ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ทำไม “นางนพมาศ” จึงรู้จักประเทศอเมริกา?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

มักจะมีการเล่าต่อๆ กันมาว่า “นางนพมาศ” เป็นผู้ประดิษฐ์นวัตกรรมมัลติฟังก์ชั่น ที่ใช้สำหรับลอยทุกข์โศก และโรคภัยให้ไปกับน้ำ ควบไปกับการขอขมาลาโทษพระแม่คงคา ที่ทำให้แม่น้ำสกปรก (ด้วยการเพิ่มขยะลงไปในน้ำมันซะอย่างนั้น) ที่เรียกว่า “กระทง”

และก็คงจะเป็นผลบุญมาจากการที่ประดิษฐ์นวัตกรรมอัจฉริยะชิ้นนี้ขึ้นมาเป็นส่วนสำคัญนี่แหละครับ ที่ส่งเสริมให้ “พระร่วงเจ้า” ผู้เป็นกษัตริย์แห่งเมืองสุโขทัยในขณะนั้น ยกฐานะนางขึ้นมาเป็น “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ซึ่งก็คือตำแหน่งสนมเอกของพระร่วง

ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า “นางนพมาศ” ได้ดีเพราะ “กระทง” ก็คงไม่ผิด

 

เรื่องราวข้างต้น มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือเก่าฉบับหนึ่งที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” หรือบางทีก็เรียกว่า “เรื่องนางนพมาศ”

ฉากหลังของหนังสือเก่าแก่เล่มนี้ เดินเรื่องอยู่ในเมืองสุโขทัย เมื่อครั้งที่เป็นราชธานี (ถึงแม้ว่าอันที่จริงแล้ว เมืองสุโขทัยจะไม่เคยเป็นราชธานี หรือเมืองหลวงของคนไทยเลยก็เถอะ) โดยมี “พระร่วง” พระองค์เดียวกันกับที่ยกนางนพมาศขึ้นเป็นสนมเอก เป็นกษัตริย์ปกครองอยู่

แต่ “พระร่วง” ในที่นี้จะหมายถึงกษัตริย์ของสุโขทัยพระองค์ไหน? หนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ไม่ได้ระบุเอาไว้ชัด

คำว่า “พระร่วง” เองก็เป็นชื่อเรียกกษัตริย์ผู้มีบุญ ตามธรรมเนียมของสุโขทัย ไม่ได้หมายถึงกษัตริย์พระองค์ใดเป็นการเฉพาะเจาะจง ดังนั้น จึงจะหมายถึงใครก็ได้ และถ้าจะว่ากันให้ถึงที่สุดแล้ว ก็อาจจะเป็นตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ฉบับบนี้ ก็อาจจะ “นิทาน” มันทั้งดุ้น เหมือนอย่างตำนานเรื่องพระร่วงอีกหลายๆ เรื่อง และหลายๆ สำนวน

ดังนั้น จึงน่าแปลกใจอยู่เหมือนกัน ที่ใครต่อใครหลายคนต่างพากันยกให้ “พระร่วง” ในหนังสือเก่าเก็บเล่มที่ว่า เป็นพระร่วงเดียวกันกับ “พ่อขุนรามคำแหง” แบบไม่มีที่มา และที่ไปอะไรเลยสักนิดมันเสียอย่างนั้น

แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้มีความเชื่อที่ว่า การประดิษฐ์กระทง (และมักจะเลยเถิดไปถึงกำเนิดของประเพณีลอยกระทง) เกิดขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เมื่อ 700 กว่าปีก่อน มันเสียอย่างนั้น

 

ถ้าเมืองสุโขทัยของนางนพมาศอยู่ในยุคสมัยเดียวกับพ่อขุนรามคำแหง เมื่อ 700 ปีก่อนจริง อย่างที่เล่าลือกันนี่ก็คงจะเป็นเรื่องที่แปลกเอาการเลยทีเดียวนะครับ

เพราะตอนหนึ่งของหนังสือฉบับนี้คือตอนที่ว่าด้วย “ชาติและภาษาต่างๆ” ในกรุงสุโขทัยขณะนั้น กลับพูดถึง “ฝรั่งมะริกันภาษา”

“ฝรั่งมะริกัน” นั้นก็คือ “อเมริกันชน” นั่นแหละ

ส่วนคำว่า “ภาษา” คือหน่วยและมาตรวัดในการจำแนกผู้คนออกเป็นกลุ่มต่างๆ แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อ ยอร์ช วอชิงตัน ประกาศเอกราชจากชาติเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ เมื่อช่วงก่อนสถาปนากรุงเทพฯ แค่ไม่ถึง 10 ปี

และเมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้แล้ว “นางนพมาศ” ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยของพ่อขุนรามคำแหง เมื่อ 700 กว่าปีก่อน จะมารู้จักประเทศ “สหรัฐอเมริกา” ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ และมีอายุยังไม่ครบ 300 ปีเลยด้วยซ้ำได้อย่างไรกัน?

 

การมีชื่อประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ก็เป็นเหมือนกับอีกหลายๆ กรณีที่ชี้ให้เห็นว่า พระร่วงเจ้าที่ถูกอ้างถึงนั้นคงจะไม่ใช่พ่อขุนรามคำแหง และคงจะไม่ใช่กษัตริย์สุโขทัย อันที่จริงแล้ว หนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์คงจะเป็น “เรื่องแต่ง” มากกว่าที่จะนำมาใช้เป็น “หลักฐานทางประวัติศาสตร์” ว่ากระทง และประเพณีลอยกระทงเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยได้

และอันที่จริงแล้ว บุคคลระดับ “บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” อย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงเป็นผู้อธิบายเอาไว้เองว่า ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือเรื่องของนางนพมาศนั้นเป็นงานที่เขียนขึ้นในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 3 นี้เองเท่านั้น

แถมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังเชื่อลึกลงไปอีกด้วยว่า งานชิ้นนี้อาจจะเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3 ด้วยซ้ำไป เพราะทรงมีลายพระหัตถ์ส่งตรงจาก Cinnamon Hall ที่ประทับของพระองค์ขณะลี้ภัยการเมือง อยู่ที่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ถึงนักปราชญ์คนสำคัญอีกท่านหนึ่งอย่างพระยาอนุมานราชธน ที่อยู่ในประเทศไทย ณ ขณะนั้น ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2479 ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า

“…หนังสือเรื่องนางนพมาศซึ่งฉันเข้าใจว่าสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์…”

และถ้าหากว่าจะเชื่อตามที่พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย อย่างที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้แล้ว เรื่องที่อ้างอยู่ในหนังสือเก่าเล่มดังกล่าวว่า “นางนพมาศ” เป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์ “กระทง” ขึ้นในกรุงสุโขทัยนั้น ที่จริงก็เป็นเพียงนิยายเรื่องหนึ่ง ที่อาจจะแต่งขึ้นเพื่ออธิบายเหตุ (หรือจะเป็นเหตุผลอื่นก็ไม่ทราบ?) ไม่ต่างไปจากนิยายอีกหลายๆ เรื่องในประวัติศาสตร์ชาติของเราเท่านั้นเองนะครับ

แถมชื่อตำแหน่ง “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ของนางนพมาศนั้น ก็ไม่ใช่ชื่อตำแหน่งในราชสำนักสุโขทัยเสียด้วยซ้ำไป

 

ถึงแม้ว่าในศิลาจารึกของสุโขทัยบางหลักคือ จารึกหลักที่ 93 วัดอโสการาม จะปรากฏชื่อ “สมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์อัครราชมเหสีเทพยธรณีดิลกรัตน์” เช่นเดียวกับจารึกหลักที่ 286 วัดบูรพาราม ที่เรียกชื่อพระมเหสีของพระมหาธรรมราชาองค์นี้เอาไว้ว่า

“สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์อัครมหิศิเทพยธรณีดิลกรัตนบพิตรเป็นเจ้า” แต่คำว่า “ศรีจุฬาลักษณ์” ในจารึกทั้งสองหลักที่ว่าดูจะเป็นชื่อคน มากกว่าที่จะเป็นชื่อตำแหน่ง เพราะนางนพมาศนั้นถูกยกตำแหน่งขึ้นเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์นะครับ ไม่ใช่ชื่อศรีจุฬาลักษณ์มาแต่เดิม ในขณะที่วัฒนธรรมอยุธยา (ที่จะสืบเนื่องต่อมาธนบุรี และรัตนโกสินทร์) นั้นมีชื่อตำแหน่งนี้ระบุอยู่ในเอกสารเก่าอย่างชัดเจน

ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งตราขึ้นเมื่อ พ.ศ.1998 ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา มีข้อความระบุถึงชื่อตำแหน่งสนมเอกทั้ง 4 ได้แก่ อินทรสุเรนทร, ศรีสุดาจันทร์, อินทรเทวี และศรีจุฬาลักษณ์

แน่นอนว่าก็คือตำแหน่ง “ศรีจุฬาลักษณ์” เดียวกันกับที่พระร่วงพระราชทานให้กับ “นางนพมาศ” นั่นแหละครับ

ตำแหน่งสนมเอกทั้ง 4 ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนฯ มักจะเรียกกันว่า “พระสนมเอก 4 ทิศ” เพราะแต่ละตำแหน่งผูกโยงอยู่กับเครือข่ายเชื้อพระวงศ์ของอยุธยา กับเชื้อพระวงศ์จากกลุ่มเมืองสำคัญต่างๆ คือ ราชวงศ์อู่ทอง จากเมืองละโว้ (ลพบุรี), ราชวงศ์สุพรรณภูมิ จากเมืองสุพรรณบุรี, ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช จากเมืองนครศรีธรรมราช และราชวงศ์พระร่วงจากสุโขทัย

ถึงแม้ว่าจะยังมีการถกเถียงเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับชื่อสนมเอกแต่ละตำแหน่งว่าเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ไหน? จากเมืองอะไร? อยู่บ้าง โดยในส่วนของตำแหน่ง “ศรีจุฬาลักษณ์” นั้น มีทั้งผู้ที่เสนอว่า เกี่ยวข้องกับราชวงศ์พระร่วง จากสุโขทัย และเกี่ยวข้องราชวงศ์สุพรรณภูมิ แห่งสุพรรณบุรี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตำแหน่งนี้ก็เป็นตำแหน่งสนมเอกในพระมหากษัตริย์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ใช่ว่าจะเป็นตำแหน่งของสนมเอกในราชสำนักสุโขทัย อย่างที่ในหนังสือเจ้าปัญหาฉบับนี้เคลมเอาไว้เสียเมื่อไหร่กัน?

และหากจะพิจารณาถึงการที่หนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือเรื่องของนางนพมาศ กำหนดให้พระร่วงมอบตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ให้กับนางนพมาศ ก็ชวนให้คิดถึงความสัมพันธ์ของตำแหน่งสนมเอกนี้ กับเมืองสุโขทัย ราชวงศ์พระร่วง ในความรับรู้ของคนสมัยรัตนโกสินทร์ มากกว่าที่จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับราชวงศ์สุพรรณภูมิอยู่ไม่ใช่น้อย

ดังนั้น เรื่องที่นางนพมาศประดิษฐ์กระทงขึ้นที่กรุงสุโขทัยนั้น จึงเป็นจินตนาการของคนในยุครัตนโกสินทร์ ที่เชื่อมโยงสุโขทัยเข้าด้วยชื่อตำแหน่งในราชสำนักอยุธยา (ที่สืบเนื่องอุดมคติมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์) ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์พระร่วง แห่งเมืองสุโขทัย เพราะราชสำนักสุโขทัยคงจะไม่เอาชื่อตำแหน่งสนมเอกจากราชวงศ์พระร่วงของราชสำนักอยุธยา มาใช้กับราชสำนักตัวเองหรอกนะครับ

ชื่อหนังสือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” นี่แหละครับ ที่เป็นหลักฐานชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่งว่า กระทงไม่ได้ประดิษฐ์ขึ้นในราชสำนักสุโขทัย และจึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดที่นางนพมาศในหนังสือเรื่องนี้ จะรู้จักฝรั่งอเมริกา