สารพัดปัจจัยลบ! เศรษฐกิจโลกป่วน-บาทแข็ง-จีนไม่ซื้อ ฉุดราคายาง! 4 เดือนทรุด 33%

สารพัดปัจจัยลบเศรษฐกิจโลกป่วน-บาทแข็ง-จีนไม่ซื้อ-แบงก์ไม่ปล่อยกู้ผู้ประกอบการยาง ฉุดราคา 4 เดือนทรุด 33% หวั่นเงินประกันราคา 2.4 หมื่นล้านไม่พอ
ยางราคาร่วงหนัก – นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการ ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 39.73 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) ลดลงจาก 4 เดือนก่อน สัดส่วนมากกว่า 33% จาก ณ วันที่ 14 มิ.ย. ราคาอยู่ที่ 60.05 บาท/ก.ก. การปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของราคายางพารา น่าจะเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ เศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน ที่เงินบาทแข็งค่าแตะ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี ประกอบกับ บริษัท ฉงชิ่ง จำกัด รัฐวิสาหกิจผู้รับซื้อยางรายใหญ่ของรัฐบาลจีนปรับโครงสร้างองค์กร ผู้รับซื้อยางพารา อันดับหนึ่งของจีนซึ่งนำเข้ายางประมาณปีละ 1.5 ล้านตัน หยุดซื้อขายยางเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ผ่านมา จึงส่งผลต่อผู้ส่งออกยางของไทย ทำให้ราคายางปรับในทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นต้องเร่งประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดราคาอ้างอิงยางพารา หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1 งบประมาณ 24,278.62 ล้านบาท เพื่อช่วยชาวสวนยางให้มีรายได้ที่แน่นอน บรรเทาความเดือดร้อน และมีความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรชาวสวนยาง จะครอบคลุมเกษตรกรจำนวน 1.4 ล้านคน พื้นที่ปลูกยางพารา 17 ล้านไร่ ระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ ต.ค.2562 -มี.ค. 2563 ประกันรายได้ยาง 3 ชนิด คือ 1. ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาท/ก.ก. 2. น้ำยางสด ราคา 57 บาท/ก.ก. และ 3. ยางก้อนถ้วย ราคา 23 บาท/ก.ก.

“คาดว่าไม่เกินวันที่ 25 ต.ค.นี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาอ้างอิงยางพารา ตามโครงการประกันรายได้ เพื่อคำนวณส่วนต่างเงินชดเชยที่ต้องจ่ายให้เกษตรกรในงวดแรก 15 พ.ย.นี้ ซึ่งการพิจารณาราคาอ้างอิง เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กยท. กรมวิชาการเกษตร กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการเกษตร ต้องหารือกันอย่างรอบคอบ เพราะหากมีการคำนวณราคาให้เกิดความห่างระหว่าง ราคาอ้างอิง กับราคาที่ประกันไว้ อาจส่งผลให้เงิน 2.4 แสนกว่าล้านบาท ที่ ครม. อนุมัติให้ดำเนินโครงการอาจไม่เพียงพอ”

นายสุนันท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กยท. จะเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เร่งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจรับซื้อยางภายใต้โครงการใช้ยางของหน่วยงานให้เร็วและมากขึ้น เพื่อดึงราคายางให้ขยับขึ้น เพราะขณะนี้ราคายางปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากเรื่องของสถานการณ์ต่างประเทศ จีนไม่ซื้อยางพารา ผู้รวบรวมยาง หรือเอกชนก็มีปัญหาเรื่องของสภาพคล่อง ที่ไม่เพียงพอจะดำเนินการซื้อยาง แต่เมื่อรัฐบาลมีโครงการรับประกันราคา ที่มีในส่วนของการช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ 4 โครงการ

“จะเรียกสมาคมยาง ผู้รวบรวมยางพารา เอกชน ที่มีปัญหาเรื่องของสภาพคล่อง เพราะ ธนาคารไม่ปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการยางพารา ทำให้ขาดสภาพคล่องที่จะไปซื้อยาง แต่ขณะนี้ 4 โครงการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการที่รัฐบาลผลักดันออกมา จึงเชื่อว่าหากเร่งดำเนินการ ในไม่ช้าราคายางพาราจะปรับตัวสูงขึ้นได้”

สำหรับ 4 โครงการที่ ครม. อนุมัติวงเงินสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องมีดังนี้ คือ การขยายวงเงินสินเชื่อและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง จากเดิมวงเงิน 15,000 ล้านบาท ให้เพิ่มเติมอีก 10,000 ล้านบาทเป็น 25,000 ล้านบาท เพื่อให้มีการแปรรูปจากปีละ 60,000 ตันต่อปี เป็น 100,000 ตันต่อปี ขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ออกไปอีก 2 ปี ถึงเดือนธ.ค. 2564 เพื่อผลักดันราคายางพาราให้สูงขึ้น ลดงบประมาณในการจัดซื้อยางพาราของรัฐ และดูดซับปริมาณยางออกจากตลาด