รายงานพิเศษ โชคชัย บุณะกลัมพ / ความชัดเจน 5 G ต่อนักลงทุนในไทย ใครได้ใครเสีย มาตรฐานอยู่ที่ใหน

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณะกลัมพ

ความชัดเจน 5 G ต่อนักลงทุนในไทย

ใครได้ใครเสีย

มาตรฐานอยู่ที่ใหน

5G ปัจจุบัน หลายประเทศมีการขยับโรดแม็ปการมี 5 G ขึ้นมาให้เร็วขึ้น

เดิมที่ตั้งเป้าว่า 5 G จะสามารถใช้งานได้ปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 โดยจะเริ่มเปิดให้บริการ 5 G ในบางพื้นที่ บางอุตสาหกรรมก่อน เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว และภาคโลจิสติกส์ เป็นต้น

ประเทศอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย เตรียมเปิดให้บริการ 5 G เชิงพาณิชย์ประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2563

ด้วยการแข่งขันที่สูง นักลงทุนเริ่มขยับย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีความพร้อม

อาจทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิต จะสูญเสียเม็ดเงินมูลค่า 600,000 ล้านบาท ภาคโลจิสติกส์ 100,000 ล้านบาท ภาคการเกษตร 90,000 ล้านบาท และภาคสาธารณสุขด้วย ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวม 2 ล้านล้านบาทต่อปี

แต่ถ้าหาก 5 G ไม่เกิดขึ้น ผลกระทบของประเทศไทย ทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ดีกว่า

ความพยายามในการขับเคลื่อนของ กสทช. ที่จะหารือกับโอเปอเรเตอร์ (บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่) ถึงจุดคุ้มทุน

ซึ่งปัจจุบันการลงทุนในระบบ 4 G ยังไม่คุ้มทุนนั้นต้องมาแบกรับการลงทุนในระบบ 5 G อีก ต้องต่อรองกับรัฐถึงมาตรการขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายก่อนได้หรือไม่ หากล่าช้าจะเกิดผลกระทบ ในขณะที่จีนและเวียดนามเปิดให้โอเปอเรเตอร์นำคลื่นความถี่ไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ก่อน แล้วชำระเงินภายหลัง

จากความพยายามของไทยที่มีความจำเป็น ที่ต้องขับเคลื่อน 5 G ให้เกิดขึ้น ต้องขยับโรดแม็ปขึ้นมาเร็วขึ้น หากขยับให้เริ่มใช้งานในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2563 ได้

นั่นก็หมายความว่า ประเทศเราจะสามารถเดินหน้าได้เร็วกว่า ทำให้นักลงทุนไม่ย้ายฐานการผลิตอย่างแน่นอน

 

ข้อเสนอ 5 G ระดับชาติ กับการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดย 5 G จะเกิดประโยชน์อย่างมากกับทุกอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะอุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคมเพียงอย่างเดียว

ดังนั้น การจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5 G จะช่วยขจัดปัญหาต่างๆ ทำให้การผลักดันการขับเคลื่อน 5 G เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ราบรื่น

“การจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5 G เพื่อแก้ปัญหา 3 เรื่อง ได้แก่ 1.มูลค่าคลื่นความถี่ 2.การลงทุนของโอเปอเรเตอร์ และ 3.การต่อยอดการทำงาน การนำ 5G ไปใช้งาน โดยจะดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อทำให้เกิดการต่อยอดทันที เพื่อให้โอเปอเรเตอร์เกิดความมั่นใจในการลงทุนเพิ่มขึ้น สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเกิดการใช้งานอย่างแท้จริง”

จึงเป็นเหตุผลที่ กสทช.ต้องการดันให้การประมูลคลื่น 5 G เป็นวาระแห่งชาติ มีการตั้งคณะทำงานคลื่นขึ้นมา เพื่อเพิ่มความสามารถในการตามคลื่นความถี่คืน เพราะคลื่นเหล่านี้ถูกครอบครองทั้งรัฐวิสาหกิจและกรมกองทหารต่างๆ

หากสามารถเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในคณะทำงานได้ ก็น่าจะง่ายในการเรียกคืนคลื่นความถี่เหล่านั้นได้

 

ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการเข้ามาของ 5 G มีหลายส่วน ได้แก่ ผู้ผลิตอุปกรณ์ เพราะก่อนที่ 5 G จะเข้ามาได้ ต้องลงทุนในอุปกรณ์ก่อน ทำให้ผู้ประกอบการ อาทิ หัวเว่ย อีริคสัน จะได้ประโยชน์ในทันที ผู้ขายโทรศัพท์มือถือ ที่จะต้องเปลี่ยนมือถือให้รองรับการใช้งานระบบ 5 G อุตสาหกรรมที่จะต้องมีการลงทุนในอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ 5 G อุตสาหกรรมต่อเนื่อง

อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ การมีรถยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อระบบได้ ก่อนจะไปถึงรถยนต์ไร้คนขับ อุตสาหกรรมขนส่ง ที่การขนส่งสินค้าจากคลังสินค้าจะเปลี่ยนรูปแบบไป หากมีรถยนต์ไร้คนขับเข้ามา

ส่วนในแง่ของอุตสาหกรรมการผลิต โรงงานที่เป็นอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ จะลดต้นทุนและของเสียที่จะตามมา รวมถึงอุตสาหกรรมการเกษตร ที่จะเห็นสมาร์ตฟาร์มมิ่ง หรือ “เกษตรอัจฉริยะ”

ในส่วนของกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดับบลิวเอชเอ ผู้สนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับความชัดเจน ผู้ลงทุนทุกคนอยากรู้ว่าการลงทุนจะได้ผลการลงทุนคุ้มไหม ทั้งภาคการผลิต ภาคพลังงาน ภาคขนส่ง เราไม่ได้รับการติดต่อให้ข้อมูลเลย

มีการประเมินว่า 5 G จะทำให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ 1,307 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

โดยภาคพลังงานจะได้ประโยชน์ 19% ภาคการผลิต 18% ภาคสาธารณสุข 12%

คนเหล่านี้อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งนั้น

แต่กลับไม่มีการทดสอบในพื้นที่ที่จะมีการใช้งานในนิคมอุตสาหกรรมจริง รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม

 

ทั้งนี้ การเกิด 5 G จะอาศัยผู้ให้บริการที่มีตลาดอยู่แล้วเป็นไปไม่ได้

ต้องให้เอกชนตัดสินใจเองว่าจะลงทุนหรือไม่ ควรเปิดให้เอกชนต่างประเทศมาเข้าร่วมประมูล ถึงอย่างไรรัฐบาลก็ต้องเร่งทำ 5 G ในประเทศไทย ก็เพื่อตอบสนองนโยบายของภาครัฐ การเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคสังคม

รวมถึงเป็นการใช้ทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องเข้ามาสนับสนุน 5 G อย่างเต็มที่

อันที่จริงแล้ว 5 G จะเร็วหรือช้า ยังมีประเด็นทางสังคมที่ต้องชั่งน้ำหนัก 5 G จะเข้ามาแทรกแซงสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลง่าย ถ้าวันหนึ่งเกิดการแฮกกิ้งจะเป็นอย่างไร และท่ามกลางการแข่งขันของจีนและสหรัฐ ประเทศไทยจะใช้มาตรฐาน 5G ของประเทศไหน

ความเหมาะสม ความสมดุลอย่างผู้ประกอบการ เพื่อการแข่งขันกับประเทศอื่น ด้วยการเริ่มต้นจากการสำรวจความพร้อม จึงควรมีโรดแม็ป มีแผนการพัฒนาที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดการลงทุนที่เหมาะสมและความพร้อมทั้งการลงทุน

รัฐต้องคิดถึงประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากเทคโนโลยีในระยะยาวด้วย