ความพ่ายแพ้อนาคตใหม่ จากบทเรียนพลังธรรม ถึงเวลาที่ต้องทำมากกว่าพูด

“ความพ่ายแพ้ของพรรคอนาคตใหม่ที่สนามเลือกตั้งซ่อม จ.นครปฐม ไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมาย คุณต้องไม่ลืมว่า นามสกุลเก่า-ความเป็นเจ้าของจังหวัดเขายังมีอยู่ เขามีกระสุนเยอะมาก ในที่นี้หมายถึงอิทธิพลความรู้จากในหมู่ประชาชนง่ายและบารมีที่เคยทำอะไรต่ออะไรไว้ให้จังหวัด ผมเองเป็นห่วงอนาคตใหม่ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แล้วก็คิดว่าอนาคตใหม่รู้ตัวดี ถ้าเป็นนักวิเคราะห์การเมือง ศึกนี้คือศึกหนัก แล้วขอใช้คำว่า “ซ้ำร้าย” รัฐยังเป็นใจเพราะคุณเลือกตั้งไม่ใช่วันอาทิตย์ คุณก็รู้อยู่ว่าเอกชนที่เขาจ้างพนักงานรายวันถ้าหยุด=โดนตัดเงินแน่ ไม่มีใครยอมหยุด เขาต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองก็ทำให้ไม่ได้ไปเลือกตั้ง” รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีรัฐศาสตร์ รามคำแหง มองถึงความพ่ายแพ้ของการเลือกตั้งซ่อมหนล่าสุด

รศ.อัษฎางค์เชื่อว่าการเมืองไทยไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่ อาจจะมีราษฎรจำนวนหนึ่งเงินไม่มากาไม่เป็น อย่าไปคิดมาก

“แต่ผมไม่ได้หมายความว่าหนนี้จะเป็นการตัดสินพรรคอนาคตใหม่ทั้งหมด อย่างที่สื่อบางช่องพยายามชี้ว่านี่คือชะตากรรมขาลงของอนาคตใหม่ ผมเองก็มองว่าอนาคตใหม่ยังไปได้ แต่ต้องถอดบทเรียนว่า เป็นเพราะอะไรที่คะแนนหายไปหลายพัน ก็ถือเป็นประสบการณ์อนาคตใหม่ที่มีศัตรูใหญ่คืออำนาจรัฐ จะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร ซึ่งมันจะต้องทยอยมีเรื่องราวมาอีกเรื่อยๆ”

“ผมมองดูแล้วที่ปรึกษาของเขายังมองการเมืองไทยไม่ชัด อาจจะมองไกลไปมาก ไม่ได้มองปัจจุบันหรือเรื่องใกล้ตัว ต้องถอดบทเรียนว่าคนไทยยังจมปลักอยู่กับอะไร”

“ขณะเดียวกันผมไม่แน่ใจว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของบุคลากรในพรรคเขาจะชัดเจนทั้งหมด ความสามัคคีเป็นหนึ่งและมีอุดมการณ์ ผมมองว่าไม่ใช่แน่นอน! แล้วขอยืนยันว่านักการเมืองที่เขาเลือกเข้าไป หน้าใหม่หลายคน ถือว่าเลือกผิดเยอะ! อาจจะด้วยความประมาทหรือปล่อย-หลวมเกินไป”

“พูดคุยคัดกรองกันน้อยเกินไป คุณต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่ารัฐประหารเมื่อไหร่เมื่อมีเลือกตั้งและมีการตั้งพรรคการเมืองต้องใช้เงินมหาศาล เพราะแต่ละจังหวัดมีเจ้าของอยู่ และพรรคอนาคตใหม่ยังปรับตัวไม่เข้ากับสภาพสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมทางการเมืองกับสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตทำมาหากินมันแตกต่างกันมาก ต้องมองในแง่ความเป็นจริงบ้าง อาจจะฝันจินตนาการสังคมแบบหนึ่ง แต่การที่จะเอาประชาชนข้างล่าง-รากหญ้า-ชาวนา-ชาวบ้านที่เป็นหัวใจให้ได้ คุณต้องไป เข้าถึง ให้เขาจับต้องได้ แต่บางเรื่องต้องหยุดอย่าไปยุ่ง!”

“พิจารณาถึงวิธีการคัดกรองบุคคลสมัครเข้าเป็นผู้สมัคร ส.ส.ของเขาต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ ต้องมีวิธีการคัดเลือกที่ดีกว่าเดิมจริงๆ มันต้องศึกษาให้ละเอียดและลึก ว่าเขาเรียนที่ไหนจบจากไหนมีเพื่อนยังไงจะได้ไม่มีลักษณะอย่างที่ออกมาแถลงข่าว ไม่อย่างนั้นกรณีงูเห่าสีส้มจะมีเคสแบบนี้อีกเยอะ”

“ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางคนก็อาจจะมองเรื่องของตัวเลขจริงๆ หากได้รับการสมนาคุณที่สูง ในชีวิตนี้ก็ไม่ต้องทำงานแล้ว เอาเงินไปฝากก็กินเงินไป แต่จะลงใหม่ไม่ได้อีกแล้ว ผมท้าเลยลองให้คนที่มีปัญหาไปลงใหม่เขาจะได้สักกี่คะแนน แล้วผมขอแนะนำเลยว่าสนามที่เหลือคุณต้องจับมือกับพรรคฝ่ายค้าน อย่าส่งไปชนกัน คุณควรเลือกจังหวัดที่สามารถแผ่ขยายพื้นที่ได้ เช่นระยอง จันทบุรี”

“หาคนที่เหมาะสมดีๆ ทำพื้นที่ ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะรักษาพื้นที่ได้”

“อนาคตใหม่ยังต้องทำการบ้านอีกเยอะมาก ห้ามหยุดลงพื้นที่ ถ้าคิดว่าจะสู้ต่อ ก็ต้องลงพื้นที่ต่อเนื่อง ต้องนั่งคิดว่าทำยังไงให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าได้รับการเอาใจใส่ ชาวบ้านรู้สึกสัมผัสได้ เข้าใจความต้องการคนในพื้นที่ หรืออย่างกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจคือการชนะอย่างถล่มทลายของฝ่ายประชาธิปไตยกรณีเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ ของคุณศรีนวล บุญลือ ผมมองว่าถ้าคุณศรีนวลเจอข่าวที่ว่าไปพบฝ่ายรัฐบาลบ่อยๆ ก็จะแพ้ครั้งหน้าแน่นอน!”

“สนามเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าคนตื่นตัวการเมือง เพราะคนรู้สึกไม่มีความหวัง แล้วเขาใช้สื่อโซเชียลมีเดียถึงคนมันก็มีความแปลกใหม่ลองให้โอกาสพรรคนี้ดู กระแสกำลังไต่ขึ้นเรื่อยๆ ถ้าให้ผมเปรียบเทียบมันเหมือนกระแสของพรรคพลังธรรมเมื่อปี 2535 แต่ถ้าเขาเจออะไรสะดุดเมื่อไหร่ก็มีสิทธิ์ร่วงหล่น ถ้าทะเลาะกันภายในหนักๆ ก็เลิกเลยใน 3-4 ปี ต้องไปถอดบทเรียนแล้วดูตัวอย่างของพลังธรรมให้ดี กระแสมันมาได้ชั่วคราว”

“แต่การรักษากระแสนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องรักษาความจริง รักษาสิ่งที่ตัวเองเป็นจุดแข็งได้ ก็ใช้ประสบการณ์ตรงนี้ในการพิจารณาว่ามีข้อบกพร่องอะไร แล้วปรับแก้ไขทันที”

“ส่วนกรณีที่มีสื่อบางช่องวิเคราะห์ว่ากรณีคือทิศทางว่าหลังจากนี้มองให้เป็นขาลง ผมคิดว่าจะเพียงเขตเดียวไม่ได้ เพราะไม่ได้เกิดแรงกระเพื่อมอะไรมากนัก เป็นเรื่องของความผิดหวัง ว่าทำไมได้ไม่เท่าเก่า ก็ย้ำอีกครั้งว่ามาจากองค์ประกอบหลายปัจจัย ที่ต้องไปทำการบ้าน แต่ยังไงเสียการเมืองก็ยังคงหนีไม่พ้นการทุ่มทุน ความมีอิทธิพลหรือเป็นเจ้าของจังหวัดอยู่ เขาก็ลงทุนลงแรง แพ้ไม่ได้ ซึ่งถ้าให้มองไปในการเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป อย่างในสมุทรปราการผมก็มองว่าอำนาจรัฐก็ยังคงได้เปรียบผู้มีอิทธิพลเจ้าพ่อใหญ่ยังคงใกล้ชิดกับรัฐบาล แต่ขอนแก่นส่วนตัวผมมองสวนกระแสว่ายังคงเป็นเพื่อไทย”

“หลังจากนี้ ผมก็เชื่อว่ายังเป็นไปได้ที่จะเกิดเรื่องของ ส.ส.แตกแถว เขาอาจจะเจอข้อเสนอที่จูงใจมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมมองว่าไม่ใช่แค่เพียงฝ่ายค้านนะ ถ้าเกิดการดูแลไม่ดีในฝ่ายรัฐบาลเหมือนกันเสียงก็เปลี่ยนได้ อย่างที่มีการขาดประชุมหลายคนก็ต้องไปเช็กว่าเป็นเพราะอะไรทำไมถึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้น จะหยุดยั้งอย่างไร ผมยังเชื่อมั่นว่างูเห่ามีโอกาสเกิดขึ้นอีกเพราะคนเหล่านี้ไม่เคยพอใจในสิ่งที่ตัวเองได้รับ”

“แม้กระทั่งกระแสข่าวการโจมตีคณะกรรมการบริหารพรรคกับคนสนิทที่จะได้ดิบได้ดีหรือเป็นเครือข่ายของชนชั้นนำในพรรค ถ้ามีข่าวแบบนี้ออกมา แล้วเป็นเช่นนั้นจริง นี่ไม่ใช่การเมืองใหม่แล้ว กลายเป็นโบราณกว่าเดิมอีก ที่เอาอำนาจไว้แค่เพียงกลุ่มก๊วนกรรมการบริหารพรรค และคนใกล้ชิด คุณต้องรีบไปแก้คำครหาเหล่านี้ แล้วไปวางระบบใหม่ให้แข็งแรง ไปทำระบบสาขาพรรค นำระบบโหวตกันภายในเข้ามาคัดเลือกตัวแทนให้ดีที่สุด”

“หาวิธีให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมเป็นตัวแทนของเราจริงๆ”

รศ.อัษฎางค์ฝากบทเรียนที่ส่งท้ายถึงอนาคตใหม่ว่า

“คุณต้องไม่ผิดคำสัญญา แล้วไม่ต้องรีบพูดอะไรทั้งนั้นขอให้ลงมือทำเยอะๆ เพราะการเมืองเก่าพูดเยอะทำน้อย-ไม่ค่อยทำ อนาคตใหม่ก็ต้องเอาบทเรียนตรงนี้มาใช้ไม่ต้องพูดมาก ไปลงมือทำให้เห็นมากๆ ผมเองถ้าเป็นอนาคตใหม่ผมรู้ตัวว่าหากถูกทุบตีทุกวันผมก็จะต้องหานโยบาย หรือทางที่พยายามหลีกเลี่ยงสภาวะตรงนั้นให้ได้ เปลี่ยนให้เป็นการกระทำ ก็อยากให้เลือกหรือดำเนินการโครงการหลายๆ อย่างในบางพื้นที่ ที่เอาใจประชาชนเป็น เช่นเรื่องสาธารณสุขที่น่าจะซื้อใจคนได้ หรือการเมืองแบบใหม่ๆ ที่ควรจะเป็น เช่น ผมอยากรู้ว่ามีใครกล้าพูดหรือไม่ว่า คณะกรรมาธิการชุดไหนไม่ยอมไปเที่ยวช่วงปิดสมัยประชุม มีอนาคตใหม่ลุกขึ้นมาพูดไหมว่าจะขอถอนตัว คุณต้องเล่นการเมืองใหม่ๆ บ้าง”

“ที่สำคัญถ้ายิ่งรู้ว่ามีศัตรูมาก เรายิ่งอย่าไปท้อถอย เราต้องอดทนให้มากขึ้น ทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมให้มากขึ้น ถ้าเรารู้ว่าบทบาทแบบไหนคนไม่ชอบเราก็เลิกซะ วางบทบาทให้ไปในทางที่คนชอบมากขึ้น ไปซื้อใจเรื่องนโยบายมากขึ้น ให้ประชาชนเขารู้สึกว่ามีคุณภาพในการดำรงชีวิต การศึกษา,สาธารณสุข นำสองสิ่งนี้มาปรับใช้ให้มากที่สุด”

“ควรเอาคำของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาใช้คิดนโยบายคือ ตั้งแต่ครรภ์มารดา..สู่เชิงตะกอน มาวางเป็นงาน ให้พรรคลงไปดำเนิน แม้ว่าจะไม่ใช่รัฐบาลแต่คุณเป็น ส.ส.คุณก็สามารถผลักดันอะไรได้หลายอย่าง