เพ็ญสุภา สุขคตะ : ฟื้น “ผาบ่อง” หมุดหมายแรกแห่งนครเขลางค์

เพ็ญสุภา สุขคตะ

คนทั่วไปมักเข้าใจว่า เสาหลักเมืองลำปาง หรือจะเรียกว่าเสาอินทขีลก็ตาม ต้นเก่าสุดในยุคแรกสร้างเมือง เมื่อราว 1,300 ปีเศษๆ คงน่าจะเป็น “เสาต้นหนึ่งที่ปักอยู่ในวัดปงสนุกเหนือ” กระมัง เนื่องจากตั้งอยู่ในผังหอยสังข์เขตเมืองเก่านครลำปาง

เมื่อสืบค้นข้อเท็จจริง ได้พบคำตอบว่านครลำปางมีการผูกเสาหลักเมืองหลายครั้ง (3-4 ครั้ง) และแต่ละครั้งไม่ใช่ที่เดิม มีการขยับปรับเปลี่ยนพื้นที่ใจกลางเมืองไปเรื่อยๆ ตามแต่จุดยุทธศาสตร์ของนักปกครองว่า ณ ห้วงเวลานั้นๆ จะกำหนดแนวผังเมืองตามความเหมาะสมอย่างไร

เมืองใหม่ที่สร้างในยุคหลังบางครั้งก็ทับที่เขตเมืองเก่าบ้างเพียงบางส่วน ไม่ใช่ทั้งหมด

หรือบางครั้งก็ย้ายออกมานอกเขตเมืองเก่าดั้งเดิมเลยก็มี

ย้อนกลับมาสู่คำถามที่ว่าแล้ว “หมุดหมายแรกสุดของเขลางค์นคร” นั้นอยู่ที่ไหน และเป็นรูปแบบใด

ใช่รูปลักษณ์แบบเสาหลักเมือง หรือเสาอินทขีลหรือไม่

 

สุพรหมฤๅษีผู้สร้างเขลางค์นคร

ก่อนจะหาคำตอบเรื่องเสาหลักเมือง ขอปูพื้นย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นราว พ.ศ.1220 โดยประมาณสักหน่อยก่อน

เริ่มมาจากการที่ “เจ้าอนันตยศ” ผู้เป็นโอรสแฝดน้องของพระนางจามเทวีได้ทูลขอเมืองจากพระราชมารดา เนื่องจากพระนางจามเทวีได้สละราชสมบัติยกนครหริภุญไชย (ลำพูน) ให้เจ้ามหันตยศ แฝดพี่ปกครอง

พระนางจามเทวีทรงใช้กุศโลบายอันแยบยล แทนที่จะเสาะหาเมืองให้พระโอรสโดยตรง กลับทรงลดบทบาทของพระองค์เองด้วยการใช้อุบาย “ส่งไม้ผลัดต่อกันเป็นช่วงๆ”

นับแต่ทรงแนะให้เจ้าอนันตยศไปทูลขอเมืองใหม่จากปู่เจ้า “ฤๅษีวาสุเทพ” ณ ดอยสุเทพเป็นลำดับแรก

ซึ่งสถานะของฤๅษีวาสุเทพช่วงนี้เปรียบเสมือนปุโรหิตระดับมหาราชครู

ฤๅษีวาสุเทพแนะให้เจ้าอนันตยศไปขอคำปรึกษาจากเพื่อนฤๅษีตนหนึ่งชื่อ “พุทธชฎิล” ณ ดอยชุหบรรพต ริมสารนที หรือแม่น้ำสาร (เอาไว้โอกาสเหมาะจะชวนวิเคราะห์ว่าดอยชุหบรรพตอยู่ที่ไหนกันแน่ ระหว่างดอยไซ กับดอยบาไห้?)

ฤๅษีพุทธชฎิลทรงเรียกนายพรานมาผู้หนึ่งชื่อ “เขลางค์” (คำนี้ภาษาในตระกูลมอญ-เขมรอ่าน “ขลุง” แปลว่า “อ่างสรง” หรือ “อ่างสลุง”) พลางฝากฝังเจ้าอนันตยศไว้แก่พรานผู้นั้น ให้ช่วยดูแลและนำพาไปพบกับเพื่อนฤๅษีอีกตนหนึ่งชื่อ “สุพรหมญาณ” หรือสุพรหมฤษี ณ เขาดอยง่าม (บางเล่มเขียน “ดอยงาม” แต่ที่ถูกคือ “ดอยง่าม” หรือภูสองลูก) ลุ่มแม่น้ำวัง

หนังสือ “ตำนานเรื่องเล่าลำปาง” ที่อาจารย์ศักดิ์ (สักเสริญ) รัตนชัย ปราชญ์เมืองลำปางได้รวบรวมตำนานพื้นเมืองต่างๆ มาเรียบเรียงนั้น กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

“พระสุพรหมฤๅษีจึงพาเจ้าอนันตยศไปยังเชิงเขาเขลางค์บรรพต มองไปทางทิศตะวันตกแม่น้ำวังกนที ก็เห็นสถานที่แห่งหนึ่งเป็นไชยภูมิอันสมควรสร้างเมืองได้ พระฤๅษีจึงสร้างเมืองขึ้น ณ ที่นั้น กว้างยาวด้านละ 500 วา แล้วเอาศิลาบาตรก้อนหนึ่งมาตั้งไว้ท่ามกลางเมือง เรียกว่า “ผาบ่อง” ถือเป็นใจกลางเมืองลำปางมาจนทุกวันนี้ เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ขนานนามว่า “เขลางค์นคร” ตามนามพรานเขลางค์ผู้นำทาง และมีส่วนช่วยเหลือในการสร้างเมืองด้วย”

เมื่อได้คีย์เวิร์ดคำว่า “ศิลาบาตร” กับ “ผาบ่อง” มาแล้ว ดิฉันจึงใคร่ที่จะลงพื้นที่เพื่อค้นหา “ผาบ่อง” ว่ามีรูปร่างหรือรูปลักษณ์เช่นไร

จึงประสานไปยังอาจารย์มงคล ถูกนึก ปราชญ์ลำปาง ให้ช่วยกรุณาพาไปดู “ผาบ่อง” ในพื้นที่จริงให้เป็นบุญตา

แต่ก่อนที่จะไปดูผาบ่องนั้น อาจารย์มงคลตั้งคำถามกลับกับดิฉันว่า แล้วรู้หรือไม่ว่า “สุพรหมฤษี” สถิตอยู่ที่เขาลูกไหน และรู้หรือยังว่าพรานเขลางค์นั้นมีบ้านหลักแหล่งอยู่แถวใด

เมื่อดิฉันส่ายหน้า อาจารย์มงคลบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวจะพาไปดูทั้งหมด

 

ดอยง่าม และม่อนพญาแช่

ม่อนพญาแช่ ตั้งอยู่ที่ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เดิมเป็นซากโบราณสถานร้าง ต่อมาได้รับการฟื้นฟูให้เป็นวัดที่พระภิกษุจำพรรษา

บริเวณม่อนพญาแช่นี้ อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัยสันนิษฐานว่าคือ เขลางค์บรรพต หรือที่อยู่ของพรานเขลางค์ ซึ่งชินกาลมาลีปกรณ์เรียกว่า ลุททบรรพต แถมอาจารย์แสง มนวิทูรยัง แปลว่า ดอยแห่งคนหยาบช้า ประมาณว่าเป็นคนป่าคนเถื่อนว่างั้นเถอะ

แต่ปราชญ์ลำปางเขาแปลว่า ดอยพราน คือเป็นที่อยู่ของคนผู้หาของป่า

และมีดอยสูงขึ้นไปอีกลูกหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลกันจะเป็นที่บำเพ็ญธรรมของสุพรหมฤษี มีลักษณะเป็นดอยสองยอด/ดอยสองตอน มีร่องหรือกิ่วตรงกลางจึงเรียก “ดอยง่าม” หรือภาษาบาลีเรียก ทวะยรรคบรรพต (แต่เอกสารยุคหลังไปเรียกดอยงาม และย้อมเป็นบาลีอีกชั้น จึงเขียนเป็นสุภบรรพต) คือดอยที่อยู่เบื้องหลังม่อนพญาแช่

ที่ม่อนพญาแช่มีรูปปั้นของสุพรหมฤษีผู้สร้างเขลางค์นคร และบนยอดดอยแห่งนี้มีพระเจดีย์องค์หนึ่ง สร้างด้วยศิลปะแบบที่เรียกว่า “มอญ-ม่าน-เงี้ยว” ยุคที่คหบดีพม่ามีบทบาทในการทำสัมปทานป่าไม้ในล้านนา

 

ข่วงเม็ง เวียงปรึกษา

ตั้งอยู่ในค่ายสุรศักดิ์มนตรี ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สังกัดมณฑลทหารบกที่ 32

เป็นบ้านเกิดของพรานเขลางค์ และเป็นสถานที่ที่สุพรหมฤษี พรานเขลางค์ เจ้าอนันตยศ (และอาจรวมทั้งพระนางจามเทวีด้วย หากพระองค์ได้เสด็จมาพร้อมกับโอรสแฝดน้องในช่วงเริ่มสร้างเมือง) ได้นัดแนะพากันมายืนจุดนี้แล้วเล็งตำแหน่งเพ่งมองไปยังทิศตะวันตกของแม่น้ำวัง

สุพรหมฤษีได้ชี้จุดสำหรับที่จะสร้างเขลางค์นคร จากข่วงเม็งจะมองเห็นยอดพระธาตุวัดพระแก้วดอนเต้า ใจกลางนครเขลางค์ในแนวตรงกันพอดี

และไกลออกไปประมาณ 1 กิโลเมตรจะเป็นจุดที่ตั้งของ “ผาบ่อง”

ชาวลำปางปัจจุบันไม่ค่อยรู้จักข่วงเม็งกันเท่าไหร่แล้ว แต่คนรุ่นก่อนถือว่ามีความสำคัญมากต้องทำพิธีเซ่นบวงสรวงทุกปี

เพราะสถานที่แห่งนี้มีคุณูปการเทียบได้กับเป็นวอร์รูมหรือ “เวียงปรึกษา”

 

ศิลาบาตร ผาบ่อง

จุดที่ดิฉันตามหานั้นตั้งอยู่ระหว่างวัดพระแก้วดอนเต้ากับประตูม่าห์ (เขียนว่าม่าห์หรือม่าถูกต้องแล้ว แต่คนทั่วไปเข้าใจผิดไปเรียกว่าประตูม้า) เป็นจุดที่ “สุพรหมฤษีเอาศิลาบาตรก้อนหนึ่งมาตั้งไว้ในท่ามกลางเมือง ศิลานั้นปรากฏชื่อว่าผาบ่องมาต่อเท่าบัดนี้”

การเอาก้อนหิน (ไม่ใช่แท่งเสาสูง) มาวาง สะท้อนคติความเชื่อในการกำหนดตำแหน่งใจเมือง ซึ่งเป็นศรีของเมือง หรือหัวใจของเมืองเขลางค์

คำว่า “ผา” ภาษาล้านนาหมายถึงก้อนหิน ไม่ได้แปลว่า หน้าผา

เคยอ่านงานเขียนของ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” กล่าวถึงการใช้ “แผ่นหินขนาดใหญ่” คล้ายแท่นมนังคศิลาบาตรของเมืองโบราณแหล่งต่างๆ ว่ามีอยู่หลายเมืองทีเดียว ถือเป็นรูปแบบความเชื่อในเรื่องการสร้างเมืองของกลุ่มวัฒนธรรมมอญทวารวดี

มีความแตกต่างไปจากประเพณีของชาวลัวะที่ต้องปักเสาสะก้าง หรือเสาอินทขีล ทั้งยังแตกต่างไปจากวัฒนธรรมขอมที่เชื่อในเรื่องการใช้ขนดนาคพันเขาพระสุเมรุ

ถามว่าแล้วตอนสร้างเมืองหริภุญไชย ซึ่งเป็นเมืองแม่นั้น มีการกล่าวถึง “ศิลาบาตร” ด้วยหรือไม่

คำตอบคือ “มี” แต่อยู่กันคนละช่วง

ตอนที่กลุ่มฤๅษีวาสุเทพ สุกกทันตะ และอนุสิสสะ ลงมือสร้างเมืองหลังจากได้หอยสังข์มาเป็นต้นแบบแล้วนั้น ตำนานกล่าวแต่เพียงว่า เหล่าฤๅษีช่วยกันเอาไม้เท้าเขี่ยรอบเปลือกหอยสังข์ จนแผ่นดินยุบลงเป็นคูน้ำ

ส่วนเรื่องแผ่นหินสีดำ มีปรากฏในตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จมารับบิณฑบาตยังดินแดนลำพูนในอดีต พระพุทธองค์ประทับนั่งบนแผ่นหินสีดำ

หลังจากตรัสพยากรณ์และมอบเส้นเกศาให้แก่คนพื้นเมืองชาวลัวะที่ถวายภัตตาหารแล้ว ลัวะผู้นั้นได้เอาเส้นเกศาใส่กระบอกไม้ไผ่ฝังลงดินใต้แผ่นหินที่พระพุทธองค์นั่ง

และเรื่องราวของแผ่นหินสีดำก็หวนกลับมาปรากฏอีกครั้งตอนที่กล่าวถึง พระญาอาทิตยราชประสงค์จะสร้างห้องสุขาทับบริเวณที่มีแผ่นหินซุกซ่อนอยู่ใต้พื้นดิน แต่ไม่สามารถสร้างได้สำเร็จ เนื่องจากใต้แผ่นหินนั้นมีพระเกศาธาตุ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

นครเขลางค์ก็มีผังเป็นรูปหอยสังข์ หรือที่เรียกว่า “สังขปัตร” เหมือนกับนครหริภุญไชย และเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีอีกหลายๆ เมือง

ตอนที่พระเจ้ากาวิละสามารถขับไล่พม่าออกไปได้แล้วฟื้นเมืองเชียงใหม่นั้น ทรงตรัสว่า “ต้องสร้างวัดผาบ่องที่เชียงใหม่เป็นวัดแรก เพื่อเป็นหมุดหมายเครื่องรำลึกถึงการก่อกำเนิดนครเขลางค์” เนื่องจากพระเจ้ากาวิละเป็นคนลำปาง

แสดงว่ายุคสมัยของท่านเมื่อราว 250 ปีที่ผ่านมา ยังมีการรับรู้ว่าหลักเมืองหลักแรกของเขลางค์ก็คือ “ผาบ่อง” ถึงกับได้นำชื่อ “ผาบ่อง” มาสร้างเป็นวัดในเชียงใหม่

แน่นอนว่าพระเจ้ากาวิละมีเชื้อสายลัวะ พระองค์จึงจำเป็นต้องปักเสาอินทขีลกลางนครเชียงใหม่ให้เป็นเสาหลักเมืองด้วยเช่นเดียวกัน

ถือว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ไม่รังเกียจเดียดฉันท์ชาติพันธุ์ใดๆ มีเสาอินทขีลให้ชาวลัวะ มีผาบ่องให้ชาวมอญ มีต้นยางนาให้ชาวไทขึนที่อพยพมาจากเชียงตุง

 

ย้อนกลับมายังบริเวณที่เรียกว่าผาบ่องของลำปาง ครั้งหนึ่งเคยได้รับการสถาปนาให้เป็นวัดมาแล้วด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันกลับอยู่ในสภาพรกร้าง ถูกละเลย มีบ้านคนขึ้นเบียดแทรกรอบด้าน ซากโบราณสถานเหลือแต่ก้อนเสาศิลาแลง 6-7 แท่ง กับเศียรหน้ากาลหรือกุมภัณฑ์ศิลาแลงโกลนปูนปั้น 1 เศียรตั้งอยู่

อาจารย์มงคล ถูกนึก กล่าวว่า เขารู้สึกสลดหดหู่หัวใจเป็นอย่างยิ่ง ว่าทำไมหนอ ชะตากรรมของ “หมุดหมายแรกแห่งเมืองเขลางค์ที่เป็นแท่งศิลาบาตร” จึงตกอยู่ในสภาพทุรเค็ญเช่นนี้

ในฐานะที่เขาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าจังหวัดลำปาง เขาจึงได้หารือในที่ประชุมจังหวัด และกำลังประสานให้สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ลงพื้นที่เพื่อหางบประมาณมาขุดแต่งทางโบราณคดี

และปรับภูมิทัศน์ให้ “ผาบ่อง” หวนกลับคืนมาเป็น “หลักชัย” และ “หลักใจ” ให้แก่คนลำปางอีกครั้ง