ปรองดองในวงล้อมทหาร ต้อนนักการเมืองเข้ากลาโหม สู่ “เลือกตั้ง-รัฐบาล-นายกฯ” ปรองดอง?

ปรองดองในวงล้อมทหาร ต้อนนักการเมืองเข้ากลาโหม สู่ “เลือกตั้ง-รัฐบาล-นายกฯ” ปรองดอง? งานช้างของ “บิ๊กช้าง” ทหารม้าสายบุ๋น

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

กระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่สองพี่น้อง บิ๊กตู่ บิ๊กป้อม ปิ๊งไอเดีย มาใช้เป็นจุดขายในปลายโรดแม็ปนี้ กำลังถูกจับตามองเขม็งว่า ปลายทางจะเป็นอย่างไร

จากกระบวนการปรองดอง จะนำไปสู่การเลือกตั้งปรองดอง และการจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ และการมีนายกฯ ปรองดอง หรือไม่

แต่ดูเหมือนจะจี้ใจดำ ทั้ง บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ ที่รับงานด้านสร้างความสามัคคีปรองดอง อันเป็น 1 ใน 4 ติ่งของ ป.ย.ป. จะพร้อมใจกันออกมาตำหนิว่าเป็น นิยายน้ำเน่า ที่สื่อมโนจนถึงขั้นเพ้อเจ้อ

พล.อ.ประวิตร ในฐานะที่ดูแลสายงานปรองดอง จึงต้องปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า ไม่มีผู้มีอำนาจคนใดในรัฐบาล หรือ คสช. ไปมี “ดีล” กับพรรคการเมืองใดๆ เพื่อที่จะตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือเพื่อให้ คสช. กลับมามีอำนาจ

“ผมไม่เคยไปคุย ไปเจอใครเลย ผมจะมีสิทธิ์ไปเจอใครได้ ไปไหน นักข่าวตายังสับปะรด ไปเที่ยวไหนยังไม่ได้เลย” บิ๊กป้อม ยัน

แต่ถ้าว่า มีใครเอาชื่อบิ๊กป้อมไปอ้าง ในการเจรจากับนักการเมือง หรือไปมี “ดีล” กับใครล่ะก็ ให้บอกชื่อมาเลย

“ไม่มี ผมไม่เคยใช้ใครให้ไปทำหน้าที่ดีลกับใคร ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 6 หรือคนใกล้ชิด”

ด้วยเพราะที่ผ่านมา มักมีนายทหารที่เพื่อนซี้บิ๊กป้อม และคนใกล้ชิด ถูกพาดพิงในหมู่นักการเมือง ว่าเป็นตัวแทน พล.อ.ประวิตร ให้มาดีลกับพรรคการเมืองต่างๆ และการตั้งพรรคขนาดเล็ก อันนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ

บางพรรค ก็คุยว่ามีเพื่อน พล.อ.ประวิตร มาเป็นกรรมการบริหารพรรค บางพรรคก็บอกว่า รู้จักคุ้นเคยสนิทสนมกับ “ท่านประวิตร”

จนทำให้เกิดกระแสข่าวลือว่า พรรคต่างๆ เหล่านั้น จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก หรือนายกฯ ปรองดอง

จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องปฏิเสธเช่นกันว่า “ไม่ได้มีการดีล มันจะดีลกับใคร ใครจะมาดีลกับผม แล้วดีลเขาเรื่องอะไร”

ถึงขั้นที่ระบุว่า “ผมยืนยันด้วยคำสัตย์ของผม ผมไม่ได้ดีลกับใครทั้งสิ้น” แต่ก็มีคำพูดที่แฝงไปด้วยนัยยะ

“อะไรก็ตามที่พูดกันไปมาในสื่อ ใครพูดก็แล้วแต่ ถ้าผมไม่ได้พูดเรื่องนั้นจากปากของผม จะไม่เกิดขึ้นทั้งสิ้น เพราะผมเป็นคนตัดสินใจ” นายกฯ กล่าว

“แต่วันหน้าจะเกิดอะไรก็เรื่องของวันหน้า ผมไม่ต้องการไปสู่เรื่องการเมืองทั้งสิ้น การเมืองคือการเมืองก็ว่ากันไป ผมก็อยู่ของผมตรงนี้ก่อน ที่จะทำงานตรงนี้ให้เสร็จโดยเร็ว” บิ๊กตู่ แจงด้วยข้อความที่มีความหมายในระหว่างบรรทัด ที่ดูจะเป็นการเปิดช่องไว้สำหรับอนาคต

ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า พี่ป้อมกรุยทางให้น้องตู่สู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีปรองดอง แต่อีกกระแสหนึ่งก็ระบุว่า น้องตู่เปิดทางให้พี่ป้อมนั่งเก้าอี้นายกฯ หลังเปิดทางให้มาทำเรื่องสามัคคีปรองดอง เชิญพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองมาพูดคุย

“การสร้างความปรองดอง เพื่อจะมาวางอนาคตทางการเมืองของผมหรือของรัฐบาล มันไม่ใช่ของผม” บิ๊กตู่ สำทับ ที่ยิ่งทำให้เกิดข่าวลือ

เพราะหากดูจากคะแนนนิยมแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังคงคงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้ สำหรับนายกฯ คนนอก ในวัย 62 ปี ที่ยังคงดูแข็งแรง ฟิต มีบุคลิกหลากหลาย โดนใจแฟนคลับ

ส่วน พล.อ.ประวิตร ในวัย 72 นั้น อาจจะดูอายุมากเกินไป อีกทั้งลักษณะท่าทางอาจจะไม่คล่องแคล่วนัก

แต่ พล.อ.ประวิตร ก็พยายามดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง หลังจากที่เคยล้มมาแล้ว ก็ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายทุกเช้าตรู่ ด้วยการว่ายน้ำ และเดินในสระน้ำ ที่บ้านมีนบุรี อันเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย และไม่เกิดแรงกระแทก จนทำให้การเดินเหินดีขึ้น

ที่สำคัญ ในสระน้ำ คือเป็นเวลาที่ทำให้ พล.อ.ประวิตร ได้ใช้สมอง ใช้ความคิด ในการคิดวางแผนการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องปรองดอง ที่ พล.อ.ประวิตร ให้ความสำคัญและคาดหวังอย่างมาก นอกเหนือจากการตื่นตั้งแต่ตี 4 ครึ่ง ที่สมองปลอดโปร่ง และความเงียบสงัด ช่วยให้มีสมาธิ

เรียกได้ว่า พล.อ.ประวิตร ยังแข็งแรงทั้งร่างกาย จิตใจ และมันสมอง ความคิดโลดแล่น พร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีรับเชิญ หรือจะเป็นแค่ ผู้จัดการรัฐบาล ในการตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ก็ยังได้อยู่

แต่กระนั้น การเชิญตัวแทนพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองมาคุยกับคณะกรรมการปรองดองของกลาโหม ที่เล็งว่าใช้เวลา 3 เดือนนี้ กำลังถูกมองว่า เสมือนเป็นการเรียกนักการเมืองเข้าค่าย ภาค 2 แต่ทว่าเป็นการเชิญมาเข้าพื้นที่ทหาร คือกระทรวงกลาโหม

ที่อาจเรียกว่า บิ๊กป้อม เปิดบ้าน Open House ให้นักการเมืองมาพูดคุยแสดงความคิดเห็น พรรคละมากถึง 10 คน ที่จะมานั่งในวงล้อมของขุนทหาร ที่มี บิ๊กช้าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกลาโหม เป็นหัวโต๊ะ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการ ร่วมด้วย ผบ.สูงสุด ผบ.เหล่าทัพ รวมแล้วราว 20 คน ร่วมด้วยคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นอีก รวมแล้วฝ่ายทหารมากกว่า 30 คน

ไหนจะฝ่ายเลขาฯ ฝ่ายบันทึกการประชุม ทั้งด้วยเอกสาร และบันทึกเสียง บันทึกเทป ว่าใครพูดแสดงความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

โดยนายกฯ ให้เชิญ นพ.ประเวศ วะสี และ นายคณิต ณ นคร ร่วมอยู่ในคณะกรรมการอำนวยการของกลาโหมนี้ด้วย เพื่อไม่ให้ถูกมองว่ามีแต่ทหาร เพราะยังเชิญนักวิชาการพลเรือน และนักกฎหมาย รวมทั้งกฤษฎีกา ร่วมด้วย

เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร มีแนวคิดที่จะทำข้อตกลงร่วม หรือ MOU ของพรรคการเมือง ให้เป็นกฎหมาย เพื่อให้มีผลบังคับใช้ โดยจะใส่ไปในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ว่าพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองจะลงนามในสัตยาบันร่วมหรือไม่ แต่เมื่อเป็นกฎหมายแล้ว ก็มีผลบังคับใช้เสมอหน้ากัน

จากข้อตกลงที่จะไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง และยอมรับผลการเลือกตั้ง เชื่อกันว่า จะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลปรองดอง รัฐบาลแห่งชาติ และอาจต้องมีการตั้งรัฐบาลในค่ายทหารอีกครั้ง และอาจมี พล.อ.ประวิตร นั่งหัวโต๊ะ ในคืนวันเลือกตั้ง เมื่อรู้ผลเลือกตั้ง อย่างไม่เป็นทางการ

งานนี้ พล.อ.ชัยชาญ ต้องรับงานหนัก ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการ ที่ต้องนั่งหัวโต๊ะทุกครั้งที่เชิญพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองมาแสดงความคิดเห็น

พล.อ.ประวิตร บอกว่า จะให้เชิญตัวแทนพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองมาพรรคละ 10 คน

โดย พล.อ.ชัยชาญ เผยว่า จะใช้ห้องประชุมด้านหลังกระทรวงกลาโหม ที่ต่อเติมใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นห้องยุทธนาธิการ ที่นั่งประชุมได้ราว 40-50 คน เป็นห้องพูดคุย

เนื่องจากในส่วนของคณะกรรมการอำนวยการ และคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น และที่ปรึกษา รวมทั้งฝ่ายนักการเมืองอีก รวมแล้วก็หลายสิบคน

“ผมเองจะต้องอยู่ทุกครั้งที่เชิญตัวแทนพรรคหรือกลุ่มต่างๆ มา ผมต้องนั่งหัวโต๊ะเอง แล้วเชิญ ผบ.เหล่าทัพมาด้วย แต่อาจจะว่างไม่ตรงกันทั้งหมด เพราะต่างมีภารกิจ แต่ก็จะพยายามมากันให้ครบ” พล.อ.ชัยชาญ กล่าว

ด้วยเพราะในเวลานี้ เมื่อลั่นระฆังปรองดองแล้ว และ พล.อ.ประวิตร ขอเวลา 3 เดือน ในการรับฟังความคิดเห็น พล.อ.ชัยชาญ กล่าวว่า ก็จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องปรองดอง

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม

เรียกได้ว่า ในช่วง 3 เดือนนับจากนี้ พล.อ.ประวิตร รวมทั้ง พล.อ.ชัยชาญ และ ผบ.เหล่าทัพ ก็หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อที่จะใช้เวลาในการเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนพรรค กลุ่มต่างๆ ด้วยตนเอง ให้ครบทุกพรรค ทุกกลุ่ม

“ไม่ต้องกลัว แม้จะมีทหารเยอะ แต่พวกผมจะถามตามหัวข้อที่กำหนดไว้ แล้วก็นั่งฟังอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีไปพูดจาตอบโต้ใดๆ ด้วย” บิ๊กช้าง ระบุ

เพราะในบางกรณี บางคนบางพรรค อาจจะอาศัยเวทีนี้วิจารณ์บทบาททหาร บทบาทกองทัพ หลังจากที่เคยมีบางพรรคเสนอให้กองทัพลงนามใน MOU สัญญาที่จะไม่ปฏิวัติรัฐประหาร มาแล้ว

หากเมื่อนักการเมืองพูดออกนอกเรื่อง หรือนอกประเด็น พล.อ.ชัยชาญ ก็จะทำหน้าที่เตือนให้กลับเข้าประเด็น

“ไม่มีอะไรน่ากลัวเกรง เพราะพวกเราจะนั่งฟัง แล้วยิ้ม รับฟังทุกความคิดเห็น” บิ๊กช้าง กล่าว

เพราะงานนี้ พล.อ.ประวิตร ได้เลือกแล้วว่า พล.อ.ชัยชาญ เหมาะสมที่สุดที่จะนั่งหัวโต๊ะ รับฟังความเห็นนักการเมือง

 

นอกจากด้วยตำแหน่งปลัดกลาโหม ที่เป็นมือทำงานของ รมว.กลาโหม แล้ว เพราะ พล.อ.ชัยชาญ ยังได้ชื่อว่าเป็นมือทำงานส่วนตัวของ พล.อ.ประวิตร มาตั้งแต่ยังเป็นรองปลัดกลาโหม จนบิ๊กป้อมเสนอชื่อให้ขึ้นมาเป็นปลัดกลาโหม

แม้ในบรรดา ผบ.เหล่าทัพ จะมี บิ๊กปุย พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.ทหารสูงสุด เป็นพี่ใหญ่ เพราะเป็นเตรียมทหาร 15 เช่นเดียวกับ บิ๊กณะ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร. ก็ตาม แต่ในฐานะข้าราชการประจำ ที่เป็นเบอร์ 1 ของกลาโหม พล.อ.ชัยชาญ ถือว่าเป็นหัวแถวของ ผบ.เหล่าทัพ เวลายืนลำดับ

แม้ พล.อ.ชัยชาญ จะเป็นเตรียมทหาร 16 รุ่นน้อง แต่เป็นนายทหารที่มีความเป็นผู้นำ และเป็นเพื่อนกับ บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. และ บิ๊กจอม พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. อีกด้วย

เรียกได้ว่า พล.อ.ชัยชาญ มีทั้งความเป็นนักบู๊ นักบุ๋น ในตัว เพราะเคยเป็นนายทหารม้า นักรบ เพราะเติบโตมาจากการเป็น ม.พัน 8 จ.นครราชสีมา แต่เส้นทางชีวิตรับราชการ เบนจากสายบู๊มาเป็นฝ่ายบุ๋น เป็นฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายเสนาธิการ ตั้งแต่อยู่กรมยุทธการทหารบก ก่อนย้ายมาอยู่สำนักนโยบายและแผนกลาโหม จนขึ้นสูงสุด เป็น ผอ.สนผ.กห. และเป็นรองปลัดกลาโหม และเป็นปลัดกลาโหม

เคยได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประวิตร ให้เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง อุทยานราชภักดิ์ เมื่อครั้งที่เป็นรองปลัดกลาโหม จนสำเร็จเรียบร้อย

“เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ” บิ๊กช้าง กล่าวอย่างอารมณ์ดี

ด้วยความหวังที่ว่า กระบวนการนี้จะมีส่วนทำให้เกิดความสามัคคีปรองดอง เกิดขึ้นได้จริง เพราะนี่การพูดคุยกัน แสดงความคิดเห็น แบบตรงไปตรงมา โดยยึดประเทศชาติเป็นหลัก น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

และดูจะเป็นหนทางสุดท้าย ที่ไม่มีให้นักการเมืองเลือกมากนัก เพื่อที่จะเดินไปสู่การเลือกตั้ง แล้วค่อยๆ กลับมาคุมอำนาจรัฐ และดึงประชาชนกลับคืนมาจากทหาร แบบค่อยเป็นค่อยไป ในยุคเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่าน เช่นนี้