการมองแนวโน้มหรือความเป็นไปได้ต่างๆ ของการแปรเป็นดิจิตอล มีความจำเป็นในการสร้างกรอบดังกล่าว เนื่องจากเหตุปัจจัยหลายประการ

ข้อแรก มันเป็นสิ่งเพิ่งเกิดใหม่ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ก็เพิ่งเกิดในต้นศตวรรษที่ 21 นี้เอง เป็นสิ่งที่ยังไม่คุ้นเคยของผู้คนจำนวนมากที่เกิดในยุคอะนาล็อก

ข้อต่อมา มันเป็นเรื่องของเทคโนโลยีขั้นสูง เข้าใจยาก ต้องศึกษาฝึกฝนจริงจัง จึงรู้กันอยู่ในวงแคบ แม้ผู้ที่เกิดในยุคดิจิตอลอย่างเช่นคนรุ่นสหัสวรรษ (อายุระหว่าง 25-34 ปี) จำนวนมากอยู่ในยุคเทคโนโลยีขั้นสูงในฐานะผู้ใช้ผู้บริโภค ไม่ใช่ผู้รู้ เนื่องจากมีการออกแบบอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะดวกแก่ผู้ใช้ ไม่ต้องการความรู้มาก

ข้อที่สาม มันมีการพัฒนารวดเร็ว และเป็นเทคโนโลยีพลิกโลก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางสังคมทุกด้าน สร้างข่าวสารปริมาณมากที่จะต้องรู้และเข้าใจ ถ้าหากว่าไม่มีกรอบความเข้าใจแล้ว ก็จะถูกท่วมทับด้วยข่าวสาร เกิดความงุนงงไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรหรือไม่เป็นอะไร

ดังนั้น ยิ่งมีข่าวสารมากก็ยิ่งงุนงง ส่วนหนึ่งเกิดจากว่าข่าวสารเหล่านี้จำนวนมากเป็นข่าวปลอมหรือข่าวปล่อยให้เกิดความสับสนงุนงง

ข้อสุดท้าย ได้แก่ สถานการณ์โลกขณะนี้มีความซับซ้อนและไม่แน่นอนสูง เกิดความขัดแย้งรุนแรง มีสงครามการค้า เป็นต้น

การมีกรอบข้อสังเกตช่วยกรองข่าวสารเหล่านี้ ทำให้สะดวกในการประมวล วิเคราะห์และสังเคราะห์ข่าวสาร สร้างความรู้และความเข้าใจใหม่ที่ลึกขึ้น

อนึ่ง การสร้างกรอบดังกล่าวมีทั้งด้านที่เป็นภววิสัยหรืออ้างอิงต่อสถานการณ์ความเป็นจริง และด้านอัตวิสัยหรือการอ้างอิงจุดยืนและท่าทีผู้สร้างกรอบ สิ่งนี้เป็นการปฏิบัติทั่วไปของสัตว์ทั้งหลาย และมนุษย์ในการอยู่รอด (สำหรับมนุษย์มีการพัฒนาถึงขั้นสร้างเป็นเรื่องทางวิชาการขึ้น) การสร้างกรอบข้อสังเกตโดยพื้นฐานก่อนอื่นต้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง

แต่ถ้ามีแต่เรื่องสถานการณ์ความเป็นจริงก็หาประโยชน์มิได้ เพราะขาดจุดยืนและท่าที

แต่ถ้าเน้นจุดยืนและท่าทีมากเกินไปก็จะทำให้ห่างเหินความเป็นจริง นำมาสู่การปฏิบัติที่ทำลายผลประโยชน์ของตนเองได้ ที่เรียกว่า “ยกก้อนหินทุ่มขาตนเอง” ในอีกทางหนึ่งการไร้กรอบข้อสังเกต ก่อให้เกิดความงุนงงทำอะไรไม่ถูก แต่ถ้าหากมีกรอบแข็งตัวเกินไปก็ก่อให้เกิดอคติและความลำเอียงอันเป็นโทษมาก

กรอบข้อสังเกตในที่นี้เสนอขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการแปรเป็นดิจิตอลโดยทั่วไป และเน้นในด้านการสงครามและความมั่นคงโดยเฉพาะ มีประเด็นที่ควรกล่าวถึง 4 ประการ

ได้แก่

1)การเป็นเจ้าของ

ในระบบทุนนิยมเสรีที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การบริหาร และการผลิตปริมาณมาก อย่างต่อเนื่อง อำนาจการนำอยู่กับบรรษัทใหญ่ที่มีการปรับเปลี่ยนตามการพัฒนาดังกล่าว

ในสหรัฐช่วงแรก มหาเศรษฐีที่มีบทบาททางการเมืองและสังคม อยู่ในกลุ่มนายธนาคาร นักขุดสกัดน้ำมัน และนักอุตสาหกรรมเหล็กและการผลิตรถยนต์

แต่เมื่อแปรเป็นดิจิตอลที่เข้มข้นขึ้น มหาเศรษฐีที่โดดเด่นย้ายมาอยู่ในกลุ่มกิจการด้านดิจิตอลและแพลตฟอร์มที่รุ่นแรกได้แก่ บิล เกตส์ แห่งไมโครซอฟต์

และต่อมาเป็นชุดได้แก่ เจ้าของผู้ก่อตั้งผู้บริหารระดับสูงของบรรษัทยักษ์ใหญ่ทางดิจิตอลคือ แอมะซอน กูเกิล แอปเปิล และเฟซบุ๊ก

ความสัมพันธ์ของการเป็นเจ้าของมีความซับซ้อนกว่านั้น

ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์เป็นผู้นำระดับสูงคนแรกที่เอ่ยถึงในการปราศรัยอำลาตำแหน่งปี 1961 ว่าได้เกิดกลุ่มอุตสาหกรรมการทหารหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีฐานเชิงการสงครามเข้ามาครอบงำและเป็นอันตรายอย่างสูงต่อระบอบปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยของสหรัฐ

มีนักวิชาการสหรัฐจำนวนหนึ่งได้ศึกษาประเด็นนี้อย่างละเอียดลึกซึ้ง เปิดเผยถึงผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลังรัฐ เรียกกันว่า กลุ่มผู้มีอำนาจรัฐบาลเงา ไปจนถึงรัฐลึกเร้น

พอประมวลได้ว่าประกอบด้วยกลุ่มทุนการเงิน มีทุนวอลสตรีตเป็นตัวแทน ฝ่ายบริหารรัฐบาลวงใน ผู้นำในคณะกรรมาธิการรัฐสภา กองทัพมีนายพลต่างๆ เป็นผู้นำ ฝ่ายความมั่นคงมีสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น บรรษัทที่รับจ้างโครงการวิจัยและผลิตอาวุธ บรรษัทใหญ่อื่นๆ ซึ่งด้านดิจิตอลที่โดดเด่นขึ้นมาเป็นกลุ่มซิลิคอนวัลเลย์

ปัจจุบันเกิดความแตกแยกในหมู่ชนชั้นนำสหรัฐรุนแรง เป็นผลกระทบจากวิกฤติการเงิน ความชะงักงันทางเศรษฐกิจ และนโยบายการสงครามที่ไม่เป็นผล จนกระทั่งเกิดระบอบทรัมป์ขึ้น มีประพฤติกรรมต่างจากสถาบันประธานาธิบดีที่ผ่านมา เหมือนเป็นการลองแนวทางใหม่ แต่ยิ่งเพิ่มความขัดแย้งภายในชาติขึ้นอีก

แต่ไม่ว่าจะเป็นระบอบโอบามาหรือระบอบทรัมป์ก็มีลักษณะร่วมกันคือการโอบอุ้มเอียงข้างบรรษัทใหญ่ทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและไม่ใช่ ทรัมป์ทำทีเหมือนเข้าข้างลูกจ้างคนงาน โดยเฉพาะที่เป็นผิวขาว กล่าวโจมตีหรือแสดงความไม่พอใจกลุ่มทุนวอลสตรีตและซิลิคอนวัลเลย์เป็นครั้งคราว

แต่ในทางปฏิบัติเขาและพรรครีพับลิกันได้เดินหน้าปฏิรูปการเก็บภาษีครั้งใหญ่ในปี 2017 ซึ่งวิเคราะห์กันว่าเป็นการลดหย่อนภาษีให้แก่บรรษัทใหญ่และมหาเศรษฐีเป็นสำคัญ ไม่ใช่ลูกจ้างคนงาน

มีการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ชี้ว่า การเสียภาษีที่จ่ายจริงของครอบครัวมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งที่สุด 400 ครอบครัวในสหรัฐปี 2018 จ่ายในอัตราเพียงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับลูกจ้างคนงานที่อยู่ครึ่งล่างสุดเสียภาษีที่จ่ายจริงถึงร้อยละ 24.2 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

โดยในปี 1980 ครอบครัวมหาเศรษฐี 400 ครอบครัวเสียภาษีในอัตราสูงถึงร้อยละ 47 และเคยสูงถึงร้อยละ 56 ในปี 1960

ผลการศึกษาดังกล่าวได้เผยแพร่ในท่ามกลางกระแสความไม่พอใจถึงช่องว่างที่ขยายห่างภายในสหรัฐ (ดูบทความของ Jack Kelly ชื่อ For the First Time in History, U.S. Billionaires Paid a Lower Tax Rate Than the Working Class : What Should We Do About It? ใน forbes.com 11/10/2019)

ในสหรัฐขณะนี้เกิดกระแสต่อต้านการรวมศูนย์ความมั่งคั่งและการผูกขาด เพ่งเล็งไปที่บรรษัททางด้านดิจิตอล ต้องการให้แยกบรรษัทเหล่านี้ให้มีขนาดเล็กลง ซึ่งอาจชะลอการรวมศูนย์อำนาจและความมั่งคั่งไปได้บ้าง

แต่ไม่ได้ไปทำลายมัน

2)การนำมาใช้ทางพลเรือนและธุรกิจ

เป็นที่สังเกตว่าการแปรเป็นดิจิตอลที่เริ่มจากการทหารและความมั่นคง ได้ขยายสู่ภาคพลเรือนและธุรกิจมากขึ้น จนเหมือนกลบลบความสำคัญของภาคการทหารและความมั่นคงไป ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่สาธารณชนว่า อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย เป็นต้น เป็นสื่อของตน เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้เพื่อสิทธิผลประโยชน์ในยุคดิจิตอล แต่ในทางเป็นจริงมันยังคงเป็นสื่อของรัฐบาล กองทัพ ฝ่ายความมั่นคง และบรรษัทใหญ่มากกว่า

รัฐบาล กองทัพและฝ่ายความมั่นคงสามารถเข้าควบคุมจัดการสื่ออินเตอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย โดยการออกกฎหมายต่างๆ ขึ้น จนขณะนี้ในบางด้านสื่อออนไลน์ถูกควบคุมและมีบทลงโทษรุนแรงกว่าสื่อสิ่งพิมพ์แบบเดิมเสียอีก

นอกจากนี้ ในยามฉุกเฉินก็สามารถสั่งปิดสื่ออินเตอร์เน็ตทั้งหมดหรือบางส่วนได้ แม้แต่โทรศัพท์มือถือก็ไม่ได้ละเว้น พบว่าสื่อดิจิตอลรวมทั้งโทรทัศน์กล้องวงจรปิดได้กลายเป็นเครื่องมือสำหรับรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงในการสอดส่องสอดแนมสาธารณชนและการจารกรรมทั่วโลก

เช่น การใช้คำสั่งศาลลับให้สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) ของสหรัฐสามารถดักฟังบันทึกข้อความทางโทรศัพท์ของประชาชนอเมริกันอย่างกว้างขวาง

หรือหน่วยงานเอ็นเอสเอได้สร้างโปรแกรมที่สามารถใช้ค้นหาเกือบทุกสิ่งที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทำอะไรในทั่วโลก

ทั้งยังได้กระทำการจารกรรมข้อมูลข่าวสารในประเทศต่างๆ รวมทั้งผู้นำทั่วโลก

เอ็นเอสเอได้สร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อเก็บเนื้อหา ข้อความที่ส่งในอินเตอร์เน็ตทั่วโลก ประมาณว่าวันละ 200 ล้านข้อความ (จากการเปิดเผยของเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้เคยทำงานเป็นลูกจ้างของซีไอเอและเอ็นเอสเอ) เห็นได้ว่าสื่อดิจิตอลได้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงในการทำสงครามข่าวสารต่อประชาชนของตน และประเทศอื่นที่เป็นอริอย่างต่อเนื่อง

ในปัจจุบันสาธารณชนส่วนใหญ่ได้เลิกความเข้าใจผิดเหล่านั้นแล้ว

และหันมาเคลื่อนไหวให้อินเตอร์เน็ตมีความเป็นกลาง ไม่ตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ในการสร้างสังคมสอดส่องและกดขี่แบบที่พรรณนาไว้ในนวนิยายชื่อ “1984”

สำหรับการเป็นเจ้าของสื่อดิจิตอลของบรรษัทนั้นก็เป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้นเรื่อยๆ เช่น เฟซบุ๊กที่เริ่มดำเนินการในฐานะเป็นบริษัทแพลตฟอร์ม

ให้บริการเป็นเวทีหรือชานชาลาที่เป็นกลางสำหรับผู้ใช้ขึ้นมาแสดงตัวและพบปะสร้างเพื่อนในไซเบอร์

แต่เมื่อมีผู้ใช้จำนวนมากวันละกว่า 1.5 พันล้านครั้ง กลายเป็นศูนย์ข้อมูลและตลาดใหญ่ในตัวมันเอง เกิดการแย่งผลประโยชน์กัน มีปรากฏเป็นข่าวขึ้น เมื่อมีกลุ่มสตาร์ตอัพได้กล่าวโทษต่อเฟซบุ๊กในศาลรัฐแคลิฟอร์เนียว่า เฟซบุ๊กได้สร้าง “แผนการที่ร้ายกาจและฉ้อฉล” ในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้เพื่อประโยชน์ของตน และขจัดบริษัทคู่แข่งออกจากธุรกิจ

ต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว ทนายความฝ่ายเฟซบุ๊กแก้ต่างว่า การตัดสินใจว่าข้อความใดสมควรจะโฆษณาเผยแพร่ ที่เฟซบุ๊กกระทำอยู่นั้นควรได้รับการคุ้มครองเพราะว่าเฟซบุ๊กเป็นบริษัทผู้โฆษณา (Publisher) (ดูบทความ Sam Levin ชื่อ Is Facebook a publisher? In public it says no but in court it says yes ใน theguardian.com 03/07/2018)

คดีความนี้ก่อให้เกิดปัญหาจำนวนมาก สำหรับสาธารณชนควรสนใจคือ ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้สื่อดิจิตอลทั้งหลายเป็นของใคร และสมควรจะได้รับการปฏิบัติต่อและคุ้มครองอย่างไร

3)คำสัญญาและอันตราย

ส่วนที่เป็นคำสัญญาที่ให้ภาพกว้าง เช่น ขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ สร้างความเติบโตแบบให้ผลดีแก่ทุกฝ่าย หรือปัญญาประดิษฐ์สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่างที่เป็นรูปธรรม

เช่น ทำนายว่า การทำให้เมืองฉลาด เป็นจริง ทำให้เครื่องจักรสามารถพูดตอบโต้กับมนุษย์ได้ในบางเงื่อนไข

เครือข่ายกราฟทางเส้นประสาทจะช่วยให้เครื่องจักรมีสามัญสำนึกคล้ายมนุษย์ อัตลักษณ์ทางดิจิตอลจะกลายเป็นเหมือนบัตรประจำตัวใบที่สอง เทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองจะมีการพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง

การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในเชิงพาณิชย์จะสูงขึ้น เป็นต้น

(ดูบทความชื่อ Top 10 Technology Trends in 2019 Predicted by Alibaba DAMO Academy 02/01/2019)

ส่วนที่เป็นคำเตือนอันตรายก็มีมาก เช่น การแปรเป็นดิจิตอลยิ่งขยายช่องว่างทางสังคม เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงมีลักษณะผูกขาดในมือมหาเศรษฐีและบรรษัทใหญ่โดยธรรมชาติ หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เองเป็นเครื่องจักรอย่างหนึ่งที่ฉลาดกว่าเท่านั้น ต้องใช้ทรัพยากรในการสร้าง การใช้ การบำรุงรักษา การกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้งาน ไม่ต่างกับเครื่องจักรอื่น

คำเตือนอันตรายที่ลึกที่สุดคือเครื่องจักรฉลาดเหล่านี้อาจทำลายอารยธรรมหรือเผ่าพันธุ์มนุษย์ มันสามารถเข้าครอบงำทางการปฏิบัติที่เกิดขึ้นแล้วคือการเสพติดการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ติดการเล่นเกมหรือการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้ใช้เหมือนผู้วิเศษมากขึ้น

และมันเปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์ดำเนินไปตามการกำหนดของเครื่องจักรตั้งแต่โลกการทำงานและการพักผ่อน ไปจนถึงการคิด

เช่น ไม่ถามคำถามที่ขึ้นต้นด้วย “ทำไม” ที่เครื่องจักรตอบได้ไม่ดี แต่ตั้งคำถามที่ขึ้นต้นด้วย “อย่างไร” ที่เครื่องจักรตอบได้ดี

4)การแปรเป็นดิจิตอลเกิดจากความจำเป็นในการแข่งขัน

บรรษัทใหญ่และประเทศพัฒนาแล้วคิดพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอลขึ้น ก็เพื่อรักษาฐานะความเหนือกว่าทางเศรษฐกิจการเมืองของตนไว้ และเพื่อสร้างกำไร เอาชนะการแข่งขันและครอบงำตลาดได้ ไม่ใช่เพื่อสร้างสันติภาพและความร่วมมือ ประเทศกำลังพัฒนา-ตลาดเกิดใหม่พัฒนา เทคโนโลยีของตนก็เพื่อให้ก้าวทันประเทศพัฒนาแล้ว

สำหรับประเทศจีนยังต้องการให้ล้ำหน้าขึ้นไปอีก ดังนั้น การแปรเป็นดิจิตอลจึงได้กลายเป็นพื้นที่การสู้รบสำคัญ ทั้งระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา-ตลาดเกิดใหม่ การแปรเป็นดิจิตอลเป็นสัญญาณการแข่งขันต่อสู้ที่ดุเดือดยิ่งขึ้น ถึงขั้นทำสงครามรูปแบบต่างๆ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงปัญญาประดิษฐ์กับการสงครามและความมั่นคง และจรวดตงเฟิงของจีน