ปีกอนุรักษ์-ทุนอุปถัมน์ โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่12 / สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

————————

ปีกอนุรักษ์-ทุนอุปถัมน์

—————————–

พรรคอนาคตใหม่ ตอนนี้ชัดเจน กำลังเผชิญ การต่อต้าน อย่างเป็นรูปธรรม 2 แนวทางใหญ่

แนวทางแรก

ดำเนินไปตามเนื้อหาการบรรยาย “แผ่นดินของเรา ในมุมมองด้านความมั่นคง” ของพล.อ.อภิรัชต์ คมสมพงษ์

แม้ พล.อ.อภิรัชต์ จะบอกว่าไม่ได้กล่าวถึงพรรคไหน

แต่นั่นดูจะเป็นคำพูดแบบ”นักการเมือง”มากกว่า”นักการทหาร”

เพราะโดยเนื้อหา แล้ว หมายถึง พรรคอนาคตใหม่ โดยตรง

และปักหมุดแน่นว่า พรรคที่ไม่ได้ออกชื่อนั้น เป็น ศัตรูสำคัญของ ความมั่นคง และของชาติ

น่าสังเกตุว่า มีการขานรับ คำบรรยายดังกล่าว อย่างกว้างขวาง ในปีก อนุรักษ์ และ ฝ่ายขวา

ทั้งใน และนอกสภา

ในสภาเห็นชัดเจน โดยเฉพาะในวุฒิสภา ที่มีการออกแบบไว้ล่วงหน้าแล้วในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

ซึ่งคงจะมีบทบาทในลับและเปิดเผย ที่จะตอบโต้กระแสก้าวหน้าสุดขั้ว

ขณะที่ข้างนอก ก็มีการขับเคลื่อนในเชิงสัญลักษณ์อย่างคึกคัก

แม้กระทั่งพิพิธภัณฑ์ ในกองบัญชาการกองทัพ ที่เพิ่งเปิดขึ้นใหม่ ก็ได้ให้ “นัย”บางอย่าง ที่แหลมคม

สะท้อนถึง ภาวะที่เปลี่ยนจากการ”รับ”เป็น”รุก” ต่อสิ่งที่ ถูกระบุว่าเป็น แนวคิดอันตรายของชาติ อย่างเป็นระบบ

และดึง ให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นประชาธิปไตยภายใต้การควบคุม

มากกว่าจะปล่อยให้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองอย่างเสรี เพียงฝ่ายเดียว

คำตอบเล่นๆถึง ผู้ที่เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป คือพล.อ.อภิรัชต์ นั้น

ด้านหนึ่งสะท้อนถึงแนวคิดตกค้าง เรื่องการสืบทอดอำนาจ ของพี่ เพื่อน น้อง ในกองทัพ

มากกว่าจะมีความหวังกับพรรคการเมือง

ซึ่งกระแสเหล่านี้ กำลังหลอมเข้าเป็น กระแสหลัก ที่มุ่งเข้าใส่พรรคอนาคตใหม่ ที่ยังมากด้วยจุดอ่อน ทั้งทางด้านแนวคิดและการบริหาร จัดการ โดยตรง

จนเมื่อกล่าวถึงพรรคอนาคตใหม่แล้ว จะถูกผูกเข้ากับอนาคตอันเลวร้าย นั่นคือ จะรอดพ้นจากการถูกยุบพรรคได้หรือไม่

การต่อต้าน พรรคอนาคตใหม่ ที่เผชิญอีกแนวทางหนึ่ง

นั่นก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.นครปฐม

แน่นอน อาจมีหลายปัจจัย ที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่พ่ายแพ้

แต่สิ่งที่ ไม่อาจมองข้าม นั่นก็คือ การเผชิญกระแสต่อต้านของ “ทุนอุปถัมน์” ในท้องถิ่นต่างๆ

และ”บ้านใหญ่” หรือ ตระกูล”สะสมทรัพย์” คือตัวอย่างอันนั้น

แม้มีความเชื่อในระยะหลังว่า การเมืองท้องถิ่น กำลังเปลี่ยนผ่าน จาก กลุ่มทุมอุปถัมน์ ในพื้นที่ ไปสู่ การเมืองรูปแบบใหม่ที่เป็นเครือข่ายของการเมืองระดับชาติ

และเป็นความคาดหมายในระดับต้นๆ ของพรรคอนาคตใหม่ ที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมือง

จึงมีการลงไปเคลื่อนไหวทางการเมือง ในระดับพื้นที่ ทั้ง อบจ. เทศบาล และอาจจะลงลึกถึง อบต.

ต้องยอมรับว่า แนวทางของพรรคอนาคตใหม่ ได้ทำให้เกิดการตื่นตัว ในการปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไม่เคยมีมาก่อน

แต่มันก็ได้ไปทำลายการเมืองเก่าที่อยู่ในระบบอุปถัมน์ ไปกระทบกลุ่มทุนพื้นถิ่น โดยตรง

จึงทำให้เกิดการต่อสู้ ต่อต้าน อย่างหนักเช่นกัน

และคงจะทวีหนักขึ้น เมื่อมีการแข่งขันเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ซึ่งไม่ใช่แนวโน้มที่ดีของพรรคอนาคตใหม่นัก

โดยเฉพาะหาก”ด้านบน”ปีกอนุรักษ์หลอมรวมกับ”ด้านล่าง”ทุนอุปถัมน์ ในท้องถิ่น บีบกระชับพรรคอนาคตใหม่ จนขยับเขยื้อนไม่ได้

ขณะที่ กระแสการเปลี่ยนแปลง “ใหม่”ยังไม่โหมแรงอย่างที่คาดหวัง

พรรคอนาคตใหม่จะปรับตัวสู้อย่างไร