Thru Air on Key Strings นิทรรศการศิลปะแห่งเสียงของนักดนตรีผู้หลงรักศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดู (หรืออันที่จริง “ฟัง”) นิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันอีกตามเคย

ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ศิลปินเจ้าของผลงานเป็นนักดนตรีที่คอดนตรีหลายคนน่าจะรู้จักคุ้นเคยกันดี

เขาผู้นี้มีชื่อว่า เมธี โมเดิร์นด็อก หรือเมธี น้อยจินดา มือกีตาร์แห่งวงดนตรีโมเดิร์นด็อก ตำนานหน้าหนึ่งของวงการดนตรีไทยผู้จุดกระแสดนตรีอัลเทอร์เนทีฟและโมเดิร์นร็อกให้เป็นที่นิยมอย่างถล่มทลายในบ้านเรา

เมธีเป็นหนึ่งในมือกีตาร์ที่มีสไตล์การเล่นและสุ้มเสียงที่เปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากที่สุดคนหนึ่ง

แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า นอกจากการเป็นนักดนตรีแล้ว เขายังมีอีกบทบาทในฐานะศิลปินวาดรูปด้วย

แต่ถ้าเข้าไปในนิทรรศการนี้แล้วก็อย่าเพิ่งสงสัยว่ารูปวาดของเขาอยู่ตรงไหน เพราะในคราวนี้เขาไม่ได้มาแสดงผลงานภาพวาดให้เราดู

หากแต่แสดงงานศิลปะของเสียง หรือ Sound Art ให้เราฟังกันต่างหาก

นิทรรศการครั้งนี้มีชื่อว่า Thru Air on Key Strings

ผลงานศิลปะแห่งเสียงที่มุ่งเน้นในการสร้างสรรค์เสียงเชิงทดลองอันเปี่ยมจินตนาการโดยไม่ยึดติดกับความไพเราะหรือการให้ความบันเทิงเท่านั้น ในนิทรรศการครั้งนี้ เมธีเจาะจงสร้างงานศิลปะจากเสียง และถ่ายทอดเสียงของโน้ตโดยได้แรงบันดาลใจจากเทคนิคทางดนตรีที่เรียกว่า Twelve-tone หรือ Chromatic scale

ซึ่งเป็นเทคนิคการสร้างเสียงที่ให้ความสำคัญกับโน้ตที่มีอยู่ทั้งหมด 12 ตัวอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยการถ่ายทอดเสียงจากโน้ต 25 คีย์ ผ่านลำโพง 25 ตัว โดยลำโพงแต่ละตัวมีบทบาทเหมือนเป็นตัวละครที่ร่วมเล่นกันในโรงละครโรงใหญ่

ร้อยเรียงบรรเลงเสียงผสานกันอย่างมีเอกภาพ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ของศิลปะแห่งเสียงให้กับผู้ชม

ภายใต้การดูแลของคิวเรเตอร์ สุภิตา เจริญวัฒนมงคล และคิวเรเตอร์ร่วม บัญชา วงษ์โชติวัฒน์

และได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคจาก เขตน่าน จันทิมาธร นักแต่งเพลง/นักดนตรีทดลองมากฝีมือ ผู้รับบทบาทซาวด์ดีไซเนอร์และซาวด์เอดิเตอร์ของนิทรรศการ

และทศวัชร โชติวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ Ableton Live ที่ใช้ในการควบคุมระบบเสียง Surrounds System ของลำโพงทั้งหมดในนิทรรศการ

และยังเป็นผู้ออกแบบการติดตั้งจัดวางระบบเสียงในนิทรรศการครั้งนี้

เมธี ศิลปินเจ้าของผลงานกล่าวถึงที่มาของนิทรรศการครั้งนี้ว่า “นิทรรศการครั้งนี้เริ่มต้นจากโจทย์ของคิวเรเตอร์ที่ขอให้เราทำ Sound Art ขึ้นมา เราเลยคิดว่า ด้วยความที่เราเป็นคนชอบเล่นเกม VR (เกมเสมือนจริง) ที่เวลาเราเล่นเกมแล้วจะมีเสียงมาจากทางข้างหน้าหรือข้างหลัง และเราก็ชอบฟังแผ่นเสียงด้วย เวลาเราฟังเปียโนโซนาต้าเขาจะมีการไมกิ้ง (Miking) ที่เอาไมค์ตัวหนึ่งจับเสียงสูง อีกตัวจับเสียงต่ำ อีกตัวจับเสียงกลาง เวลาเราฟังถึงท่อนที่เปียโนเล่นเสียงสูง เสียงก็จะออกลำโพงขวา เสียงต่ำก็จะออกลำโพงกลาง เราก็เลยจินตนาการต่อว่า ถ้ามีลำโพง 25 ตัว สำหรับแต่ละเสียงของแต่ละคีย์เปียโน (เด็กเล่น) ล่ะ จะเป็นยังไง

ช่วงแรกๆ ของการคิดนิทรรศการนี้ จะเป็นเรื่องของการพยายามจะแหกกฎทฤษฎีดนตรี

แต่ตอนหลังเราก็มานั่งคิดว่า การทำ Sound Art ก็ไม่จำเป็นต้องแหกทฤษฎีดนตรีก็ได้ แค่เสียงเปียโนที่เพี้ยนก็กลายเป็น Sound Art ได้

เราก็มีการทดลองจูน (ปรับเสียง) เปียโนดู พอทำไปทำมา เราก็สนใจเรื่องเสียง Ambience (เสียงบรรยากาศ) ก็เลยคิดว่า นอกจากจูนเสียงเปียโนแล้ว เราจูนเสียง Ambience ด้วยดีกว่า

เราก็เอาเสียงเปียโนที่ถูกจูน มาเล่นกับเสียง Ambience เหมือนเราจำลองให้ห้องแสดงงานเป็นห้องแสดงคอนเสิร์ต โดยใช้เสียงเปิด-ปิดประตูห้องเป็นตัวกำหนด

อย่างเวลาที่มีเสียงเปิดประตู เราก็จะเปิดเสียง Ambience ให้เหมือนมีเสียงบรรยากาศมาจากข้างนอกห้อง

เวลาที่มีเสียงปิดประตู เราก็จะปิดเสียง Ambience ให้รู้สึกเหมือนเป็นห้องเก็บเสียง

เราต้องการเล่นกับความรู้สึกและการรับรู้เสียงของผู้ชม

ด้วยความที่โจทย์ของนิทรรศการที่ต้องการให้เสียงเป็นตัวเอกเป็นอะไรที่ค่อนข้างยาก เราเลยจัดแสงในห้องแสดงงานให้มืดสลัว เพราะโดยปกติ เวลาเราเสพงานศิลปะ เราจะใช้ตาดูเป็นหลัก แต่พอเป็นงานศิลปะที่ใช้เสียง เราเลยต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้ชมใช้หูฟังเป็นหลักแทน

เป็นการเล่าเรื่องด้วยเสียง เพื่อทำให้ผู้ชมเห็นภาพขึ้นมา

สมมุติเราจะเล่าฉากที่นักเปียโนเดินมา เราก็ต้องผสมเสียงให้เหมือนกับนักเปียโนเดินมาจริงๆ

ในส่วนนี้เขตน่านมาช่วยแนะนำว่า ปกตินักเปียโนน่าจะใส่รองเท้าหนัง เสียงเดินน่าจะเป็นประมาณนี้ แล้วก็น่าจะเดินช้าๆ หน่อย แต่ถ้ามีน้ำหกแล้วมีแม่บ้านมาทำความสะอาด หรือมีคนเข้ามาจูนเปียโน เสียงเดินก็อาจจะรีบๆ หน่อย เราก็ต้องเลือกเสียงใช้ Ambience เหล่านี้ในการเล่าเรื่องให้สมจริงขึ้น”

เขตน่าน ซาวด์ดีไซเนอร์และซาวด์เอดิเตอร์ผู้ร่วมออกแบบเสียงเสริมว่า

“ในนิทรรศการนี้พี่เมธีเป็นคนคิดคอนเซ็ปต์และสร้างมูฟ์เมนต์ (ดนตรี) ทุกอย่างที่อยู่ในผลงาน Sound Art ครั้งนี้ ส่วนตัวผมเข้ามาช่วยเป็นแขนขา ช่วยดูแลในเรื่องของเทคนิคการเล่าเรื่องที่พี่เมธีต้องการ

คือเขาต้องการสร้างเนื้อหาหลักของงานที่เกี่ยวกับ Twelve-tone ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องการสร้างความรู้สึกเหมือนมีการแสดงดนตรีอยู่ในห้องแสดงงาน Sound Art ครั้งนี้ ให้คนเข้ามาฟังเสียงดนตรีที่เกิดจากงานศิลปะแสดงสด

เหมือนกับเป็นการสร้างความเป็นจริงจำลองจากความเป็นจริงอีกทีหนึ่ง

เราก็เลยต้องทำทั้งเสียง Ambience จริง ที่บันทึกเสียงกันในหอศิลป์ อย่างเสียงเดินของนักเปียโน ที่เราเดินกันจริงๆ แล้วบันทึกเสียง เพราะต้องการความสมจริง

รวมถึงใช้เสียง Ambience ปลอมที่เป็นเสียงสังเคราะห์ เพื่อดึงให้คนฟังอยู่ร่วมกับการแสดง

ตอนแรกผมกับพี่เมธีเริ่มทำงานกันกับลำโพงสองตัว แต่พอมาถึงจุดที่เราถ่ายทอดเสียงด้วยลำโพง 25 ตัวในนิทรรศการ ก็จะเป็นส่วนที่ทศวัชรเข้ามาดูแล”

ทศวัชร ผู้ออกแบบและดูแลการติดตั้งจัดวางระบบเสียงกล่าวว่า “ตอนที่พี่เมธีบอกว่าอยากจะให้มีลำโพง 25 ตัว อย่างแรกเราก็วางระบบว่าจะใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์อะไร ที่จะสามารถสร้างแต่ละเสียงผ่านลำโพง 25 ตัวได้จริงๆ

สิ่งที่น่าตื่นเต้นก็คือ พอพี่เมธีกับพี่เขตน่านทำ Sound Art เสร็จออกมา เราก็ต้องมาเซ็ตระบบให้เสียงในห้องแสดงงานออกมาเหมือนจริงที่สุด

อย่างเช่น พี่เมธีอยากให้มีเสียงเดินจากประตูทางด้านขวาเข้ามาตรงกลางห้องแสดงคอนเสิร์ต เราก็ต้องมาดีไซน์เสียงกันหน้างานในห้องแสดงงาน ว่าทำยังไงจะให้เสียงออกมาเป็นแบบนั้นได้จริงๆ”

เมธีเสริมอีกว่า “ตอนแรกๆ ก็เป็นแค่เสียงเปียโนกับเสียงคนเดิน แต่พอทำแล้วก็เริ่มสนุก ก็เริ่มใส่เสียงหยดน้ำรั่ว เสียงแมวร้อง เสียงโน่นนี่ ทำไปทำมา กลายเป็น 500 กว่าแทร็กไปเลย คือในหนึ่งแทร็กจะเป็นหนึ่งเสียง อย่างเสียงเปียโนก็จะมี 25 แทร็ก หนึ่งโน้ตก็จะเป็นหนึ่งแทร็ก หรือว่าเสียงหยดน้ำ เสียงแมวร้อง ก็จะเป็นเสียงละแทร็ก พูดง่ายๆ ก็คือในงานนี้จะมีเสียงทั้งหมด 500 กว่าแทร็ก เป็นการใช้แทร็กเยอะที่สุดในชีวิตแล้ว

ตอนแรกเราคิดว่างาน Sound Art ในนิทรรศการนี้ จริงๆ ควรจะจบที่ประมาณ 10 นาที แต่ด้วยความที่เราใช้เวลาค้นคว้าเกี่ยวกับ Sound Art มาค่อนข้างนานเป็นปี และผมรู้สึกว่ายังมีแง่มุมหลายอย่างที่เราอยากจะนำเสนอในงาน เช่น การสดุดีศิลปิน Sound Art ที่เราชื่นชม อย่างผลงาน 4″33″” (หรือบทเพลงแห่งความเงียบที่นักดนตรีไม่ต้องเล่นอะไรเลยเป็นเวลา 4 นาที 33 วินาที) อันลือลั่นของจอห์น เคจ (John Cage) เราก็เอามาใส่ด้วย

แต่งานของจอห์น เคจ คนยังเห็นภาพนักดนตรีเดินไปเปิดสมุดโน้ตเพลงแล้วนั่งเงียบๆ แต่ของเราไม่มีอะไรให้เห็นเลย เราเอาเสียงมาเล่าเหตุการณ์นั้นอีกที

และสมัยของจอห์น เคจ เขาอาจจะทำให้เพลงนี้มีความยาว 4 นาที 33 วินาที แต่เรารู้สึกว่าคนสมัยนี้ใจร้อนกว่าก่อนหลายเท่า เราเลยลดเวลาลงให้เหลือ 43.3 วินาทีแทน

นอกจากนี้ ผมยังไปศึกษาเรื่องของจอห์น เคจ มาว่า ก่อนที่เขาจะทำงานชิ้นนี้ เขาทำอะไรมาเยอะมาก อย่างเช่น การ Prepared Piano หรือการเอาเปียโนมาดัดแปลงด้วยการใส่ส้อม ตะปู คลิปหนีบผ้าลงไปในสายเปียโน ซึ่งตรงนี้เขตน่านก็เข้ามาช่วยสร้างเสียง Prepared Piano โดยใช้เอฟเฟ็กต์เสียงสังเคราะห์

ผลงานในครั้งนี้ก็เลยมีความยาวเกือบชั่วโมง”

“ด้วยความที่เราเป็นนักดนตรี พอมีความรู้สึกว่าเราอยากทำอะไรใหม่ๆ เราก็เลยพยายามที่จะทำอะไรให้หลุดจากความเป็นนักดนตรี ช่วงแรกๆ ก็พยายามทำอะไรที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องเสียงสักเท่าไร แต่หันไปวาดรูปแทน

จนกระทั่งช่วงหลังๆ เราเริ่มรู้สึกว่าจริงๆ เสียง เป็นตัวตนของเรา ก็ไม่รู้จะหนีไปทำไม เลยเริ่มจากการออกแบบเครื่องดนตรีอย่างกีตาร์ก่อน

พอมาถึงนิทรรศการครั้งนี้เรามองว่าตัวเองเป็นศิลปินที่ทำงานเกี่ยวกับเสียง ช่วงแรกๆ ก็งงๆ อยู่พักใหญ่ เพราะพอเป็นเรื่องดนตรีที่เราถนัดหรือใกล้ตัวเกินไป จนเรามองไม่ออกว่าจะเป็นศิลปะได้ยังไง

ตอนเป็นนักดนตรี อย่างมากสุดเราก็อาจจะทำดนตรีทดลอง แต่ก็ยังเป็นการทำเพลงให้คนฟังอยู่ดี

แต่ในงานนี้เราทำเพลงให้กลายเป็นงานศิลปะ เป็น Sound Art ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องประนีประนอมกับคนฟัง เป็นการสื่อสารทางศิลปะที่ไม่จำเป็นต้องเอ็นเตอร์เทนคนดู

แต่จุดมุ่งหมายจริงๆ เราก็อยากทำงาน Sound Art ที่คุยกับคนได้ ไม่ได้อยากทำอะไรที่คนฟังไม่รู้เรื่อง เรายังอยากสื่อสารกับคนอยู่ ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่เราก็อยากลองคุยกันดู ว่าผู้ชมผู้ฟังจะรับรู้ได้ประมาณไหน”

เมธีกล่าวทิ้งท้าย

ถึงจะบอกว่าเป็นงาน Sound Art ที่ต้องเสพด้วยหู แต่นิทรรศการนี้ก็ยังมีการสื่อสารสำหรับการมองด้วยตา ด้วยการจัดวางลำโพงในลักษณะที่ดูคล้ายกับคีย์เปียโน ที่มีความลดหลั่นสูงต่ำแตกต่างกัน

ซึ่งนอกจากจะมีผลต่อการให้เสียงแล้ว จังหวะการเรียงลำดับและการจัดวางลำโพงหน้าตาสวยงามเก๋ไก๋เหล่านี้ก็ยังสร้างความเพลิดเพลินทางสายตาให้ผู้ชมอย่างเราไม่น้อยเหมือนกัน

นิทรรศการ Thru Air on Key Strings จัดแสดงระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม – 15 ธันวาคม 2562 ณ ห้องแสดงนิทรรศการชั้น 2 หอศิลป์ ศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อีเมล [email protected] หรือ โทร. 0-2662-0299, 0-2258-5580 ต่อ 401

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์ ภาพถ่ายโดย ปรีชา ภัทรอมรชัย