กสอ.รับการบ้าน’สมคิด’ลุย3แผนพลิกโฉมเอสเอ็มอี

กสอ.รับการบ้าน’สมคิด’ลุย3แผนพัฒนาพลิกโฉมเอสเอ็มอี พัฒนาเกษตรอุตฯ-ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น-ครีเอทีฟ อีโคโนมี

นายณัฐพล รังสิตพล รักษาการอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) เปิดเผยถึงนโยบายพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ว่า นโยบายเร่งด่วนของกสอ.ขณะนี้จะเน้นดำเนินการตามนโยบายที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้นโยบายระหว่างตรวจเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม การพัฒนาดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น และการพัฒนาครีเอทีฟ อีโคโนมี โดยทั้งหมดจะช่วยยกระกับเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพสูงขึ้น มีรายได้เพิ่ม และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

นายณัฐพลกล่าวว่า การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม จะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการนำเกษตรกรที่มีศักยภาพเบื้องต้นเข้าโครงการ เพื่อนำเทคโนโลยี ระบบออโตเมชั่น เครื่องจักร เข้าพัฒนาตั้งแต่กระบวนการปลูก ดึงมหาวิทยาลัยร่วมทำงานด้วย อาทิ การนำโดรนมาบินตรวจคุณภาพพืชที่ปลูกว่ามีคุณภาพอย่างไร จากสี ภาพ ที่ตรวจได้ อาทิ ใช้โดรนตรวจความหวานของไร่อ้อย ขณะเดียวกันจะร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรพัฒนาเครื่องมือเกษตรขนาดเล็ก และสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มของผู้ให้เช่าเครื่องมือเกษตร เพื่อให้บริการเกษตรกร รูปแบบนี้จะช่วยลดต้นทุนเกษตรกรรายย่อย จากปัจจุบันรูปแบบเช่าเครื่องมือจะเน้นแปลงเกษตรขนาดใหญ่

“ขณะเดียวกันจะพัฒนาศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมรายภาค ที่มีจำนวน 11 แห่งทั่วประเทศ ให้มุ่งดำเนินนโยบายเกษตรอุตสาหกรรมเป็นเรื่องแรกของหน่วย เพื่อให้ภาพการทำงานเดินไปทิศทางเดียวกัน อาทิ การเปิดให้ผู้ประกอบการที่ต้องการผลิตสินค้าใช้เครื่องจักรของศูนย์ฯ การประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรืออย.ในการออกเครื่องหมายอย.หากพัฒนาผลิตภัณฑ์จากศูนย์ฯ เบื้องต้นศูนย์ฯจังหวัดสงขลามีความพร้อมมากที่สุด เพราะพัฒนาสินค้าจากภาคเกษตรเป็นหลัก มีการทำงานร่วมกับสถาบันอาหาร ดังนั้นจะให้เป็นศููนย์ต้นแบบของศูนย์ที่เหลือ”นายณัฐพลกล่าว

นายณัฐพลกล่าวว่า การพัฒนาดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น จะดึงสตาร์ตอัพที่ทำระบบบริการต่างๆ อาทิ บัญชี ร้านอาหาร โรงแรม มาเจอกับเอสเอ็มอีที่กสอ.พัฒนาประมาณ 9 หมื่น – 1 แสนราย โดยระบบอาจให้สตาร์ตอัพเปิดระบบใช้ฟรีระยะหนึ่งเพื่อกระตุ้นให้เอสเอ็มอีใช้บริการ สร้างรายได้ให้สตาร์ตอัพ ขณะที่เอสเอ็มอีหากใช้ระบบของสตาร์ตอัพก็จะสามารถขยายธุรกิจในรูปของการเข้าถึงลูกค้าที่ขยายวงกว้าง การอำนวยความสะดวกลูกค้าผ่านแอพพลิเคชั่นการทำบัญชี แอพพลิเคชั่นการสั่งอาหาร เชื่อว่าจะทำให้เอสเอ็มอีมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้จะทำฐานข้อมูลเอสเอ็มอีที่ลงลึกในการประกอบกิจการ รายได้ เพื่อให้ได้ข้อมูลผู้ประกอบการที่แม่นยำ เป็นบิ๊ก ดาต้า ที่ใช้ในการพัฒนาเอสเอ็มอีด้านอื่นต่อไป

นายณัฐพลกล่าวว่า ด้านการพัฒนาครีเอทีฟ อีโคโนมี จะร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ในการดึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เสนอไอเดียพร้อมลงมือปฏิบัติในการช่วยเอสเอ็มอีพัฒนาสินค้า เบื้องต้นจะเน้นพื้นที่ชุมชน ภายใต้คอนเซปท์ ซ่อมชุมชน อาทิ หมู่บ้านอุตสาหกรรม สร้างสรรค์(ซีไอวี) เพราะสามารถเชื่อมโยงกับภาคการท่องเที่ยวด้วย โดยการพัฒนาครีเอทีฟ อีโคโนมีนี้จะเน้นการพัฒนาคนในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เพราะเรื่องนี้ต้องเน้นความคิดนอกกรอบ โดยอาจเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณารางวัลสำหรับมหาวิทยาลัยที่สามารถผลิตนักศึกษาหรือโครงการที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาเข้าร่วมมากขึ้น