E-DUANG : ศึกษา”องคุลีมาล”ในสถานการณ์”ปรองดอง”

ไม่ว่าจะเป็นแฟน”กำลังภายใน”ผ่านด้านภาพยนต์ หรือผ่านด้านตัวหนังสือล้วนคุ้นชินกับ “สำนวน”

“พอวางดาบก็เป็นอรหันต์”

คล้ายกับสำนวนนี้จะสรุปจากบทเรียนของ “องคุลีมาล”อันเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล

ความหมายก็คือ เป็นการตัดสินใจที่เปลี่ยนชีวิต

เป็นการเปลี่ยนชิวิตจาก “จอมโจร” กลายเป็น “สมณะ” อยู่ในร่มเงาแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

และที่สุดก็บรรลุความเป็น “อรหันต์”

วิถีแห่ง “องคุลีมาล” สะท้อนการยอมรับ นับถือต่อสิ่งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ “คำชี้แนะ”

“เราหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด”

การนำเอาสำนวน “วางดาบก็เป็นอรหันต์”มาเสนอในสถาน การณ์และบรรยากาศ “ปรองดอง” จึงทั้งชวนให้คิด ชวนให้พิจารณา

มี “ความเป็นไปได้” มากน้อยเพียงใด

 

หากประเมินจากกรณี”รองอธิบดี”ขโมยภาพที่ญี่ปุ่น หากประเมินจากกรณี”วิศวกร”ลั่นกระสุนใส่วัยรุ่น

จะสัมผัสได้ในลักษณะ “ดราม่า”

เป็นสภาพ “ดราม่า” อันสะท้อนถึงความขัดแย้ง แตกขั้วในทาง “ความคิด”ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย

ที่เห็นใจก็มี ที่ด่าว่าก็มี

ความคิด ความเห็นที่แสดงออกดำเนินไปในลักษณะ “สุดขั้ว” และ “สุดโต่ง”

แทบหาจุดกลางๆไม่พบ แยกขาวดำ ชัดแจ้ง

ลักษณะสุดโต่งในทางความคิดนี้มิได้เป็นของแปลก มิได้เป็นของใหม่ หากแต่เป็นสภาพทั่วไปในทางสังคมอยู่แล้ว

เพียงแต่ระยะหลังทวีความรุนแรง เข้มข้น

ทั้งมิได้จำกัดเพียงแต่ทัศนะในทางสังคม หากแต่ยังแพร่ขยายกระจายไปยังในทาง “การเมือง”

ต่างเอาชนะ คะคาน ไม่ยอมต่อกัน

 

ถามว่า “ระยะหลัง” ที่ว่านี้พอจะตอบได้หรือไม่ว่ามีความยาวนานเพียงใด

ตอบได้เลยว่า 10 กว่าปี

หากจัดระบบอย่างย่นย่อก็คือ ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และต่อเนื่องมากระทั่งหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

คือ เกิดขึ้นและดำรงอยู่จน”ปัจจุบัน”

ในที่สุด ก็เกิดความรู้สึกในลักษณะ”ร่วม”ว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะหันหน้าเข้าหากัน นั่นก็คือ จำเป็นต้อง “ปรองดอง”

กระนั้น การปรองดองจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเด็ดขาดหากไม่ยึดกุมหลักคิดที่จะ “ถอยกันคนละก้าว”

การถอยก็คือ การยอมเสียสละ เหมือนที่ “องคุลีมาล”วางดาบและหยุดการเข่นฆ่า จึงได้รับยกย่องว่า “วางดาบก็เป็นอรหันต์”

ประเด็นอยู่ที่ว่า ใครบ้างที่สมควร”ถอย”ในสังคมไทย