จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 1-7 พฤศจิกายน 2562

จดหมาย

 

0 ผู้พิพากษา

เรียนบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์

กรณีท่านผู้พิพากษายิงตัวเอง

โปรดย้อนหลังไปถึงท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานศาลฏีกา

กรณีพลเอกสุรจิต จารุเศรณี คดีสัมปทานป่า

ไม่มีผู้พิพากษาท่านใดยอมขึ้นบัลลังก์

อาจารย์สัญญาท่านพิพากษาเอง ลงโทษจำคุกจำเลย

แล้วท่านก็ออกจากประธานศาลฎีกา และได้รับการแต่งตั้งเป็นองคมนตรี

โปรดลองพิจารณาย้อนหลังเป็นกรณีศึกษา

ตะวันรอน อ.ลอง จ.แพร่

 

สนใจ

ลองค้นในกูเกิล

ได้อ่าน

วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า

ของจันทนา ไชยนาเคนทร์

ชื่อเรื่องการเมืองในสมัยนายกรัฐมนตรีพระราชทาน สัญญา ธรรมศักดิ์ (พ.ศ.2516-2518)

มีการระบุถึงกรณีนี้ว่า

สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเรียนจบกฎหมายจากอังกฤษ

แม้เป็นผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่ พ.ศ.2477

แต่ถูกดึงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้ง

อาทิเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการพิเศษสอบสวนหาความจริงในกรณีสวรรคต

ยุคต้านภัยคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้าไปเรียนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 1

พร้อมนายทหารคนสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นพลโทถนอม กิตติขจร พล.อ.ท.ทวี จุลละทรัพย์, พล.อ.ท.บุญชู จันทรุเบกษา

พล.ต.ประภาส จารุเสถียร, พล.ต.ประเสริฐ รุจิรวงศ์

รวมถึง พล.ท.สุรจิตร จารุเศรณี ด้วย

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ปฏิวัติครั้งแรก

ได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ส.ประเภทที่ 2 และรองประธานสภาฯ คนที่ 2

ในการปฏิวัติครั้งที่ 2 ของจอมพลสฤษดิ์

ถูกแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในสมาชิกของ “คณะปฏิวัติ”

และได้รับเลือกให้เป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ยาวนานที่สุดในโลก

 

ระหว่างนั้นสัญญา ธรรมศักดิ์ ยังคงดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาอยู่ด้วย

และได้รับตำแหน่งประธานศาลฎีกาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2506

ขณะที่เป็นประธานศาลฎีกาปีสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.2510

ได้ตัดสินคดีนักโทษการเมืองคดีสำคัญ

ซึ่งเป็นที่สนใจของประชาชนว่าอาจจะถูกการเมืองเข้าแทรก

นั้นคือการตัดสินคดีกินป่าของ พล.อ.สุรจิต จารุเศรณี หนึ่งในผู้ร่วมก่อการปฏิวัติกับจอมพลสฤษดิ์

แต่คดีดังกล่าวนี้สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งนั่งบัลลังก์สูงสุด

ได้ตัดสินให้ พล.อ.สุรจิตต้องจำคุกตลอดชีวิต

จากกรณีดังกล่าวนี้ได้สร้างชื่อให้กับสัญญา ธรรมศักดิ์เป็นอย่างมากว่าเป็นผู้ที่มีความยุติธรรม

เมื่อเกษียณอายุราชการได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี

และหลัง 14 ตุลาคม 2516 เป็นนายกฯ พระราชทาน

ส่วนปัจจุบัน

เรากำลังรอผลการสอบสวน

กรณีผู้พิพากษายิงตัวเอง

 

0 ผู้ประกาศ

เรียนมติชนสุดสัปดาห์

เนื่องด้วยบทความของคุณคำ ผกา

ในหน้า 96-97 ของมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 25-31 ตุลาคม 2562 นั้น

ปรากฏคำว่า “ปกาศก” ในบทความ 2 ครั้ง

ซึ่งผมได้ไปค้นหาความหมายของคำนี้

ปรากฏว่า ไม่พบความหมายของคำนี้

จากทวีพงษ์

ปล. ช่วยบอกคุณคำ ผกาด้วยว่า

คำใดที่ใช้ภาษาไทยได้

กรุณาใช้เถอะครับ อย่าใช้คำภาษาอังกฤษ เลยครับ

 

คําผกา

เธอเขียนไว้

ดังนี้

“…นอกจากขังตัวเองไว้ใน echo chamber ของโซเชียลมีเดียแล้ว

ยังพยายามเสาะแสวงหา “ปกาศก” ของคน “ฝั่งเรา”

— ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่สื่ออย่างตัวฉันเองประสบ

นั่นคือแทนที่จะถูกมองว่าเป็นสื่อ

กลับถูกคาดหวังให้เป็น “ปกาศก” ของกองเชียร์ฝั่งประชาธิปไตยไป…”

คำ ผกาตั้งใจให้ปกาศกหมายถึง “ผู้ประกาศ” หรือโฆษกฯ

ทั้งนี้ในพจนานุกรมฉบับ มติชน

ระบุว่าผู้ประกาศ : ประกาศก (ปฺระ-กา-สก) (น.ผู้ประกาศ) (ส.ปฺรกาศก)

ดังนั้นหากจะใช้โดยอนุโลม

ต้องใช้ปฺรกาศกจึงจะหมายถึงผู้ประกาศ

มิใช่ปกาศก

ขออภัยแทนคำ ผกา และตามเคย “มติชนสุดสัปดาห์ “ในฐานะ “ด่านสุดท้าย

ย่อมต้องขออภัยเพิ่มเป็น 2 เท่า

 

ปล.บางทีก็เป็นสไตล์ ส่วนตัวที่ใช้ภาษาอังกฤษแล้วสื่อตรงความทันที จึงเลือกใช้ กระนั้นเชื่อว่าคำ ผกาคงรับฟังคำชี้แนะของคุณทวีพงษ์ด้วยความขอบคุณ