รายงานพิเศษ/ โชคชัย บุณยะกลัมพ/AI ลุกคืบตลาดแรงงานไทยปี ’63 โรงงานจ่อปิด-จ้างงานลด-ชะลอตัว

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

AI ลุกคืบตลาดแรงงานไทยปี ’63

โรงงานจ่อปิด-จ้างงานลด-ชะลอตัว

 

ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเกิดบรรทัดฐานใหม่ๆ หลากหลายมิติ ความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างมาก รวมทั้งด้านการทำงานสร้างความสะดวกสบายมากขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงจากการถูกทดแทนด้วยขีดความสามารถและความฉลาดที่มากขึ้นของเทคโนโลยีเหล่านี้ ในฐานการผลิตซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในตลาดแรงงานถูกนำเทคโนโลยีเข้าทดแทน

จากคำพูดของนาย Kai-Fu Lee (ไค ฟู ลี) หนึ่งในผู้บุกเบิกและผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artitificial Intelligence หรือ AI) ‘AI กำลังจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้มากกว่าทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ’

งานอันดับต้นๆ ที่จะโดนหุ่นยนต์หรือ AI แย่งไปทำ ก็คืองานที่ทำซ้ำๆ อย่างงานในโรงงานอุตสาหกรรม

ไปจนถึงสายงานด้านบัญชี สาธารณสุข การตลาด กฎหมาย โรงพยาบาล พนักงานขับรถ รวมถึงงานอีกหลากหลายสาขา

คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า คนทำงาน 1 คน ในจำนวนทุกๆ 2 คนจะต้องสูญเสียงาน เพราะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์ หรือ AI

ไม่ว่าจะเป็นงานด้านกฎหมาย เภสัชกร นักเคมี นักฟิสิกส์ ผู้ชำนาญในวิชาสรีรศาสตร์ นักปฐพีวิทยา นักพฤกษศาสตร์

 

ด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี แรงงานในระบบต้องเรียนรู้พัฒนาทักษะเพื่อต่อสู้กับวิกฤตและเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ยังเป็นที่ต้องการของตลาด ท่ามกลางการเติบโตของเทคโนโลยีโดยเฉพาะ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่เป็นเหมือนคลื่นลูกยักษ์ที่พร้อมซัดทุกตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นี้gป็นเทคโนโลยีการสร้างความฉลาดเทียมให้กับเครื่องจักร หรือคอมพิวเตอร์ โดยเป็นสาขาหนึ่งทางวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรม เกิดการสร้างมันสมองของระบบ AI ด้วยการใส่ Algorithm หรือโปรแกรมสอนให้เครื่องจักรเรียนรู้พร้อมdy[ใส่ Data ต่างๆ เข้าไป เพื่อให้เครื่องจักรสามารถเรียนรู้ ประมวลผล วิเคราะห์ สร้างองค์ความรู้

โดยจะได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกที่ต้องปรับเปลี่ยนไปจากอดีต แรงงานวิชาชีพในทุกประเทศทั่วโลกต่างจับตาพัฒนาการรุกคืบของเหล่าจักรกลอัจฉริยะเหล่านี้อย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือกับผล

กระทบที่จะเกิดขึ้น

 

สําหรับประเทศไทย กลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์และประกันภัยที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดูจะเป็นธุรกิจที่เริ่มเห็นผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

จากการรุกคืบของปัญญาประดิษฐ์ AI เริ่มส่งผลต่อสถานการณ์แรงงานไทยเมื่อโลกเริ่มเข้าสู่ยุคดิจิตอลที่เน้นเทคโนโลยีแทนคนเพิ่มขึ้น บวกกับปัญหาสงครามการค้า (เทรดวอร์) ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จนกระทบการส่งออกของไทยปี 2562

จึงทำให้การจ้างแรงงานของไทยที่เริ่มชะลอตัวลง จากแรงงานไทยประมาณ 37.6 ล้านคน คิดเป็น 56.5% ของประชากรทั้งหมด การส่งออกของไทยเริ่มติดลบ 1.5-2%

สถานการณ์ความเสี่ยงจากปี 2562 จึงส่งผลทำให้ตลาดแรงงานปี 2563 เริ่มต้นจากนักศึกษาจบใหม่ที่จะเข้ามาในระบบมากขึ้น 5.24 แสนคนช่วงมีนาคม-เมษายน 2563 คิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 9.27%

โรงงานบางส่วนมีการปรับใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ AI หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อลดภาระในการบริหารจัดการสวัสดิการต่างๆ

ทำให้การจ้างงานลดลงจึงเป็นสิ่งที่ต้องมองความเสี่ยงในตลาดแรงงานหลายภาคส่วน อาทิ ส่งออก การผลิต การบริการ โลจิสติกส์ ค้าปลีกและค้าส่ง อยู่ในช่วงชะลอตัว มีการลดการรับแรงงานใหม่ อาจต้องประสบกับภาวะการว่างงานที่สูงขึ้น

ผลกระทบที่มีต่อภาคแรงงานเริ่มเห็นสัญญาณการปิดโรงงานและการเลิกจ้างที่ชัดเจน ล่าสุดมีแนวโน้มเห็นได้อีกในโรงงานที่มุ่งส่งออกและได้รับผลกระทบโดยตรงต่อคำสั่งซื้อที่ชะลอตัว อาทิ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง

แต่จะมากน้อยเพียงใดก็คงต้องติดตามใกล้ชิด

 

สัญญาณการเลิกจ้างจะเริ่มจากมาตรการเบาไปจนถึงการให้ออกจากงานด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ การเริ่มไม่รับพนักงานคนใหม่ การใช้หุ่นยนต์ เครื่องจักรออโตเมชั่น

การเลิกใช้บริการเอาต์ซอร์สที่เกี่ยวกับแรงงาน การลดค่าล่วงเวลาหรือโอที การลดชั่วโมงการทํางาน การปิดไลน์การผลิตหรือปิดสาขาที่ไม่จำเป็น

การลดแรงงานกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงทดลองงานไม่ถึง 4 เดือน การมีโครงการเกษียณก่อนเวลาหรือสมัครใจลาออกแรงงานที่มีความเสี่ยง

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อตลาดแรงงานคงหนีไม่พ้น การเริ่มสู่ยุคดิจิตอลที่เน้นเทคโนโลยีแทนคนเพิ่มขึ้น เงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใช้เทคโนโลยีขั้นสูงประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

และมีแนวโน้มภาคธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนด้วยการนำเทคโนโลยี ระบบหุ่นยนต์ แขนกล ระบบอัตโนมัติมาใช้ในภาคการผลิตและบริการมากขึ้น

ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้น แม้แต่รายกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) จำนวนมากก็เริ่มหันมาติดตั้งระบบใหม่ๆ ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอนาคต